การตัดถนนสมัยคณะราษฎร : อิสรภาพในการเดินทาง และส่งเสริมความเจริญให้ท้องถิ่นภายหลังการปฏิวัติ 2475

ณัฐพล ใจจริง

ด้วยการสร้างระบบรถไฟในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มุ่งเน้นเอกภาพในการรวมศูนย์อำนาจเป็นสำคัญ แม้นจะมีการทำถนนขึ้นบ้างแต่เป็นเพียงเส้นทางรองรับเส้นทางรถไฟส่งผลให้พื้นที่ในท้องถิ่นจำนวนมากปราศจากระบบถนนเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดกับจังหวัด จังหวัดกับอำเภอ อำเภอกับอำเภอ อำเภอกับหมู่บ้าน และการเชื่อมต่อเทศบาลที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เข้าหากัน

ภาพพิธีเปิดถนนสายดงพญาเย็น-นครราชสีมา ในวันชาติ 24 มิถุนายน 2485 (ปัจจุบันคือ ถนนสุรนารายณ์) เครดิต : ประวิทย์ สังข์มี

ระบอบใหม่-เครือข่ายคมนาคมใหม่

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลเปลี่ยนโฉมระบบการคมนาคมอย่างใหม่ให้กับระบอบประชาธิปไตย ด้วยการสร้างโครงข่ายระบบถนนขึ้นแทนระบบรางรถไฟของระบอบเก่าที่ถูกใช้เป็นกลไกในการรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) เพื่อควบคุมดินแดนต่างๆ ให้มีเอกภาพเป็นสำคัญ (วิภัส เลิศรัตนรังษี, 2558)

ด้วยเหตุที่คณะราษฎรเผชิญหน้ากับกลุ่มอำนาจเก่า โดยเฉพาะการก่อกบฏบวรเดช (2476) ที่ฝ่ายกบฏยึดกุมระบบรางรถไฟ ด้วยมีข้าราชการในกรมรถไฟที่ภักดีกับระบอบเดิม ทำให้รัฐบาลส่งกำลังพลปราบปรามกบฏด้วยความยากลำบาก

เมื่อเส้นทางรถไฟถูกฝ่ายกบฏใช้ปฏิบัติการทางการทหาร นั่นหมายความว่าการคมนาคมระหว่างพระนครกับภูมิภาคถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง เมื่อเหตุการณ์ปราบกบฏจบลง รัฐบาลตระหนักในข้อจำกัดของระบบเครือข่ายรถไฟอันเป็นเส้นทางคมนาคมหลักเป็นอย่างยิ่ง (อิจิโร คากิซากิ, 2560, 37-38)

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สัญลักษณ์ทางการเมืองและจุดเริ่มต้นการเดินทางด้วยถนนแห่งระบอบใหม่

ไม่แต่เพียงรัฐบาลตระหนักถึงปัญหาของระบบรางผนวกกับหลัก 6 ประการ อันมี “หลักเศรษฐกิจ” ที่รัฐบาลจะต้องสร้างความสุขสมบูรณ์ให้กับราษฎร ดังนั้น การอำนวยการคมนาคมให้กับเทศบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ (2476) อันกระจายตัวทั่วประเทศตามหลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) ต้องเกิดขึ้น แต่เทศบาลจำนวนมากตั้งที่อยู่ห่างเส้นทางรถไฟ

ด้วยเหตุเหล่านั้น รัฐบาลพระยาพหลฯ จึงอนุมัติแผนการก่อสร้างถนนทั่วประเทศ (2479) ขึ้น เพื่อเชื่อมโยงหน่วยการปกครองท้องถิ่นต่างๆ เข้าหากันขึ้นและเพื่ออำนวยประโยชน์สุขในการคมนาคม การค้าขาย ดังนั้น แผนสร้างถนนจึงเป็นการปฏิวัติระบบคมนาคมโดยถนนแทนรถไฟหรือทางน้ำ (อัมพิกา สวัสดิ์วงศ์, 2558)

เมื่อครั้งระบอบเก่า หน่วยงานสร้างถนนรวมอยู่ในกรมรถไฟหลวง แต่ภายหลังการปฏิวัติแล้ว รัฐบาลแยกหน่วยงานดังกล่าวออกมาสังกัดกระทรวงมหาดไทยตั้งเป็นกรมโยธาเทศบาล (2477) (สมุดภาพกรมทางหลวง, 2564, 12) ภายหลังการปราบกบฏแล้ว รัฐบาลผลักดันโครงการสร้างทางหลวง 18 ปีขึ้น (2478)

เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายการขนส่งจากเดิมที่เน้นทางรถไฟมาเป็นการเน้นทางหลวง คือ ความบกพร่องของระบบเครือข่ายทางรถไฟจากกบฏบวรเดช (อิจิโร คากิซากิ, 2560, 36) ต่อมาสมัยรัฐบาลจอมพล ป.มีการพัฒนาระบบทางสาธารณะในชนบททั่วประเทศเป็นยุคแรก

หลักเกณฑ์ในการสร้างถนนสมัยคณะราษฎร คือ สร้างถนนให้กับเมืองที่เป็นศูนย์กลางแต่ละจังหวัดให้ติดต่อกับจังหวัดอื่นๆ ได้ และผ่านท้องที่ที่เปิดกสิกรรมแล้ว ประสานการขนส่งทางรถไฟและทางเรือเข้าหากัน ให้เป็นประโยชน์แก่การปกครอง หลักเกณฑ์นี้ทำให้ทุกจังหวัดสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางหลวงระหว่างจังหวัด นำไปสู่ระบบเครือข่ายของถนนขึ้นในประเทศ ทำให้ทุกจังหวัดติดต่อกับพระนครโดยถนนได้

สมุดคู่มือทางหลวงชนบท (2482) และเรียงความงานฉลองรัฐธรรมนูญ (2482) ที่กล่าวถึงถนนสร้างความเจริญให้ชนบท

นโยบายสร้างถนนของระบอบใหม่นี้จึงแตกต่างจากระบอบเก่าอย่างสิ้นเชิง ที่แต่เดิมถนนเป็นเส้นทางคมนาคมเพื่อป้อนให้ทางรถไฟเท่านั้นทำให้ถนนส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคที่ไม่เชื่อมต่อกับพระนคร ไม่มีถนนจากพระนครออกไปภูมิภาค ถนนในระบอบเก่าจึงสร้างแบบโดดเดี่ยวมีหน้าที่เพียงเชื่อมต่อเมืองที่ห่างไกลกับรถไฟเท่านั้น แต่เครือข่ายถนนของระบอบใหม่นั้นมีเป้าหมายเชื่อมโยงทุกจังหวัดในประเทศด้วยถนนเท่านั้น (อิจิโร คากิซากิ, 2560, 50-51)

ดังนั้น การตัดถนนในชนบทเป็นการอำนวยการเดินทางไปมาระหว่างหมู่บ้าน อำเภอ และจังหวัดต่างๆ ให้กับราษฎรอย่างไม่เคยมีมาก่อน กล่าวได้ว่าถนน คือ หนทางของอิสรภาพของประชาชนที่เกิดขึ้นใหม่นั่นเอง

รัฐบาลพระยาพหลฯ อนุมัติโครงการสร้างถนนระยะทาง 14,865 กิโลเมตร มูลค่า 3 ล้านบาท โครงการระยะแรก ระยะเวลา 5 ปี ระยะทาง 3,086 กิโลเมตร มูลค่า 30 ล้านบาท ถนนปูด้วยหินหรือลูกรัง ถนนมีหน้ากว้าง 8 เมตร ผิวถนน 5 เมตร (คากิซากิ, 49)

เมื่อรัฐบาลมีความต้องการบรรลุความสุขสมบูรณ์ด้วยการส่งเสริมอาชีพของราษฎรให้มีความเจริญด้วยถนน ดังนั้น การสร้างโครงข่ายถนนเชื่อมต่อกันจึงมีความสำคัญยิ่ง นอกจากเพื่อให้เกิดความเป็นหน่วยการปกครองเดียวกันแล้ว ยังเป็นการเปิดสร้างเส้นทางคมนาคมใหม่เพื่อขยายตลาดในการซื้อขายสินค้าได้อย่างสะดวกด้วย

ดังนั้น รัฐบาลตระหนักดีว่าพาหนะสำคัญในการขนส่งที่แพร่หลายและมีราคาถูก คือ เกวียน การสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านจะทำให้ราษฎรสามารถหารายได้จากการรับจ้างขนส่งสินค้า วัสดุอุปกรณ์ของพ่อค้า เทศบาล หรือหน่วยราชการได้สะดวกขึ้น (กรมโยธาเทศบาล, 2482, คำนำ)

การทำถนนสมัยรัฐบาลคณะราษฎร เครดิตภาพ : สมุดภาพกรมทางหลวง

โครงการก่อสร้างทางหลวง 18 ปี

ภายหลังกบฏบวรเดชแล้ว รัฐบาลเริ่มมีเสถียรภาพในการผลักดันหลัก 6 ประการ อันประกอบด้วย หลักเอกราช เสมอภาค เสรีภาพ ความปลอดภัย เศรษฐกิจ และการศึกษาได้อย่างเต็มที่ มีการบรรจุนโยบายการพัฒนาถนนเข้าไปในนโยบายรัฐบาล (คากิซากิ, 39)

ด้วยเหตุที่การขนส่งบนถนนมีความยืดหยุ่นมากกว่าระบบราง ดังนั้น รัฐบาลเห็นว่า “สมัยประเทศต้องการการขนส่งขนาดใหญ่เวลาฉุกเฉิน เกวียนจึงเป็นพาหนะอันสำคัญยิ่งในการขนส่งเสบียงอาหารและวัตถุจำเป็น เมื่อมีทั้งทางหลวงชนบทและเกวียนทั่วราชอาณาจักรแล้วจะยังประโยชน์ให้กับครัวเรือนและท้องถิ่น อันจะเป็นกำลังทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ” (กรมโยธาเทศบาล, คำนำ)

นักศึกษาครั้งนั้นเห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างประเทศขึ้นใหม่ผ่านการสร้างถนน เขาเห็นว่าด้วยเวลาไม่กี่ปี นับแต่ 2479 มีถนนที่สร้างเสร็จจำนวนมาก เช่น ถนนสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ สายฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-สัตหีบ สายนครปฐม-กาญจนบุรี สายตะพานหิน-เพชรบูรณ์ สายชนบท-มหาสารคาม สายขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย สายเด่นไชย-แพร่ สายลำปาง-เชียงราย-เชียงแสน สายบ้านชะอำ-หัวหิน สายกระบุรี-ชุมพร สายตะกั่วป่า-ท่านุ่น-พังงา สายนครศรีธรรมราช-ปากพนัง สายหาดใหญ่-สตูล สายสงขลา-สะเดา และสายโคกโพธิ์-ปัตตานี-นราธิวาส

ทางเกวียน ก่อนตัดถนนสายเลย-ด่านซ้าย 2482 ประวิทย์ สังข์มี

ส่วนถนนที่กำลังก่อสร้าง เช่น สายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา สายกรุงเทพฯ-ขาณุฯ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สายบ้านภาชี-อรัญประเทศ นครนายก ปราจีนบุรี สายเพชรบูรณ์-หล่มเก่า สายพิษณุโลก-สุโขทัย สายขอนแก่น-เชียงคาน สายเลย-นครพนม ผ่านอุดรธานีและสกลนคร สายอุบล-นครพนม สายอุบล-มหาสารคาม สายพังงา-กระบี่ และสายตันหยงมัส-เบตง เป็นต้น รวมทั้งรัฐบาลได้ขยายและปรับปรุงถนนบางสายในกรุงเทพฯ ให้กว้างขึ้น มีการจัดระเบียบจราจรและตั้งตำรวจจราจรขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยบนท้องถนน (วิชิต หอมโกศล, 2482)

ต่อมา รัฐบาลสร้างป้ายกิโลเมตรที่ 0 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันเป็นจุดเชื่อมโยงถนนสายประธานสายต่างๆ อันหมายความว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเจริญที่แผ่กระจายไปทั่วประชาชาติ

นักศึกษาในสมัยนั้นเห็นว่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เศรษฐกิจของประเทศมีแต่ทรงกับทรุด รัฐบาลคณะราษฎรพยายามปรับปรุงเศรษฐกิจของชาติได้อยู่ในฐานะอันมั่นคงแล้ว ทั้งยังมีการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางและค้าขายเพื่อสร้างความมั่นคงในเศรษฐกิจของชาติด้วย (วิชิต, 2482)

ดังนั้น เจตจำนงของรัฐบาลคณะราษฎรมุ่งสร้างโครงข่ายถนนอันเป็นระบบคมนาคมใหม่ให้กับระบอบประชาธิปไตยเพื่อสร้างความเจริญและเชื่อมโยงการค้าขายให้กับประชาชนหรือกล่าวอีกอย่างคือ “ถนนแห่งความเจริญ” ของชาตินั่นเอง

ทางเกวียนเดิมของพ่อค้า ก่อนตัดถนนขอนแก่น-ชุมแพ 2483 เครดิต : ประวิทย์ สังข์มี
การเปิดพื้นที่สร้างถนนขอนแก่น-เลย 2484 ประวิทย์ สังข์มี
เครือข่ายทางหลวงแผ่นดิน (2479-2483) และอุปกรณ์การสร้างถนน (2482)
ภาพแสดงอุปกรณ์การสร้างทางหลวงแผ่นดิน 2482