ต้อนรับทีปาวลี : เรียนรู้พระแม่ลักษมีในวิถีพุทธ (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเข้าใจว่าพุทธศาสนาไม่เชื่อในเทพเจ้าที่อุบัติขึ้นและอยู่ได้ด้วยตนเองเป็นนิรันดร ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างที่เรียกว่า “สวายัมภู” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งหมายถึง “เกิดเองเป็นเอง” เพราะพุทธศาสนายืนยันว่าเทพเจ้าทั้งหลายต่างอยู่ในกฎแห่งกรรมและสังสารวัฏ คือเวียนว่ายตายเกิดตามผลกรรมทั้งสิ้นไม่ต่างจากสรรพสัตว์อื่นๆ

ในแง่นี้พุทธศาสนาจึงไม่มีเทพเจ้าตามความเชื่อแบบศาสนาฮินดูหรือศาสนาที่นับถือพระเจ้า แต่อธิบายว่าบรรดาเทพเป็นเทพได้เพราะสั่งสมบุญบารมีมาในอดีตชาติ ซึ่งอาจเคยเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์อื่นมาก่อน

เมื่อเป็นเทพแล้วบางองค์อาจมีอายุยาวนานจนราวกับจะไม่ตาย บางองค์มีฤทธานุภาพมาก และเพราะมีอานุภาพมากนี่เองจึงมีความหยิ่งทระนงตัว เทพจึงมีทั้งฝ่ายมิจฉาทิฐิและสัมมาทิฐิ

พวกที่ทระนงตัวก็มักไม่ชอบพุทธศาสนาและเบียดเบียนชาวพุทธ เช่น ตำนานฝ่ายทิเบตที่พระคเณศไปเบียดเบียนมหาสิทธาองค์หนึ่ง จนพระโลเกศวรต้องมาปราบ

หรือแม้แต่ในบ้านเราก็มีตำนานพระพุทธเจ้าไปปราบพยศของ “รุทธเทพ” หรือพระอีศวรในคัมภีร์ไตรภูมิโลกยวินิจฉัยกถา เพราะพระรุทธเทพไม่ชอบที่ผู้คนพากันเลิกนับถือพระองค์แล้วไปนับถือพระพุทธเจ้า

อันที่จริงการสร้างตำนานข่มกันไปข่มกันมามีทุกศาสนาครับ ยิ่งหากเป็นศาสนาที่ใกล้ชิดกันก็ยิ่งมีเรื่องทำนองนี้มากหน่อย ฮินดูก็มีบางตำนานว่าพระพุทธาวตารนั้น แม้จะเป็นอวตารของพระนารายณ์แต่ก็ลงมาเพื่อสอนคำสอนผิดๆ ให้พวกอสูร (พวกมิจฉาทิฐิ /ศาสนิก) พากันตกนรกไปให้หมด

ในจีนเต๋ากับพุทธก็ข่มกันไปกันมา ฝ่ายเต๋าก็แต่งห้องสิน (เทวตำนานตั้งเทพ) เพื่อให้โพธิสัตว์ของพุทธแปลงเป็นเต๋า อยู่ภายใต้จักรวาลวิทยาแบบเต๋า

ส่วนพุทธก็มีตำนานไซอิ๋ว (การเดินทางสู่ตะวันตก) แต่งให้พวกเทพเต๋าแพ้ลิงถือพุทธ และมีปัญหาอะไรก็แก้ไม่ได้ ต้องให้พระกวนอิมลงมาช่วยเสมอ

 

ผมคิดว่า อันที่จริงหากลองสำรวจดู ด้านมุมของความขัดแย้งมีไม่มากเท่าด้านมุมที่พยายามจะประสานให้เข้ากัน เพราะดูเหมือนโลกโบราณจะชอบแนวทางอย่างหลังมากกว่า โดยใช้การแปลงเข้าในระบบจักรวาลวิทยาของตัว แม้ว่าในปัจจุบันเราจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวทางนี้นักเพราะดูเหมือนเป็นการไม่เคารพระบบความเชื่อในแบบของเขาเอง ศาสนาไหนๆ ต่างก็มีความเชื่อและความคิดที่เป็นอัตลักษณ์ เราจึงไม่ควรไป “เคลม” โดยเฉพาะให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเขาให้ต่ำกว่าของเรา

แต่ที่นำมาเสนอนี้ก็เพื่อจะให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ เห็นมุมมองแบบอื่นๆ และเผื่อจะเกิดประโยชน์ “ในทางส่วนตัว” ของแต่ละท่านครับ

อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า พระลักษมี เทวีสำคัญจากศาสนาฮินดูเหมือนจะมีด้านของความขัดแย้งกับพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ในอินเดียน้อยมาก พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษในทุกศาสนา รวมทั้งพุทธศาสนาเองด้วย อาจเพราะคุณลักษณะขั้นพื้นฐานของพระองค์

ดังนั้น แต่ละศาสนาในอินเดียจึงพยายามอธิบายพระลักษมีจากแง่มุมของตนเอง แม้ว่าจะไม่ไปเปลี่ยนคุณลักษณะพื้นฐาน

ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนาจึงอธิบายพระลักษมีให้เข้ากับเรื่องบุญกุศลและการกระทำดี โดยถือว่าที่พระองค์เป็นเทวีแห่งโชคและความร่ำรวยนั้น เพราะพระองค์ได้สั่งสมบุญกุศล “ในพระพุทธเจ้า” มาอย่างยาวนาน

 

นอกเหนือจากที่ปรากฏใน “สุวรรณประภาสสูตร” แล้ว มีอีกพระสูตรหนึ่งในฝ่ายมหายาน คือ “อารยศรีมหาเทวีวยากรณะ” ที่ผมอยากจะนำมาเล่าก็เพราะพระสูตรนี้ไม่เพียงอธิบายพระลักษมีตามคติพุทธเท่านั้น แต่ยังกล่าวไปอีกว่า พระองค์จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตด้วย!

“อารยศรีมหาเทวีวยากรณะ” หรือ “พุทธพยากรณ์แห่งพระศรีมหาเทวีอันประเสริฐ” (The Prophecy of Sri Mahadevi) เป็นพระสูตรฝ่ายมหายาน ถูกจัดเข้าในหมวดพระไตรปิฎกและกริยาตันตระของทิเบตมาตั้งแต่ยุคต้น และยังปรากฏต้นฉบับทั้งสันสกฤตและจีนจนทุกวันนี้

พระสูตรนี้มีเนื้อความไม่ยาวนัก ผมจะขอเก็บความมาจากฉบับแปลจากทิเบตเป็นภาษาอังกฤษ โดยโครงการ “84000 : Translating the Words of the Buddha.” ซึ่งเป็นโครงการแปลคัมภีร์พุทธศาสนาสากล

ดังนี้

พระแม่ลักษมี

“ดังข้าพเจ้าได้ยินมา ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ แดนสุขาวดี กับทั้งมหาสังฆะของปวงโพธิสัตว์ มหาสัตว์อันประเสริฐทั้งหลาย อาทิ พระอวโลกิเตศวร พระมหาสถามปราปต์ พระกษิติครรภ์ พระมัญชุศรีกุมารภูตะ เป็นต้น

ลำดับนั้นแล พระอวโลกิเตศวรได้ทรงคำนับเบื้องพระบาทแห่งองค์ภควันแล้ว จึงได้ประทับลงที่ข้างหนึ่ง ฝ่ายพระศรีมหาเทวีก็ได้มาถึง คำนับลงที่พระบาทแล้ว เวียนประทักษิณรอบองค์ภควันสามรอบ ได้นมัสการเหล่าโพธิสัตว์ทั้งหลายแล้วจึ่งได้ประทับอยู่อีกข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคจึ่งดำรัสด้วยพระสุรเสียงดุจพระพรหมาว่า “ดูกรอวโลกิเตศวร หากบุคคลทั้งหลายกล่าวสรรเสริญพระนามทั้งร้อยแปดของพระศรีมหาเทวีแล้วไซร้ ในราชอาณาจักรนั้นจะไม่ประสบกับโรคภัยต่างๆ บรรดาธัญญาหาร ผลาหาร ตลอดจนทรัพย์สินจะเพิ่มพูนเนืองนอง

ในเวลานั้น บรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลายจึงได้กล่าวสาธุการขึ้นพร้อมกัน พระอวโลกิเตศวรจึงได้มีปุจฉาต่อไปว่า พระศรีมหาเทวีได้สั่งสมรากเหง้าแห่งบุญกุศลใดมาฤๅ?

พระตถาคตตรัสตอบว่า เพราะพระศรีมหาเทวีได้สั่งสมกุศลสมภารไว้กับพระพุทธเจ้าจำนวนมากมายดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา โดยเฉพาะพระตถาคตนามว่า “รัตนกุสุมคุณสาครไวฑูรยกนกคิริสุวรรณกาญจนประภาสศรี” เป็นอเนกประการ

ดังนั้นแล พระศรีมหาเทวีจึ่งได้กล่าวคำนมัสการพระตถาคตทั้งหลายเหล่านั้น เป็นต้นว่า ขอนอบน้อมแด่พระตถาคตศรีฆนะ ขอนอบน้อมแด่พระตถาคตพรหมาศรี ขอนอบน้อมแด่พระตถาคตจันทรสูรยศรี ฯลฯ เพราะได้กล่าวคำนมัสการพระตถาคตเหล่านี้เอง พระศรีมหาเทวีจึงได้รับคุณานุคุณมากมาย รวมไปถึงบรรลุบารมีทั้งหก บุคคลใดปรารถนาคุณานุคุณและบุญกุศลก็พึงกล่าวนมัสการพระตถาคตเหล่านี้ด้วย (ในพระสูตรได้ระบุถึงพระนามของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์)

บัดนี้ พระตถาคตทั้งหลายจักได้ให้พุทธพยากรณ์แก่พระศรีมหาเทวี ในอนาคตเธอจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ถูกถ้วนดีแล้ว มีพระนามว่า “ศรีมณิรัตนะสัมภวะ” ในโลกธาตุที่ชื่อว่า “ศรีมหารัตนะประติมัณฑิตา” โลกธาตุนั้นจักประดับประดาไปด้วยทิพยรัตนมณีหลากหลาย พระตถาคตพระองค์นั้นจักเปล่งประภารัศมีเรืองรอง บรรดาโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้ไปยังโลกธาตุนั้นจักเปล่งรัศมีและมีอายุยืนยาวนับไม่ถ้วน ถ้อยคำว่า “พุทธะธัมมะสังฆะ” จะร่วงหล่นจากฟากฟ้า บรรดาโพธิสัตว์ผู้ไปอุบัติยังพุทธเกษตรนั้นจักเกิดในใจกลางแห่งดอกบัว

อวโลกิเตศวร เธอพึงสดับพระนามทั้งร้อยแปดแห่งพระศรีมหาเทวี (จากนั้นพระสูตรกล่าวถึงพระนามทั้งร้อยแปด ซึ่งมีความหมายที่น่าสนใจหลายพระนาม เช่น สรวะตถาคตมาตฤ-มารดาแห่งพระตถาคตทั้งหลาย สรวะเทวตามาตฤ-มารดาแห่งเทวดาทั้งหลาย สรวะตถาคตศรี-ศรีแห่งพระตถาคต จตุรเวทศรี-ศรีแห่งพระเวททั้งสี่ ฯลฯ พระนามส่วนใหญ่ แสดงว่าทรงเป็น “ศรี” หรือความรุ่งเรือง แห่งพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ เทวดา มนุษย์ และอมุษย์ทั้งหลาย อีกส่วนหนึ่งคือพระนามที่บ่งถึงคุณสมบัติด้านความอุดมสมบูรณ์และยังมีพระนาม “ลักษมี” ปรากฏอย่างชัดเจนด้วย)

จากนั้นพระสูตรกล่าวถึง “พระธารณีมนต์” แห่งพระศรีมหาเทวีและกล่าวถึงผลานิสงส์ว่า

“อวโลกิเตศวร ผู้ใดสวดท่องพระนามทั้งร้อยแปดแห่งพระศรีมหาเทวีด้วยความเคารพยิ่ง บุญกุศลจักเพิ่มพูนทวี สิ่งอัปมงคลจะสลายไป ความรุ่งเรือง ความสุข ความมีโชคจักบังเกิดขึ้น ผู้ใดสวดท่องพระนามแห่งพระพุทธเจ้า (กับทั้งพระนามของพระศรี) พร้อมเครื่องสักการบูชา และได้ถวายธูปไม้จันทน์หอมแด่พระเทวีด้วย จักได้รับสิ่งอันเป็นสิริมงคลและดีงาม ทวยเทพย่อมปกปักรักษา และบรรลุสิ่งที่พึงประสงค์”

เมื่อตรัสจบลง พระอวโลกิเตศวร พระศรีมหาเทวี บรรดาโพธิสัตว์ และผู้ซึ่งชุมนุมอยู่ ณ ที่นั้น ตลอดทั้งเทวดา มนุษย์ อสูรและคนธรรพ์ต่างชื่นชมยินดีในพุทธดำรัสของพระผู้มีพระภาค”

 

ผมไม่แน่ใจว่าชาวฮินดูที่เคร่งครัดเมื่อได้อ่านพระสูตรนี้จะรู้สึกอย่างไร แต่เดาว่าน่าจะเห็นว่าพุทธศาสนาโดยเฉพาะฝ่ายมหายานนั้นให้เกียรติต่อพระศรีเทวีในแบบของชาวพุทธมากแค่ไหน เพราะอันที่จริงจากพระสูตรนี้ พระศรีมาเทวีเท่ากับเป็น “นิตยโพธิสัตว์” หรือพระโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้ที่ได้รับการพยากรณ์แล้ว จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอันประกอบด้วยคุณาลังการมากมายมหาศาล ซึ่งก็นับว่ายากที่ชาวพุทธโดยทั่วไปจะได้รับสถานภาพอันสูงส่งนี้

ส่วนชาวพุทธไทยนั้น หากพินิจไตร่ตรอง จะเห็นได้ว่าการนับถือพระศรีมหาเทวีซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในเวลานี้ก็สามารถเชื่อมโยงกับมโนคติหรือท่าทีแบบพุทธศาสนาได้ ไม่ขัดแย้งกัน หากประสงค์จะนับถือเทพโดยไม่อยากเสียท่าทีแบบพุทธ เว้นเสียแต่จะเชื่อในแบบอื่นๆ

กระนั้นต้องไม่ลืมว่า ความร่ำรวยและความมีโชคมีเหตุปัจจัยจากกรรมดี ซึ่งไม่ว่าพุทธศาสนา ศาสนาฮินดูหรือศาสนาที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย

ต่างเชื่อเรื่องกรรมด้วยกันทั้งสิ้น •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ต้อนรับทีปาวลี : เรียนรู้พระแม่ลักษมีในวิถีพุทธ (1)