ความในใจของชาวอีสาน : บันทึกภาคสนามของข้าราชการสมัยประชาธิปไตย | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

ข้าราชการจำนวนมาก “ฝังหัวอยู่กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

(ขุนวิโรจน์รัตนากร, 2476)

 

ภายหลังการปราบกบฏบวรเดช 2476 แล้ว คณะราษฎรพยายามสื่อสารทางการเมืองกับราษฎรอย่างกว้างขวาง เนื่องจากราษฎรจำนวนมากยังไม่ทราบถึงประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตยที่พวกเขาจะได้รับ หากรัฐบาลนิ่งเฉยราษฎรอาจถูกโน้มน้าวชักจูงจากกลุ่มอนุรักษนิยมให้ต่อต้านประชาธิปไตยแทนได้ ดังนั้น หากรัฐบาลหมั่นสื่อสารกับราษฎรให้เห็นคุณประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตยแล้ว ผลที่ได้รับคือทำให้การโน้มน้าวราษฎรให้ต่อต้านระบอบใหม่โดยกลุ่มอนุรักษนิยมจะเป็นไปได้ยาก (สำนักงานโฆษณาการ, 2477, 6-7)

คณะราษฎรตระหนักดีว่าอุดมการณ์แบบเก่ายังไม่หมดสิ้นไป และยังคงเป็นคลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุต่อต้านรัฐบาลได้ทุกเมื่อ ดังนั้น คณะราษฎรจึงต้องการปลูกฝังวัฒนธรรมการเมืองใหม่แก่ราษฎรให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย (สุวิมล พลจันทร์, 145)

เข็มกลัดผู้แทนตำบล 2476 และผู้แทนตำบล เครดิตภาพ : ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และนวรัตน์ ศรีจามร

ให้ความรู้ระบอบประชาธิปไตยแก่ราษฎร

ทีมปาฐกถาของสำนักงานโฆษณาการจึงมีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากราษฎรยังขาดการศึกษา อ่านออกเขียนได้น้อย ดังนั้น รัฐบาลจึงใช้นโยบายเชิงรุกเข้าหาราษฎรในชนบทที่ทุรกันดารต่างๆ ด้วยการมอบหมายให้สำนักงานโฆษณาการสื่อสารด้วยการอธิบายด้วยการพูดที่เข้าถึงตัวราษฎร โดยปาฐกถาครั้งหนึ่งๆ ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ในแต่ละปีใช้เวลาเผยแพร่ประมาณ 3 เดือน (สุวิมล, 24)

ควรบันทึกด้วยว่าภายหลังการปราบกบฏบวรเดชเพียง 1 เดือน รัฐบาลพระยาพหลฯ จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2476 ถือเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย การเลือกตั้งทางอ้อมคือการให้ราษฎรเลือกผู้แทนตำบลให้ไปเลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง โดยแต่ละจังหวัดจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 1 คนต่อราษฎร 2 แสนคน ทำให้มีจำนวน ส.ส.ประเภทที่ 1 จำนวน 78 คน และ ส.ส.ประเภทที่ 2 ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอีก 78 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 156 คน

ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งแรกมีผู้มีสิทธิ 4.2 ล้านคน ออกไปใช้สิทธิจำนวน 1.7 ล้านคน คิดเป็น 41.45% เป็นสัดส่วนเกือบกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากในสมัยนั้น

ข้าราชการสำนักงานโฆษณาการและสมุดแบบฝึกหัดของนักเรียนสมัยแรกเริ่มประชาธิปไตย

ความรู้สึกผูกพันต่อระบอบเก่าของชาวอีสาน

ในบรรดาทีมปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยไปยังชนบทของรัฐบาล มีบางคนเขียนบันทึกภาคสนามในการออกพื้นที่ บ้างก็เขียนขึ้นเป็นหนังสือ บางคนเล่าสอดแทรกไว้ในปาฐกถาวิทยุกระจายเสียงซึ่งมีการตีพิมพ์ขึ้นในภายหลัง ทีมปาฐกถาเผยแพร่ฯ มีหลายทีม ในที่นี้ขอเล่าผ่านทีมของไพโรจน์ ชัยนาม อำพัน ตัณฑวรรธนะ เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ และสมบูรณ์ เหล่าวานิช ที่ตระเวนเผยแพร่ความรู้ไปทั่วอีสานและภาคอื่นๆ ภายหลังการปราบกบฏบวรเดช ทีมปาฐกถามีหน้าที่รับผิดชอบเผยแพร่รัฐธรรมนูญ ส่งเสริมการปกครองประชาธิปไตย และกระตุ้นให้ราษฎรเกิดความแข็งขันในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

อำพัน ตัณฑวรรธนะ (2455-2529) ข้าราชการหนึ่งในทีมปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยของสำนักงานโฆษณาการสมัยแรกเริ่ม เขามีพื้นเพเป็นชาวโคราช เขาแสดงความเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงการปกครองอันสะท้อนความรู้สึกของเขาไว้ในหนังสือชื่อ หลักวิชาการเมือง (2479) ว่า “การปกครองเดิมอาศัยมติของคนเดียวหรือคณะเดียว แต่การปกครองใหม่อาศัยมติพลเมืองเป็นใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับราษฎร” (อำพัน, 2479, ก.)

ตลาดสมุทรสาคร เมื่อ 2479 เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton

ไพโรจน์ ชัยนาม (2454-2537) ข้าราชการในทีมปาฐกถาฯ บันทึกประสบการณ์การเดินทางปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยไว้ในบทปาฐกถาเรื่อง การเดินทางในภาคอีสาน (2478) ถึงความรู้สึกผูกพันต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของชาวอีสานว่า “หนองบัวลำภูเป็นอำเภอที่กันดารและไม่เจริญเลย ในขณะที่อยู่ในอำเภอนี้ข้าพเจ้าสังเกตเห็นนิสัยของราษฎรไทยได้อย่างหนึ่ง คือขณะนั้นเป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ ทางจังหวัดได้บอกไปทางอำเภอ เมื่อมีการประชุมที่อำเภอนี้ หลังจากที่เขาได้ทราบเรื่องพระมหากษัตริย์ได้สละราชสมบัติแล้ว ไม่เห็นเขาตื่นเต้นตกใจ หรือรู้สึกแปลกประหลาดอย่างใด คล้ายกับว่าไม่เกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียของเขาเลย ใครจะเป็นอะไรก็ช่าง…” (ไพโรจน์, 2504, 578-579)

ส่วนเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ (2455-2534) ข้าราชการสำนักงานโฆษณาการอีกคน เขาอยู่ในทีมของไพโรจน์ อำพัน และสมบูรณ์ ที่ตระเวนเผยแพร่ความรู้ไปหลายพื้นที่ของไทย เขานำประสบการณ์การเดินทางและการพบปะราษฎรมาแทรกเเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือชื่อ นักการเมือง (2478)

ร้านกาแฟ ที่มหาสารคาม 2479 เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton

เขมชาติเล่าความทรงจำถึงความรู้สึกของคนไทยในชนบทแห่งหนึ่งภายหลังที่ราษฎรทราบข่าวว่าพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชย์แล้วว่า “หลังจากแสดงปาฐกถาแล้ว ผู้แสดงได้บอกข่าวเรื่องสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงลาออกจากราชสมบัติให้ราษฎรซึ่งมาประชุมฟัง เมื่อบอกแล้วข้าพเจ้าได้คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลง อันคาดว่าจะเกิดจากสีหน้า หรืออาการของผู้ที่มาฟังบ้าง แต่เปล่า ไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงหรือตื่นตกใจแต่อย่างใดเลย ราษฎรทั้งหลายได้ฟังและได้ยิน แต่ทว่า ข่าวที่ได้ยินนั้นไม่ทำให้เขารู้สึกดีใจ เสียใจ หรือประหลาดใจแต่อย่างใด เสมือนหนึ่งว่าเรื่องที่บอกนั้นไม่ใช่เรื่องเกี่ยวข้องแก่เขา ใครจะเป็นอะไรก็ช่าง”

จากบันทึกภาคสนามของสมาชิกในทีมปาฐกถาฯ ในประเด็นความรู้สึกของเหล่าราษฎรอีสานและในชนบทของไทยที่มีร่วมกันสะท้อนคติทำนองที่ว่าเจ้านายเหมือนดวงอาทิตย์ อันเข้าใจได้ว่าผู้ใดอยู่ใกล้อำนาจการปกครองย่อมมีแต่ความเดือดร้อน ถูกกดขี่ เก็บส่วยภาษี เกณฑ์แรงงาน ดังนั้น หากใครต้องการสงบสุข และปลอดภัยต้องอยู่ห่างไกลอำนาจนั้น ความรู้สึกเช่นนี้ทำให้ราษฎรหลีกเลี่ยงความข้องเกี่ยวกับการปกครอง

อีกทั้งประวัติศาสตร์การปกครองที่ผ่านมาราษฎรเป็นผู้ถูกปกครองมาอย่างยาวนาน ปราศจากการมีสิทธิมีส่วนในการปกครอง สภาพความรู้สึกของราษฎรในชนบทข้างต้นจึงเป็นผลที่เกิดจาก “ระบอบปกครองแบบเก่านั้น รัฐบาลมิได้แถลงเล่าให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลจะดำเนินการปกครองไปอย่างไร” (สำนักงานโฆษณาการ, 2477, 8) ด้วยเหตุนี้ราษฎรจำนวนมากจึงมิได้มีสำนึกพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

ภาพตลาดของจังหวัดยโสธร เมื่อ 2479 เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton

ข้าราชการะบอบใหม่
โต้กลุ่มอนุรักษนิยม

เขมชาติวิเคราะห์สาเหตุที่ราษฎรมาเลือกตั้งในครั้งแรก (พฤศจิกายน 2476) ไม่มากเท่าที่คาดหวัง อาจจะเป็นเพราะราษฎรยังไม่เข้าใจการปกครองระบอบใหม่ที่เรียกร้องให้ประชาชนมีสิทธิมีส่วนในการปกครอง หรือบางส่วนนั้นราษฎรอาจรำคาญการถูกผู้มีอำนาจในท้องถิ่นบังคับให้เลือกบุคคลตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ และราษฎรบางส่วนยังคุ้นเคยกับการปกครองเดิมจึงไม่เห็นประโยชน์การเลือกตั้ง ส่วนคนสูงอายุมาเลือกน้อยด้วยเหตุสังขาร ส่วนสตรีนั้นมาเลือกตั้งน้อยเพราะความกระดากอาย เนื่องจากสังคมไทยขณะนั้นไม่มีค่านิยมให้สตรีออกจากบ้านไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับบ้านเมือง

เขาพบว่าราษฎรส่วนหนึ่งมาเลือกตั้งด้วยเกรงกลัวอำนาจของบุคคลผู้เป็นใหญ่ในท้องถิ่นที่สืบอำนาจกันมานั้น เป็นต้น เขาเห็นว่า “พลเมืองของสยามควรจะเอาใจใส่ต่อการเมืองให้มากกว่านี้ เพราะประเทศสยามได้ชื่อว่าเป็นของคนไทยทุกๆ คน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ” (เขมชาติ, 2478)

อย่างไรก็ตาม ไพโรจน์เล่าว่า ภายหลังการเลือกตั้งผู้แทนตำบลเมื่อปลายปี 2476 ที่ผ่านไปนั้น กลุ่มอนุรักษนิยมนั้นมักกล่าวโจมตีระบอบประชาธิปไตย กลุ่มบุคคลนี้ไพโรจน์เรียกว่า “ผู้ไม่ชอบการปกครองแบบมีรัฐธรรมนูญ” กล่าวโจมตีการปกครองระบอบใหม่ว่า สาเหตุที่ราษฎรออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย เพราะไม่นิยมระบอบที่เกิดขึ้นใหม่นั่นเอง

ไพโรจน์ ข้าราชการหนุ่มแห่งระบอบใหม่ โต้แย้งข้อกล่าวหาผ่านวิทยุกระจายเสียงเมื่อ 2478 ว่า “ไม่ใช่ว่าเขาไม่นิยม แต่เขาไม่เข้าใจดีว่าการปกครองเช่นนี้จะให้ผลดีแก่เขาอย่างไร เขาจึงไม่ใส่ใจเรื่องพระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติ เป็นตัวอย่างให้เราเห็นได้ดี” (ไพโรจน์, 2504, 579)

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ สาเหตุที่ราษฎรมาเลือกตั้งยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งนั้น มิได้เกิดจากความไม่นิยม แต่อาจเกิดจากความหวาดกลัวรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง เฉกเช่นเดียวกับความรู้สึกผูกพันต่อระบอบเก่ามีมากเพียงใดนั้นเห็นได้จากราษฎรในชนบทไม่เห็นว่าการสละราชสมบัติของพระปกเกล้าฯ มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาอย่างไร