รัฐบาลเศรษฐา… หุ่นเชิดของประชาชน ต้องทำงานตามที่ประชาชนเรียกร้อง

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ

 

รัฐบาลเศรษฐา…

หุ่นเชิดของประชาชน

ต้องทำงานตามที่ประชาชนเรียกร้อง

 

ประชาชนอยากให้รัฐบาลเศรษฐาทำอะไร

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย จึงมีอำนาจบริหารเต็มที่ และได้กล่าวว่าไม่ได้เป็นหุ่นเชิดของใคร ถ้าเป็นหุ่น ก็เชิดโดยประชาชน

ถึงช่วงเวลานี้รัฐบาลถือว่าตั้งมาได้เกินกว่า 2 เดือนแล้ว

จากนี้ไปต้องจับตาดูกันว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันนโยบายอะไรออกมาเพื่อแก้ปัญหาตามที่ประชาชนต้องการ

ผลโพลมติชน+เดลินิวส์ ที่ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 42,848 ราย ทำการสำรวจ 1-31 ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ร้อยละ 60.2 ส่วนเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม อยู่ที่ร้อยละ 39.8 คิดหยาบๆ ว่า 60 ต่อ 40 แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเลือกเพียงอย่างเดียว คนส่วนใหญ่อยากได้หลายอย่าง ดังนั้น ผลสำรวจนี้รัฐบาลจึงต้องสนใจดูรายละเอียด จะพบว่า

การแก้ปัญหาการเมือง ประชาชนอยากให้แก้รัฐธรรมนูญ ร้อยละ 21.4, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 20.4, ปฏิรูปกองทัพ ร้อยละ 18.8, กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ร้อยละ 17.2, รัฐสวัสดิการ ร้อยละ 16.5 และปัญหาอื่นๆ ร้อยละ 5.6

ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ประชาชนอยากให้ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน ร้อยละ 25.4 แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน-หนี้สาธารณะ ร้อยละ 20.6 แก้ปัญหาการเกษตร ร้อยละ 16.9 แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ร้อยละ 15.6 เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี ร้อยละ 15.1 และปัญหาอื่นๆ ร้อยละ 6.3

มองผลสำรวจก็รู้แล้วว่าคนส่วนใหญ่อยากได้อะไรบ้าง

 

นโยบายที่ประชาชนอยากให้ทำ

1.การลดค่าไฟ ก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน ทำไปแล้วแต่ทำได้ชั่วคราว 3 เดือน คาดว่าคงจะต่ออายุไปทุก 3 เดือน รัฐบาลสนับสนุนโดยการลดภาษี จะมีแนวทางลดราคาแบบยั่งยืนอย่างไร เพราะถ้าลดแล้วกลับมาเพิ่มคนย่อมไม่พอใจ

2. แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ภาคเกษตร ภาคธุรกิจ นายกฯ แถลงว่า..ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ 90 ของ GDP หนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าร้อยละ 61 สะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพในการสร้างรายได้ยังต่ำกว่าการใช้จ่าย ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้น คนมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่รอการช่วยเหลือจากรัฐมากกว่า 14 ล้านคน

นโยบายการพักหนี้สินน่าจะทำได้บ้าง แต่ในความเป็นจริงหนี้สินก็ยังคงอยู่

3. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี

นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 ของพรรคเพื่อไทย ประชาชนจำแม่น แต่ถึงเวลาทำจริง ตัวเลขค่าแรงอาจต้องปรึกษาพรรคร่วมรัฐบาล นโยบายนี้มีได้มีเสีย เพราะฝ่ายนายจ้างยังไม่ยอมง่ายๆ

กระแสข่าวที่ ครม.ให้ศึกษาแนวทางขึ้นเงินเดือนข้าราชการด้วย ถ้าค่าแรงไม่เพิ่มคงทำไม่ได้ ถ้าทำก็ต้องพร้อมกัน

 

แจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

ไม่ทำโดนด่า

ทำแล้วอาจไม่ได้คำชมอย่างที่คาดหวัง

ทําไมดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่ใช่ความต้องการของประชาชนเป็นอันดับ 1 ทางเศรษฐกิจ เพราะประชาชนมองว่าการได้เงิน 10,000 บาทครั้งเดียว เฉลี่ยแล้วเดือนละ 800 กว่าบาท ถ้าใช้ 1 ปีก็ไม่ให้อีกแล้ว แต่ถ้าลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน หรือได้ค่าแรง ได้เงินเดือนเพิ่ม คิดในระยะยาวแล้วได้มากกว่า

ส่วนรัฐบาลหวังว่าจะกระตุกและกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ฟื้นด้วยการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 400,000-560,000 ล้านบาท จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของทางเศรษฐกิจ ผ่านการบริโภค การขยายการลงทุน จ้างงาน สร้างอาชีพ ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ

แต่ปัญหาขณะนี้คือจะหาเงินมาจากไหน เพราะตามแผนจะต้องแจกครั้งเดียวจึงต้องใช้เงินเยอะ ถ้าทยอยแจกก็จะไม่มีผลในการกระตุกกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีการคัดค้านที่ว่าไม่ควรแจกคนรวย

ที่ว่าจะทำทันทีก็ต้องรอไปก่อนถ้านับตามแผนใหม่ที่ว่าจะแจกในเดือนกันยายนจะกลายเป็นว่าต้องรอถึง 1 ปี นับจากการเป็นรัฐบาลจึงจะได้แจก

นโยบายนี้ยังวิจารณ์ไม่ถนัด เพราะแผนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติของรัฐบาลยังไม่ลงตัว แต่ในทางการเมืองนโยบายนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพื่อไทยจะดังอีกครั้งถ้าทำแล้วกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่ถ้าไม่ทำหรือทำแล้วได้ผลน้อยก็จะมีผลเสียทางการเมือง

ขณะนี้เดินหน้าไม่ง่ายจะให้ถอยก็ไม่ได้ งานนี้จึงต้องทำอย่างรอบคอบแต่ผลที่ได้จะมากแค่ไหน ที่เห็นชัดๆ คือประชาชนได้เงินไปใช้แน่นอน

 

นโยบายที่รัฐลงทุนน้อย แต่ทำแล้วได้ผลมาก

1.นโยบายเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ แรงงานคนที่สมัครมาเป็นทหาร ถ้าจ่ายเงินตอบแทนให้เป็นเงินเดือนที่ไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ก็ได้ผลทางด้านกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบยุติธรรม

ในเมื่อมีแนวทางลดการซื้ออาวุธ ลดอัตรานายพล และกำหนดอัตรากำลัง และงบประมาณ กอ.รมน. ก็มีเงินเหลือมาจ่ายเงินเดือนผู้สมัครมาเป็นทหาร

2. เร่งให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน พิจารณาเอกสารสิทธิ์การใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด ถ้าเร่งพัฒนาศักยภาพของที่ดิน ในเขตต่างๆ ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าทั้งจุดท่องเที่ยว เขตป่าไม้ พื้นที่เกษตร ถ้าจัดการดีจะสร้างรายได้สูง และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ การนำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาให้ประชาชนทำกิน ก็ช่วยเพิ่มเศรษฐกิจ

3. โครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ใช้เงินลงทุนจากต่างประเทศ เช่น แลนด์บริดจ์

ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการเงินมีจำกัดรัฐบาลเองจะต้องเลือกทำโครงการขนาดใหญ่ที่จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะยาว (เช่น ที่เคยสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ) โดยหาแนวทางที่มีความเป็นไปได้จริง

นโยบายที่คาดว่าทำได้น้อย หรือทำไม่ได้ นโยบายสันติภาพชายแดนใต้ ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย

เร่งแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM 2.5

นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทย ใช้หาเสียงเลือกตั้ง คงทำได้เฉพาะสายที่รัฐบริหารเอง

 

นโยบายด้านการเมืองการปกครอง

1.พรรคเพื่อไทยเคยบอกว่าว่า จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและลงประชามติ

ต้องคอยดูในทางปฏิบัติจะทำอย่างไรและใช้เวลานานแค่ไหน

เรื่องนี้สามารถกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ได้

2. นโยบายการกระจายอำนาจด้วย “ผู้ว่า CEO”

รัฐบาลเศรษฐาบอกว่า ผู้ว่าซีอีโอเป็นไปเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้จะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากร ทั้งด้านงบประมาณ แต่ถ้าประชาชนไม่ได้เลือกผู้ว่าฯ แล้วมันจะไปกระจายอำนาจตรงไหน

3. เรื่องสำคัญที่สุดคือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลแถลงนโยบาย ชัดเจนว่า จะฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ

ประชาชนอยากได้สิ่งนี้มากกว่าการปฏิรูปกองทัพ และรัฐสวัสดิการ ก็เพราะเห็นปัญหานี้มานาน ถ้าไม่ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน วิกฤตการเมืองจะเกิดขึ้นตลอด

นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องร่วมกับสภา แก้ปัญหาระบบตำรวจ ระบบศาล องค์กรอิสระ ทั้งการคัดเลือกบุคคล จนถึงตรวจสอบการทำงาน

ถ้าคิดจะเป็นรัฐบาลของประชาชน ต้องกล้าปฏิรูประบบราชการทั้งพลเรือนและทหาร