สมการแห่งอำนาจใหม่ ของเพื่อไทย-การเมืองไทย | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

การดัน “แพทองธาร ชินวัตร” ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคือการ “ทุ่มสุดตัว” ของตระกูลชินวัตรอย่างเป็นทางการ!

แพทองธารคือ “ดีเอ็นเอ” ของทักษิณที่จะสืบทอดมรดกทางการเมืองของตระกูล “ชินวัตร”

เท่ากับว่า “ศูนย์อำนาจ” ทางการเมืองจะเบี่ยงออกจากทำเนียบรัฐบาล

บางคนถึงกับเชื่อว่ากิจกรรมที่เคยบัญชาการจากชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจก็จะไปรวมศูนย์ที่ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่

คําถามต่อมาก็คือ “เศรษฐา ทวีสิน” จะเป็นนายกฯ ตัวจริงหรือไม่

หรือ “อุ๊งอิ๊ง” จะผงาดขึ้นมาเป็นตัวแทน “ทักษิณ” อย่างเต็มที่ทั้งในพรรคและในรัฐบาล

เพราะนอกจากจะเป็นหัวหน้าพรรค (สลัดตำแหน่ง “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย”) แล้ว ก็ยังเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคเพื่อไทยอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

เพราะเศรษฐาเองก็บอกนักข่าวว่าแพทองธารมีความสามารถที่จะเป็นนายกฯ ได้แบบ “สบายๆ”

พรรคเพื่อไทยก็จะกลายเป็นพรรคที่มี “สามหัว”

หัวใหญ่คือทักษิณ

หัวรองลงมาคือแพทองธาร

และ “หัวทางการ” คือเศรษฐา

ในแวดวงการเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะเกิดคำถามต่อมาว่า

“เศรษฐา” มีอำนาจบริหารประเทศในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” แท้จริงเพียงใด?

และหากคนไทยปักใจเชื่อ (ซึ่งไม่ใช่จะไร้เหตุผลเสียเลยทีเดียว) ว่า “ทักษิณ” กลับมาบัญชาการด้วยตนเอง และมี “แพทองธาร” เป็น “ตัวแทนแห่งอำนาจตัวจริง” คำถามที่หลีกหนีไม่ได้ก็คือ

ลูกพรรคและคณะรัฐมนตรีทั้งที่มาจากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ จะฟังคำสั่งของใคร

 

ไม่ต้องสงสัยว่าหากเหล่าบรรดา ส.ส. และรัฐมนตรีทั้งหลายจะมองข้ามหัว “นายกฯ เศรษฐา” ไปที่ “แพทองธาร” และ “ทักษิณ” ก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์ปกติในอีกไม่ช้าไม่นานจากนี้ไป

หากเศรษฐาพร้อมจะเล่นตามเกมนี้ ก็เท่ากับต้องทำใจกับบทบาท “นายกฯ แต่ในนาม”

ขณะที่อำนาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล

แต่อยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าและที่ทำการพรรคเพื่อไทย

แต่หาก “ทักษิณ” และ “แพทองธาร” ไม่บริหารความสัมพันธ์กับ “เศรษฐา” และพรรคร่วมรัฐบาลให้อยู่ในระดับที่ “เกรงอกเกรงใจ” กันพอสมควร รอยปริก็จะเกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

“นายกฯ เศรษฐา” จึงพลาดพลั้งในการดำเนินนโยบายสำคัญๆ ไม่ได้เลยแม้แต่น้อย

เพราะจะเกิดช่องให้มีเสียงเรียกร้องจากคนในพรรคบางส่วนที่จะอ้าง “ความจริงของการเมือง” ให้เปลี่ยนตัวนายกฯ

เหมือนทุกอย่างรอจังหวะที่ “คนตระกูลชินวัตร” จะมานั่งทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างเป็นทางการ

ทุกอย่างที่ผ่านมาจะกลายเป็นเพียง “ข้อตกลงชั่วคราว” ในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” เท่านั้น

เศรษฐานอกจากจะต้องประคองตัวเองให้ไม่มีข้อผิดพลาดใดที่จะเป็นข้ออ้างว่าต้อง “เปลี่ยนตัวนายกฯ” แล้ว ยังจะต้องบริหารความสัมพันธ์ของตัวเองกับ ส.ส.กลุ่มต่างๆ เพื่อไม่ให้มีกรณีความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่การที่บางคนไป “ฟ้องนาย” ว่านายกฯ คนนี้ไม่ “ดูแล” ส.ส.ในพื้นที่อีกต่างหาก

แต่ทักษิณก็ต้องยอมรับว่านี่คือ “ไพ่ใบสุดท้าย” ของตระกูลชินวัตรในอันที่จะกลับมายึดคืนอำนาจทางการเมือง

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าคือเดิมพันสูงสุดที่จะตัดสินความอยู่รอดระหว่าง “การเมืองครอบครัว” กับ “การเมืองมวลชน”

สำหรับ “อุ๊งอิ๊ง” แล้วบทบาทใหม่เป็นภาระหนักอึ้งกว่าที่จะคาดคิด

เพราะไหนจะต้องทำหน้าที่หัวหน้าพรรคที่จะต้องสร้างทั้งภาพและเนื้อหาของความเป็น “พรรคคนรุ่นใหม่” ที่มีเป้าหมายจะต้องแข่งกับพรรคก้าวไกลในทุกสมรภูมิเลือกตั้ง

หรือให้กลับมาครองใจของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

หลังจาก “ถอดบทเรียน” จากความผิดพลาดของการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะภายในพรรคยังมีกลุ่มนักการเมืองรุ่นเก่าที่เข้ามาร่วมพรรคด้วยข้อตกลงและผลประโยชน์ที่จัดวางเอาไว้ตั้งแต่ยุคทักษิณ

แพทองธารจะบริหารให้มีความกลมกลืนระหว่างนักการเมืองรุ่นเก่ากับ “เลือดใหม่” ที่ชักชวนเข้ามาเพื่อแก้จุดอ่อนของพรรคที่ถูกพรรคก้าวไกลแย่งชิงพื้นที่ในสนามเลือกตั้งอย่างมากในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาอย่างไร

การวางตัวและบทบาทของคนวงในที่ร่วมก่อตั้งพรรคมากับทักษิณจึงเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่ง

เพราะ “วงในของทักษิณ” ไม่ว่าจะเป็น “อ้วน” ภูมิธรรม, “หมอมิ้ง” พรหมินทร์, หรือ “หมอเลี้ยบ” สุรพงษ์…ต่างก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดปรากฏการณ์ “สลายขั้ว” ทิ้งพรรคก้าวไกลมาตั้งรัฐบาลผสมกับกลุ่มการเมืองเก่า รวมถึงพรรคของ “สองลุง”

“ทักษิณ” เคยพูดหลังแพ้การเลือกตั้งในรอบล่าสุดว่าพรรคเพื่อไทยจะต้อง rebrand ให้ทันพรรคก้าวไกลที่ใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียในการสร้างฐานเสียงที่สามารถเอาชนะเพื่อไทยในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ

สำหรับ “แพทองธาร” แล้ว ประเด็นไม่ได้อยู่เฉพาะการ rebrand พรรคเท่านั้น

หากแต่ยังจะต้องคิดหนักว่าพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนแนวความคิดทางเมืองแบบไหน

 

เพื่อไทยเคยเรียกตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย” ที่ยืนหยัดต่อต้านเผด็จการทหารและอำนาจเก่า

แต่หลังกรณีการตั้งรัฐบาลสลายขั้ว และได้ประโยชน์จากการ “ดีลข้ามขั้ว” จนทำให้สมาชิกวุฒิสภาสาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกมือให้เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ จุดยืนการเมืองเช่นนั้นก็หมดสภาพไปโดยปริยาย

อาการพลิกผันของจุดยืนทางการเมืองเช่นนี้ทำให้ “คนเสื้อแดง” จำนวนหนึ่งผิดหวัง

แม้ว่ายังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังถือว่าการปรับเปลี่ยนท่าทีของเพื่อไทยเป็นการ “ยอมรับความจริง” เพื่อการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง “ที่เป็นไปได้” ในสภาวะที่เปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

แพทองธารไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับความคิดทางการเมืองที่มีความชัดเจนในเรื่องความคิดความอ่านทางการเมืองระหว่าง “เสรีนิยม” กับ “อนุรักษนิยม” หรือ “สังคมนิยม” หรือ “รัฐสวัสดิการ”

แต่เติบโตมาในบรรยากาศการเมืองที่ทักษิณใช้เทคนิคการเมืองทุกรูปแบบเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งและเพื่อสร้างเครือข่ายการเมืองและธุรกิจเพื่อผลักดันให้สามารถได้ใจระดับรากหญ้าเพื่อให้ได้ที่นั่งมากที่สุด

หากภาพลักษณ์ “ประชาธิปไตย” ตอบโจทย์นั้นก็เรียกตนว่าเป็นฝ่ายเสรีนิยมต่อต้านอนุรักษนิยม

แต่หากในจังหวะใดที่ระบบทุนนิยมหนุนเกื้อให้ได้ประโยชน์ทางธุรกิจที่มีอิทธิพลเหนือการเมืองได้ ทักษิณก็ไม่ลังเลที่จะกระโจนเข้าหากลุ่มคนที่จะสร้างประโยชน์ให้ได้เช่นกัน

ดังนั้น “คนตุลาฯ” ก็ได้รับเชิญมาร่วมวางนโยบายที่โดนใจคนชนบท

ขณะเดียวกัน “นักการเมืองบ้านใหญ่” และ “นักเลือกตั้ง” ที่สามารถชนะเลือกตั้งเขตได้ก็มีสัดส่วนเข้ามาร่วมในพรรคได้อย่างมีนัยสำคัญ

จึงไม่ต้องแปลกใจหากทักษิณจะหันกลับมาจับมือกับ “2 ป.” ทั้งๆ ในช่วงหาเสียงนั้น คำขวัญหลักข้อหนึ่งของพรรคเพื่อไทยคือการกระหน่ำโจมตี “พวกสืบทอดอำนาจเผด็จการ” และระบุจะไม่เอา “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” เป็นอันขาด

เพราะ “2 ลุง” นี้สามารถจะทำให้พรรคเพื่อไทยที่แพ้พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลเก่าได้

เป็นส่วนหนึ่งของ “ดีลลับ” เพื่อปูทางให้ทักษิณสามารถกลับบ้านได้พร้อมกับการที่เศรษฐาก้าวขึ้นเป็นนายกฯ เป็นเกราะกำบังที่สำคัญเพื่อให้ทักษิณ “ไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว” สำเร็จตามเป้าประสงค์ตั้งแต่ต้น

 

คําว่า “อุดมการณ์ทางการเมือง” จึงไม่ได้อยู่ใน “ดีเอ็นเอ” ที่ถ่ายทอดมาถึงแพทองธารแต่อย่างใด

คำปราศรัยรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยของแพทองธารจึงเน้นเรื่องการที่พรรคภายใต้การนำของเธอจะกลับมายิ่งใหญ่และ “ทวงแชมป์” ทางการเมือง

โดยไม่มีการเอ่ยถึงชุดความคิดใหม่ที่สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องให้มีการ “เปลี่ยนแปลง” ที่ดังกระหึ่มจากผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแต่อย่างใด