โปงลาง สองฝั่งโขง ต้นตอจากกระบอกไผ่

โปงลางมาจากไหน? ต้องแยกเป็น 2 อย่าง คือ เครื่องมือ กับ ชื่อ

เครื่องมือ มีรากเหง้าจากกระบอกไผ่ ซึ่งเป็นต้นตอเดียวกับระนาด (ทุ้ม-เอก) ของภาคกลาง

ชื่อ ขอยืมจากโปง, ผางลาง

 

กระบอกไผ่

กระบอกไผ่เป็นเครื่องตีเคาะเก่าแก่และหลากหลาย ดังมีร่องรอยความต่อเนื่องที่ใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ได้แก่ ตีเกราะเคาะไม้ คือ เกราะ, โกร่ง, กรับ ประกอบด้วยไม้ไผ่ มีขนาดแตกต่างกันอย่างน้อย 2 ขนาด คือ ขนาดสั้นและขนาดยาว

เกราะ ไผ่ปล้องเดียว ใช้มือถือหรือใช้เชือกร้อยห้อยแขวน แล้วมีไม้อีกอันหนึ่งตีหรือเคาะเพื่อบอกสัญญาณ มักเรียกกันว่า “เกราะ” ดังที่มีคำคล้องจองว่า “ตีเกราะเคาะไม้”

โกร่ง ไผ่ทั้งลำใช้ตีเคาะตามต้องการ แต่ไผ่ปล้องเดียวก็สั้นเกินไป

ถ้าเอาลำไผ่ที่มีอยู่ทั่วไปมาตัดหัวท้ายแล้วบั่นให้เหลือส่วนตามต้องการ เช่น ยาวไม่น้อยกว่า 3 ปล้อง แต่ไม่มากกว่า 1-2 วา ก็จะใช้เป็นเครื่องมือกระทุ้งกระแทกลงไปที่พื้นดินให้เกิดเสียงดังประกอบจังหวะขับลำเต้นฟ้อนได้ดี

กรับ ไผ่ปล้องเดียว เป็นกระบอกไผ่ขนาดสั้นๆ จำนวน 2 กระบอก เมื่อเอามาตีกระทบกันจะเกิดเป็นเสียงดัง

กลุ่มชนเผ่าทางตอนใต้ของจีน ยังมีการละเล่นใช้กระบอกไผ่ขนาดสั้นๆ สองอันตีกระทบกันเพื่อประกอบจังหวะในการขับลำ ต่อมาจึงผ่ากระบอกไผ่เป็นสองซีก ตีกระทบกันเสียงดัง “กรับๆ” จึงเรียกภายหลังว่า “กรับ” ดังมีอยู่ในท้องถิ่นอีสานมักเรียกเครื่องมือแบบนี้ว่า “กั๊บแก้บ”

กรับ ในที่สุดก็เข้าสู่ราชสำนัก กลายเป็นเครื่องดนตรีประจำราชสำนัก ดังที่มีภาพปูนปั้น (วัฒนธรรมทวารวดี) ที่เมืองโบราณบ้านคูบัว (อ.เมือง จ.ราชบุรี) รูปนักดนตรีและนักร้องรวม 5 คน ในจำนวนนั้นมีคนหนึ่งทำท่าตีกรับให้จังหวะในวงดนตรีที่มีพิณและอื่นๆ

ระนาด มีพัฒนาการมาจากกระบอกไผ่ในตระกูล “เกราะ-โกร่ง-กรับ”

ระนาดยุคแรกเริ่มแต่ครั้งดึกดำบรรพ์นั้น จะมีกระบอกไผ่คล้ายลูกระนาดวางเรียงเพียง 2-3 กระบอกเท่านั้น คนตีระนาดต้องนั่งเหยียดขาทอดยาวลงกับพื้นดิน แล้วเอากระบอกระนาดวางพาดบนขาทั้งสองข้าง บางครั้งขุดหลุมดินที่หว่างขาเพื่อให้มีเสียงก้องดังมากขึ้นเมื่อใช้ไม้ตี

[สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีพระดำริคล้อยตามความคิดของพระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) ว่าระนาดมาจากกระบอกไผ่ แล้วมีลายพระหัตถ์ตอนหนึ่งว่าทรงเคยเห็นพวกข่าขอทานใช้ไม้กระบอกตัดสั้นบ้างยาวบ้าง กระทุ้งดินให้เป็นเสียงต่างๆ กัน แม้ “เพลงกระบอก” ก็ได้ชื่อมาจากการกระทุ้งกระบอกนี้ : “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ” ประทานพระยาอนุมานราชธน]

ชนชาติจีนัวในสิบสองพันนา มีการละเล่นตีเคาะกระบอกไผ่ปล้องเดียวเรียงกัน ซึ่งเกี่ยวข้องพิธีกรรมล่าสัตว์ กล่าวคือ เมื่อล่าได้สัตว์ใหญ่ เช่น วัวแดง กระทิง กวาง ฯลฯ จะมีพิธีฉลองกึกก้อง จึงตัดกระบอกไผ่ข้างทางเคาะจังหวะแล้วร้องเพลงระหว่างเดินทางลำเลียงเนื้อกลับบ้าน ต่อจากนั้นก็จะพัฒนาเครื่องตีเคาะดังกล่าวเป็นชุด มีชุดใหญ่ต้องบากกระบอกเป็นร่อง ส่วนชุดเล็กไม่ต้องบาก แต่เรียงลำดับเสียงสูง กลาง ต่ำ ที่มักเริ่มมาจากกระบอกเดียววางพาดขาข้างใดข้างหนึ่ง แล้วนั่งตีในพิธีฉลองเฉลิมสำคัญๆ กระบอกไผ่เหล่านี้ เมื่อใช้แล้วก็ทิ้งไป เพราะจะทำขึ้นเมื่อใดก็ได้

ต่อมากระบอกไผ่ที่เป็นลูกระนาดจะถูกยกขึ้นวางอยู่บนขาหยั่งไม้ และท้ายที่สุดเล้วก็ผ่ากระบอกไม้ไผ่เป็นซีกแบนๆ เหมือนกรับ วางลงบนมัดฟากแขนงไผ่ หรือวางขวางหลุมดินที่ขุดไว้ ซึ่งมักจะปรากฏอยู่ทั่วไปในกลุ่มชนท้องถิ่นต่างๆ (ประเด็นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “ตำนานมโหรีปี่พาทย์” ตอนหนึ่งว่า ระนาดน่าจะแปลงมาจากกรับ)

ด้วยเหตุที่มีร่องรอยประเพณีของระนาดแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ดังกล่าว จึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเครื่องมือชนิดนี้ ควรมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาจึงแพร่หลายเข้าไปแถบตะวันออกของทวีปแอฟริกา เมื่อราวปลาย 2,500 ปีมาแล้ว

 

โปงลาง-ชื่อใหม่ เครื่องมือเก่า

โปงลางที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปในปัจจุบัน แต่เดิมเริ่มแรกเรียก “ระนาดขอลอ” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “โปงลาง” เมื่อ 64 ปีที่แล้ว ตรงกับ พ.ศ.2502

[ขอลอ ในชื่อระนาดขอลอ เป็นคำกลายจากคำว่าเกราะ (ในชุดเครื่องดนตรีจากกระบอกไผ่ว่าตีเกราะเคาะไม้ และเกราะ-โกร่ง-กรับ) เป็นกะลอ แล้วเป็นขอลอ]

นอกจากชื่อแรกว่าระนาดขอลอ ยังมีชื่ออื่นๆ ตามปากท้องถิ่นว่าหมากเตอะเติ่น, หมากเกลี้ยกล่อม, และหมากโปงฮาง เป็นต้น

ความเป็นมาโดยสรุปของโปงลางในไทย จากสารานุกรมฯ ภาคอีสาน (ของธนาคารไทยพาณิชย์ พ.ศ.2542 หน้า 2728) ดังนี้

1. ท้าวพรหมโคตร (อยู่ในลาว) เป็นผู้เริ่มแรกนำระนาดขอลอ มีลูกระนาด 6 ลูก (ยังไม่เรียกโปงลาง) จากลาวไปไทย แล้วแนะนำให้คนรู้จักในเขต อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

2. นายปาน บ้านกลางเหมือน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ รับเรียนรู้ระนาดขอลอจากท้าวพรหมโคตร

3. นายขาน (น้องชายนายปาน) สืบทอดการเคาะตีระนาดขอลอจากนายปาน (ผู้เป็นพี่ชาย)

4. นายเปลื้อง ฉายรัศมี จ.กาฬสินธุ์ รับการถ่ายทอดวิชาตีเคาะและทำระนาด ขอลอจากนายขาน เมื่อ พ.ศ.2490

นายเปลื้อง ฉายรัศมี เพิ่มลูกระนาดขอลอจาก 6, 9 เป็น 13 ลูก แล้วเรียกใหม่ว่า โปงลาง นับแต่นั้นโปงลางมีพัฒนาการก้าวหน้าเป็นที่รู้จักกว้างขวางจนบัดนี้

ตีกระบอกไม้ไผ่ที่วางเรียงระดับเสียงตามประเพณีดั้งเดิมของคนพื้นเมืองมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็น “เยว่” ร้อยเผ่า ที่ “ไม่ฮั่น” เครื่องตีอย่างนี้น่าจะเป็นต้นตอตระกูลระนาด เช่น โปงลาง ฯลฯ
[ภาพได้จากหนังสือชื่อ “เครื่องดนตรีของชนชาติส่วนน้อยในประเทศจีน” ที่สำรวจรวบรวมแล้วเรียบเรียงโดย “แผนกค้นคว้าศิลปวรรณกรรมชนชาติส่วนน้อย สถาบันชนชาติศูนย์กลางในนครปักกิ่ง” ทองแถม นาถจำนง ถอดความย่อจากภาษาจีน ในหนังสือร้องรำทำเพลง (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532 หน้า 97)]
ความเป็นไทย

เครื่องดนตรีของทุกภาคในไทย ไม่ว่าเหนือ, อีสาน, ใต้ มีส่วนเป็นรากเหง้าร่วมกันกับเครื่องดนตรีไทยภาคกลางซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ถ้าเครื่องดนตรีภาคกลางเรียกดนตรีไทย เครื่องดนตรีของทุกภาคก็เป็นดนตรีไทยเท่าเทียมกัน

แต่เหตุไฉนเรียกโปงลางเป็นดนตรีพื้นบ้าน หรือดนตรีพื้นเมือง หมายถึง “ไม่ไทย” ซึ่งเท่ากับกีดกันการเป็นดนตรีไทยของโปงลาง

ถ้ามองด้านกลับนับว่าดีที่โปงลางไม่ถูกควบคุมเป็นดนตรีไทยเหมือนมโหรี, ปี่พาทย์, เครื่องสาย (ของภาคกลาง) โปงลางจะได้ไม่ถูกครอบงำด้วยความเป็นไทยของชนชั้นนำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโลกไม่เหมือนเดิม [ได้แนวคิดจากพิชชาณัฐ ตู้จินดา (มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ)] ขอบคุณมาก •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ