สงครามภาคพื้นดิน ปะทุเหนือดินแดนกาซา

ต่างประเทศ

 

สงครามภาคพื้นดิน

ปะทุเหนือดินแดนกาซา

 

หลังการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 22 วัน นับตั้งแต่กองกำลังติดอาวุธฮามาส บุกข้ามแดนเข้ามาเข่นฆ่าชุมชนอิสราเอลที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ตามแนวชายแดนด้านใต้ของประเทศอย่างสยดสยองเมื่อ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็ถึงเวลาปฏิบัติการภาคพื้นดินของกองทัพอิสราเอล (ไอดีเอฟ) เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา

รายงานของเอเอฟพีระบุว่า กองทัพอิสราเอลรุกเข้าสู่ฉนวนกาซาเป็นสองแนว แนวหนึ่งมุ่งตรงสู่เบอิต ฮานูน เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของฉนวนกาซาที่มีประชากรราว 52,000 คน

อีกแนวหนึ่งตัดตรงมุ่งสู่บูรีจ เมืองตอนกลางบนฉนวนกาซา ที่มีประชากรราว 28,000 คน กับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์อีกกว่า 20,000 คน

ปฏิบัติการภาคพื้นดินดังกล่าวมีขึ้นอย่างเงียบๆ เกิดขึ้นในขณะที่การโจมตีเป้าหมายทางอากาศยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่มีการประกาศ แทบไม่ปรากฏรายงานข่าวทั้งที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการด้วยซ้ำไป

ภาพถ่ายชุดแรกของปฏิบัติการครั้งนี้กว่าจะปรากฏในสื่อตะวันตกเป็นครั้งแรกก็ล่วงไปถึง 30 ตุลาคม เป็นภาพการเคลื่อนที่รุกของรถถังและยานยนต์หุ้มเกราะจำนวนหนึ่งซึ่งถ่ายจากระยะไกลจากฝั่งอิสราเอลเข้าไป

บ่ายวันเดียวกัน โฆษกไอดีเอฟ แถลงเป็นครั้งแรกว่า ทหารอิสราเอลสามารถตรวจสอบพบและโจมตีหน่วยต่อต้านรถถังของฮามาสที่บริเวณมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮาร์ ในขณะที่เกิดการปะทะกันในหลายจุดทางตอนเหนือของกาซาซิตี้ เมืองเอกของฉนวนกาซา

ในคืนวันนั้น กองทหารอิสราเอล ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการจากชินเบต กองกำลังรักษาความมั่นคงภายในของอิสราเอล ประสบความสำเร็จย่อยเป็นครั้งแรก โดยสามารถช่วยเหลือ โอรี เมกิดิช ทหารหญิงที่ถูกจับเป็นตัวประกันออกมาได้สำเร็จ

เมกิดิช เป็นทหารหน่วยสังเกตการณ์ภาคสนาม ประจำการอยู่ที่ฐานในเมืองนาฮัลออซ บริเวณแนวชายแดน เพื่อนร่วมหน่วยถ้าหากไม่ถูกสังหารก็ถูกจับไปเป็นตัวประกันในปฏิบัติการเสาร์สยอง 7 ตุลาคม

รายละเอียดของปฏิบัติการช่วยตัวประกันครั้งนี้ยังคงถูกปิดเป็นชั้นความลับอยู่ในเวลานี้

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารตั้งข้อสังเกตว่า ปฏิบัติการภาคพื้นดินครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทหารอิสราเอลบุกเข้าสู่ดินแดนกาซา ตรงกันข้าม แนวทางการเคลื่อนไหวของกองทัพในครั้งนี้คล้ายคลึงอย่างยิ่งกับการบุกภาคพื้นดินของกองทัพอิสราเอลในสงครามกาซาเมื่อปี 2009 เพียงมีความแตกต่างอย่างสำคัญอยู่ 2 ประการ

หนึ่งนั้น ฮามาสปรับปรุงระบบป้องกันภายในกาซาได้ดีขึ้นและแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดิน ที่เชื่อกันว่ายังจะเป็นด่านหินที่สุดสำหรับกองทัพอิสราเอล

ในอีกทางหนึ่งนั้น เป้าหมายในภารกิจครั้งนี้ของอิสราเอลต่างออกไปจากเมื่อปี 2009 อย่างใหญ่หลวง เพราะรัฐบาลกำหนดเป้าหมายในการรุกครั้งนี้ไว้ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ต้องทำลายระบอบการปกครอง รวมทั้งศักยภาพทางทหารของฮามาสลงให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ผู้เชี่ยวชาญทางทหารชาวอเมริกันหลายคน ตั้งข้อสังเกตตรงกันว่า จนถึงขณะนี้ยังคงเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่า ความเคลื่อนไหวทางภาคพื้นดินทั้งหมดในเวลานี้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าวของรัฐบาลอิสราเอลหรือไม่

ในขณะที่อีกบางคนชี้ว่า นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แถลงเมื่อ 30 ตุลาคมนี้เพียงว่า “ฮามาสต้องแตกกระเจิง” ไม่ได้จำเพาะเจาะจงเหมือนก่อนหน้าที่จะมีปฏิบัติการครั้งนี้

 

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตเช่นกันว่า โยฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล และบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไอดีเอฟ ให้ข้อมูลออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า ปฏิบัติการภาคพื้นดินของกองทัพอิสราเอลครั้งนี้ “ไม่มีการจำกัดเวลา” ในการบรรลุเป้าหมาย

เป็นที่เข้าใจได้ว่า “คณะรัฐมนตรีสงคราม” ภายใต้การนำของเนทันยาฮู สามารถประกาศชัดเช่นนั้นได้ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากชาวอิสราเอลที่ยังคงตกอยู่ในสภาพช็อกจากการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการกระทำของฮามาสเมื่อ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

ในเวลาเดียวกัน บรรดาชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและชาติในยุโรปแสดงท่าทีสนับสนุนชัดเจนเช่นเดียวกัน แม้จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ โจ ไบเดน ผู้นำอเมริกันกำหนดเอาไว้ นั่นคือ กองทัพอิสราเอลต้องเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ, ต้องคง “ช่องว่างเพื่อให้ความคุ้มครองเชิงมนุษยธรรมต่อพลเรือนปาเลสไตน์ และต้องไม่ “ยึดครอง” ฉนวนกาซา

คำถามในเวลานี้ก็คือ การสนับสนุนดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะจากชาติตะวันตกจะคงอยู่ยาวนานมากน้อยแค่ไหน ในท่ามกลางภาพที่เผยแพร่ออกมาให้เห็นสภาพทนทุกข์ทรมานของบรรดาพลเรือนปาเลสไตน์ในกาซา

การชุมนุมประท้วง ประณามอิสราเอลของประชาชนในหลายประเทศที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

เงื่อนไขเหล่านี้จะนำไปสู่การจำกัดเวลาในการปฏิบัติการของทหารอิสราเอลหรือไม่ ยังคงต้องรอดูกันต่อไป

 

ในแง่ของการสู้รบ ธรรมชาติของสงครามภาคพื้นดินครั้งนี้ปรากฏให้เห็นชัดในเวลาไม่ช้าไม่นาน กองทัพอิสราเอลได้เปรียบกว่ามากหากเป็นการสู้รบ “ในรูปแบบ” ทั่วไป โดยเฉพาะในเมื่อหลายๆ พื้นที่ถูกถล่มทางอากาศจนหลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง การได้เปรียบในเชิงอาวุธยุทโธปกรณ์ และขีดความสามารถในการตรวจการณ์ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ฮามาสโผล่ขึ้นมาปะทะ โอกาสที่จะสูญเสียมีสูงกว่าอย่างชัดเจน

แต่ในอีกทางหนึ่ง กองกำลังติดอาวุธของฮามาส ยังคงสามารถใช้ปฏิบัติการจรยุทธ์แบบสงครามกองโจร โดยอาศัยเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดิน, ระเบิดแสวงเครื่อง และจรวดต่อต้านรถถัง เป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกครั้งนี้

ที่สำคัญก็คือ ฮามาสเชื่อว่า ตัวประกันจำนวนไม่น้อยกว่า 200 คนที่อยู่ในกำมือของตน คือเครื่องมือสำคัญที่อาจส่งผลถึงกับทำให้อิสราเอลชะลอการบุก หรือกระทั่งระงับยับยั้งปฏิบัติการภาคพื้นดินครั้งนี้ได้ ด้วยการใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมบรรดาญาติพี่น้องในอิสราเอลให้เรียกร้องเนทันยาฮู หาแนวทางทำความตกลงกับฮามาสเพื่อแลกกับตัวประกันเหล่านี้

เท่ากับว่า โอกาสที่ตัวประกันที่ล้ำค่าเหล่านี้จะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ ภายใต้สภาพการณ์อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มีน้อยอย่างยิ่งจนแทบเป็นศูนย์นั่นเอง