ซมเซยครูดี สะบายดีเซกอง (3) ถอดถอนบทเฮียน แลกเปลี่ยนข้อยุ่งยาก

สมหมาย ปาริจฉัตต์

บทความพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ซมเซยครูดี

สะบายดีเซกอง (3)

 

ถอดถอนบทเฮียน

แลกเปลี่ยนข้อยุ่งยาก

“บทโอ้โลมทางการศึกษาลาว ไทย” ยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมงเต็มเช้าวันนั้น

หัวหน้าคณะฝ่ายไทยถอดถอนบทเฮียนการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้คณะผู้บริหารการศึกษาลาวได้รับรู้ประสบการณ์อย่างน่าสนใจ

“กสศ.พยายามหาแนวทางส่งเสริมการระดมทรัพยากรซึ่งไม่ใช่จากภาครัฐแต่มาจากแหล่งทุนต่างๆ ของภาคเอกชนที่มีกำลัง บริษัทธุรกิจที่ออกหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนในตลาดทุน ตลาดเงิน ชวนให้แบ่งมาช่วยเหลือด้านการศึกษา”

“ตัวอย่าง บริษัทอสังหาริมทรัพย์แสนสิริ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยเคยเป็นผู้บริหาร ออกหุ้นกู้ขายกับนักลงทุนทั้งที่เป็นบริษัท เอกชนและประชาชนที่สนใจซื้อ โดยบริษัทจ่ายดอกเบี้ยตอบแทนให้ และนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นกู้ส่วนหนึ่ง 100 ล้านมาทำโครงการ Zero Drop Out ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการลดอัตราการออกกลางคันของนักเรียนให้เป็นศูนย์ ทำทั้งจังหวัดที่ราชบุรี เด็กทุกคนต้องมีการศึกษา ขณะเดียวกันก็ดึงเด็กที่หลุดออกไปจากระบบให้กลับเข้ามาสู่การศึกษาเล่าเรียนใหม่”

“นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเรื่องการออกลอตเตอรี่เพื่อการศึกษา ช่วยเด็กที่ขาดโอกาสหรือผิดพลาด ออกจากสถานพินิจฯ ให้กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา หรือออกพันธบัตรเพื่อการศึกษา Education Bond ให้กับภาครัฐ ทำให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เราไม่ใช่กระทรวงศึกษาที่ 2 แต่ช่วยคิดอะไรใหม่ๆ ให้งบประมาณเราน้อยกว่า 200 เท่า” ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ย้ำหนักแน่น

และว่า “ไทยยังมีโรงเรียนขนาดเล็ก ในชนบท ห่างไกลจากตัวจังหวัด ห่างจากเขตพื้นที่การศึกษา 60-80 กิโลเมตรที่ต้องรักษาไว้เพื่อให้เด็กในชุมชนมีการศึกษา เชิญท่านรัฐมนตรีไปดูงานกองทุน กสศ. ช่วยเหลือเด็กจากครอบครัวยากจนพิเศษ รายได้ของครัวเรือนต่ำกว่าเส้นความยากจนมีกว่า 1.3 ล้านคน”

“ช่วยสนับสนุนเรื่องค่าเดินทาง ค่าอาหาร โดยมีเงื่อนไขว่าขอให้ขาดเรียนน้อยลง ตามเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนย้ายตามพ่อแม่ไปทำงานที่ต่างๆ ให้มาเรียน จบให้ทุนเรียนอาชีวศึกษาต่อไม่ใช่เรียนอะไรก็ได้ เด็กหลุดจากระบบการศึกษามีชื่อในทะเบียนแต่หาตัวไม่พบ ทำอย่างไรจะหาให้เจอเพื่อให้กลับมาเรียน ฝึกอาชีพ มีโรงเรียนเคลื่อนที่”

คณะผู้บริหารการศึกษาลาว นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา กับคณะมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จากประเทศไทย

แม่หญิงลาวผู้บริหารการศึกษาได้ฟังแล้ว ขอเว้าบ้าง

“พวกเฮาอยู่ในวงเวียนการแก้ปัญหาการจัดสรรครูเช่นเดียวกัน โฮงเฮียนข้อยหลายแหล่งครูไม่พอ แต่ต้องรักษาไว้ให้บริการซุมซนเพื่อเกิดความเท่าเทียมทางการศึกษาและต้องมีมาตรฐาน ในลาวปัญหาความห่างไกลยิ่งกว่าไทย นำประสบการณ์ของท่านมาสร้างเกณฑ์ต่างๆ เพื่อปฏิบัติอาจจะแตกต่างกัน ต้องเอาแบบอย่างมาคิดพัฒนาให้เข้ากับประเทศของเฮา โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน Basic Education”

“ไม่เป็นไร ไทย ลาวเดินทางติดต่อสะดวกเข้าออกได้หลายทาง ทางบก ทางเครื่องบินก็ได้ ไปดูงานโรงเรียนต่างๆ นำมาแลกเปลี่ยนกัน พัฒนาทั้งโรงเรียน ตรวจสอบข้อมูลให้เห็นปัญหาแท้จริง ความยากจนส่งต่อให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รับไปดำเนินการแก้ต่อ โดยเฉพาะเด็กพิการ ช่วยเด็กอย่างเดียวไม่พอ ต้องช่วยพ่อแม่ด้วยเพราะรับการะหนักมาก” ฝ่ายไทยเว้าตอบ

ครูเบญจลักษณ์ ผู้จัดการมูลนิธิฯ เด็กลพบุรีโตอุบลฯ ขอเว้าอีสานบ้าง “โฮงเฮียนที่ยุบไม่ได้ ครูมีระบบการสอนคละชั้น ลาวเว้าว่า ห้องควบ เอาประสบการณ์ของครูแต่ละประเทศ ควบห้อง ควบชั้น ควบครู ทำอย่างไรให้เป็นโอกาสแก่เด็ก จะเฮ็ดวิธีใด มาแลกเปลี่ยนกัน”

“สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีโครงการสอนภาษาไทยให้เด็กที่พูดภาษาไทยไม่ได้ โดยอาสาสมัครเป็นครูตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ เด็กพูดไม่ได้เพราะอะไรปัญหาคนละแบบ ตอนนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังทำคู่มือครู สำหรับคนที่เรียนจบครูแต่ไม่จบสาขาภาษาไทย ทำอย่างไรจะสอนภาษาไทยได้ สภากาชาดมีนายกเหล่ากาชาด ให้ช่วยหาอาสาสมัครแต่ละจังหวัดไปสอนหนังสือ ทุกคนต้องช่วยกัน ปล่อยกระทรวงศึกษาธิการฝ่ายเดียวไม่ไหว ไทยก็ยังมีปัญหา” หัวหน้าคณะสวมหมวกนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริม

ครูไพสะนิด ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีลาวคนที่ 3 จากโฮงเฮียนมัธยมสมบูรณ์ แขวงหลวงพระบาง ยกมือขอเว้าต่อ “ที่ผ่านมามีโอกาสมาประชุมโครงการแลกเปลี่ยนครูและนักเรียน ระหว่าง สปป.ลาวกับไทย โรงเรียนหลวงพระบางกับโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี กำลังมีกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมร่วมกัน ชื่อ โครงการเป็นเพื่อนกัน ให้ครูเขียนโครงการ รวมถึงการพัฒนาการเรียนคณิตศาสตร์ แก้โจทย์กันอย่างไร”

เรื่องเล่าของครู ความร่วมมือระหว่างครูและนักเรียนของทั้งสองโรงเรียน สร้างความสนใจให้กับทุกคนในห้องประชุมอย่างมาก จนครูรับปากว่าคืบหน้าอย่างไรจะเอามาเล่าให้ฟังโดยเร็ว

 

ผมนั่งสังเกตการณ์ฟังด้วยความสนใจ กองปะซุมระหว่างผู้บริหารการศึกษาสองฝ่ายเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งมิตรไมตรี กระตือรือร้น โดยเฉพาะจิตใจ ความเสียสละทุ่มเทให้กับเด็กขาดโอกาส ยากจน ด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ ภายใต้บริบทของแต่ละประเทศ

สอดคล้องกับข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ของ กสศ. แปลและเรียบเรียงโดยนงลักษณ์ อัจนปัญญา รายงานว่ากระทรวงศึกษาธิการประเทศลาวร่างแผนยกเครื่องปรับนโยบายและระบบการศึกษาของประเทศ ตั้งเป้าให้เด็กลาวทุกคนได้เรียนหนังสืออย่างเท่าเทียมทั่วหน้า

เป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐาน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการการศึกษา เพิ่มจำนวนเด็กเข้าเรียนในระบบและลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ลาวคาดหวังให้แผนฉบับใหม่สามารถเพิ่มอัตราการเข้าเรียนหนังสือของเด็กนักเรียนในระดับปฐมวัย คือ อายุ 5 ปี จาก 82.7% มาอยู่ที่ 83% ในปี 2021 ขณะที่อัตราการเข้าเรียนของเด็กนักเรียนทุกระดับชั้นทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นมาถึง 99% เช่นกัน

ในส่วนของอัตราการเลิกเรียนกลางคันหรือหลุดจากระบบการศึกษา คาดหวังให้ลดลงจาก 3.1% มาอยู่ที่ 3% ในปี 2021 โดยมุ่งความสนใจไปที่เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาที่หลุดออกจากโรงเรียนให้ลดลงจาก 4.3% มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4% ให้ได้

เป้าหมายการปรับแผนร่างนโยบายการศึกษายังครอบคลุมถึงการเพิ่มสัดส่วนการเข้าเรียนของเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นให้มากกว่า 84% และลดจำนวนเลิกเรียนกลางคันจากระดับ 10.3% มาอยู่ที่ 10% คาดหวังให้จำนวนเด็กเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้นถึง 56% ภายในปี 2021 ด้วย

มาถึงปีนี้ 2023 ลาวดำเนินงานคืบหน้าไปอย่างไร จึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

 

รายการ คำนับฮับต้อน ถอดถอนบทเฮียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้อยุ่งยากทางการศึกษาไทย ลาว จบลงใกล้เที่ยง คณะออกจากกระทรวงศึกษาฯ มุ่งหน้าร้านเฝอ ก๋วยเตี๋ยวเลื่องชื่อ “ร้านแซบ” ขึ้นชื่อเรื่องพริกป่นเผ็ดกว่าร้านอื่นๆ ทั่วไป ตะกร้าผักเขียวสดชวนกิน

กินกันไปเว้ากันไป ครูคำสร้อย ครูคุนวิไล คุยสนุก มารับรางวัลครูสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ที่เมืองไทย เจอครูขวัญศิษย์ ครูยิ่งคุณไทยเล่าว่า เงินเดือนคนละหลายหมื่นบาท ครูลาวเงินเดือนเท่าไหร่ เฮาบอกว่าได้มากเป็นล้าน ล้านกีบ 2-3 ล้านกีบ

“ค่าครองชีพเป็นอย่างไรบ้างครับ” ผมเอ่ยถาม

“ครูใหม่ เงินเดือนได้มาเป็นค่าเช่าเฮือนก็ครึ่งหนึ่งแล้ว ค่าครองชีพสูง” ครูคุนวิไลตอบ และว่า “ครูเกษียณแล้วใครมีเงินเก็บก็ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ ใครไม่มีก็ภาระหนัก ครูใหม่รายได้ไม่พอ โรงเรียนให้ความช่วยเหลือเดือนละ 500,000 กีบ เฉพาะครูประจำการ ส่วนครูอาสาสมัครไม่ได้ ไม่มีโควต้า”

“สถานการณ์ครูตอนนี้เป็นอย่างไร” ผมคั่นจังหวะระหว่างรอเฝอไก่ ชามใหญ่

“ครูสังคม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ขาด คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ครูเกินเพราะผลิตมาก” ครูคำสร้อยเล่า

“เด็กจบมหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้ไปหางานทำที่เกาหลี ไทย ได้ค่าตอบแทน 1,500 ดอลลาร์ต่อเดือน เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไปรัฐบาลเพิ่มเงินเดือนพื้นฐานจาก 1,300,000 กีบ เป็น 1,600,000 กีบ ให้ชุดครูเป็นรางวัล ของขวัญ รวมทั้งข้าราชการทั่วประเทศ ให้ข้าว 20 กิโลกรัมต่อเดือน พนักงาน บริษัทต่างๆ ได้ด้วย”

อิ่มอร่อยกับเฝอเนื้อ หมู ไก่ ตามใจและรสลิ้นแต่ละคน ผมถามราคาคุณสุรชัย ดิ่งสวัสดิ์ ผู้ประสานครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ลาวและเวียดนาม

เขาดูบิลก่อนบอกว่า เฝอชามเล็ก 30,000 กีบ ชามใหญ่ 40,000 กีบ จัมโบ้ 50,000 กีบ ที่กินกันทั้งหมดเป็นเงิน 1,250,000 กีบ ครับ

คิดเป็นเงินไทย ทั้งเงินเดือนครูและค่าเฝอ เท่าได๋ คุณสันติพงษ์ ช้างเผือก จากสถานีโทรทัศน์ไทย พีบีเอส เฉลยว่า อัตราแลกเปลี่ยนทางการ วันนี้ 1 บาท 587 กีบ ถ้าแลกในตลาด 1 บาทได้ถึง 640 กีบ มาล่าสุดปีที่แล้ว 1 บาทแลกได้ 500 กีบ

ใครอยากได้คำตอบ จั๊กบาท กดเครื่องคิดเลข คำนวณตามสะดวกเลยครับ