ปฏิรูป กอ. รมน. ! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ข้อถกเถียงเรื่องการดำรงอยู่และการปรับปรุงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ. รมน.) เกิดขึ้นมานาน และเป็นประเด็นที่ “คาราคาซัง” ในสังคม เท่าๆกับที่เป็นปัญหาในวงการความมั่นคงไทย แต่ก็มักพบว่าในที่สุดแล้ว กอ. รมน. กลับมีทิศทางของการขยายตัว ทั้งในส่วนของจำนวนบุคลากร งบประมาณ และขอบเขตของภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายบทบาทในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ตลอดรวมถึงความเคลือบแคลงใจของสังคมต่อบทบาททางการเมืองขององค์กร

จนเมื่อการเมืองเดินมาถึงจุดของความเปลี่ยนแปลงเช่นในปัจจุบัน ข้อพิจารณาต่อปัญหา กอ. รมน. ดูจะเป็น 2 ทางเลือกใหญ่คือ จะ “ปรับปรุง” (ปฏิรูป) หรือ “ยุบทิ้ง” (ยกเลิก) เพราะการจะอยู่โดยไม่ปรับเปลี่ยนนั้น น่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้แล้วในบริบทการเมืองขณะนี้

อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะทดลองนำเสนอข้อพิจารณาอย่างสังเขปบางประการ โดยจะเน้นถึงการ “ปฏิรูป กอ. รมน.” อันเป็นประเด็นหนึ่งของข้อถกเถียงทางการเมืองในขณะนี้ ซึ่งข้อพิจารณามีดังต่อไปนี้

1) การปฏิรูป กอ. รมน. ต้องคิดคู่ขนานกับปัญหา 2 ภาคส่วน คือ การปฏิรูประบบงานความมั่นคงของประเทศ และการปฏิรูปกองทัพ จะคิดแบบแยกส่วนไม่ได้

2) การปฏิรูปอาจต้องตอบคำถามในเบื้องต้นถึงการจัดบทบาทและภารกิจองค์การความมั่นคงของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับบทบาทของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งดำเนินกิจกรรมผ่านสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ สมช. เป็นอีกหน่วยงานที่ต้องการการปฏิรูปอย่างมาก

3) ประเด็นสำคัญเฉพาะหน้าคือ การพิจารณาถึงสถานะขององค์กรในโครงสร้างความมั่นคงของประเทศ และควรเป็นการพิจารณาภาพรวม โดยไม่แยกส่วนออกจากภาพรวมงานความมั่นคงทั้งระบบ

4) การปฏิรูปจะต้องไม่เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การจัดตั้งกระทรวงใหม่ เช่น ข้อเสนอในการจัดตั้ง “กระทรวงความมั่นคงภายใน” หรือในแบบของ “Department of Homeland Security” ของสหรัฐอเมริกา

5) การจัดตั้งกระทรวงความมั่นคงภายในอาจเป็นภาระด้านงบประมาณ และอาจไม่มีความจำเป็นเช่นในแบบของสหรัฐ เนื่องจากรัฐบาลอเมริกันไม่มีส่วนงานความมั่นคงภายในเช่นในแบบไทย การจัดตั้งดังกล่าวอาจนำไปสู่ความซ้ำซ้อนของภารกิจ และเป็นปัญหาอีกแบบในอนาคต มากกว่าจะช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะการตั้งส่วนงานความมั่นคงใหม่ในระดับกระทรวงนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นในระบบราชการไทย

6) การปฏิรูปเฉพาะในส่วนของ กอ. รมน. นั้น ต้องตอบคำถามในเรื่องของ “บทบาทและภารกิจ” ในอนาคตให้ชัดเจน และต้องการการมี “กรอบคิดด้านความมั่นคง” รองรับต่อปัญหาในอนาคต

7) การลดบทบาทบางส่วนเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับลดงบประมาณของ กอ. รมน. เป็นความจำเป็นสำหรับบริบททางการเมืองปัจจุบัน

8) การปรับลดภารกิจทางการเมืองบางประการเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ และต้องทำให้เกิดความชัดเจน อันจะช่วยลดความหวาดระแวงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของ “ปฎิบัติการข่าวสาร” หรือที่เรียกว่า “ไอโอ.” ในปัจจุบัน

9) การจัดระดับและกำหนดสถานะขององค์กรมีนัยสำคัญว่า จะยังคงให้นายกรัฐมนตรีเป็น ผอ. รมน. ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากนายกฯ เป็นประธานสภาความมั่นคงฯ อยู่แล้ว และต้องชัดเจนว่า กอ. รมน. ไม่ใช่องค์กรนโยบายในระดับชาติ จึงไม่มีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นประธาน

10) การขยายบทบาทของ กอ. รมน. เป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหาร 2549 และ 2557 โดยเฉพาะการออกกฎหมายในสมัย คสช. ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่ต้องการการทบทวน

11) การขยายองค์กรทั้งในส่วนของงบประมาณและบุคคลากรควรต้องนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศปัจจุบัน

12) ความซ้ำซ้อนของภารกิจและงานต่างๆ อาจต้องพิจารณาทบทวน บนความเป็นจริงว่า หน่วยที่เป็นเจ้าของภารกิจจะรับมอบภารกิจกลับคืนหรือไม่ เพราะการขยายภารกิจส่วนหนึ่งเกิดจาก “การฝากงาน” เพื่ออาศัยอำนาจทางกฎหมายและงบประมาณของ กอ. รมน. เป็นเครื่องมือ

13) การยุบโดยปราศจากความชัดเจนในการจัดวางระบบงานความมั่นคงของประเทศใหม่แล้ว ปัญหานี้อาจกลายเป็นวิกฤตการเมืองได้ไม่ยาก และส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ จนอาจกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายการเมืองด้วย

14) ปัญหาบทบาทของ กอ. รมน. ในภาคใต้มีความจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาในกรอบของความสัมพันธ์ระหว่างกอ. รมน. ศอ. บต. กองทัพภาคที่ 4 กับหน่วยงานความมั่นคงทั้งในส่วนของพลเรือน ตำรวจ และทหาร ตลอดรวมถึงกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า “กอ. รมน. จะทำอะไรในภาคใต้?”

15) รัฐบาล กระทรวงกลาโหม และกองทัพโดยเฉพาะกองทัพบก อาจใช้โอกาสนี้เป็นจังหวะในการสร้างกรอบคิดในการปฏิรูปกองทัพ โดยมีประเด็น กอ. รมน. เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ตลอดรวมถึงการคิดในเรื่องการบริหารจัดการระบบงานความมั่นคงไทย ที่มีปัญหาสำคัญอีกส่วนรวมศูนย์อยู่กับเรื่องของ “การปฏิรูปสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ” ที่เป็นปัญหามาโดยตลอดอีกเรื่อง

ดังได้กล่าวในข้างต้นแล้วว่า ข้อพิจารณาเหล่านี้เป็นการนำเสนออย่างสังเขปเพื่อให้เห็นปัญหาในภาพกว้าง แทนการยึดติดอยู่กับการพิจารณาถึงปัญหา กอ. รมน. แบบเป็นเอกเทศ อีกทั้ง การคิดอยู่กับเพียงปัญหาของ กอ. รมน. นั้น อาจจะไม่ช่วยในการแก้ปัญหางานความมั่นคงไทยทั้งระบบอย่างแน่นอน!