ข้ามคาบสมุทรหลายพันปีมาแล้ว เขาสามแก้ว ชุมพร

เขาสามแก้ว (บ้านสามแก้ว ม.1 ต.นาชะอัง อ.เมือง จ.ชุมพร) แหล่งโบราณคดีราว 2,500 ปีมาแล้ว สืบเนื่องถึงสมัยหลังซึ่งอยู่บนเนินเขาสามแก้ว ซึ่งเป็นกลุ่มภูเขาเล็กๆ 3-4 ลูกสลับกับที่ราบริมคลองท่าตะเภา

โบราณวัตถุสำคัญที่พบ ได้แก่ กลองทอง (มโหระทึก) สำริด, ลูกปัด, กำไล, ตุ้มหู, จี้ห้อยคอสำริด, แก้วและลูกปัดชนิดต่างๆ อีกจำนวนมาก

น่าจะเป็นเมืองท่า ถึงแม้จะอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน แต่ก็มีเส้นทางน้ำที่ใช้ออกสู่ทะเลได้ โดยใช้แนวลำน้ำท่าตะเภาออกสู่ทะเลอ่าวไทยที่ปากน้ำชุมพร

ลักษณะของเนินที่พบโบราณวัตถุจำนวนมากนั้นอยู่ใกล้กับที่ลุ่ม ปัจจุบันชาวบ้านเรียกอู่ตะเภา

มีเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่สำคัญ 2 สาย คือ (1.) จาก อ.หลังสวน ไปตามแม่น้ำหลังสวนต่อไปยัง อ.พะโต๊ะ และข้ามเทือกเขาไปยัง จ.ระนอง (2.) จาก อ.เมือง ไปยังกระบุรี ปากจั่น จ.ระนอง

มีการสำรวจเส้นทางจากกระบุรี (ระนอง) ถึงเขาสามแก้ว (ชุมพร) ของนายเยี่ยมยง ส.สุรกิจบรรหาร ระหว่าง พ.ศ.2515-2521 พบว่าเป็นเส้นทางน้ำตลอดสาย มีแหล่งโบราณคดีตลอดทาง

เริ่มจากฝั่งทะเลอันดามันทางตอนล่างของแม่น้ำกระบุรี ผ่านแหล่งโบราณคดีเขาพระขยางค์ บ้านลำเลียง อ.กระบุรี จ.ระนอง ถึงปากจั่น ทวนน้ำตามคลองจั่นเข้าสู่คลองเหล็ก ผ่านเขาหินซอง คลองหิน ถึงสันปันน้ำ จปร. จึงเดินบกข้ามช่องเขาเข้าเขต จ.ชุมพร แล้วล่องตามคลองชุมพร ผ่านท่าไม้ลาย ท่าไม้รวก แหล่งโบราณคดีถ้ำสนุกสุขารมย์ บ้านเสียบญวน บ้านนาเหนือ บ้านยางด้วน บ้านวัดประเดิม แล้วเดินบกมาที่ท่าตะเภา ลงคลองท่าตะเภา ผ่านแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว แล้วลงทะเลอ่าวไทยที่ปากน้ำชุมพร

ชาวบ้านขุดหาของมีค่าที่เขาสามแก้ว อ.เมือง จ.ชุมพร บนพื้นที่ซึ่งนักโบราณคดีเคยขุดพบโบราณวัตถุอายุ 2,500 ปีมาแล้ว (พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร ถ่ายภาพ วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2566)

แผนที่แสดงเมืองท่าสำคัญบนเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทย ระหว่างฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย [เมืองโบราณ ฉบับมกราคม-มีนาคม 2563 หน้า 29]
“แลนด์บริดจ์” เป็นโครงการของรัฐบาลก่อสร้างเส้นทางขนส่งขนาดใหญ่เชื่อมอ่าวไทยกับอันดามัน บริเวณคอคอดกระ (ชุมพร-ระนอง) ที่เคยมีดำริขุดคลองเชื่อมตั้งแต่ครั้งพระนารายณ์สมัยอยุธยา และเคยเป็นเส้นทางขนถ่ายเคลื่อนย้ายทรัพยากรเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว หรือตั้งแต่ราว พ.ศ.1

โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เชื่อมระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน มีเป้าหมายเป็นประตูการค้านำเข้า-ส่งออกของไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองรับสินค้าจากจีน, ลาว, อินเดีย ไปยังยุโรป หรือสินค้าจากยุโรปมายังอาเซียน

แลนด์บริดจ์ช่วยย่นระยะทาง และลดระยะเวลาในการขนส่ง เป็นเส้นทางเดินเรือใหม่เชื่อมฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ใช้รถไฟและมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่ง

โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้เพิ่มจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) จาก 2% เป็น 10% สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 5 แสนล้านบาท เกิดการสร้างงาน เพิ่มอาชีพใหม่ๆ และพัฒนาคุณภาพชีวิต

จุดก่อสร้างท่าเรือที่ศึกษาแล้วพบว่าเหมาะสม ในฝั่งทะเลอ่าวไทย อยู่ที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร และฝั่งทะเลอันดามัน อยู่ที่แหลมอ่าวอ่าง อ.เมือง จ.ระนอง

(จากบทความเรื่อง “แลนด์บริดจ์เพื่อใคร?” ของ ทวีศักดิ์ บุตรตัน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 ตุลาคม 2566) •

เขาสามแก้วตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.นาชะอัง เป็นกลุ่มเนินเขา 4 ลูกที่มีลักษณะเป็นเขาหินกรวดผสมดิน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 20-30 เมตร เนินเขาแต่ละเนินจะมีพื้นที่ราบด้านบน ส่วนเชิงเขาโดยรอบเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ด้วยทางทิศตะวันตกมีคลองท่าตะเภา ซึ่งมีต้นน้ำจากเทือกเขาตะนาวศรีเป็นลำน้ำสายสำคัญพาดผ่าน แล้วไหลไปลงทะเลอ่าวไทยที่บ้านปากน้ำ กลายเป็นแม่น้ำชุมพร ขณะเดียวกันก็มีลำน้ำแยกออกจากคลองท่าตะเภาทางตอนใต้ คือคลองพนังตัก เป็นลำน้ำสำคัญอีกสายหนึ่งที่สามารถออกสู่ทะเลอ่าวไทยได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณคอคอดกระ อันเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรระหว่างฝั่งอันดามันทางด้านตะวันตกกับอ่าวไทยทางด้านตะวันออก จึงทำให้ชุมชนเขาสามแก้วอยู่บนเส้นทางการค้าทางทะเลและทางบกที่พ่อค้าจากโลกตะวันตกกับตะวันออกมาพบกัน ปรากฏโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ลูกปัด เหรียญตรา เครื่องถ้วย เครื่องกระเบื้อง ภาชนะสำริด เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็ก ซึ่งมีรูปแบบและวัสดุที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ชุมชนเขาสามแก้วจึงเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของชุมพรและคาบสมุทรไทย-มลายู
[เมืองโบราณ ฉบับมกราคม-มีนาคม 2563 หน้า 2]
| สุจิตต์ วงษ์เทศ