ย้อนรอย จุฬาฯ ขอคืนพื้นที่อุเทนถวาย จาก ‘2518-ปัจจุบัน’

ปะทุขึ้นมาอีกรอบ สำหรับประเด็นร้อน ย้าย-ไม่ย้าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย หลังศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้อุเทนฯ ย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2565 โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นั่งหัวโต๊ะเชิญผู้แทนฝั่งจุฬาฯ อุเทนฯ ร่วมถึงผู้เกี่ยวข้องมาหาข้อยุติ เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2566

โดย น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปตามหลักนิติรัฐ ที่ยึดมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กระทรวง อว.จำเป็นต้องยึดคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่จะให้ทางอุเทนถวายส่งมอบพื้นที่เดิมและหาพื้นที่ใหม่สำหรับจัดการเรียนการสอน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการผ่อนปรนมาโดยตลอด

ขอให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำแผนการย้ายเพื่อไม่ให้กระทบนักศึกษา

 

ประชุมผ่านไปไม่ถึง 7 วัน กลุ่มนักศึกษาอุเทนฯ นำโดย นายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.อุเทนฯ ยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการ อว. ขอคัดค้านการย้ายอุเทนฯ

พร้อมนัดรวมตัวศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ร่วมฟังคำชี้แจงจากนายฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ อธิการบดี มทร.ตะวันออก รวมถึงเปิดตั้งโต๊ะให้ลงชื่อคัดค้าน และร่วมสนับสนุนผลักดันให้เกิดการทบทวนหาแนวทางพัฒนาพื้นที่ดั้งเดิมของ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ก่อนประกาศว่าจะเดินหน้ารวบรวมรายชื่อศิษย์เก่ากว่า 50,000 รายชื่อเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ของตัวเองเช่นเดียวกับที่จุฬาฯ ดำเนินการมาแล้ว

หลังฟังคำชี้แจง ท่าทีของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันยังคงหนักแน่น ภายใต้วงล้อมของนักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่าที่เข้าร่วมรับฟังกว่า 100 คน ส่งเสียงดังกึกก้อง ไม่มีทางย้ายออกจากที่ตั้งเดิมแน่นอน

แม้ในทางกฎหมายอาจไม่ใช่ผู้ชนะ แต่เสียงของชาวอุเทนถวายจากอดีตถึงปัจจุบันไม่เคยเปลี่ยน และพร้อมที่จะต่อสู้เสมอ

ส่งผลให้ภายหลังการชี้แจง อธิการบดี มทร.ตะวันออก ตั้งโต๊ะแถลงด้วยท่าทีที่อ่อนลง โดยระบุว่า “รัฐมนตรีว่าการ อว.ไม่ได้พูดถึงเรื่องย้าย แต่เป็นการขยาย ผมเป็นอธิการบดีมา 6 เดือน ทราบว่ามีปัญหาตรงส่วนนี้ ก็พร้อมรับฟัง และขณะนี้ยังมีการรับนักศึกษาเข้าเรียนตามปกติ รัฐมนตรีว่าการ อว.พูดไว้เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญว่าอุเทนฯ ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี ส่วนจะอยู่ต่อ อยู่ร่วมกัน หรือขยายอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งยังไม่มีความชัดเจน เรื่องนี้ต้องมองหลายมิติ ทั้งด้านการศึกษา และมิติด้านสังคม อุเทนฯ มีประวัติมายาวนาน เป็นเรื่องมรดกวัฒนธรรม เป็นซอฟต์เพาเวอร์ และเป็นมรดกโลกในอนาคต” อธิการบดี มทร.ตะวันออกกล่าว

ขณะที่นายเดชา เดชะตุงคะ อุปนายกสมาคมนักศึกษาเก่าอุเทนฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าเราจะอยู่ที่นี่ไม่ย้าย 2 สถาบัน อุเทนฯ จุฬาฯ อยู่รั้วติดกันมากว่า 93 ปี สาเหตุที่ต้องย้าย เพราะมีการใช้อำนาจพิเศษ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดึง 2 สถาบันมารวมเป็นโฉนดเดียวกัน ทั้งที่ ร.6 ให้ใช้พื้นที่ตรงนี้จัดการศึกษา ไม่ใช่พื้นที่เชิงพาณิชย์

ยืนยันว่าอุเทนฯ ยังคงอยู่ตรงนี้คู่สังคมไทย ไม่ย้ายไปไหนแน่นอน นักศึกษาอุเทนฯ จะต้องได้เรียนและจบที่นี่โดยมีพี่ๆ ศิษย์เก่าคอยดูแล ดังนั้น ทุกคนไม่ต้องกังวล ส่วนการขยายนั้น เป็นเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีการขยายไปรังสิต แต่ที่ตั้งเดิม อุเทนฯ ยังต้องอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหน!

ย้อนอดีตปมที่ดิน

ย้อนกลับไปปมปัญหาที่ดินมีมาอย่างยาวนาน สืบเนื่องจากแผนแม่บทจัดการที่ดิน 1,153 ไร่ของจุฬาฯ ซึ่งได้ดำเนินการขอคืนพื้นที่อุเทนถวายจำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวาที่อุเทนถวายทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 68 ปีตั้งแต่ปี 2478-2546 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนา ซึ่งจุฬาฯ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ได้เจรจาขอคืนที่ดินมาตั้งแต่ปี 2518 แต่ไม่เป็นผล

ต่อมาจุฬาฯ ได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะต้นสังกัดขณะนั้น และกรมธนารักษ์ขอความอนุเคราะห์จัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวาย ในปี 2545 กรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่ให้จำนวน 36 ไร่ ที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดสรรงบประมาณให้เพื่อการก่อสร้างและขนย้ายประมาณ 200 ล้านบาท

ปี 2548 อุเทนถวายได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ พร้อมย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 แต่การย้ายยังติดขัดปัญหาและเป็นไปอย่างล่าช้า

ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้ง ‘คณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.)’ ระหว่างนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวายได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง เพื่อขอไม่ให้มีการย้ายออกจากพื้นที่เดิม

ผลการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. และทางจุฬาฯ ก็ไม่ได้ทวงเงินค่าเสียหายจากอุเทนถวายแต่อย่างใด

ปี 2556 อุเทนถวาย ยื่นหนังสือชี้แจงกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทาน ถึงจุฬาฯ พร้อมหลักฐานอ้างอิงตามประวิติศาสตร์ โดยให้เวลา 90 วัน ส่งคืนกรรมสิทธิ์ ก่อนนัดรวมตัวในนามคณะพิทักษ์สิทธิ์เพื่อการศึกษาอุเทนถวาย (คพศ.) ทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบันกว่า 1,000 คน เดินขบวนจากอุเทนฯ ไปยังบริเวณหน้าอาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทวงสัญญา

กระทั่งเดือนธันวาคม ปี 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง ซึ่งปัญหานี้ยังเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน

ขีดเส้นย้ายออก
ให้หยุดรับนศ.ใหม่

กระทั่งเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อ.ว.) ได้แถลงถึงกรณี การย้ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย ว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และล่าสุดได้คุยกันอย่างชัดเจนว่า ทางอุเทนถวายต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ของศาลปกครองสูงสุด คือต้องย้ายไปยังวิทยาเขตใหม่ เพื่อที่จะลดความรุนแรงในการปะทะที่จะเจอกัน และต่อไปทางตำรวจจะเป็นเจ้าภาพในการนัดคุยกับทุกหน่วยงานเพื่อเริ่มการ transition plan

เมื่อถามว่า ทางโรงเรียนหรือศิษย์เก่ายินยอมที่จะย้ายหรือไม่ น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า เขาก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมา แต่เขาก็มองว่าต้องใช้เวลา ไม่สามารถย้ายในชั่วข้ามคืนได้ แผนที่อาจจะช้าหน่อยก็จะต้องไปเร่งให้เร็วขึ้น จำนวนนักเรียนไม่ได้เยอะไม่ถึงพันคนก็ไม่ยากมากจนเกินวิสัยที่จะเร่งแผนในการย้ายได้

เมื่อถามว่า มีกรอบเวลาในการย้ายหรือไม่ น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า ก็ไม่ได้มีกรอบเวลา แต่ก็ต้องให้เร็วที่สุด อย่างน้อยก็ต้องไม่รับเด็กปีหนึ่งใหม่แล้ว ไม่งั้นก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ เพียงแต่ว่าหากมีใครมาประท้วง ตำรวจก็จะเตรียมพร้อมมาดูแล ให้เกิดความนุ่มนวล หาข้าวหาน้ำ ไม่ได้ไปใช้ความรุนแรง เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร เด็กส่วนใหญ่ที่มาประท้วงก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรมาก เพียงแต่มาตามระบบ ตามหน้าที่ เราจึงต้องใช้ความนุ่มนวลไม่ให้เกิดการปะทะกัน

เมื่อถามว่า จะสามารถดำเนินการจบในรัฐบาลนี้หรือไม่ น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า ก็ควรจะ เพราะถ้างดรับเด็กปีหนึ่งก็คงจะย้ายง่ายขึ้น และเมื่อไม่ได้ปะทะกันซึ่งหน้า โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงก็จะน้อยลง เนื่องจากไม่ได้เจอกัน

ส่วนเรื่องการงดรับนักศึกษาปีหนึ่งนั้นเป็นคำสั่งของรัฐมนตรีไปยังอธิการบดีแล้ว ก็เป็นอำนาจของอธิการบดี และต้องไปดูกฎหมาย ถ้ากฎหมายทำได้ งบประมาณต่างๆ ที่ส่งไปให้อุเทนถวายก็ต้องพิจารณาว่าถูกระเบียบหรือไม่ หากมีคำสั่งแบบนี้แล้วก็ต้องรอดูว่าอธิการบดีจะทำตามคำสั่งรัฐมนตรีหรือไม่