อโยธยา ‘เมืองเก่า’ อยุธยา ‘เมืองใหม่’

อโยธยาเป็น “เมืองเก่า” ของอยุธยา

อยุธยาเป็น “เมืองใหม่” ของอโยธยา

อโยธยาเมืองเก่า อยุธยาเมืองใหม่ เป็นที่รู้อย่างเป็น “ทางการ” ในกลุ่มชนชั้นนำเมื่อแผ่นดิน ร.5 ราว 116 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2450) เพราะพบสาระสำคัญในพระราชดำรัสเปิดโบราณคดีสโมสร คราวเสด็จพระราชดำเนินในงานพระราชพิธีรัชมังคลที่พระนครศรีอยุธยา

 

เมืองใหม่

อโยธยาถูกโรคระบาดรุนแรง คือ Black Death-กาฬโรค (ไม่ใช่อหิวาต์) สมัยเมื่อราว 700 ปีมาแล้ว เข้าใจว่าเป็น “ผีห่า” ต้องแก้อาถรรพ์ด้วยการย้ายศูนย์อำนาจไปอยู่ที่ใหม่คืออยุธยา ซึ่งสร้างสำเร็จและได้ฤกษ์สถาปนา พ.ศ.1893-1894 อยู่บริเวณหนองโสน (ปัจจุบันเรียกบึงพระราม) กษัตริย์องค์แรกของอยุธยา คือ “รามาธิบดี” องค์เดียวกับกษัตริย์องค์สุดท้ายของอโยธยา

อโยธยา นามเต็มว่า “อโยธยาศรีรามเทพ” (แปลว่า) เมืองแห่งชัยชนะของพระรามองค์อวตาร

อยุธยา นามเต็มว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” (แปลว่า) เมืองสวรรค์อันเป็นที่สถิตของพระกฤษณะและของพระราม

หมายถึง กรุงเทพ (อยุธยา) เมืองสวรรค์ ที่สืบจากเมืองทวารวดีของพระกฤษณะ (ละโว้, ลพบุรี) และเมืองอยุธยาสืบจากอโยธยาของพระราม (พระนครศรีอยุธยา)

 

ชะฮ์ริเนา-เมืองใหม่

ชื่อเรียกกรุงศรีอยุธยาเก่าแก่สุดว่าชิแอร์โน หรือแชร์โนเอิม เป็นการถ่ายเสียงตามสำเนียงอิตาลีจาก “ชะฮฺริเนาว์” (Shahr-i-nau/Shahr Nav) คำในภาษาอาหรับหมายถึงเมืองใหม่ ในแผนที่โลกโดยฟรา เมาโร (Mappamondo di Fra Mauro) เขียนราว พ.ศ.1991 โดยฟรา เมาโร (Fra Mauro) นักบวชและช่างแผนที่ชาวเวนิส ประเทศอิตาลี

[จากหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2566 หน้า 20-21]

นักวิจัยฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ศึกษาเอกสารต้นฉบับอาหรับ-เปอร์เซีย ที่อ้างถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงศตวรรษที่ 15 (พุทธศตวรรษที่ 20) พบว่ามีเอกสารเปอร์เซียฉบับหนึ่ง ชื่อ

“มัฏละอ์ อัซ-ซะอ์ดัยน์ วะ มัจญมะอ์ อัล-บะฮ์ร็อยน์”

(แปลเป็นไทย-การขึ้นของดาวมงคลทั้งสองและการบรรจบกันของสองมหาสมุทร)

กะมาลุดดีน อับดุรร็อซซาก ซะมัรก็อนดีย์-ผู้แต่งเป็นราชทูตของชาฮ์ รุก แห่งจักรวรรดิตีมูรียะฮ์ ที่ถูกส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรวิชัยนคร ในอินเดียระหว่าง ค.ศ.1442-1444 (พ.ศ.1985-1987 ตรงกับแผ่นดินเจ้าสามพระยา พ.ศ.1967-1991)

ได้บันทึกรายชื่อดินแดนต่างๆ ทั้งในและรอบๆ ฮินดูสถาน (อินเดีย) ซึ่งระบุถึง ดินแดนทางฝั่งตะวันออกของอินเดียที่เรียก “แดนใต้ลม” จำนวนนี้มีระบุชื่อ ญาวะฮ์ (ชวา) ตะนาศะรีย์ (ตะนาวศรี) และชะฮ์ริเนา (อยุธยา)

ในต้นฉบับมีคำ ชะฮ์ริเนา ใช้ ????? (Shahrinaw) ซึ่งถ้าแปลความหมายตามตัวจะหมายถึง “เมืองใหม่” (ชะฮ์ร = เมือง + เนา, นว = ใหม่)

แต่ทั้งนี้กำลังค้นเพิ่มเติมว่ามีเอกสารฉบับอื่นที่บันทึกชื่อ “ชะฮ์ริเนา” ที่เก่าหรือใหม่กว่าเอกสารฉบับนี้หรือไม่ (นอกเหนือจากสำเภาสุลัยมาน) และมีการเขียนสะกดต่างกันหรือไม่อย่างไร เพื่อให้ได้ข้อค้นพบที่ชัดเจนมากขึ้น

[ข้อมูลจาก สุนิติ จุฑามาศ นักวิจัย (ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี) ฝ่ายคลังข้อมูลวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) -MA. in Archaeology, Faculty of Archaeology and Tourism, The University of Jordan -BA. สาขาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร]

สองฝั่งแม่น้ำป่าสัก บริเวณตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(ซ้าย) อโยธยา-เมืองเก่าของอยุธยา (วงกลมสีแดงเป็นบริเวณสถานีรถไฟอยุธยา)
(ขวา) อยุธยา-เมืองใหม่ของอโยธยา ตรงเกาะลอย และย่านหัวรอ

อยุธยาเป็นชื่อตั้งแต่แรกสถาปนา พ.ศ.1893-4

“อยุธยา” เป็นนามเมืองใหม่ (ของอโยธยา) มีขึ้นตั้งแต่ปีแรกสถาปนาอยุธยา พบหลักฐานต่อไปนี้

(1.) พระอัยการลักษณะพยาน ตราขึ้นในแผ่นดินพระรามาธิบดี สถาปนากรุงศรีอยุธยา ศักราช 1894 (ซึ่งตรงกับ พ.ศ.1893 เหตุจากพุทธศักราชสมัยนั้นเร็วกว่าสมัยนี้ 1 ปี) ระบุนามเต็มว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา—-”

(2.) กำสรวลสมุทร (กำสรวลศรีปราชญ์) แต่งในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ เรือน พ.ศ.2000 ระบุนาม “อยุธยา” หลายครั้ง ได้แก่

อยุธยายศยิ่งฟ้า ลงดิน แลฤๅ (บท 3)

อยุธยายศโยคฟ้า ฟากดิน (บท 9)

อยุธยาไพโรจน์ไต้ ตรีบูร

ทวารรุจิเรียงหอ สรหล้าย

อยุธยายิ่งแมนสูร สุรโลก รังแฮ

ถนัดดุจสวรรค์คล้ายคล้าย แก่ตา (บท 10)

หลักฐานที่ยกมานี้ไม่สอดคล้องกับความเห็นที่มีมาก่อนว่า “อยุธยา” เป็นชื่อใหม่หลังกรุงแตกครั้งแรก ดังนี้

อโยธยาเป็นชื่ออยุธยามาแต่แรกสถาปนา พ.ศ.1893-1894 ครั้นหลังกรุงแตกครั้งแรก พ.ศ.2112 จึงเปลี่ยนนามจากอโยธยาเป็นอยุธยา ดร.ประเสริฐ ณ นคร อธิบาย ดังต่อไปนี้

“เรื่องอโยธยา นักประวัติศาสตร์หลายคนเข้าใจว่าอโยธยาในศิลาจารึกสุโขทัยหมายถึงอาณาจักรอโยธยาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา ความจริงอโยธยาในศิลาจารึกสองหลัก หมายถึงอยุธยาหลัง พ.ศ.1893 นี้เอง—-

สันนิษฐานว่าหลังจากกรุงแตก พ.ศ.2112 แล้ว คงเปลี่ยนชื่ออโยธยามาเป็นอยุธยา เพราะชื่อเดิมไม่เป็นมงคล เนื่องจากพม่าตีแตกไปแล้ว”

[บทความ “ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก” (จากปาฐกถาที่จุฬาฯ พ.ศ.2531) พิมพ์รวมในหนังสือ ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด ของ ดร.ประเสริฐ ณ นคร สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2549 หน้า 35]

 

อโยธยา ชื่อเดิม ฝรั่งเรียก “โยเดีย”

อโยธยา เป็นชื่อเดิมของเมืองเก่า เป็นที่รู้จักคุ้นเคยหลายร้อยปี อยุธยา เป็นชื่อเมืองใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้ทั่วไป

(1.) อยุธยาเป็นชื่อในพิธีกรรม รับรู้แคบๆ ในกลุ่มชนชั้นนำ และ (2.) คนทั่วไปคุ้นเคยชื่อเดิม จึงเรียกชื่อเดิมว่าอโยธยา

“โยเดีย” เป็นคำสำเนียงนานาชาติเรียกอยุธยาด้วยชื่อเดิม “อโยธยา” ว่า “โอเดีย” (Odia) หลังจากนั้นในแผนที่ฝรั่งเรียกอยุธยาต่างๆ กันด้วยสำเนียงพื้นถิ่นของคนทำแผนที่ ได้แก่ Iudia, Judea, Judia, Juthia •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ