เสฐียรพงษ์ วรรณปก : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ – สถานภาพของเจ้าชายสิทธัตถะ

เสฐียรพงษ์ วรรณปก : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (18) สถานภาพของเจ้าชายสิทธัตถะ

ในหนังสือเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ระดับมัธยมศึกษา มีหัวข้อว่าด้วย สถานภาพของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้เขียนหลักสูตรคงต้องการให้พูดถึงว่า ก่อนเสด็จออกมหาอภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) พระพุทธเจ้าทรงมีสถานภาพอย่างไร ดูซิว่าอะไรเป็นตัวเร่งให้พระพุทธองค์เสด็จออกผนวชและตรัสรู้

ตำราเขียนว่า พระพุทธเจ้าก่อนเสด็จออกผนวชนั้นทรงมีสถานภาพคือ

1. เป็นเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ และ (ตามความเชื่อทั่วไป) ทรงเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ของสมเด็จพระราชบิดา

2. ทรงได้รับการเอาใจใส่ บำรุงบำเรออย่างดี (ดีเกินไป) จากสมเด็จพระราชบิดา เพราะโหราจารย์นั้นแหละเป็นเหตุ โหราจารย์ 7 คน ทายว่า เจ้าชายมีคติ 2 ประการคือ ถ้าสละโลกีย์ไปเป็นนักพรต ก็จะได้เป็น ศาสดาเอก ในโลก

ถ้าเสด็จอยู่ครองราชย์ ก็จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เหนือแผ่นดินแถมโหรหนุ่มนาม โกณฑัญญะ ยังทำนายด้วยความมั่นใจว่า เจ้าชายเสด็จออกผนวชแน่นอน แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งโรตีเสียอีก ว่าขนาดนั้น

ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ทรงมีพระราชประสงค์อยากให้พระราชโอรสเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เรื่องอะไรจะให้เบื่อหน่ายโลกีย์เล่า ทางที่จะดึงเจ้าชายไว้อยู่ก็คือ อย่าให้ได้ทัศนาอะไรที่จะเป็นเหตุเกิดความเบื่อหน่าย จึงพยายามปรนเปรอทุกอย่างด้วยกามคุณทั้ง 5 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจสารพัดวิธี

แต่เมื่อมากไป ย่อมเอียน หรือเอือมได้นะครับ ข้อนี้พระเจ้าสุทโธทนะทรงนึกไม่ถึง

3. พระอุปนิสัยของเจ้าชายทรงเป็นคนชอบคิด พินิจพิจารณาบนพื้นฐานแห่งเมตตากรุณาเป็นทุนเดิม

เมื่อทรงเห็นความเป็นจริงชีวิตอีกมุมหนึ่ง นอกเหนือจากพระราชบิดาพยายามปิดบัง ก็ทรงนำมาครุ่นคิดว่า ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น ในที่สุดก็ทรงได้ข้อสรุปว่า “โลกนี้เป็นทุกข์ สรรพสัตว์ที่เกิดมาย่อมเผชิญกับทุกข์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายไม่มีที่สิ้นสุด”

ข้อสรุปนี้แลที่นักการศึกษาว่า เจ้าชายสิทธัตถะทรง generalize ออกมาได้ อันจักนำไปสู่ความเคลื่อนไหวอันยิ่งใหญ่ต่อไป

ต่อมาก็ทรงนำมาเปรียบเทียบ มีร้อนก็ต้องมีเย็น มีมืดก็ต้องมีสว่าง มีทุกข์ก็ต้องมีความพ้นทุกข์

แล้วในที่สุดก็ทรงตัดสินพระทัยออกผนวชเพื่อพ้นทุกข์ หลังจากได้เห็นภาพอันสงบเย็นของสมณะรูปหนึ่ง

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้คือ สถานภาพของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนเสด็จออกผนวช ที่มีในตำราเรียนวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยม

ผมอ่านดูแล้ว เห็นว่าสถานภาพเหล่านี้ มิได้เป็นเงื่อนไขเอื้อให้เจ้าชายเสด็จออกผนวชเร็วขึ้นเท่านั้น บางอย่างยังเป็นเงื่อนไขเอื้อให้ประกาศพระพุทธศาสนาของพระองค์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วอีก และยังมีสถานภาพอีกด้านหนึ่งที่มักลืมพูดถึงก็คือ การที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเษกสมรสและมีพระโอรสก่อนออกผนวช

อ้าว นี่แหละเป็นประเด็นสำคัญที่สุดล่ะ เพราะฉะนั้น ในบทความสั้นๆ นี้ จะตั้งเป็นประเด็นว่า การที่เจ้าชายสิทธัตถะเกิดในตระกูลกษัตริย์ 1 การที่พระองค์ทรงมีพระโอรส 1 เอื้ออำนวยให้พระองค์ได้รับการยอมรับจากสังคม

และได้ประกาศศาสนาแพร่หลายเร็วขึ้น

เหตุผลก็คือ สังคมอินเดียยุคพุทธกาลเป็นสังคมที่คนยึดมั่นในวรรณะมาก

เขาถือว่าคนเกิดในวรรณะสูงคือ พราหมณ์ กษัตริย์ เท่านั้นที่เป็นคนดีในสังคม วรรณะต่ำ โดยเฉพาะศูทรเกิดจากเท้าพระพรหม เป็นคนชั่วคนเลว

พวกคนชั้นสูงคือพราหมณ์ ไม่ยินดีเสวนาด้วยหากไม่จำเป็น ถ้าสมมุติว่า (สมมุติ ไม่ใช่เรื่องจริง) พระพุทธองค์ทรงประสูติในวรรณะศูทร พระองค์ประกาศว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ จะเทศน์ให้ประชาชนทราบแนวทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐ ถามว่าจะได้รับการยอมรับไหม

อย่าว่าแต่ยอมรับเลย พูดเขาก็ไม่พูดด้วย เมื่อเขาไม่พูดด้วยโอกาสที่จะเสนอแนวทางใหม่ให้เขาทราบก็ไม่มี ข้อนี้จะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงที่เดียว แม่นบ่ครับ

อีกข้อหนึ่ง คนอินเดียยุคพุทธกาล มีความเชื่อฝังหัวว่าคนที่ไม่สามารถมีบุตรชายไว้สืบสกุล เป็นคนชั่วคนบาป เพราะสกุลวงศ์จะขาดสูญ ไม่มีใครส่งวิญญาณของเขาขึ้นสวรรค์ ความบกพร่องในเรื่องนี้ กลายเป็นเคราะห์ร้ายตกแก่ผู้หญิงอย่างช่วยไม่ได้ คือหญิงที่ออกเรือนไป ไม่สามารถมีบุตรชายให้สกุลสามี จะถูกรังเกียจ หาว่าเป็นกาลกิณีแก่วงศ์ตระกูล

บางรายอาจถูกส่งกลับและบางรายเมื่อกลับแล้วพ่อแม่ไม่รับคืน เฉดหัวส่งซ้ำก็มี

ใครที่ไม่มีบุตรชายสืบสกุล ย่อมจะตกนรกขุมที่ชื่อว่า ปุตตะ ตกจริงหรือตกนรกทางใจก็สุดจะทราบได้

ถ้าคนที่ไม่มีบุตรไว้สืบสกุลไปบวชเป็นนักพรต เขาจะถือว่าเป็นคน ล้มเหลวในชีวิต ต่อมาถึงจะประกาศตนว่าบรรลุโมกษะ ได้รู้แจ้งเห็นจริง อะไรทำนองนั้น ผู้คนเขาก็จะไม่เชื่อ และไม่ยอมรับ คนที่ปากคอเราะร้ายก็อาจจะกล่าวว่า

“โถ เป็นคฤหัสถ์ยังล้มเหลวในชีวิต ยังมีหน้ามาบอกว่าตรัสรู้ ใครมันจะเชื่อ พิโธ่พิถัง”

เห็นไหมครับว่าเรื่องราวมันจะเลวร้ายขนาดไหน

พระพุทธองค์ทรงมีภูมิหลังที่ไม่มีใครตำหนิได้ ทรงเป็นเจ้าชาย อุภโตสุชาติ จากศากยวงศ์ สูงส่งไม่แพ้วรรณะพราหมณ์ (หรือว่าตามจริง สูงกว่าด้วยซ้ำ ดังคำเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “ในบรรดาผู้ที่รังเกียจกันด้วยโคตร กษัตริย์นับว่าสูงสุดในหมู่มนุษย์” ไปไหนพวกพราหมณ์ให้การต้อนรับ เพราะถือว่าเป็นวรรณะเสมอกับพวกตน พระพุทธองค์ย่อมจะมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสอดแทรกแนวทางใหม่ที่พระองค์ทรงต้องการสั่งสอนพวกเขา

ยิ่งเมื่อพวกเขาทราบว่า สมณะที่กำลังสนทนาด้วยนั้น มิได้มีความ ล้มเหลวในชีวิตครอบครัว มาก่อน ทรงมีโอรสสืบสกุล

พูดง่ายๆ ว่าเป็น ชายแท้ ที่ออกบวชเพราะทรงแสวงหาทางพ้นทุกข์อันประเสริฐกว่า และเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ ด้วยพระมหากรุณา ก็ยิ่งศิโรราบกราบกรานด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ดังปรากฏมีจำนวนมากในพุทธกาล

เห็นหรือยังครับว่า สถานภาพ 2 ประการนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วอย่างไร