คุยกับทูต | ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี ประเด็นปาเลสไตน์ (1)

เหตุการณ์สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์อิสลามสมัยใหม่ ก็คือความขัดแย้ง “อาหรับ-อิสราเอล” ความขัดแย้งนี้มีหลายแง่มุม ซับซ้อน และยังคงเป็นปัญหาที่คาราคาซังมากที่สุดในโลกในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) ชี้แจงประเด็นที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

บริบททางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปาเลสไตน์

“ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ปาเลสไตน์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน หลังจักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษได้รับอาณัติปกครองปาเลสไตน์ซึ่งมีประชากรมุสลิมอาหรับอาศัยอยู่”

“จากประกาศบัลโฟร์ หรือปฏิญญาบัลโฟร์ปี 1917 (The Balfour Declaration of 1917) รัฐบาลอังกฤษสนับสนุน ‘บ้านประจำชาติสำหรับชาวยิว’ (Jewish national home) ในดินแดนปาเลสไตน์”

คำประกาศบัลโฟร์ เป็นการตั้งชื่อตาม อาร์เธอร์ บัลโฟร์ (Arthur James Balfour) รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษในขณะนั้น เป็นจดหมายที่เปลี่ยนเส้นทางประวัติศาสตร์ในตะวันออกกลาง ความยาว 67 คำใน “ประกาศบัลโฟร์” เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 1917 ฉบับนี้ ถูกมองว่าเป็นรากเหง้าของความขัดแย้งที่ยากจะแก้ไขมากที่สุดในยุคสมัยใหม่ ชาวปาเลสไตน์ในปัจจุบันประณามประกาศนี้ โดยกล่าวหาว่าจักรวรรดิอังกฤษเพิกเฉยต่อความต้องการทางการเมืองของประชากรพื้นเมือง และทำให้ต้องมีสภาพไร้รัฐ และเสียดินแดนของตัวเอง อันเป็นที่มาของความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์จนถึงทุกวันนี้

ประกาศบัลโฟร์ หรือปฏิญญาบัลโฟร์ปี 1917 (The Balfour Declaration of 1917)
ประกาศบัลโฟร์ ตั้งชื่อตาม อาร์เธอร์ บัลโฟร์ (Arthur James Balfour) รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษในขณะนั้น

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี กล่าวว่า

“ในความเป็นจริง ประกาศบัลโฟร์เสนอให้บริจาคที่ดินที่เป็นของชาวปาเลสไตน์ให้กับกลุ่มชาวยิวที่อพยพมาจากเยอรมนีและออสเตรียโดยไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับเจ้าของบ้าน”

“การอพยพของชาวยิวไปยังปาเลสไตน์ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวยิวผู้เพิ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐาน”

“ในปี 1948 ผู้นำชาวยิวประกาศสถาปนา ‘อิสราเอล’ ชาวปาเลสไตน์ร่วมกันคัดค้านและสงครามก็เกิดขึ้นโดยมีประเทศอาหรับเพื่อนบ้านเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหาร ชาวปาเลสไตน์หลายแสนคนถูกบังคับให้ออกจากบ้านของตน เรียกกันว่า อัล นักบา (Al Nakba) ภาษาอาหรับ แปลว่า ‘ภัยพิบัติ’ หรือ ‘ความหายนะ’ (catastrophe) ซึ่งในความเป็นจริง ชาวยิวถือว่าเป็นเพียงแขก แต่กลับเป็นฝ่ายขับไล่ชาวปาเลสไตน์เจ้าบ้านออกจากดินแดนบ้านเกิดของพวกเขา”

“ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขบวนการไซออนิสต์ (Zionist Regime) และชาวปาเลสไตน์ได้ต่อสู้กันหลายครั้ง ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของชาวปาเลสไตน์หลายพันคน”

ขบวนการไซออนิสต์ เป็นทั้งอุดมการณ์และขบวนการชาตินิยมในหมู่ชาวยิวทั้งที่เชื่อในการสถาปนาใหม่และสนับสนุนรัฐยิวในบริเวณที่นิยามว่าเป็นแผ่นดินอิสราเอลในประวัติศาสตร์ ขบวนการไซออนิสต์สมัยใหม่เกิดขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ผู้นำขบวนการส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายหลักคือการสร้างรัฐในปาเลสไตน์ ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในการควบคุมของจักรวรรดิออตโตมัน

จนถึงปี 1948 เป้าหมายหลักของขบวนการไซออนิสต์คือการสถาปนาเอกราชยิวใหม่ในแผ่นดินอิสราเอล รวบรวมผู้ถูกเนรเทศ และปลดปล่อยยิวจากการเลือกปฏิบัติเกลียดกลัวยิว และการบีฑาต่างๆ ที่ประสบ นับแต่การสถาปนารัฐอิสราเอลในปี 1948 ขบวนการไซออนิสต์ยังส่งเสริมในนามของอิสราเอลเป็นหลัก และจัดการกับภัยคุกคามการอยู่รอดและความมั่นคงของรัฐนั้น

คำว่า “ไซออนิสต์” มาจากคำว่าไซออน ซึ่งหมายถึงนครเยรูซาเลม

“สงครามปี 1967 ขบวนการไซออนิสต์ เข้ายึดครองเวสต์แบงก์, อัลกุดส์ (al-Quds) ตะวันออก (เยรูซาเลม), ฉนวนกาซา, คาบสมุทรซีนาย และที่ราบสูงโกลาน แต่หลายปีต่อมาได้ถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่บางส่วน”

“ฉนวนกาซา (Gaza) ซึ่งเป็นบ้านของชาวปาเลสไตน์ราว 2.3 ล้านคน ถูกอิสราเอลดำเนินการปิดล้อมอย่างแน่นหนามาตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 ส่งผลให้มาตรฐานการครองชีพลดลง รวมถึงระดับการว่างงานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เกิดความยากจนอย่างไม่หยุดยั้ง”

ฉนวนกาซา (Gaza)

ชาวปาเลสไตน์มีปฏิกิริยาอย่างไร ต่อการยึดครองของอิสราเอล

“เกิดการลุกฮือหรืออินติฟาดา (Intifadas) ของชาวปาเลสไตน์เพื่อต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล อินติฟาดาครั้งที่ 1 (1987-1993) แสดงการไม่เชื่อฟังโดยสันติวิธีและต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจและการยอมรับในระดับนานาชาติ”

“อินติฟาดาครั้งที่ 2 (2000-2005) หรืออัลอักซอ อินติฟาดา (Al-Aqsa Intifada 2000-2005) เริ่มขึ้นหลังจากเอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) อดีตนายกรัฐมนตรีของขบวนการไซออนนิสต์ เยือนมัสยิดอัลอักซอ (Al-Aqsa Mosque) ในอัลกุดส์ (กรุงเยรูซาเลม) เกิดการปะทะกันหลายครั้ง ทำให้มีการบาดเจ็บล้มตาย สร้างความเสียหายในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา นำไปสู่ความล้มเหลวในการเจรจาสันติภาพและจุดยืนที่แข็งกร้าวของทั้งสองฝ่าย”

“กลุ่มติดอาวุธฮามาสในปาเลสไตน์ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อต่อต้านอิสราเอลในชื่อปฏิบัติการ ‘พายุอัลอักซอ (Al-Aqsa Storm)’ เป็นการตอบโต้การดูหมิ่นของทางการอิสราเอลที่บุกมัสยิดอัลอักซอในนครเยรูซาเลม ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม เช่นเดียวกับการโจมตีผู้หญิงหลายครั้งในบริเวณมัสยิด”

“และในความเป็นจริงก็เป็นผลมาจากการกดขี่และการเลือกปฏิบัติของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์เป็นเวลา 75 ปี”

ฉนวนกาซา (Gaza)

ประชาคมระหว่างประเทศมีจุดยืนอย่างไร ต่อดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง

“นับตั้งแต่การยึดครองดินแดนโดยขบวนการไซออนิสต์ ประชาคมระหว่างประเทศได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงที่ 242 และ 338 หลายครั้ง ซึ่งจำเป็นต้องถอดถอนระบอบไซออนิสต์ออกจากดินแดนที่ถูกยึดครอง”

“นอกจากนี้ การขยายตัวที่เกิดจากการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองได้รับการประกาศว่าเป็น ‘การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง’ ตามมติคณะมนตรีความมั่นคง 2334 (ปี 2016)”

“ความถูกต้องตามกฎหมายของสถานะรัฐปาเลสไตน์ซึ่งยึดถือมายาวนานโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมตามมติคณะมนตรีความมั่นคงที่ 1397 ปี 2002 ยืนยันวิสัยทัศน์ของประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสองรัฐ”

“อย่างไรก็ตาม ระบอบอิสราเอลไม่เคยยอมรับแม้แต่แนวคิดนี้ และได้ขยายการตั้งถิ่นฐานของตนอย่างต่อเนื่องในปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง ทั้งยังได้ทำลายบ้าน ตลอดจนพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรทั้งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ริบทรัพย์สิน จับขัง จำคุก และการทรมานชาวปาเลสไตน์ ถือเป็นความโหดร้ายรายวันของขบวนการไซออนิสต์” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin