ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ชกคาดเชือก |
เผยแพร่ |
ชกคาดเชือก | วงค์ ตาวัน
เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง-บิ๊กตู่
สูตรเฮฮาเก้าอี้นายกฯ
ก่อนจะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีข้อวิเคราะห์จากบางฝักฝ่ายชี้ว่า เศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่คงไม่ใช่นายกฯ ตัวจริง เพราะเพื่อไทยเตรียมให้อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ ตัวจริงอย่างแน่นอน แต่สุดท้ายเมื่อเศรษฐาได้เป็นนายกฯ จริงๆ ก็ยังมีข้อวิเคราะห์จากบางฝ่ายอีกว่าคงเป็นได้ไม่นาน ไปจนถึงล่าสุดเกิดข้อวิเคราะห์ทำนองว่า เศรษฐาคงเป็นนายกฯ แค่ 2 ปี แล้วให้อุ๊งอิ๊งเป็นต่อ
แต่ดูแล้ว ข้อวิเคราะห์เหล่านี้ ก็คงเป็นแค่วิเคราะห์กันไปเรื่อย เชื่อว่าเพื่อไทยไม่ได้มีสูตรลับ สลับเก้าอี้นายกฯ คนละ 2 ปีอะไรแบบนั้น
อีกทั้งถ้าดูการทำงานแบบไม่มีหยุดพักของนายกฯ เศรษฐา บ่งบอกว่า ยังมีไฟทำงานที่สามารถยืนระยะได้ครบ 4 ปีอย่างแน่นอน
อาจจะกล่าวได้ว่า เพราะเส้นทางของนายกฯ เศรษฐา ไม่เคยลงเล่นการเมืองมาก่อน ไม่ได้มาจากนักการเมืองเต็มตัว จู่ๆ ก็มามีตำแหน่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้วสุดท้ายก็เป็นนายกฯ ตัวจริง ทั้งที่ไม่ได้นามสกุลชินวัตร จึงทำให้เกิดข้อสงสัยมาตลอดว่า จะได้เป็นนายกฯ จริงหรือ!?
ถ้านับจากการเปิดตัวนายเศรษฐา ในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายเศรษฐาได้รับการเปิดตัวในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งเป็นเหมือนย่างก้าวแรก ที่มีบทบาทในพรรคเพื่อไทย เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเมืองและการเลือกตั้ง
ถ้านับจากวันที่ 1 มีนาคมดังกล่าว จนถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ของรัฐสภา 22 สิงหาคม ซึ่งมีมติเห็นชอบด้วยเสียงท่วมท้นให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับนายเศรษฐาใช้เวลา 175 วัน ในการเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำการเมืองไทย
แต่ก็เป็น 175 วัน ที่เกิดข้อวิเคราะห์ทำนองว่า คงไม่ใช่เศรษฐาหรอก น่าจะเป็นอุ๊งอิ๊งมากกว่า เป็นเช่นนั้นโดยตลอด
ตอนเปิดตัวเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ก็ยังสับสนกันว่า ถ้าเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะให้อุ๊งอิ๊งหรือเศรษฐากันแน่
พอสุดท้ายเมื่อเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลจริงๆ ก่อนวันโหวตนายกฯ ซึ่งขณะนั้นเพื่อไทยเปิดชัดเจนแล้วว่า จะเสนอชื่อนายเศรษฐาเข้าชิงนายกฯ ก็ยังมีการออกข่าวสับสนจนถึงนาทีสุดท้าย ว่าอาจจะเป็นอุ๊งอิ๊งมากกว่า
จนกระทั่ง 22 สิงหาคม รัฐสภามีมติให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียงเห็นชอบล้นหลาม 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง
แต่พอโหวตจบ นายเศรษฐาเป็นนายกฯ คนที่ 30 อย่างเต็มตัว ก็อุตส่าห์มีเสียงวิเคราะห์ว่า ได้เป็นนายกฯ ก็จริง แต่คงอยู่ได้ไม่นาน
ตลอด 175 วัน ก่อนถึงวันรัฐสภามีมติให้เป็นนายกฯ ต้องนับว่านายเศรษฐาโดนมรสุมรุมกระหน่ำหลายด้าน จนนำมาสู่ความเชื่อที่ว่า นายเศรษฐาคงไม่สามารถไปถึงเก้าอี้นายกฯ ได้แน่นอน ทั้งการปล่อยข่าวในแวดวงการเมืองว่า ตัวจริงของนายกฯ เพื่อไทยคืออุ๊งอิ๊ง
ต่อมาก็เกิดการแฉจากนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ปล่อยข้อมูลออกมาเป็นชุด โจมตีเรื่องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เศรษฐาเคยเป็นซีอีโอ กล่าวหาเรื่องการเสียภาษีที่ดิน
ชูวิทย์โหมกระหน่ำ และมีการนำมาขยายกันต่อ พร้อมบทสรุปที่ว่า เศรษฐาไม่รอดข้อกล่าวหาจากชูวิทย์แน่ๆ
ขณะที่นายเศรษฐายืนยันว่า ข้อกล่าวหาของนายชูวิทย์ไม่เป็นความจริง พร้อมกับย้อนไปถึงความไม่พอใจในการเจรจาซื้อขายที่ดินกัน
ลงเอยกระบวนการแฉดังกล่าว ก็ค่อยๆ ซาลงไป ส่วนนายเศรษฐาก็เดินหน้าทางการเมือง จนได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ในวันประชุมรัฐสภา 22 สิงหาคม มี ส.ว.กลุ่มหนึ่ง พยายามหยิบข้อมูลของนายชูวิทย์มาตั้งข้อกังขาต่อนายเศรษฐา แต่สุดท้ายเสียงโหวตให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ ก็ท่วมท้นถึง 482 เสียง ในจำนวนนี้เป็นเสียง ส.ว.ถึง 152 เสียง
ส่วนเสียง ส.ว.ที่ต่อต้านนายเศรษฐา ลงเอยโหวตไม่เห็นชอบเพียง 13 เสียง
ถ้าย้อนดูช่วง 175 วันดังกล่าวของนายเศรษฐา จะพบว่า เผชิญเสียงโจมตีสารพัดเรื่อง เจอกับข้อสงสัยว่าคงไม่ได้เป็นนายกฯ หรอกตลอดเวลา
จนกล่าวกันว่า นายเศรษฐาผ่านมาได้ขนาดนี้ ถือได้ว่าผ่านด่านทดสอบอันดุเดือด น่าจะมีภูมิคุ้มกันอันแข็งแกร่ง สามารถอยู่บนเก้าอี้นายกฯ ได้ยาวนาน เพราะผ่านมรสุมมาเยอะแยะ
แต่ก็นั่นแหละนักวิเคราะห์การเมืองที่มากด้วยน้ำเสียงต่อต้านเศรษฐา ซึ่งเดิมทีก็ฟันธงว่า เศรษฐาไม่ใช่แคนดิเดตนายกฯ ที่จะได้เป็นตัวจริง แต่พอได้เป็นนายกฯ ตัวจริง ก็วิเคราะห์ทันทีว่า คงอยู่ได้ไม่นานหรอก
นักวิเคราะห์สายนี้ จะงัดชื่ออุ๊งอิ๊งขึ้นมาเสียดทาน ว่านี่แหละตัวจริง
ไปจนถึงงัดชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าในอนาคตคงจะคัมแบ๊ก เพราะเศรษฐาคงอยู่ได้ไม่นาน อะไรทำนองนั้น!!
ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ หลังเศรษฐาเข้ามาเป็นนายกฯ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็เงียบหายไปจากถนนการเมือง ยุติบทบาททุกอย่าง เริ่มออกท่องเที่ยวต่างประเทศ
แถมรัฐบาลเศรษฐาก็ทำอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะการลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน จนกลายเป็นข้อเปรียบเทียบกับรัฐบาลประยุทธ์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด
*ทำเอาเกิดเสียงวิจารณ์อย่างเฮฮาว่า ที่ชอบอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้บงการเบื้องหลังเศรษฐา คงหมายถึงบงการให้ลดค่าไฟ ให้ลดราคาน้ำมัน ที่ประยุทธ์ไม่เคยทำได้เหล่านี้กระมัง!*
ประเด็นล่าสุดเกี่ยวกับเก้าอี้นายกฯ มาจากการที่พรรคเพื่อไทยมีมติให้อุ๊งอิ๊งขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งนายกฯ เศรษฐากล่าวแสดงความยินดีชื่นชมยกย่อง ทำนองว่าอุ๊งอิ๊งมีความสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้สบายๆ
กลายเป็นข้อวิเคราะห์วิจารณ์ว่า เศรษฐาคงเตรียมยกเก้าอี้นายกฯ ให้อุ๊งอิ๊งเป็นต่อ คงเป็นคนละ 2 ปี
ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงทางการเมืองนั้น จะมาสลับเก้าอี้คนละ 2 ปี คงเป็นเรื่องตลกพิสดารเกินไป
รวมทั้งตัวนายกฯ เศรษฐาเอง ก็ทำงานแบบทุกวันไม่มีวันหยุด นับจากเข้าเป็นนายกฯ เดินสายไปหลายประเทศ เร่งฟื้นเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ทำงานแบบเป็นคนมีไฟเต็มเปี่ยม จะไปคิดว่าขออยู่แค่ 2 ปี คงเป็นไปไม่ได้
ขณะเดียวกัน เป็นที่รู้กันว่า อุ๊งอิ๊ง อยู่ในช่วงของการฝึกฝนเตรียมตัวบนถนนสายการเมืองให้แข็งแกร่งมากกว่านี้ ก่อนจะก้าวไปรับหน้าที่สำคัญกว่านี้
*สำคัญสุด เป็นที่รู้กันว่าคุณหญิงพจมาน ผู้เป็นแม่ มากด้วยความห่วงใยในอนาคตของอุ๊งอิ๊ง เพราะมีบทเรียนเจ็บปวดจากกรณีนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่โดนคดีหนักหน่วง*
เพียงแต่การเมืองในวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก พรรคเพื่อไทยได้รับความไว้วางใจจากเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง จนได้รับเสียงหนุนเป็นแกนนำรัฐบาล เก้าอี้นายกฯ เป็นของเพื่อไทย
จนเชื่อได้ว่า เพื่อไทยจะสามารถทำงานโชว์ฝีมือด้านเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
ไม่ต้องห่วงการร้องเรียนการสอยการยุบพรรคที่โดนมาตลอดอีกแล้ว
ดังนั้น นายกฯ เศรษฐา จึงยังเหมาะสมที่สุดกับการเป็นนายกฯ ในขณะนี้ เพราะต้องอาศัยความสามารถทางธุรกิจ มาเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
อีกประการ ถ้านายกฯ เศรษฐา ทำงานได้อย่างราบรื่น ไม่ต้องสะดุดหกล้มกับกระบวนการองค์กรอิสระต่างๆ ก็จะสร้างความมั่นใจได้ว่า เพื่อไทยพ้นจากความหวาดระแวงของเครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยมการเมืองแล้วจริงๆ
เมื่อมั่นใจได้ขนาดนั้นแล้ว อนาคตทางการเมืองของอุ๊งอิ๊ง จึงจะยกระดับไปสู่การเป็นนายกฯ ได้ในที่สุด
แต่ไม่ใช่วันนี้ ไม่ใช่การเมืองสมัยนี้!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022