ความเหลื่อมล้ำในกองทุนสุขภาพ : ทำไมเราต้องแยกบัญชีการรักษาพยาบาลมนุษย์เหมือนกัน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

แม้ในยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้มีบทบาทในการยกระดับคุณภาพชีวิต คุณภาพการรักษาพยาบาล รวมถึงมิติเศรษฐกิจด้านสุขภาพ

แต่สิ่งที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันก็ยังคงมีคำถามอยู่มากว่า สำหรับคนไทยโดยทั่วไปที่อยู่ในระบบการรักษาพยาบาล สามกองทุนใหญ่ๆ อันได้แก่ สวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ซึ่งความเหลื่อมล้ำระหว่างสามกองทุนนี้กลายเป็นปัญหามาอย่างยาวนานซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อเพียงแค่การได้รับการบริการที่แตกต่างกัน ยังส่งผลต่อการบริหารจัดการในระบบการให้บริการสาธารณสุข และสภาพการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขทั้งระบบ

ในบทความนี้ผมจะนำผู้อ่านตั้งคำถามต่อประเด็นสำคัญที่ว่าทำไมเราไม่สามารถมีการรักษาที่ดีที่สุดจากรัฐเพื่อรักษาชีวิตเราอย่างเท่าเทียมไม่ได้หรือ

 

สําหรับสิทธิข้าราชการซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้คนคุ้นเคยว่าเป็นสิทธิการรักษาพยาบาลที่รัฐจัดให้ในสัดส่วนที่สูงที่สุดและคุณภาพสูงสุด และครอบคลุมคนในครอบครัวด้วย เป็นสิทธิที่การเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลเป็นลักษณะ ค่าใช้จ่ายต่อการบริการ (Fees for Service) อันไม่ได้กำหนดงบประมาณรายหัวเหมือนหลักประกันสุขภาพอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้บริการที่โรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่งทั่วประเทศ และยังมีตัวบัญชียาต่างๆ ที่ครอบคลุม รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังก็จะพบว่า สิทธิข้าราชการเองก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง

และการอยู่ในระบบการรักษาร่วมกันกับ กองทุนที่ใหญ่ที่สุดอย่าง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิราชการเองก็มีปัญหาในการขาดแคลนบุคลากรในการให้บริการ ไม่ต่างจากสิทธิการรักษาพยาบาลอื่น

เมื่อหมอคนเดียวกันที่อดนอน พยาบาลที่ทำงานมาแล้ว 16 ชั่วโมงติดต่อกัน หรือนักกายภาพที่ไม่ได้รับการจ่ายเงินที่เหมาะสม

 

สําหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้จะเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาทีหลังที่สุด ด้วยการที่มีผู้คนมหาศาลเข้ามาอยู่ในระบบนี้ โดยเป็นสิทธิพื้นฐานที่ได้โดยกำเนิด

จำนวนคนที่ใช้สิทธิภายใต้ระบบนี้คือประชากรส่วนใหญ่ กว่า 50 ล้านคน สิทธิประโยชน์ส่วนนี้มีการพัฒนาต่อเนื่อง

ในปัจจุบัน ผู้ใช้สิทธิสามารถรับยาในร้านยาที่ร่วมโครงการได้

สามารถใช้สิทธิการรักษาทันตกรรมต่อเนื่อง การกายภาพบำบัด และการรักษามะเร็งได้ทุกที่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญคือการที่การรักษาพยาบาลนี้วางอยู่บนฐาน “งบประมาณต่อหัว” ที่มีการกำหนดรายการการรักษา บัญชียาหลัก ที่ทำให้หลายครั้งคุณภาพการบริการเกิดการตั้งคำถาม

พร้อมกับปัญหาเดียวกันกับสิทธิข้าราชการ เมื่อสิทธิสวัสดิการของบุคลากร สิทธิการรวมตัว และคุณภาพชีวิตของบุคลากรที่ย่ำแย่ทั้งระบบ ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้คุณภาพการรักษาพยาบาลมาถึงทางตัน

 

ส่วนสิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคมมีความแตกต่างเนื่องด้วย สิทธิการใช้บริการส่วนมากแล้วจะเป็นสิทธิที่แยกส่วนการรับบริการออกมา และในระยะหลังก็มีโรงพยาบาลเอกชนเข้ามามีส่วนในการเป็นผู้ให้บริการ

แต่ข้อแตกต่างคือ สิทธิประกันสังคมนับเป็นสิทธิประโยชน์เดียวที่ผู้ให้บริการเป็นผู้จ่ายโดยตรงด้วยตนเอง และนานวันเข้าสิทธิการรักษาประกันสังคม ดูจะต่ำลงจนอาจเทียบได้กับการรักษา “ปฐมภูมิ” ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น

การใช้สิทธิร่วมต่างโรงพยาบาลเต็มไปด้วยข้อจำกัดเช่นเดียวกันกับการรักษาพยาบาลที่ไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลระยะยาว

โรคที่กินระยะเวลาในการรักษานาน หรือการพักฟื้นระยะยาว สิทธิการรักษาพยาบาลประกันสังคมก็ไม่ได้ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในลักษณะนี้

เช่นเดียวกับปัญหาบัญชียาต่างๆ ที่มีจำกัดเมื่อเทียบกับสิทธิราชการ บางโรงงพยาบาลเอกชนจึงขมวดรวมสิทธิประกันสุขภาพเอกชนร่วมกับการรักษาพยาบาลประกันสังคม

แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะมีปัญหาที่เหตุใดสิทธิการรักษาพยาบาลโดยลำพังของประกันสังคมถึงไม่สามารถครอบคลุมคุณภาพชีวิตที่ดีได้

 

มันจะมีปัญหาอะไรหรือไม่หากเราจะรวมกองทุนเพื่อให้คุณภาพการรักษาพยาบาล การบริการและการบริหารจัดการเป็นระบบเดียวกัน

เราจะเห็นได้ว่า แม้แต่ระบบการรักษาพยาบาลจากรัฐที่น่าจะดีที่สุดอย่างระบบของข้าราชการ ก็มาถึงทางตัน เพราะสุดท้ายคนก็ยังต้องใช้โรงพยาบาล และบุคลากรเดียวกัน

ดังนั้น หากเราคิดฝันอีกครั้งถึงการรวมกองทุนสุขภาพสิ่งที่จะได้เพิ่มเติมจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญคือ

1. งบประมาณในการจัดสรรที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาณและคุณภาพของบุคลากรทางการแพทย์มีความเหมาะสมมากขึ้น การกระจายตัวดีขึ้น ความแตกต่างจากการทำงานภาคเอกชนน้อยลง ซึ่งจะเพิ่มอำนาจต่อรองของบุคลากรต่อฝ่ายบริหาร ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของบุคลากรดีขึ้นตามลำดับ ลักษณะนี้ก็จะทำให้การบริการด้านสาธารณสุขดีขึ้นด้วย

2. ลดความเหลื่อมล้ำและความผิดพลาดในการรักษาพยาบาล เมื่อการรักษามีข้อจำกัดที่น้อยลงจากฐานงบประมาณที่เพิ่มขึ้น การให้บริการก็จะไม่มีข้อติดขัดและทำให้การรักษาสามารถออกแบบได้หลากหลายเหมาะกับผู้ให้บริการ รวมถึงการป้องกันการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ดีขึ้น

3. ในอีกด้านหนึ่งเมื่อเราได้การรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดระบบเดียวกันแล้ว สิ่งที่สามารถวางแผนต่อไปได้คือ สิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคมสามารถนำไปใช้ในระบบสวัสดิการอื่นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์คนวัยทำงานเช่นการชดเชยรายได้ หลักประกันบำนาญต่างๆ ที่ทำให้กองทุนมีความมั่นคงมากขึ้น เช่นเดียวกันกับสวัสดิการของราชการหากเชื่อมตรงกับ สปสช.เองก็จะทำให้สวัสดิการของราชการมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการของบุคลากรมากขึ้น ดึงดูดผู้มีศักยภาพเข้าสู่ระบบ มากกว่าการจูงใจด้วยระบบสวัสดิการเฉพาะอาชีพแบบที่เป็นมา

การรวมกองทุนจึงไม่ได้เป็นเรื่องมีคนได้มีคนเสีย แต่จะเป็นการพูดถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในมิติสวัสดิการ และการสร้างสำนึกความเป็นพี่น้องร่วมสังคม ร่วมทุกข์ร่วมสุข และสร้างความก้าวหน้าของสังคมไปพร้อมกัน