พนมเปญไทม์ไลน์ : สีหนุราชเหลืออะไร? (1)

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

พนมเปญไทม์ไลน์

: สีหนุราชเหลืออะไร? (1)

 

พนมเปญ เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ เปลี่ยนไปอย่างยากที่จะย้อนกลับ แต่หากจะรำลึกได้ “ตรุง” สีหนุราชก็คงจะปวดร้าวพระทัย กล่าวคือ มองไปแห่งหนใด มองไม่เห็นอะไรที่ตรุง/พระองค์ทรงปลูกสร้างไว้ให้เป็นสมบัติชาติ

ฉันได้ไปเห็นไทม์ไลน์ของมาดามทรูดี้ วัณณ์ ผู้ทำไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่สามีวัณณ์ โมลีวัณณ์ สถาปนิกประจำราชสำนักนโรดมผู้ล่วงลับ และบัดนี้ท่านผู้หญิงทรูดี้เองก็จากไปเช่นกัน (ดู Architectural works of the Cambodian Architect Vann Molyvann From 1956 to 1970)

กล่าวคือ มันสุดจินตนาการที่จะกล่าวว่า องค์นโรดม สีหนุ นั้นทรงสร้างเมือง วางผังพนมเปญและเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2499/1956 เริ่มจากในปี พ.ศ.2500 กัมพูชาได้ร่วมฉลองวาระ 2500 ปีที่พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นมาบนโลก

ปีถัดมา พนมเปญมีการสร้างอนุสาวรีย์ชื่อ สะพานมุนีวงศ์ (1958) ในแต่ละมุมหัวสะพาน จะมีรูปพญานาค ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า “นาคบวน/นาค-4” แต่ทุกวันนี้ ไม่มีให้เห็นหรือหลงเหลือภาพนั้น แปลกมาก เพราะสะพานแห่งนี้สร้างขึ้นก่อนอนุสาวรีย์เอกราช (1959-60) เสียอีก

อนุสรณ์สถาน “วิเมียนเอกเรียจ” เป็นผลงานชิ้นเอกของอดีตกษัตริย์นโรดม สีหนุ สมัยเป็นนักการเมือง และเป็นผู้นำในการเจรจาให้กัมพูชาแยกตัวจากฝรั่งเศสที่เจนีวา

ทว่า วันนี้แม้วิเมียนเอกเรียจยังคงบทบาทนั้น ถูกบดบังความสลักสำคัญไปมาก ตั้งแต่สมเด็จฮุน เซน ได้สร้าง “win-win-สันติภาพ” (2561) อนุสรณ์สถานแห่งใหม่

เสมือนที่นี่คือแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในพิธีการทางการเมืองตามระบอบเตโช

พนมเปญเปลี่ยนไปมากจริงๆ

เมื่อวิวัฒนาการทางการเมืองที่เคยเป็นสารตั้งต้นของประเทศในยุคสีหนุราช ค่อยๆ ถูกจำกัดความสำคัญแต่เฉพาะด้านเท่านั้น!

แล้วระบอบสีหนุราช เคยสร้างสรรค์สิ่งใดไว้เป็นไทม์ไลน์ในอดีต?

ในความรุ่งโรจน์ของพิธีการและงานสร้าง ทรงต้องทำพิธีบรรจุอัฐิธาตุพระบาทสุรมฤต พระมหากษัตริย์และพระราชบิดาของพระองค์ ตลอดจนพิธีปลงพระศพเจ้าหญิงกรรณฐบุปผา พระธิดาของพระองค์

แต่ในนามประมุขแห่งรัฐ-นักการเมือง ทรงเดินหน้าจัดแสดงแสงสีเสียงอย่างต่างกรรมต่างวาระระหว่างปี พ.ศ.2501-2509 ที่ปราสาทนครวัด เพื่อต้อนรับอาคันตุกะวีไอพี ประธานาธิบดีซูฮาร์โต, ประธานาธิบดีติโต, นายพลชาร์ล เดอ โกล อันเป็นที่มาขายแนวคิดทางวัฒนธรรมต่อนานาชาติ

ซึ่งเมื่อย้อนดูไทม์ไลน์แล้ว จะพอเห็นถึงความล้ำในการจัดนิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติของกัมพูชาที่ตามมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 ณ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ปีถัดมา กัมพูชายังไปจัดแสดงที่ซาเกร็บ ประเทศยูโกสลาเวีย และบราโนแห่งเชโกสโลวะเกีย เรียกว่า กัมพูชาจัดดิสเพลย์ เพื่อแสดงสินค้าทั้งยุโรปและเอเชีย

ในปี พ.ศ.2507 นั้นก็ยังบุกห้าง “ทม/หรูหรา” อย่างลาฟาแย็ตต์ที่ปารีส

ถัดมาอีก 2 ปี ก็เอาแคมเปญ “กัมพูชาวันนี้” ไปจัดแสดงสินค้าซ้ำอีกรอบที่นี่ และลอนดอนตามมา อีกทั้งวอร์ซอของโปแลนด์, บูดาเปสต์/ฮังการี เบลเกรด/ยูโกสลาเวีย และฮาวานา/คิวบา

เห็นตารางแบบนี้ จึงไม่คิดว่าเป็นแค่การโชว์ออฟส่วนพระองค์ แต่ทรงตั้งใจทำแบรนด์กัมพูชาเพื่อให้ติดตลาดโลก

พอพลิกไทม์ไลน์ย้อนขึ้นไป ฉันก็อึ้งไปเลย ให้ตายเถอะ! นึกไม่ถึงว่า “ตรุงทรงทำงานหนัก” ไม่ใช่ดีแต่ไป “ตากอากาศ” เหมือนที่ถูกค่อนขอด!

ใช่เลย เมื่อย้อนดู เราจะเห็นอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นบุคลิกภาพขององค์นโรดม สีหนุ ในความเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์โดยธรรมชาติระดับวีไอพีในทุกสินค้าของประเทศ

ทรงทราบดีว่า ตนเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของเขมร การนำไอเดีย การจัดนิทรรศการแสดงสินค้านานาชาติสำหรับความสำเร็จบ้านเมืองในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ศิลปะและงานฝีมือยุคสังคมราษฎร์นิยมนั้น ยังมีการจัดแสดงให้ประชาชนเข้าชม ณ บริเวณแม่น้ำบาสักกรุงพนมเปญถึง 2 ปีเต็ม (พ.ศ.2505-2507)

ใส่พระทัยในเรื่องงานระดับชาติ แม้จะไม่ถนัด และใส่ใจงานสภาบริหารบ้านเมือง ถึงกระทั่งว่า ทำลายพรรคฝ่ายค้านและไม่ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ!

ทรงโปรดจัดนิทรรศการแสดงสินค้า นอกจากที่กรุงพนมเปญแล้ว ยังออกโรดโชว์ออนทัวร์ตามหัวเมืองต่างๆ เช่น คีรีรมย์, สีหนุวิลล์ (1963-1964)

เรียกว่า ทรงโปรดงานราษฎร์และทำได้อย่างโดดเด่น ตามที่ทราบ สมัยนั้นเรียกกันว่าเป็นยุค “สังคมราษฎร์นิยม” ก็นั่นเอง วิสัยทัศน์อำนาจละมุน และยังกลายเป็นการเน้นก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน

ในปี พ.ศ.2505 โปรดให้สร้างหอประชุม “จตุรมุข” ขนาด 800 ไม่ไกลจากแม่น้ำจตุมุข เพื่อสมโภชน์กัมพูชาในการเป็นเจ้าภาพประชุม “สันนิบาตโลกด้านพุทธศาสนา”

คาดการณ์ว่า ทรงอยากเห็นพนมเปญเป็นเมืองหลวงแห่งศิลปะและการแสดง ไม่ช้า นายสถาปนิกโมลีวัณณ์ จึงสร้างโรงละครแห่งชาติขนาดความจุ 1,200 ที่นั่ง ที่แขวงบาสัก (2507-2509)

โรงละครแห่งนี้ชื่อว่า “พระสุรมฤต” นามพระบิดาของพระองค์ ทว่า น่าเสียดายยิ่ง ในปี 2537 ได้เกิดไฟไหม้ จนทำให้โรงละครแห่งนี้ไม่หลงเหลือให้นึกถึงระบอบสังคมราษฎร์นิยม!

กระนั้นก็ตาม ระหว่างปีดังกล่าว (2505) วัณณ์ โมลีวัณณ์ ก็ยังเนรมิต “สถาปัตยกรรมยุคสีหนุราช” อีกมากมาย รวมทั้งทำเนียบจัมกามอน (2509) ซึ่งกล่าวกันว่า มีลักษณะคล้ายกับทำเนียบขาวของสหรัฐที่กรุงพนมเปญ เพื่อเป็นสถานที่เฉพาะของผู้นำ

ทรงเคยประทับที่นี่ ซึ่งโอ่อ่าทั้งวิลล่าที่ถูกสร้างแยกออกมา อีกทั้งออกแบบให้มีลักษณะแตกเป็นปีกอาคารของทำเนียบ เพื่อใช้เป็นทั้งที่พักและสำนักงาน ห้องโถงต้อนรับและเลาจน์รับรอง ห้องจัดเลี้ยงที่โอ่อ่า

ที่นี่เคยต้อนรับอาคันตุกะประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสคนที่ 18 : มร.ชาร์ล เดอ โกล

ระหว่างปี 2504-2509 สีหนุราช ยังโปรดให้สร้างที่พำนักเหล่าข้าหลวง นักการเมืองขึ้นที่สีหนุวิลล์หรือกำปงโสม ที่ขณะนั้นถือเป็นเมืองตากอากาศชายทะเลและทำให้เกิดธรรมเนียมสร้างบ้านเรือนรับรองของประมุขอีกหลายจังหวัดตามมา เช่น กำปงจาม พระตะบอง คีรีรมย์

ระหว่าง พ.ศ.2506 นั้น วัณณ์ โมลีวัณณ์ ก็สร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ หรือโอลิมปิกสเตเดี้ยมแห่งชาติ ใจกลางกรุงเมืองหลวงซึ่งบรรจุผู้ชมถึง 8 หมื่นคน และอาคารกีฬาในร่ม สระว่ายน้ำ รวมกันนับหมื่นที่นั่ง และพื้นที่ทั้งหมดโดยรอบราว 250 ไร่

เพื่อเนรมิตให้กัมพูชายิ่งใหญ่ในการเป็นเจ้าภาพกีฬาแหลมทองครั้งที่ 3

ทว่า เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง แต่ปี พ.ศ.2509 กัมพูชาก็สามารถจัดการแข่งขัน GANEFO มหกรรมกีฬาของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่อินโดนีเซียเป็นแกนนำ

แสดงถึงศักยภาพของสีหนุทั้งอำนาจอ่อนและแข็ง ในรูปแบบนักเจรจาและความเป็นนักสร้าง (Events Management)

น่าเสียดาย นับแต่ทศวรรษ’90 เรื่อยมา รัฐบาลฮุน เซน ได้ตัดพื้นที่รอบนอกของสเตเดี้ยมทั้งหมดนับร้อยไร่ ให้นายทุนนำไปปลูกสร้างอาคารพาณิชย์

ทุกวันนี้ โอลิมปิกสเตเดี้ยมกลายเป็นเหมือนสุสานสาธารณะที่มีชาวกรุงพนมเปญยุคหลังมองเห็นแต่ความเสื่อมโทรมของอดีตสปอร์ตคอมเพล็กซ์แห่งนี้ เมื่อเทียบกับตำนานบทใหม่อันใหญ่ที่มาทดแทนอย่างพหุกีฬาสถานเตโชของสมเด็จฮุน เซน

ไม่แต่เท่านั้น โครงการร่วมอื่นๆ อย่างคลับเฮาส์ สโมสรกีฬาทางน้ำก็ถูกขายทิ้ง ปัจจุบันคือสถานทูตสหรัฐ

อีกแห่งหนึ่งห่างออกไปในแขวงบาสักเก่า ในปี 2505 มีการปลูกสร้างคอนเส็ปชั่นตึก ดูเพล็กซ์อพาร์ตเมนต์ จำนวน 2,000 ห้อง แล้วแนวคิดรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอาคารที่อยู่อาศัยแก่ข้าราชการเขมรสมัยนั้นก็เกิดขึ้นและมาก่อนกาลไปหน่อย

นอกจากรูปถ่ายที่ปรากฏอยู่ในหนังสือในยามแจกแก่อคันตุกะแล้ว วันนี้ ตึกขาวของตรุงสีหนุ ที่ประชาชนเคยมาอาศัยหลบภัยยามสงครามกลางเมือง สมัยเขมรแดง กลายเป็นตึกร้าง จนถึงระบอบฮุนเซนที่ขายทิ้งให้เอกชนไปทั้งหมด จากปี 2537 ที่ตึกขาวเฟสต่างๆ เริ่มถูกทุบทิ้งไปเรื่อยๆ

กระทั่งไม่หลงเหลือซากใดๆ ให้เห็นอีกเลย นอกจากร่องรอยที่ประชาชนกล่าวขานถึงการถูกขับไล่ที่อยู่อาศัยเพื่อยึดคืนขายสัมปทานเอกชน

ตั้งแต่นั้นมา นโยบายรัฐบาลปลูกสร้างที่พักอาศัยราคาถูกแก่ประชาชนของเขมร ก็สิ้นสุดอย่างดุษฎี เหลือแต่การถูกเวนคืนและไล่ที่ของประชาชีนานา

และนี่คือผลพวงแห่งความคับแค้นของอดีต “สีหนุราช” แห่งกัมพูชา