ถอดบทเรียนญี่ปุ่น-ไต้หวัน จากคนละครึ่ง สู่เงินดิจิทัล 10,000 บาท

โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นโครงการที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมากในขณะนี้ มีทั้งเสียงเรียกร้องให้เร่งรีบดำเนินโครงการและเสียงต่อต้าน ซึ่งกลุ่มที่ต่อต้านนำโดยนักวิชาการและคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จำนวน 99 ท่าน เริ่มจุดกระแสขึ้นมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม คุณศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลได้ทวีตบทความงานศึกษาโครงการแจกคูปองสำหรับจับจ่ายใช้สอยของประเทศญี่ปุ่น เป็นบทความที่น่าสนใจไม่น้อย

ประเทศญี่ปุ่นเคยจัดทำโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยการแจกคูปองให้ครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุเกินกว่า 65 ปี เพื่อใช้จ่ายในชุมชนของตนเอง อันได้แก่ ภายในหมู่บ้านและภายในเมืองของตนเอง ใน ค.ศ.1999 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากขณะนั้นประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา

โดยรัฐบาลคาดหวังให้ประชาชนนำคูปองไปใช้เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน กระตุ้นการบริโภค เพื่อเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจและช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก

โครงการแจกคูปอง มูลค่า 2 หมื่นเยน (ประมาณ 6,100 บาท) ของประเทศญี่ปุ่น ตั้งใจแจกคูปองแก่ประชาชนผู้ผ่านเกณฑ์ ประมาณ 32 ล้านคน คิดเป็น 25% ของประชากรทั้งประเทศ ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 6.2 แสนล้านเยน (ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ประมาณ 0.1%

ซึ่งคูปองเหล่านี้ไม่สามารถโอนสิทธิ์หรือเปลี่ยนมือให้ผู้อื่นได้ และต้องใช้จ่ายในเมืองที่ตนเองอาศัยเท่านั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่น

คูปองมีอายุ 6 เดือน ข้อจำกัดของคูปองคือ ไม่สามารถใช้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล จ่ายภาษี จ่ายค่าสาธารณูปโภค หรือใช้ชำระหนี้

 

จากงานศึกษาพบว่า จากประชากรผู้ผ่านเกณฑ์จำนวนทั้งสิ้น 32 ล้านคน มีคนขอรับคูปองทั้งสิ้น 31 ล้านคน คิดเป็น 97% ของผู้มีสิทธิ์ และคูปองถูกใช้จ่ายภายในระยะเวลาโครงการคิดเป็น 99.6% ของคูปองที่แจกจ่ายทั้งหมด

ผลลัพธ์ของโครงการ จากงานศึกษาวิจัยของคุณ Chang-Tai Hsieh คุณ Satoshi Shimizutani และคุณ Masahiro Hori ที่ร่วมกันศึกษาวิจัยพบว่า ประชาชนใช้จ่ายคูปองกับสินค้ากึ่งคงทนมากที่สุด (สินค้ากึ่งคงทน ได้แก่ สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก และอุปกรณ์กีฬา) และไม่ช่วยเพิ่มการบริโภคสินค้าไม่คงทน (เช่น อาหาร) หรือบริการ แต่อย่างใด

ทั้งนี้ จากงานวิจัยแสดงให้เห็นขนาดของผลลัพธ์ โดยวัดออกมาเป็น ค่าความโน้มเอียงในการบริโภคที่เพิ่มขึ้น (Marginal Propensity to Consume) หรือค่า MPC ผลลัพธ์ที่ได้ ค่า MPC มีขนาดเพียง 0.1-0.2 เท่านั้น

ค่า MPC 0.1-0.2 หมายความว่า หากครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น 1 บาท (จากคูปอง) จะมีการบริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 10-20 สตางค์เท่านั้น

หมายความว่า หากประเทศญี่ปุ่นจัดทำโครงการด้วยเงิน 1.8 แสนล้านบาท จะกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้นได้เพียง 1.8-3.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น และน้อยกว่า 1 เท่าของจำนวนเงินที่จัดทำโครงการเป็นอย่างมาก

 

นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ไต้หวันก็เคยจัดทำโครงการในลักษณะคล้ายๆ กันใน ค.ศ.2009

ใน ค.ศ.2009 ไต้หวันได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญ คือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ของสหรัฐอเมริกา ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ไต้หวันซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ได้รับผลกระทบอย่างแรง ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2008 GDP ไต้หวันติดลบจากปีก่อนหน้าถึง -8.36% นับว่าหนักหนาสาหัสยิ่งนัก

รัฐบาลไต้หวันจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ด้วยโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาด 5 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.3 แสนล้านบาท) ในโครงการดังกล่าวมีโครงการแจกคูปองเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขนาด 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 2.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นประมาณ 0.68% ของ GDP ในปี 2008

โครงการคูปองของไต้หวัน แจกจ่ายให้แก่ประชาชนทุกคนที่เกิดก่อน 31 มีนาคม 2009 เรียกได้ว่าแจกทุกคนทั้งประเทศจริงๆ

คูปองสามารถใช้จ่ายแก่ผู้ขายสินค้าและบริการทั้งที่ลงทะเบียนกับภาครัฐและไม่ลงทะเบียน ใช้จ่ายได้ทุกอย่างยกเว้น ค่าสาธารณูปโภค หนี้เงินกู้/หนี้บัตรเครดิต ซื้อหุ้น ค่าปรับจากการกระทำความผิด และภาษี

คูปองมีมูลค่ารวม 3,600 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 3,800 บาท) แบ่งเป็นคูปอง 500 ดอลลาร์ไต้หวัน จำนวน 6 ใบ และ 200 ดอลลาร์ไต้หวัน จำนวน 3 ใบ คูปองทั้งหมดสามารถเปลี่ยนมือได้

ข้อแตกต่างของโครงการคูปองไต้หวันที่แตกต่างจากโครงการคูปองประเทศญี่ปุ่นคือ ผู้ประกอบการบางรายจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อดึงดูดให้ประชาชนนำคูปองมาใช้กับธุรกิจของตน จนราคาซื้อขายเปลี่ยนมือของคูปองสูงกว่าราคาที่ระบุในคูปอง

ผลลัพธ์ของโครงการคูปองของไต้หวัน จากงานศึกษาของคุณ Kamhon Kan คุณ Shin-Kun Peng และคุณ Ping Wang พบว่า ค่า MPC ภายหลังการกำจัดค่าความเบี่ยงเบนจากการจัดโปรโมชั่นของร้านค้าแล้ว มีค่าอยู่ที่ประมาณ 0.164 ซึ่งมีค่าสอดคล้องและใกล้เคียงกับงานศึกษาวิจัยโครงการคูปองของประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

 

สําหรับประเทศไทยใช้งบประมาณในการจัดทำโครงการคนละครึ่ง รวมทั้ง 5 เฟส กว่า 2.1 แสนล้านบาท และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน รวมกันทั้ง 5 เฟส รวมทั้งสองโครงการมีมูลค่าเกือบเท่ากับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ผู้คนในประเทศต่างแสดงความยินดีและชื่นชมนโยบายดังกล่าวอย่างล้นหลาม

ทั้งที่โครงการคนละครึ่งและโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่รัฐบาลโฆษณาไว้

เหตุใดนักนักวิชาการและคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ทั้ง 99 ท่าน ที่ออกมาคัดค้านโครงการแจกเงินดิจิทัลในครั้งนี้ จึงไม่เคยออกมาคัดค้านโครงการคนละครึ่งและโครงการเราเที่ยวด้วยกันเลยสักครั้ง ทั้งที่เป็นโครงการในลักษณะเดียวกัน บางท่านเคยสนับสนุนทั้งสองโครงการด้วยซ้ำ

เมื่อพิจารณารูปแบบโครงการและขนาดมูลค่าโครงการต่อ GDP พบว่าโครงการจากประเทศไทย งบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการสูงกว่าโครงการคูปองของประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน และจากการถอดบทเรียนของทั้งโครงการคูปองประเทศญี่ปุ่น โครงการคูปองไต้หวัน โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน คงให้คำตอบแก่ประเทศไทยเกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นอย่างดี ว่างบประมาณจำนวนดังกล่าวจะสามารถเพิ่มการบริโภคภาคครัวเรือนได้เพียงใด

“เสียหน้าเล็กน้อย” ดีกว่า “เสียใจภายหลัง”