แก้ ‘โลกร้อน’ อุปสรรคเยอะ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

รายงานชิ้นใหม่ล่าสุดของสหประชาชาติเปิดเผยผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ๆ ของโลกยังคงมีแผนผลิตน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินเพิ่มขึ้นสวนทางกับมติแก้ปัญหาโลกร้อนของนานาชาติที่ต้องการคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ด้วยการลดปริมาณก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก รายงานชิ้นนี้บ่งบอกว่า อนาคตโลกจะร้อนระอุเพิ่มขึ้นและผู้คนจะเป็นทุกข์สาหัสมากกว่าที่เห็น

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) รวบรวมข้อมูลของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ที่สุดของโลก 19 ประเทศ จากทั้งหมด 20 ประเทศ (ประเทศแอฟริกาใต้ไม่มีข้อมูลรายละเอียด) แล้วนำมาประมวลผล

ข้อมูลที่ได้นั้นพบว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนไม่ได้ตัดลดปริมาณการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลลงเลย

แม้ประเทศเหล่านั้นโชว์ภาพความพยายามผลักดันแผนพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นก็ตาม

 

กรณีตัวอย่างเด่นชัดที่สุด หลังจากกองทัพรัสเซียส่งกำลังบุกเข้ายึดประเทศยูเครน ราคาพลังงานในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น ประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล เร่งผลิตเชื้อเพลิงเพื่อชดเชยการนำเข้าจากรัสเซีย

รัฐบาลนายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐประกาศชักชวนบริษัทน้ำมันและก๊าซเพิ่มกำลังการผลิต สนับสนุนการส่งออกพลังงานเหล่านี้ไปให้นานาประเทศ ทดแทนน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย

“ไบเดน” เน้นความมั่นคงด้านพลังงานของโลกมากกว่าจะคำนึงถึงผลกระทบด้านลบจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น

ประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำเหมือนสหรัฐ ฉวยโอกาสจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วยการเพิ่มปริมาณการกลั่นน้ำมัน ก๊าซและขุดถ่านหิน เพราะราคาแพงกำไรพุ่ง และขณะนี้เกิดสงครามอีกจุดในฉนวนกาซา ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ราคาน้ำมันยิ่งผันผวนรุนแรง

ประเทศที่ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากสหรัฐแล้ว อินโดนีเซียก็จะเพิ่มกำลังการผลิตถ่านหิน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ หรือรัสเซีย จะเร่งผลิตน้ำมันและก๊าซเพิ่ม

ส่วนประเทศแคนาดา พยายามผลิตน้ำมันและก๊าซให้มากกว่าเดิมเพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำด้านพลังงานฟอสซิล ดูได้จากการลงทุนด้านน้ำมันและก๊าซของแคนาดาสูงมากอยู่ที่ 37,000 ล้านเหรียญ เทียบกับการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ มีเพียงแค่ 2,800 ล้านเหรียญเท่านั้น

รายงานระบุว่า รัฐบาลที่ส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิล มีแผนผลิตถ่านหินเป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 450 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ และก๊าซกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จะมีเพียงนอร์เวย์และอังกฤษ มีผลชัดเจนว่าจะลดการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาด

 

ผลวิเคราะห์ดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า รัฐบาลที่ส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลส่วนใหญ่ไม่ได้วางนโยบายพลังงานให้สอดคล้องกับแผนลดโลกร้อนของสหประชาชาติแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับทำสวนทางซึ่งจะยิ่งทำให้ภาวะโลกร้อนมีระดับความรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือไออีเอ คาดการณ์ไว้ว่า ช่วง 10 ปีจากนี้ ความต้องการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลจะถึงจุดสูงสุด หลังจากนั้นรัฐบาลทั่วโลกจะหันมาให้ความสำคัญกับโครงการใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ในระหว่างนี้สถานการณ์พลังงานจะปั่นป่วนผันผวนหนักหน่วง

การผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า ความต้องการใช้พลังงานประเภทนี้ยังมีอยู่ต่อไป ผลที่ตามมาจะเกิดการปล่อยก๊าซพิษทำลายชั้นบรรยากาศโลกมากขึ้นกว่าเดิม

เมื่อมตินานาชาติกำหนดว่า ก่อนสิ้นสุดศตวรรษนี้หรืออีกราว 70 ปีข้างหน้าทุกประเทศต้องช่วยป้องกันอย่าให้อุณหภูมิโลกร้อนถึง 1.5 เซลเซียส

ขณะนี้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยอยู่ 1.1-1.2 เซลเซียส ชาวโลกยังพากันโวยวายทำไมอากาศร้อนสุดเหมือนผิวหนังโดนย่างไฟ ถ้าร้อนไปกว่านี้ จะยิ่งสร้างความโกลาหลให้กับชาวโลก

 

กลุ่มวารสารการแพทย์กว่า 200 แห่ง รวมตัวเรียกร้ององค์การอนามัยโลก เร่งแก้วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกและความหลากหลายทางชีวภาพที่สูญเสีย หวั่นว่าจะเข้าสู่ขั้นวิกฤตส่งผลต่อสุขอนามัยของชาวโลกอย่างร้ายแรง

ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อสุขภาพของผู้คนอย่างมากอยู่แล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เข้าถึงแทบทุกพื้นที่ของโลกใบนี้

มลพิษที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม จากควันรถยนต์ ความร้อนที่ปล่อยออกมาจากเครื่องปรับอากาศ อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ทำให้ผู้คนมีสุขภาพย่ำแย่ลง

อุณหภูมิโลก มลพิษทางอากาศ ล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดของโรค และยังทำให้เกิดโรคใหม่ๆ แพร่กระจายไปในอากาศ

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีผลมาจากอากาศเป็นพิษทำให้การระบาดกระจายรวดเร็วและเพิ่มความแรงของเชื้อเป็นอีกตัวอย่าง

การเปลี่ยนแปลงของการใช้ที่ดิน ตัดโค่นป่าถางไร่ทำพื้นที่เกษตร มีผลต่อการเปลี่ยนระบบนิเวศน์ ต้นไม้หมดไป พืชพันธุ์สัตว์ป่าสูญพันธุ์ อพยพย้ายถิ่น ก็มีส่วนสัมพันธ์กับการแพร่ระบาดของโรคเช่นกัน

หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะคลื่นความร้อนในประเทศต่างๆ มีอุณหภูมิในพื้นที่สูงขึ้นทำลายสถิติเดิมๆ

ในปี 2564 ประเทศแคนาดามีผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศร้อนจัดมากกว่า 600 คน หามเข้าโรงพยาบาลอีก 530 คน และโทร.หาหน่วยฉุกเฉินเพียงวันเดียวถึง 12,000 คน

หรือไฟป่าเผาทำลายทำลายพื้นที่ขนาดใหญ่ทั้งในอังกฤษ ยุโรป สหรัฐ ออสเตรเลีย แคนาดาหรือเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นเฮอริเคน ไซโคลนพัดถล่มในหลายประเทศ ล้วนเป็นหลักฐานชี้ว่า เราอยู่ในภาวะวิกฤต เป็นวิกฤตด้านโลกร้อนและสุขภาพ

 

กลุ่มผู้เขียนวารสารทางการแพทย์ จึงออกมาเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก พิจารณาร่วมกันว่า ถึงเวลาประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพของโลกหรือยัง นอกจากนี้ ยังวิงวอนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ นำประเด็นทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบทางสุขภาพไปหารือในที่ประชุม COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-12 ธันวาคมที่จะถึง

COP28 หรือการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (Conference of the Parties) เป็นเวทีเปิดให้ผู้นำทั่วโลกไปจับเข่าพูดคุยกันว่าจะแก้ปัญหาโลกร้อนและหาทางช่วยเหลือประเทศที่ตกเป็นเหยื่อจากภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

เวทีนี้จัดมายาวนานถึง 27ครั้ง แม้ว่าจะได้ข้อสรุปเห็นพ้องต้องกันให้ทุกประเทศช่วยหยุดอุณหภูมิโลกอย่าทำให้ทะลุถึง 1.5 เซลเซียส แต่กระนั้นเป้าหมายดูห่างไกลกับความเป็นจริงในปัจจุบันมาก

เวที COP28 จึงโดนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลยูเออี มีวาระซ่อนเร้นเพราะตั้งสุลต่าน บิน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ เป็นประธาน COP28 ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบรรษัทบริหารธุรกิจน้ำมัน

นั่นเท่ากับเอาคนที่อยู่ในวงการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล ตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมานั่งประชุมแก้ปัญหาโลกร้อน เหมือนเอาเจ้าของโรงงานผลิตบุหรี่มาเป็นประธานแก้ปัญหาโรคมะเร็งปอด

ยูเออี เป็น 1 ในประเทศผลิตน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลก และบริษัทที่สุลต่านอัล จาเบอร์ ดูแล ก็มีนโยบายเร่งขยายแผนการผลิตน้ำมันในช่วงนี้

และเมื่อดูความเคลื่อนไหวของประเทศยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตน้ำมัน ก๊าซและถ่านหินของโลก ที่มีนโยบายชัดเจนในการขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการเร่งผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิล

ฉะนั้น ความฝันจะให้ประเทศยักษ์ใหญ่เจ้าของบ่อน้ำมัน ก๊าซและถ่านหิน ช่วยป้องกันไม่ให้โลกร้อนไปกว่านี้ ลืมไปได้เลย เพราะมีอุปสรรคขวากหนามเต็มไปหมด •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]