ส่องสวนรื่นฯ หลัง ‘เศรษฐา’ ตอกเสาเข็มไม่ยุบ กอ.รมน. ผลัดใบ 3 เสือ กอ.รมน. ‘บิ๊กต่อ’ จัดทัพ กับสิ่งท้าทาย ‘บิ๊กปู’

หลังขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ นายเศรษฐา ทวีสิน ปรากฏภาพชื่นมื่นกับ ผบ.เหล่าทัพ มาตั้งแต่วันแรกที่เป็นนายกฯ ที่นั่งรับประทานอาหารร่วมกัน ยังไม่ปรากฏเค้าลางของความขัดแย้ง

แต่กลับยิ่งดูใกล้ชิดแนบแน่นเมื่อนายเศรษฐาพูดถึงบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด บ่อยครั้ง และเปิดเผยว่าเป็นคนที่คุยบ่อยที่สุด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตอิสราเอล

ทั้งนี้ เพราะโดยส่วนตัวทั้งคู่ก็รู้จักสนิทสนมกันมาก่อน อีกทั้งเป็นเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบในการพูดคุยกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นเสมือนตัวแทน ผบ. 3 เหล่าทัพ

อีกทั้งนายเศรษฐาก็ใช้บริการของกองทัพอากาศ เช่น ใช้เครื่องบินกองทัพอากาศ และขึ้นเครื่องที่กองบิน 6 ดอนเมือง ไปต่างจังหวัดและต่างประเทศหลายครั้ง

แต่ที่จะสะเทือนกองทัพก็มีบ้าง ก็ตอนที่นายเศรษฐาไปปิดหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) และวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นหลักสูตรของ “อภิสิทธิ์ชน” บุคคลพิเศษ แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สังคมตระหนักรู้ในเรื่องคอนเน็กชั่นของ วปอ.มาอยู่แล้ว

ส่งผลให้ พล.อ.ทรงวิทย์สั่งให้สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (สปท.) ปรับปรุงหลักสูตร วปอ. และเน้นเรื่องกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

มาเกิดแรงกระเพื่อมอยู่พักใหญ่ หลังมีการปลุกกระแสให้ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จากพรรคก้าวไกล ที่เป็นหนึ่งในนโยบายปฏิรูปกองทัพ และมีการยื่นร่างกฎหมายยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้าสู่สภา

ยิ่งเมื่อถูกสำทับด้วยนายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) สนับสนุนการยุบ กอ.รมน. เพราะเป็นองค์กรรัฐซ้อนรัฐ ทหารเข้ามาแทรกแซง และมีบทบาทเหนือข้าราชการส่วนอื่น ทหารยังมีอำนาจเหนือพลเรือน เหนือประชาชน รวมทั้งมีรอง ผอ.รมน. ฝ่ายทหาร ที่เปรียบเสมือนรองผู้ว่าราชการจังหวัด ยิ่งทำให้กระเพื่อม

และเสมือนเป็นการโยนหินถามทางหยั่งกระแส ด้วยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน. มีกำหนดจะไปประชุมครั้งแรก เมื่อ 31 ตุลาคม 2566 พอดี

จึงเกิดปฏิกิริยากองทัพที่หวั่นไหว เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเพิ่งจมเรือดำน้ำจีนของ ทร.มา อีกทั้งในอดีต สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เคยยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และยุบ กอ.รมน.ไปแล้ว แต่หลังรัฐประหาร ปี 2549 ในยุคบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ออก พ.ร.บ.ความมั่นคง 2551 รื้อฟื้น กอ.รมน.ขึ้นมาอีกครั้ง และต่อมาในยุค คสช. มีการปรับโครงสร้างใหม่ กอ.รมน. โดยมีกฎหมายรองรับ และมีตำแหน่งหลักปกติของ ทบ.

ยิ่งในยุคนี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีอำนาจเต็ม อีกทั้งอดีตนายกฯ ทักษิณก็เปี่ยมบารมี จึงเกรงกันว่าจะมีการยุบ กอ.รมน. ตัดแขนตัดขา คุมกำเนิดอำนาจทหาร ไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองต่อไปในอนาคต

แต่ก่อนที่จะบานปลาย นายเศรษฐาสยบข่าวด้วยการยืนยันว่า ไม่เคยมีความตั้งใจที่จะยุบ กอ.รมน. ไม่ได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้ ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจและไม่ได้อยู่ในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้แม้แต่น้อย แถมบอกว่า การทำงานของ กอ.รมน.เป็นสิ่งที่ดี ไม่เห็นมีอะไรที่จะต้องยุบ

“ก็ให้เป็นเรื่องของพรรคนั้นๆ ไป ให้เขาเข้าไปเข็นเข้าสู่สภาเองก็แล้วกัน ทางฝ่ายกองทัพ ฝ่ายหน่วยงานรัฐ และการเมืองที่เกี่ยวข้องเราทำงานอย่างเดียวให้ประชาชนตัดสินใจ” นายเศรษฐากล่าวถึงนโยบายพรรคก้าวไกล

จะเห็นได้ว่าในช่วงที่นายเศรษฐาแถลงข่าวยืนยันว่าจะไม่ยุบ กอ.รมน. ผู้บัญชาการเหล่าทัพก็ยืนอมยิ้มอยู่ด้านหลัง รวมทั้งทหารใน กอ.รมน.ก็หายใจโล่งอกกับอนาคต หลังจากที่หวั่นไหวกันมาระยะหนึ่ง

อีกทั้งนายกฯ ชื่นชมว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพทำงานอย่างรวดเร็ว เดือนครึ่งผลงานก็ออกมาแล้ว จึงให้ดูที่ผลงานดีกว่า โดยสามารถทำ “หนองวัวซอ โมเดล” คืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ เพื่อให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์เกือบหมื่นไร่ รวมทั้งจะมีที่ดินของ บก.ทัพไทย ทร. และ ทอ. อีกกว่า 3 พันไร่ที่จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ถึงขั้นที่นายเศรษฐาเรียกว่าเป็นข่าวใหญ่เลยทีเดียว

พร้อมยืนยันว่าไม่เคยหวังจะใช้ กอ.รมน.เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ไม่มีเรื่องการเมือง ไม่มีการไปขอร้องให้โยกย้ายใคร แม้แต่นิดเดียว

แม้ ผบ.เหล่าทัพและทหารจะพอใจที่ปรากฏชัดจากบรรยากาศชื่นมื่น ที่นายเศรษฐาไปเยือนสวนรื่นฤดี กอ.รมน.

แต่ก็ตามมาด้วยการถูกโจมตีว่าเอาใจทหาร และหวังที่จะใช้ประโยชน์ในทางการเมืองเพราะใครเป็นรัฐบาลก็จะได้คุม กอ.รมน. ที่แม้จะไม่ใช่หน่วยคุมกำลัง เป็นหน่วยบูรณาการประสานงาน แต่ก็มีกองทัพบกเป็นกำลังหลัก

ในขณะที่ฝ่ายทหารเองก็ดูเอาใจนายเศรษฐาเช่นกัน เพราะถึงขั้นทำห้องนอนให้ที่อาคารศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ สวนรื่นฤดี เผื่อว่าวันไหนมานั่งทำงานที่นี่ ใน ฐานะ ผอ.รมน. เพราะเห็นว่านายกฯ ก็ทำห้องนอนที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล

สำหรับอาคารศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาตินี้ เคยเป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) เพราะสมัยก่อนที่ยังไม่ได้สร้างกองบัญชาการกองทัพบกถนนราชดำเนิน ที่นี่เป็น บก.ทบ. ที่ ผบ.ทบ.ก็มานั่งทำงานที่นี่

ทั้งนี้ กอ.รมน.ที่มีทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร มีนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน. ผบ.ทบ เป็น รอง ผอ.รมน. และ เสธ.ทบ. เป็นเลขาฯ รมน. และ รมว.กลาโหม อยู่ใน 23 คณะกรรมการอำนวยการ กอ.รมน.

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมักจะปล่อยอำนาจ กอ.รมน.ให้ ผบ.ทบ. แม้แต่ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แค่ส่งลูกน้องมานั่งที่สำนักงาน ในงานประสานงานเท่านั้น กลไกหลักยังเป็น ทบ.

พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์

ในยุคที่บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ เป็น ผบ.ทบ. และรอง ผอ.รมน. ได้ตั้ง พล.อ.นพนันต์ ชั้นประดับ เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 23 มาเป็นหัวหน้าสำนักงาน

ขณะที่มี เสธ.มล พล.อ.วิมล คำอิ่ม อดีตผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหาร (ผบ.ขกท.) แกนนำ ตท.26 มาเป็นหัวหน้าสำนักงาน ผอ.รมน. ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของบิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสธ.ทบ. ที่ควบเลขาธิการ กอ.รมน.

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.เจริญชัยได้ขออนุมัติแต่งตั้งบิ๊กหยอย พล.อ.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ ผช.ผบ.ทบ. ที่เป็นอดีต เสธ.ทบ. และเลขาฯ รมน. มาเป็น ผช.ผอ.รมน. เพราะถือว่ามีประสบการณ์

ประกอบกับ พล.อ.พนา ยังเป็นมือใหม่ในตำแหน่ง เสธ.ทบ. และเลขาฯ รมน. จึงเสมือนมี พล.อ.อุกฤษฏ์ รุ่นพี่ ตท.24 สายบุ๋น เป็นที่ปรึกษาฯ ด้วย

แม้แต่วันที่ พล.อ.เจริญชัยไปพบนายเศรษฐาที่ทำเนียบรัฐบาลก็ยังมีทั้ง พล.อ.พนา และ พล.อ.อุกฤษฏ์ ร่วมคณะไปหารือด้วย

กลายเป็น 3 เสือ สวนรื่นฯ ที่เป็นคีย์แมน

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี,พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล

จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ พล.อ.เจริญชัยลงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นกองทัพภาค 4 ชายแดนภาคใต้หรือไปกองทัพภาค 2 อีสานก็จะมีทั้ง พล.อ.พนา และ พล.อ.อุกฤษฏ์ ไปด้วย รวมทั้งบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ผช.ผบ.ทบ. (ตท.24) ที่ก็เป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ. ด้วยเช่นกัน จึงทำให้เป็นที่จับตามองว่าใครจะเป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป จากเดิมที่ พล.อ.พนา เป็นทหารคอแดงเต็งหนึ่ง แต่ตอนนี้ทั้ง พล.อ.ธราพงษ์ ทหารคอแดง และ พล.อ.กฤษฏ์ ทหารคอเขียว ก็มาแรงเช่นกัน

นอกจากนั้น พล.อ.เจริญชัยยังดึงตัวรอง เสธ.ทบ. มาช่วยงานที่ กอ. รมน. ทั้ง เสธ.ตั้ง พล.ท.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล พล.ท.บรรยง ทองนวล และ เสธ.ย้อย พล.ท.ธงชัย รอดย้อย มาเป็นรองเลขาฯ รมน.

อาจเรียกได้ว่าเป็นนายทหารที่ พล.อ.เจริญชัยเชื่อมือ

แต่เป็นที่น่าจับตามองต่อบทบาทของ พล.อ.พนา ที่แม้จะรับตำแหน่งสำคัญ มีงานรับผิดชอบมากมาย แต่ก็พยายามลดบทบาท ขอที่จะไม่ออกสื่อ

อีกทั้งการมานั่งเก้าอี้เสนาธิการทหารบก ก็เป็นตำแหน่งที่ผิดคาดเพราะกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านั้นในช่วงของการแต่งตั้งโยกย้ายคือ จะเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. ที่เตรียมจ่อขึ้นเป็น ผบ.ทบ. จนทำให้เกิดกระแสข่าวว่า “สัญญาณเปลี่ยน”

เพราะส่วนใหญ่จากแม่ทัพภาคที่ 1 จะขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.มากกว่า เพราะถ้าเรียงอาวุโส จะอาวุโสมากกว่าเสนาธิการทหารบก

แต่ในอดีตก็มี พล.อ.ประยุทธ์ และบิ๊กโด่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ที่ขึ้นจากแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นเสนาธิการทหารบก แล้วที่สุดก็ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก แต่ทว่า ต้องขยับขึ้นเป็นรอง ผบ.ทบ.ก่อน

จึงทำให้มีการจับตามองไปที่ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ทั้งสองคน คือ พล.อ.ธราพงษ์ ทหารคอแดง และบิ๊กหยอย พล.อ.อุกฤษฏ์ ทหารคอเขียว โดยเฉพาะ พล.อ.ธราพงษ์ อาจเป็นม้ามืดชิง ผบ.ทบ.

สุทิน คลังแสง,พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี

นอกจากนี้ หลังจากที่มีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.เจริญชัยเป็นผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) แล้ว ก็มีการแต่งตั้งให้บิ๊กตู่ พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง รอง ผบ.ทบ. ทำหน้าที่เสนาธิการ ฉก.ทม.รอ.904 ต่อเป็นสมัยที่ 3 ตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จนขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.

ทั้งนี้ อาจเป็นการทำงานที่ต่อเนื่องและความครบเครื่องของ พล.อ.สุขสรรค์ อีกทั้ง พล.อ.พนา เป็นเสนาธิการทหารบก มีงานรับผิดชอบล้นมือ ทั้งในกองทัพบกและ กอ.รมน. แต่ก็กลายเป็นที่สังเกตของคนในกองทัพ ว่ามีนัยยะสำคัญใดหรือไม่

อีกไม่นานการแต่งตั้งโยกย้ายทหารชั้นนายพล โผแรกของรัฐบาลเพื่อไทย นายกฯ เศรษฐาและนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม พลเรือน ก็จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2567 ที่อาจจะมีสัญญาณของการขยับเพื่อรองรับการแต่งตั้งโยกย้ายใหญ่ในเดือนกันยายนก็เป็นได้

ในสถานการณ์อำนาจเปลี่ยนมือ และการผสมข้ามขั้วเช่นนี้ โดยเฉพาะเมื่อ นายเศรษฐาคุมความมั่นคงเอง และมีสายตรงกับผู้บัญชาการเหล่าทัพเช่นนี้ จึงต้องจับตาการโยกย้ายทหารให้ดี