เมื่อวุฒิสภา ไม่อนุมัติดำเนินคดี ส.ว. | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

อย่างที่ได้เคยเล่าซ้ำซากมาในที่นี้หลายวาระแล้วว่า

ปีนี้ผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมาครบครึ่งศตวรรษพอดิบพอดี

ปีนั้นเป็นปีพุทธศักราช2516

มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญเกิดขึ้นตอนเดือนตุลาคม

ถัดมาอีกไม่นานก็มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งที่สุดแล้วได้มีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช2517

ซึ่งมีอายุแสนสั้นเพราะได้ใช้กันอยู่เพียงแค่สองปีก็ถูกคณะรัฐประหารฉีกทิ้งในปีพุทธศักราช2519

การมีชีวิตเป็นนิสิตที่เรียนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นความมหัศจรรย์และเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งของชีวิตผมให้สนใจเรื่องกฎหมายและการเมืองเรื่อยเปื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ลองนึกดูนะครับว่าเด็กในวัย 18 ปี ตั้งแต่เกิดมาอยู่กับรัฐบาลที่มีจอมพลเป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันสามคน แล้ววันดีคืนดีบ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างกระทันหัน มีนักกฎหมายผู้เลื่องชื่ออย่างอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์มาเป็นนายกรัฐมนตรี จะไม่ให้ผมตื่นเต้นได้อย่างไร

พิเศษยิ่งกว่านั้น คือวิชาหนึ่งที่เป็นวิชาบังคับของนิสิตคณะนิติศาสตร์ชั้นปีของผมคือวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้ที่เป็นครูของผมในวิชานี้ คือศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมทั้งในรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจรและรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์

นอกจากวิชากฏหมายรัฐธรรมนูญแล้วอาจารย์ยังสอนวิชากฏหมายเลือกตั้งผมคู่ขนานกันไปด้วย

ทั้งสองวิชาเป็นวิชาที่ภาษาสมัยนี้ต้องเรียกว่าเป็น Year course คือเรียนกันตลอดทั้งปีทั้งเทอมต้นและเทอมปลาย

นึกดูก็แล้วกันครับว่าตอนเทอมต้นซึ่งเปิดเรียนในเดือนมิถุนายน อาจารย์เป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลของจอมพลถนอม อยู่ไปอยู่มาพอเปิดเรียนเทอมปลาย ในเดือนพฤศจิกายน อาจารย์กลายเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลของอาจารย์สัญญาไปเสียแล้ว

ชีวิตเด็กนักเรียนคนหนึ่งเกิดมาไม่เคยเรียนหนังสือกับรัฐมนตรีหรอกครับ แล้ววันหนึ่งก็ได้พบกับรัฐมนตรีแบบ “ ตัวเป็นๆ” ในห้องเรียนสัปดาห์ละสองครั้ง จบชั่วโมงบรรยายแล้ว ถ้าเราอยากจะถามอะไรก็เดินเข้าไปคุยกับอาจารย์ได้โดยตรง คำตอบของอาจารย์เป็นคำตอบที่ทำให้มุมมองของผมกว้างไกลไปกว่าความคิดที่มีมาแต่เดิมจากบ้านหรือโรงเรียนเก่าเป็นอันมาก

ด้วยเหตุนี้ผมจึงสนใจวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นพิเศษ มีหนังสืออะไรที่เกี่ยวข้องก็กวาดต้อนเอามาอ่านให้หมด ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเขามีการประชุมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้ามีเวลาว่างผมก็ภาคเรียนนั่งรถเมล์ไปนั่งฟังการประชุมที่สภา

เป็นบ้าถึงขนาดนั้นเลยทีเดียวเจียว

พูดแล้วจะหาว่าคุย แต่ก็ขอคุยหน่อยเถอะนะครับ แหะแหะ

รวมคะแนนตลอดทั้งปีแล้ว ผมได้คะแนนในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ 93% เป็นที่หนึ่งของชั้นเรียนเลยล่ะ และเป็นอานิสงส์ให้ได้มีความรู้ติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้

ก่อนหน้าที่จะมาเขียนบทความเรื่องนี้ ผมเพิ่งได้รับทราบข่าวที่วุฒิสภามีมติไม่อนุมัติให้ดำเนินคดีกับสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับคดียาเสพติดและการฟอกเงิน

เรื่องนี้คงมีคนสงสัยว่าการดำเนินคดีกับสมาชิกวุฒิสภาทำไมจึงต้องไปขออนุญาตวุฒิสภาเสียก่อนเล่า ไหนว่าคนเราเสมอภาคกันในกฎหมายไงล่ะ

ความรู้ที่จำได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีบอกให้ผมทราบว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อนานนักหนามาแล้ว รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารของอังกฤษในเวลานั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสมาชิกสภาสามัญ เพราะรัฐบาลจะทำอะไร สมาชิกสภาสามัญก็คอยกีดขวางอยู่เสมอ ถ้าได้จังหวะทีเผลอเมื่อไหร่ รัฐบาลจึงพยายามยัดข้อหาสมาชิกสภาสามัญด้วยเรื่องต่างๆ แล้วถือเป็นเหตุจับกุมคุมขัง เพื่อไม่ให้สมาชิกสภาสามัญทั้งหลายเหล่านั้นสามารถไปทำหน้าที่ส่งเสียงแสดงความคิดเห็นที่รัฐบาลไม่พอใจในสภาได้

จากสาเหตุอย่างนี้จึงวิวัฒนาการมาเป็นระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรในประเทศอังกฤษว่า ในระหว่างที่มีการประชุมสภาที่เรียกว่าสมัยประชุม รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารจะไปจับตัวสมาชิกสภาสามัญ หรือสมาชิกสภาขุนนางมาดำเนินคดีไม่ได้ ถ้าจะทำดังนั้นต้องขออนุญาตสภาเสียก่อน และสภาก็จะไต่สวนทวนความแล้วมีมติไม่อนุญาตเสียเป็นส่วนใหญ่

เหตุและผลอย่างนี้เขาใช้ในประเทศอังกฤษมาก่อน แล้วบ้านเราเมื่อมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรก็ได้ไปลอกเขามาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของเราอีกทีหนึ่ง

แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้เขียนหลักการเรื่องนี้ไว้และเป็นสาเหตุให้เกิดข่าวดังกล่าวข้างต้นขึ้น รายละเอียดของข่าวบอกว่าสมาชิกวุฒิสภาที่อยู่ในที่ประชุมไม่อนุมัติให้มีการจับกุมเพื่อนสมาชิกรายนี้ด้วยคะแนนเสียงที่เห็นไปในทางเดียวกันเกือบทั้งสภา มีสมาชิกวุฒิสภาที่เห็นสมควรอนุญาตให้มีการจับกุมดำเนินคดีต่อไปได้เพียงแค่เจ็ดคน

ผมไม่ทราบว่าการให้เหตุผลที่ไม่อนุมัตินั้นอยู่บนพื้นฐานของคำอธิบายว่าอะไร

ผมจะเดาทิศทางคำตอบว่า เพื่อเป็นการให้เกียรติกับสมาชิกวุฒิสภา อีกทั้งอีกไม่นานก็จะปิดสมัยประชุมแล้ว รออีกหน่อยจะเป็นไรไป

คำตอบที่ผมเดานี้ก็ไม่น่าจะผิด

สังเกตเห็นได้นะครับว่าคำตอบแบบนี้ไม่ได้มีจุดเกี่ยวข้องหรือยึดโยงกันกับเหตุผลที่มาของบทบัญญัติให้รัฐธรรมนูญเรื่องนี้เลย

ถ้ามีหลักฐานหรือวี่แววว่าการที่จะดำเนินคดีคราวนี้เป็นไปเพื่อกีดขวางไม่ให้สมาชิกวุฒิสภาท่านดังกล่าวได้ทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนโดยการทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาอย่างเต็มไม้เต็มมือ ก็ว่ากันไปอย่างหนึ่ง

ถ้ามีเหตุผลและร่องรอยหลักฐานอย่างที่ว่านั้นจริง ทำไมใครเลยจะไม่ยอมรับฟังและเห็นอกเห็นใจ มิหนำซ้ำจะช่วยกันต่อว่าต่อขานรัฐบาลหรือด่าตำรวจเสียด้วยซ้ำ

แต่ตรงกันข้าม ว่าถ้าเหตุผลเป็นอย่างที่ผมคาดเดาแล้ว นอกจากจะไม่เป็นการรักษาเกียรติของสมาชิกวุฒิสภาเฉพาะรายและเกียรติของวุฒิสภาโดยรวมแล้ว ซ้ำร้ายยังจะเป็นการลดทอน “เกียรติ” และเพิ่ม “เกลียด” ขึ้นเสียด้วยซ้ำ

กรณีศึกษาเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่ทำให้เราได้คิดว่า หลักการบางอย่างที่เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญ มีที่มาที่ไปหรือภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่อธิบายได้ด้วยเหตุผลอันชอบธรรม การเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือฉบับไหนก็แล้วแต่ ประชาชนอย่างผมไม่ได้มีข้อขัดข้องแต่อย่างใด

ข้อสำคัญคือ เขียนไว้แล้วนำไปใช้งานอย่างไรต่างหาก

ถ้าการนำไปใช้งานตรงตามเจตนารมณ์ เป็นไปด้วยเหตุผลที่สามารถอธิบายได้และสอดคล้องกับสามัญสำนึก เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนรวม เสียงที่ติดตามมาก็มีแต่เสียงไชโยโห่ฮิ้วและคอยเชียร์เท่านั้น

แต่ตรงกันข้าม ถ้าการนำไปใช้งาน ไม่เคยคิดถึงเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ แต่เป็นไปตามอำเภอใจ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม เป็นไปเพื่อพวกพ้องที่ถือคติว่าเลือดสุพรรณ มาด้วยกันไปด้วยกัน เสียงที่ติดตามมา ก็จะมีแต่เสียงฮาป่าเท่านั้น

คำว่า “ฮาป่า” ที่ผมหยิบมาใช้คราวนี้ เด็กรุ่นใหม่เห็นจะไม่รู้จักกันแล้ว

เปิดพจนานุกรมเสียหน่อยจะเป็นไร

พจนานุกรมท่านบอกว่าคำนี้ หมายความว่า ส่งเสียงดังลั่นหรือโห่พร้อมๆกัน ด้วยความไม่พอใจเพื่อขับไล่หรือประท้วง

ถ้าผมจำไม่ผิด ผมเคยถามอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่สอนหนังสือผมในคณะนิติศาสตร์เมื่อครั้งที่ผมเป็นนิสิตว่า ทำไมการใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆในบ้านเราจึงมีปัญหามากนัก

ท่านกรุณาอธิบายว่า ในบางประเทศเช่นประเทศอังกฤษ เมื่อมีกฎหมายใหม่ออกมาฉบับหนึ่ง ผู้คนก็จะรีบค้นคว้าหามาอ่าน เพื่อเป็นความรู้และจะได้ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ผิดพลาดบกพร่อง

ส่วนในบ้านเราเมื่อมีกฎหมายออกมาใหม่ ผู้คนรีบค้นคว้าหามาอ่านเหมือนกัน แต่ไม่ใช่อ่านเพื่อเตรียมตัวที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย หากแต่เปิดอ่านเพื่อศึกษาดูว่ากฎหมายมีช่องว่างตรงไหนที่ตัวเองจะหลีกเลี่ยงได้บ้าง

คำตอบนี้ลึกซึ้งนัก ผมฟังแล้วก็ซึมไป ซึมมาจนถึงทุกวันนี้เลยล่ะ

สมาชิกวุฒิสภาว่าอย่างไรบ้างครับ