ฮามาส-อิสราเอล ความขัดแย้งครั้งที่ 5 (2)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

ฮามาส-อิสราเอล

ความขัดแย้งครั้งที่ 5 (2)

 

บทกวีของดาร์วิชสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดหวั่น ความตระหนก รวมทั้งความหวาดกลัวและความตายในทุกแห่งหนสำหรับชาวปาเลสไตน์ทุกคนในโลก

แม้ว่าชาวปาเลสไตน์จะได้ระลึกถึงวันนักบะฮ์ (วันระลึกถึงความพินาศย่อยยับ) ในทุกวันที่ 15 พฤษภาคมของทุกปี กระนั้นพวกเขาก็ดูเหมือนจะตกอยู่ภายใต้การคุกคามของวันแห่งความพินาศจากการถล่มอย่างหนักหน่วงของอิสราเอล

หากว่าการทำลายล้างมวลชนในช่วงปี 1948-1949 เป็นผลให้ชาวปาเลสไตน์ มากกว่า 750,000 คนที่มาจาก 532 หมู่บ้าน ต้องเปิดทางให้กับรัฐใหม่อิสราเอลแล้วอนาคตของชาวปาเลสไตน์ 5 ล้านคนในวันนี้ก็ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง และความรุนแรงจากการใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองของอิสราเอลเช่นกัน

เมืองเวสต์แบงก์และกาซา พร้อมๆ ไปกับนครเยรูซาเลมตะวันออกที่ถูกยึดครองได้รับความสนใจในฐานะที่เป็นพื้นฐานของรัฐปาเลสไตน์ตามมติ “ทวิรัฐ” อย่างไรก็ตาม หลังจากเวลาผ่านพ้นไปหลายทศวรรษ จุดหมายของการตั้งรกรากถาวรก็กลายเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลจากสิ่งที่แลเห็นได้พร้อมกับได้เห็นความพยายามในการเข้ามาสร้างบ้านเรือนของชาวยิว ในดินแดนดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา

ประเทศบางประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกาให้การยอมรับนครเยรูซาเลมว่าเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลโดยเฉพาะ Trump ผู้สร้างเรื่องราวครั้งใหม่ขึ้นมาเพื่อทำให้นครเยรูซาเลมกลายเป็นการเมืองภายในของอิสราเอลและองค์การปาเลสไตน์จนทำให้ความขัดแย้งขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งในเวลานี้จึงเป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรีขวาจัดอย่างเนทันยาฮูถูกสอบสวนด้วยข้อหาต่างๆ อย่างเช่น การให้สินบนและฉ้อโกง

 

ก่อนหน้าความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอลครั้งที่ 5 จะระเบิดออกมานั้น มีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่ามีการประท้วง การบีบบังคับชาวปาเลสไตน์ให้ออกจากบ้านเรือนของตนด้วยการใช้กำลัง พื้นที่ของนครเยรูซาเลมตะวันออกกลายเป็นการประลองกำลังครั้งใหญ่ระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล

เมืองกาซาตกอยู่ในสภาพอันน่าหดหู่เหมือนที่เป็นมาภายใต้การปิดล้อมอย่างเข้มแข็งโดยอิสราเอลมาเป็นเวลายาวนานก่อให้เกิดการขาดแคลนยารักษาโรคและความสามารถด้านการแพทย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนที่นี่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ประเทศอาหรับซึ่งหันไปมีความสัมพันธ์ขั้นปกติกับอิสราเอลอย่างซูดาน อาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ก็คงขาดน้ำหนักในการหยุดยั้งความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หากเปรียบเทียบกับอียิปต์และกาตาร์ที่ทั้งขบวนการฮามาสและอิสราเอลให้การรับฟังมากกว่า

อาจกล่าวได้ว่าความรุนแรงและความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ครั้งที่ 5 นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับความผันแปรทางการเมืองในประเทศโดยสถานะทางการเมืองของอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่มีความมั่นคง

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเนทันยาฮูและตำแหน่งประธานาธิบดีของอับบาสก็มีความอ่อนแอทั้งสองฝ่าย

ในขณะที่องค์การปาเลสไตน์แห่งชาติ (Palatines National Authority) ที่มีกองกำลังฟาตะห์เป็นกำลังหลักได้สูญเสียพื้นที่ความนิยมให้กับขบวนการฮามาส

ทั้งนี้ ผู้นำอิสราเอลผู้นำขบวนการฮามาสและประธานาธิบดีอับบาส ต่างก็พยายามหาความนิยมด้วยมาตรการที่หลากหลายเพื่อหวังการสนับสนุนจากประชาชน

 

นับตั้งแต่มีข้อตกลงออสโล (Oslo Accords) เกิดขึ้นในปี 1993 โลกส่วนใหญ่ต่างก็ให้การยอมรับการมีสองรัฐ (two-state solution) ว่าเป็นทางออกของความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็คืออิสราเอลยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างบ้านเรือนในดินแดนที่ตนเองเข้าไปยึดครองและไม่ต้องการยกเลิกข้ออ้างในการเป็นเจ้าของนครเยรูซาเลมตะวันออกที่ไม่ได้รับการยอมรับ โดยคณะมนตรีความมั่นคงและในอีกหลายประเทศ

บริบทรอบด้านที่ชาวปาเลสไตน์ได้รับจากอิสราเอลจะยังคงส่งผลต่อความรู้สึกทางจิตใจและจะยังคงเป็นแรงจูงใจไปสู่ความขัดแย้งครั้งแล้วครั้งเล่าต่อไปในอนาคตได้อีก ทั้งนี้ก็เพราะสภาพของประชาชนที่ได้รับการดูแลโดยขบวนการฮามาสยังอยู่ในสภาพยากลำบากอยู่เหมือนเดิมเนื่องจากพวกเขาถูกปิดล้อมจากอิสราเอลในเกือบทุกๆ ด้าน เส้นทางผ่านที่นำเอาอาหารเข้ามาฉนวนกาซาส่วนใหญ่ถูกปิด จำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้น

นโยบายปิดล้อมของอิสราเอลนำไปสู่ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ระบบการศึกษาได้รับผลกระทบ นักศึกษาหลายพันคนไม่สามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยทั้งในดินแดนเวสต์แบงก์หรือในต่างประเทศ การห้ามนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญต่อโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองกาซา รวมทั้งการห้ามส่งออกสินค้าจนนำไปสู่การปิดตัวลงของโรงงาน

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ ก็คือเกษตรกรไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบและอุปกรณ์ทางการเกษตรที่จำเป็นต่อการเพาะปลูกและรักษาพืชผลไม่ให้เกิดความเสียหายได้

จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่าร้อยละ 67 ของชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเมืองกาซา มีฐานะต่ำกว่าเส้นความยากจน สภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่อาศัยจึงผสมผสานกันระหว่างความสูญเสีย ความยากจน ความโกรธแค้น ความไร้อำนาจ และความหวาดกลัว ความรู้สึกนี้ในท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

 

การทำลายล้างในความขัดแย้ง 11 วันในความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ครั้งที่ 4 ในท้ายที่สุดก็จบลงโดยขบวนการฮามาสสูญเสียพลเรือนของตนไปพร้อมกับเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง 248 คน บาดเจ็บราว 1,000 คนและไร้ที่อยู่อาศัย 6,000 คน

ในขณะที่อิสราเอลเสียชีวิต 12 คนในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 2 คน ซึ่งเป็นความสูญเสียที่น่าสลดใจเนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นกำลังหลักของครอบครัวและเด็กอินเดียอีกหนึ่งคน

จากความขัดแย้งที่ระเบิดออกมาเป็นการใช้อาวุธตอบโต้กันระหว่างฝ่ายปาเลสไตน์ภายใต้การนำของขบวนการฮามาสและรัฐบาลอิสราเอลนำโดย Natunyahu

ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ได้ซ้ำร้อยตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะความขัดแย้งที่มีรูปแบบเดียวกันนี้ได้เกิดมาก่อนหน้านี้แล้วถึงสี่ครั้งโดยความขัดแย้งครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงในเวลานี้เกิดขึ้นในปี 2021

ทั้งนี้ ความไม่ลงรอยกันครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 5 เกิดขึ้นและยังดำเนินต่อไป

 

หนึ่งในสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่ยังอยู่ในความทรงจำของชาวปาเลสไตน์คือสงครามในปี 2008 โดยอิสราเอลปิดท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในปี 2008 ด้วยการบุกถล่มขบวนการฮามาสอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ อิสราเอลได้ใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศที่เรียกว่า “แคสต์ลีด” เข้าถล่มฉนวนกาซา, และข่านยูนุส ฯลฯ อันเป็นที่อยู่ของขบวนการฮามาสโดยฝูงบินรบของอิสราเอลระดมยิงขีปนาวุธกว่า 30 ลูก ถล่มที่มั่นของขบวนการฮามาสนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจำนวนมากและการรบก็ดำเนินต่อไปยาวนานถึง 3 สัปดาห์ นำไปสู่ความตายของเด็ก 400 ราย และผู้บาดเจ็บที่พุ่งขึ้นถึง 5,500 ราย

ทั้งนี้ หากฉนวนกาซายังคงถูกปิดกั้นจากอิสราเอลทั้งทางบก ทางอากาศและภาคพื้นดิน และหากนานาประเทศยังหาทางออกร่วมกันว่าด้วยการยึดครองพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ไม่ได้ ความขัดแย้งก็จะยังคงกลับสู่วัฏจักรของมันเองอยู่ตลอดเวลา

แม้ว่ารายละเอียดในความขัดแย้งแต่ละครั้งจะแตกต่างอยู่บ้าง อย่างเช่น ความแข็งแกร่งที่มีมากขึ้นของขบวนการฮามาส เป็นต้น

แต่โดยภาพรวมแล้วสภาพแวดล้อมของความขัดแย้งก็ยังไม่มีทางออกที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใดในปัจจุบัน