ทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 กับผลงานศิลปะอันเปี่ยมคุณภาพไม่น้อยหน้าระดับสากล (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้เราขอเล่าถึงนิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ซึ่งเป็นนิทรรศการที่นำเสนอผลงานของศิลปินที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนศิลปินร่วมสมัยของไทยให้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสในการทำงานและเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2566 นี้ โครงการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ได้จัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 22 มีศิลปินที่ได้รับทุนจำนวน 7 รางวัล และมีระยะเวลาในการดำเนินการสร้างสรรค์ผลงาน 1 ปี จากนั้นจึงนำผลงานมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีศิลปินผู้ได้รับทุนอย่าง

กฤช งามสม, ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ, เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์, ส้ม ศุภปริญญา, อติ กองสุข, สุรเจต ทองเจือ และ จิตติ เกษมกิจวัฒนา

เมื่อเราได้ไปชมผลงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เราพบว่าผลงานเหล่านี้มีคุณภาพไม่น้อยหน้านิทรรศการศิลปะในระดับสากลเลยก็ว่าได้

ผลงานในโครงการ Resonate โดย กฤช งามสม

เริ่มต้นจากผลงานในห้องแรกของ กฤช งามสม ในโครงการ Resonate กับงานศิลปะจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เกิดขึ้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าราชวรดิฐ ใกล้กับที่ตั้งของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร พื้นที่แสดงงาน อย่างเหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน ที่เกิดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า “คณะกู้ชาติ” ได้ทำการกบฏ จี้ตัวนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในระหว่างที่เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอน “แมนฮัตตัน” ที่สหรัฐอเมริกามอบให้รัฐบาลไทย ที่ท่าราชวรดิฐ โดยนำตัวไปกักขังไว้ในเรือรบหลวง “ศรีอยุธยา” ที่จอดอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นตัวประกัน จนทำให้เกิดการสู้รบกันขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน

โดยทหารและตำรวจฝ่ายรัฐบาลระดมกำลังเข้าโจมตีทหารเรือทุกจุด ทั้งการยิงต่อสู้ทางบก ด้วยปืนและรถถัง และการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทางอากาศ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากมาย ไม่เพียงแต่ทหาร แต่ยังรวมถึงประชาชนในพื้นที่นั้นอีกด้วย จนในที่สุดเรือรบหลวงศรีอยุธยาก็ไฟไหม้ ทหารเรือประจำเรือจึงปล่อยให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ใส่ชูชีพว่ายน้ำหนีออกมา และฝ่ายรัฐบาลก็ชนะในที่สุด ก่อนที่เรือรบหลวงศรีอยุธยาจะจมลงในวันถัดมา

หลังจากเหตุการณ์ ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายรัฐบาลได้ยึดของกลางต่างๆ จากที่เกิดเหตุมารวบรวมไว้ที่ทำการของ สน.ชนะสงคราม หนึ่งในนั้นมีระฆังประจำเรือขุดแมนฮัตตัน ที่สลักประโยคอังกฤษว่า “Impregnable” ที่แปลว่า “ไม่มีวันพ่ายแพ้” เอาไว้ ซึ่งระฆังนี้ก็ยังคงตั้งอยู่ที่ สน.ชนะสงครามจนถึงปัจจุบัน

อีกหลายปีต่อมา ซากเรือรบหลวงศรีอยุธยาก็ถูกกู้ขึ้นมาในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2502 เพื่อป้องกันอันตรายในการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนใบพัดเรือถูกนำไปหล่อเป็นระฆังอยู่ภายในวัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม จวบจนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกัน

ผลงานในโครงการ Resonate โดย กฤช งามสม

กฤชหยิบเอาเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะในโครงการ Resonate (เสียงสะท้อนก้องกังวาน) ของเขา ผ่านวัตถุพยานในเหตุการณ์นี้สามประการ คือ เรือรบหลวงศรีอยุธยา ระฆังสถานีตำรวจวัดชนะสงคราม และระฆังวัดดอนยายหอม

เริ่มจากผลงานประติมากรรมจัดวางที่สร้างขึ้นจากแผ่นทองแดงประกอบขึ้นเป็นแบบจำลองย่อส่วนของเรือรบหลวงศรีอยุธยา ที่ถูกนำไปลอยอยู่ในตู้กระจกใส ภายในบรรจุสารละลายเฟร์ริกคลอไรด์ หรือกรดทองแดง ที่ศิลปินภาพพิมพ์มักใช้ในการกัดกรดแม่พิมพ์โลหะ (ทองแดง) ทำให้เรือจำลองลำนี้ถูกกรดในตู้กัดกร่อนให้ค่อยๆ สลายตัวไปเรื่อย จนในที่สุดก็สูญสลายกลายเป็นตะกอนนอนก้นอยู่ในตู้กระจก (ด้วยความที่กรดชนิดนี้ไม่เกิดไอหรือควันพิษ จึงค่อนข้างปลอดภัยในการใช้กับผลงานศิลปะ…อย่างระมัดระวังอะนะ)

ผลงานในโครงการ Resonate โดย กฤช งามสม

และผลงานประติมากรรมจัดวางในรูปของแบบจำลองย่อส่วนของระฆังสถานีตำรวจวัดชนะสงคราม และระฆังวัดดอนยายหอม อย่างละ 12 ใบ รวมกันเป็นจำนวน 24 ใบ แทนจำนวนชั่วโมงในหนึ่งวันของการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลและคณะกู้ชาติในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2494 ระฆังเหล่านี้มีกลไกที่ถูกทำให้ลั่นดังขึ้นในทุกๆ 30 นาที (ซึ่งอ้างอิงจากวิธีเคาะระฆังบอกเวลาบนเรือราชนาวี) การดังของระฆังจะสัมพันธ์กับเรือรบหลวงศรีอยุธยาจำลองที่อยู่ในตู้แช่น้ำกรด ที่เชื่อมต่อกันด้วยสายเคเบิล โดยเมื่อระฆังดังขึ้น ตัวระฆังจะถูกชักขึ้น ทำให้เรือถูกหย่อนลงน้ำกรด เมื่อระฆังถูกหย่อนลง เรือจะถูกชักขึ้นพ้นน้ำกรด สลับกันไปมาตลอดระยะเวลาการแสดงนิทรรศการ

ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะเป็นการสะท้อนกระบวนการลบเลือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยของผู้มีอำนาจรัฐแล้ว ยังอาจสื่อถึงชะตากรรมของประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่มักกลายเป็นเหยื่อและลูกหลงจากความรุนแรงในการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำ จนต้องล้มตายสูญสลายหายไปอย่างไร้ชื่อไร้ความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์นั่นเอง

ผลงานในโครงการ Still Life of Silence and Emptiness โดย ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ

ตามมาด้วยผลงานในห้องที่สองของ ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ ในโครงการ หุ่นนิ่งแห่งความเงียบและความว่างเปล่า (Still Life of Silence and Emptiness) ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานจิตรกรรมหุ่นนิ่งวานิทัส (Vanitas Still Life) ในศตวรรษที่ 17 ที่ใช้วัตถุข้าวของต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องดนตรี แทนสัญลักษณ์ของความไม่จีรังยั่งยืนและความเปราะบางของชีวิต จากความกังวลและความหวาดกลัวต่อความสูญเสียของคนรอบตัวที่เขารัก ต่อยอดมาจากประสบการณ์ที่ได้เห็นกล่องเก็บเครื่องดนตรี และความสนใจมันในฐานะวัตถุสำเร็จรูป (Readymade) รวมถึงพื้นที่ว่างและรูปทรงภายในที่รองรับเครื่องดนตรีภายในกล่อง ที่นอกจากจะดูมีความเป็นนามธรรมแล้ว ยังดูคล้ายกับโลงศพที่บรรจุร่างกายของเครื่องดนตรีอันไร้ชีวิต (เพราะไม่ถูกคนบรรเลง) อีกด้วย

ศุภพงศ์เชื่อมโยงกล่องใส่เครื่องดนตรีที่ว่านี้เข้ากับเครื่องดนตรีที่สื่อถึงการมีชีวิต ด้วยการเลือกชนิดของกล่องใส่เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า อย่าง ฟลูต, แซ็กโซโฟน, ทรัมเป็ต, เฟรนช์ฮอร์น และทรอมโบน ที่ต้องบรรเลงด้วยลมหายใจของมนุษย์ ซึ่งสัมพันธ์กับนัยยะของการมีชีวิต

เครื่องเป่าเหล่านี้ยังถูกใช้ในวงโยธวาทิต หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Military Band หรือวงดนตรีทางการทหาร ซึ่งเชื่อมโยงกับสงครามและความตายอย่างชัดเจน

ผลงานในโครงการ Still Life of Silence and Emptiness โดย ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ

กล่องใส่เครื่องดนตรีที่ว่านี้ยังทำให้เราอดนึกไปถึงร่างกาย ในฐานะ “เปลือก” บรรจุ “วิญญาณ” ในแอนิเมชั่น Ghost in the Shell ไม่ได้ หรือภาพลักษณ์ของกล่องใส่เครื่องดนตรีที่เป็นพื้นที่ว่างรูปทรงเครื่องดนตรีกลับด้าน คล้ายกับแม่พิมพ์ ยังทำให้เราอดนึกไปถึงแนวคิดเรื่อง “โลกของแบบ” ของเพลโต (Plato) นักปรัชญากรีกโบราณ ที่เชื่อว่า ทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนแล้วแต่มีต้นแบบหรือแม่พิมพ์อันสมบูรณ์แบบ ที่เป็นอุดมคติและนามธรรมอันเที่ยงแท้และไม่เปลี่ยนแปลง กล่องใส่เครื่องดนตรีเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนแม่พิมพ์ในอุดมคติของเครื่องดนตรีนั่นเอง

ศุภพงศ์ยังเลือกวิธีการจัดวางกล่องเครื่องดนตรีอย่างเรียบง่าย แต่ทรงพลัง ด้วยการใช้การเรียงลำดับของเครื่องดนตรีในการบรรเลงดนตรีเดินสวนสนามของวงโยธวาทิต ที่ให้เครื่องดนตรีเสียงเบาที่สุดอยู่ข้างหน้าและให้เครื่องดนตรีเสียงดังที่สุดอยู่ข้างหลัง ดูๆ ไปการเรียงรายกล่องเครื่องดนตรีเหล่านี้เป็นแถวหน้ากระดาน ก็ทำให้เรานึกถึงการวางโลงศพของทหารที่เสียชีวิตในสงครามอยู่ไม่น้อย

นอกจากผลงานชิ้นหลักในรูปของกล่องใส่เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าสำเร็จรูปแล้ว ศุภพงศ์ยังออกแบบแท่นวางผลงานของเขาให้เชื่อมโยงไปกับแนวคิดของโครงการ ด้วยการสร้างแท่นวางผลงานทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกับโลงศพที่บรรจุร่างไร้วิญญาณของมนุษย์

นอกจากนี้ เขายังสร้างแท่นวางงานด้วยวัสดุสเตนเลสสตีล ที่มีคุณสมบัติมันวาวคล้ายกระจกเงา ซึ่งเป็นวัสดุที่ศุภพงศ์มองว่ามีสถานะอันกลวงเปล่า เพราะเป็นวัสดุที่หยิบยืมภาพ (สะท้อน) ของสิ่งอื่นๆ รอบตัวมาปรากฏบนตัวเอง

ผลงานในโครงการ Still Life of Silence and Emptiness โดย ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ

ที่น่าสนใจก็คือ พื้นที่ที่จัดแสดงผลงานของศุภพงศ์ มีรูปลักษณ์เป็นพื้นที่สีเหลี่ยมผืนผ้าแนวยาว กับพื้นหินอ่อนลายตารางหมากรุกสีขาวสลับดำที่สะท้อนไปบนพื้นผิวมันวาวราวกระจกเงาของแท่นวางผลงานจนเกิดเป็นมิติซ้อนทับของพื้นที่ขึ้นมาอย่างแปลกตา พื้นห้องแสดงงานลายตารางหมากรุกกับเนื้อหาเกี่ยวกับความตายในผลงานชุดนี้ ยังทำให้เรานึกไปถึงหนัง The Seventh Seal (1957) ของ อิงมาร์ เบิร์กแมน (Ernst Ingmar Bergman) ที่เล่าเรื่องของอัศวินผู้ต่อรองเล่นหมากรุกกับยมทูตเพื่อยื้อชีวิตของตนเอง แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครหนีความตายไปได้พ้น

ประเด็นเกี่ยวกับเครื่องเป่าในวงโยธวาทิต หรือวงดนตรีทางการทหารในผลงานโครงการนี้ของศุภพงศ์ ยังมีความเชื่อมโยงกับเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามของผลงานในโครงการ Resonate ของกฤช งามสม ที่จัดแสดงอยู่ในห้องแสดงงานก่อนหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย

ตอนหน้าเราจะเล่าเกี่ยวกับผลงานของศิลปินในโครงการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ที่เหลือให้อ่านกัน

นิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน-11 พฤศจิกายน 2566 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เปิดทำการตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.00 น.-18.00 น. (ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) •

ข้อมูล https://shorturl.at/jxW04, https://shorturl.at/BJSZ8, https://shorturl.at/dwDFV

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์