วิวาทะ Soft Power ของต้องเต ดราม่าที่ไม่น่าเป็นดราม่า

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ระหว่างที่กระแสของภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อยังคงพุ่งติดลมบนอย่างต่อเนื่องมาตลอดเดือน

ฉับพลันทันใดก็เกิดดราม่าขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน

เมื่อต้องเต ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พูดในงานเสวนา “จากจักรวาลไทบ้านสู่พลังอีสานสร้างสรรค์” ทางรายการ “อยู่ดีมีแฮง” ในสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566

ตอบคำถามของจิราพร คำภาพันธ์ พิธีกรรายการที่พูดอีสานเป็นความหมายประมาณว่า

“หนังเราโกอินเตอร์แล้ว 9 ประเทศ จากที่เราเดินทางมา ก้าวย่างมาเนี่ย ตอนแรกก็ไม่มีคนจูงนำพาเราเท่าไหร่หรอก ทีนี้หนังเราบอกว่าเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ระหว่างทางจากนี้ไปอยากพูดให้ฟังหน่อยว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร ให้หนังของคนอื่นเป็นอย่างเราถึงจะรอด ไปด้วยกันอย่างไรถึงรอด”

ซึ่งต้องเตตอบคำถามนี้ว่า

“จริงๆ หนังผม มันน่าจะเดินทางได้สุดแค่ประมาณนี้แหละครับ แต่ผมคาดหวังว่าเรื่องต่อๆ ไป ไม่ใช่เรื่องของผมนะครับ เรื่องต่อๆ ไปในวงการอุตสาหกรรม เพราะว่าเหมือนเราเป็น… อาจจะสร้างปรากฏการณ์หรือเป็นกระแส จากกระแสที่ไม่มีคนพูดถึง กลายเป็นกระแสหลัก แล้วทำให้วงการภาพยนตร์รู้สึกว่า อึ้ย! แล้วก็วงการอื่นๆ อย่างรัฐบาลเขามาเห็น มองเห็นอย่างนี้ครับ ผมว่า อึ้ย! ถ้ามันมีเรื่องอื่นที่มันดี แล้วมันพาเขาไปครับ คือให้มา support (สนับสนุน) จริงๆ หน่อย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูปอย่างเนี้ย คุณอาจจะไม่ได้เข้าใจหนังสัปเหร่อจริงๆ เลยก็ได้ แค่มาถ่ายรูปแล้วก็บอกว่าหนังสัปเหร่อเป็นซอฟต์เพาเวอร์อย่างเนี้ย อย่างตัวผมเองยังไม่รู้เลยว่าซอฟต์เพาเวอร์มันคืออะไร ตอนผมทำนะครับ อ้าว แล้วหนังผมมันเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ใช่เหรอ ผมยังไม่รู้เลย อย่างเนี้ย ถ้าผมได้รู้ หรือทำความเข้าใจว่า ซอฟต์เพาเวอร์มันคืออะไร หนังมันไปไกลกว่านี้ หนังมันมีซอฟต์เพาเวอร์จริงๆ แน่นอน อย่างนี้ครับ ดังนั้น มันก็เลยถ้ามีการพูดคุยหรือเสวนาในวงการที่คุณต้องการจะเอาซอฟต์เพาเวอร์ให้เผยแพร่ต่อต่างประเทศ หรือจะพาเขาไปอย่างนี้ครับ ให้พาไปจริงๆ ไปไม่ใช่แค่ อ่ะ หนังเรื่องนี้โกอินเตอร์ อย่างเช่นไป 9 ประเทศนี่ ก็ไม่ใช่เขาพาไปนะครับ ก็คือหนังมันไปเอง และเราก็ไปขายเอง ใช่ครับ มันไม่ใช่รัฐบาลพาไป อันนี้พูดตรงๆ” ตามลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=MHAmTSjAFdY

 

หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดดราม่าขึ้นอย่างดุเดือดในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ เพราะความเห็นของต้องเตแม้จะไม่ระบุนามของใครเลยก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนพาดพิงถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีอีกหลายท่านที่ร่วมเดินทางไปร่วมชมภาพยนตร์เรื่องนี้ จากการเหมาโรงฉายในวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งต้องเตเองก็อยู่ร่วมในเหตุการณ์วันนั้นด้วย ตามข่าว “เศรษฐาแต่งชุดไทยชนป๊อปคอร์นอุ๊งอิ๊งดูสัปเหร่อ ก่อนหลุดปากมีนายกฯ 2 คน” ทางลิงก์ https://www.matichon.co.th/politics/news_4251320

จุดเริ่มต้นของดราม่านี้น่าจะเริ่มจากการตัดคำสัมภาษณ์บางส่วนมาทำเป็นภาพกราฟิก เช่น ของสุทธิชัย หยุ่น ตามลิงก์ https://twitter.com/suthichai/status/1721096890383806763 ซึ่งทำให้เกิดวิวาทะได้อย่างง่ายและแพร่กระจายในชั่วพริบตา ตลอดจนเกิดการแชร์ไปวิจารณ์ต่ออย่างเผ็ดร้อน

เช่นของอั้ม อิราวัต ที่ออกมาโต้ว่า

“ข้อแรก เพื่อไทยเขาเพิ่งเป็นรัฐบาลครับ ต้องเต ข้อสอง ถ้าไม่ให้เขาถ่ายรูป หรือร่วมยินดีด้วย จะให้เขาเพิกเฉย หรือไม่สนใจเหรอ? ในฐานะรัฐบาล ข้อสุดท้าย เออ ฟังบทสัมภาษณ์แล้ว สรุปว่าไม่เข้าใจคำว่า Soft Power จริงๆ นั่นแหละ จะโกอินเตอร์ รู้ไหมต้องประสานกับอะไร จะไประดับนานาชาติ รู้ไหมว่าต้องผ่านหน่วยงานไหน ต้องผ่านกรมกองระหว่างประเทศ + งบสนับสนุนอย่างไร รัฐบาล+คณะรัฐมนตรี กระทรวงต่างๆ เขากำลังช่วย แล้วมาให้สัมภาษณ์แบบนี้ มันไม่ดีต่อภาพรวมเลย แต่ก็ตามสบายเลยครับ ถ้าคิดว่าดี” ตามลิงก์ https://twitter.com/Doctor_Um/status/1721120762562761140

นอกจากนี้ ยังมีการชี้แจงจากนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย อีกด้วยว่า

“รัฐบาลเพิ่งได้เข้ามาเริ่มผลักดันนโยบาย #SoftPower และไม่ได้คิดจากเคลมผลงานใดๆ จากความสำเร็จของภาพยนตร์ #สัปเหร่อ ครับ แต่มีเจตนาที่จะสนับสนุน และชี้ให้เห็นตัวอย่างหนึ่งของผลงานที่มีคุณภาพ ในฐานะคอหนัง ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความตั้งใจ และประทับใจผลงานด้วยใจจริง หวังอย่างยิ่งว่าในเร็วๆ นี้ ความสนใจและตั้งใจจริงของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ให้เติบโตและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างขึ้น จะเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วครับ”

ทางลิงก์ https://twitter.com/ChaninNume/status/1721141124507849074

 

เมื่อพิจารณาทางเนื้อความทั้งหมดโดยไม่เลือกตัดมาเฉพาะเพียงประโยคใดประโยคหนึ่งแล้วจะพบว่าอันที่จริงแล้วทัศนะของต้องเตกับอั้ม อิราวัต และชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ นั้นไม่ได้ขัดแย้งกัน ทั้งยังเป็นการเสริมกันด้วยซ้ำ

ดังนั้น ดราม่านี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่จริงๆ แล้วไม่ควรจะเป็นดราม่าเลย

แต่ที่กลายวิวาทะดุเดือดรุนแรงเช่นนี้ได้ก็น่าจะมาจากสาเหตุ 4 ประการ คือ

หนึ่ง เพราะการตัดถ้อยคำบางประโยคที่สามารถทำให้เกิดความเดือดดาลได้ง่าย เช่น เฉพาะในประโยคที่ว่า “คุณอาจจะไม่ได้เข้าใจหนังสัปเหร่อจริงๆ เลยก็ได้ แค่มาถ่ายรูปแล้วก็บอกว่าหนังสัปเหร่อเป็นซอฟต์เพาเวอร์อย่างเนี้ย อย่างตัวผมเองยังไม่รู้เลยว่าซอฟต์เพาเวอร์มันคืออะไร” ซึ่งฟังดูเป็นการต่อว่าอย่างรุนแรงและเฉพาะเจาะจง

ทั้งที่หากติดตามบทสัมภาษณ์ทั้งหมดจะสัมผัสถึงการพูดตรงๆ ก็จริง แต่ไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น และไม่ได้มุ่งตำหนิเหตุการณ์ปัจจุบันสักเท่าไหร่ แต่กำลังพูดถึงอนาคตของภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ในอุตสาหกรรมบันเทิงเสียมากว่า หรือเป็นข้อเสนอแนะในระยะยาวนั่นเอง

ซึ่งพอฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมาเห็นข้อความแบบนี้เข้าก็เกิดทัวร์ลงขึ้นทันที เพราะไปมองว่าต้องเตด่ารัฐบาลแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว บางคนตำหนิว่าดังแล้วเหลิง หรือวัวลืมตีน เป็นต้น

สอง บุคลากรทั่วไปในอุตสาหกรรมบันเทิงมีความทรงจำที่ไม่ดีกับภาครัฐและภาคการเมืองมาช้านานแล้ว จึงทำให้มองท่าทีของฝ่ายการเมืองแย่มาตั้งแต่ต้น เช่น มองว่าไม่สนับสนุนจริงจังแต่ฉวยโอกาสอ้างผลงาน

หรือหากมีสนับสนุนอยู่บ้างก็ผิดทิศผิดทางและไม่ต่อเนื่อง บ่อยครั้งที่เข้ามาเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำผ่านการลงโทษหรือแบนหนัง การที่ภาครัฐและภาคการเมืองมักไม่เข้าใจหัวอกคนทำหนัง แต่คอยฉวยใช้หาผลประโยขน์อยู่เสมอ

ผู้มีอำนาจเข้ามาแบบวูบวาบแล้วหายไป คนทำงานตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้รับการเหลียวแลในระยะยาว คนในแวดวงจึงมักมีปมลึกๆ อยู่ในใจ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่า “อีกแล้วเหรอ พอกระแสหายไป เดี๋ยวทุกอย่างก็เหมือนเดิม”

สาม รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบาย soft power เป็นอย่างมาก แต่ก็เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะยังไม่ทราบรายละเอียดมากนัก

และต้องเตเองก็เป็นประชาชนคนหนึ่งในกลุ่มนี้ เขากล่าวว่าไม่รู้จัก soft power ไม่เข้าใจว่าคืออะไร ซึ่งคนฉลาดเฉลียวตลอดจนคลุกคลีอยู่ในวงการภาพยนตร์อย่างเขาคงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เคยได้ยินคำนี้เลย

เพียงแต่เขาตระหนักดีว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ หรือไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งพอ และหากย้อนกลับไปในจุดที่เริ่มสร้างสัปเหร่อ ณ ตอนนั้นเขาก็คงแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ soft power

เมื่อมองจากทั้งมุมของต้องเตและของรัฐบาลแล้วก็จะเห็นว่าไม่ผิดด้วยกันทั้งคู่ เพราะนโยบาย soft power ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสัปเหร่อเลย เนื่องจากทุกอย่างมันล่วงเลยมาจนถึงปลายทางแล้ว

แต่ในอนาคตสภาพแวดล้อมพื้นฐานที่ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันภาคส่วนต่างๆ อย่างครบวงจรในสายงานภาพยนตร์จะเกิดขึ้นผ่าน THACCA ซึ่งรัฐบาลกำลังทำอยู่ และทำอย่างแน่นอน

ดังจะเห็นได้จากการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้นมา

สี่ soft power เป็นคำที่ถูกใช้ในสังคมไทยอย่างมากล้นจนผู้คนเกิดความสับสนและไม่แน่ใจว่าหมายความว่าอย่างไรกันแน่

เมื่อเกิดความคลุมเครือขึ้น อะไรๆ ก็เลยถูกคนโยงเป็น soft power ไปหมด

บางคนใช้ไปทั่วอย่างไร้ขอบเขต

ในขณะที่บางคนเกิดความไม่แน่ใจและพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้

การที่คำมีความหมายลื่นไหลไปเรื่อยในบริบทของสังคมไทยจึงทำให้เกิดการใช้มากมาย ทว่า ก่อให้เกิดวิวาทะได้ง่าย และกลายเป็นสิ่งที่คล้ายจะเข้าใจง่ายแต่ก็ไม่ง่าย เหมือนชัดเจนแต่ไม่ชัดเจน อันเป็นชนวนเหตุให้คนโต้เถียงกันบ่อยครั้ง

เพราะเห็นไม่ตรงกันนั่นเอง

 

สรุปแล้วดราม่าสัปเหร่อนี้ไม่ควรจะเป็นดราม่าตั้งแต่แรก เพราะแต่ละฝ่ายก็พยายามทำงานในมุมของตน โดยให้ข้อเสนอแนะตามที่ฝ่ายตนรับรู้

และการตัดสินประเด็นนี้ก็ไม่ควรวินิจฉัยแบบเลือกฝั่งว่าถ้าเป็นกองเชียร์ของรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยจะต้องถล่มต้องเต

ในขณะที่หากเป็นกองแช่งรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยจะต้องไปยืนข้างต้องเตแล้วถล่มรัฐบาล

ซึ่งการเลือกฝั่งเช่นนั้นคือการอ้างเหตุผลแบบ “false dilemma fallacy” เพราะเอาจริงๆ แล้วทั้งสองฝ่ายไม่ใช่คู่ขัดแย้งกัน ไม่จำเป็นว่ารักคนนั้นแล้วต้องเกลียดคนนี้ แต่สามารถรักหรือไม่รักไปพร้อมกันได้โดยที่ความถูกต้องของข้อเท็จจริงของประเด็นนี้ยังคงอยู่

แนวทางที่ต้องเตเสนอแนะนั้นรัฐบาลกำลังทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการสร้าง THACCA แต่เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้นไม่นานและยังไม่ปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ ผู้คนจึงยังแทบไม่รู้จักเรื่องราวเหล่านี้

รวมทั้งความคิดเห็นที่ต้องเตเสนอก็เป็นเรื่องทั่วไปอันไม่เฉพาะเจาะจงใครคนใดคนหนึ่งหรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง

แต่ที่มันจุดติดง่ายมากก็เพราะว่าเมื่อไม่กี่วันก่อน รัฐบาลเพิ่งยก ครม.ไปเหมาโรงดูหนังสัปเหร่อ แล้วถ่ายรูปร่วมกับต้องเตนี่ล่ะ พอภาพมันโผล่ออกมาให้คนนึกตามได้แบบนี้

มันก็เลยเป็นเรื่อง