ย้อนแย้ง “แตก” ความหมาย-แมวเขมรสีอะไร?

อภิญญา ตะวันออก

ที่กัมพูชา ฉันเคยเลี้ยงแมว 2 ตัว เป็นแมวดำตัวหนึ่งนั้น ฉันได้มาจากที่ทำการกระทรวงมหาผไต (มหาดไทย) ตอนที่จู่ๆ ไปสังเกตการณ์ใครคนหนึ่งที่นั่น และตอนนี้ มันก็นำทางให้ฉันรำลึกไปถึงเรื่องอื่น

ซึ่งเป็นการเมืองสินะ!

นัยที บางคราผู้คนในโซเชียลก็พากันล้อเลียนว่า มีคนเขมรบางจำนวนในโลกเสมือนจริงที่นิยมเรื่อง “เคลม” รวมทั้ง “สุวรรณภูมิ” ที่ว่า มีแหล่งที่มาจากประเทศของตน

ก็เมื่อไทยเอาชื่อนี้ไปตั้งเป็นสนามบินเสียแล้ว เท่ากับปักหมุดหมายเป็นเจ้าของ

กัมพูชาที่กำลังจะมีสนามบินแห่งใหม่ อยากได้ชื่อนี้บ้าง แต่ช้าไปแล้ว ท่านเตโช!

แล้วเรื่องราวพวกนี้ก็กลายเป็น “วิวาทกรรม” ในโลกโซเชียล ทำเอาไทย-เขมรในโลกเสมือนจริงตั้งก๊วนทะเลาะกันไปมา บ้างเอาทางฮา บ้างไปทางเหยียดแนวบูลลี่ ลั่นขำก็มีว่าเป็น “เคลมโบเดีย” ซึ่งบางเรื่องที่เถียงนั้นก็นอกประเด็น

แต่นั่นแหละ มันทำให้ฉันนึกขึ้นมาได้ว่า พวกเขามีเพลง “สุวรรณภูมิ” จริงๆ ชื่อเพลง (ทำนองเจิง) ฉันจำไม่ได้ แต่ในบทมีวลีที่ร้องว่า “สุวรรณภูมิ” และมีจังหวะเหมือนเพลงปลุกใจ

ตอนเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ฉันพาลนึกพลันได้ว่า มีครูอาสาคนหนึ่งที่มาสอนหนังสือให้เจ้าหน้าที่ที่กระทรวง เขานั่นเอง ที่ฉันเห็นเป็นแกนนำประท้วงการชุมนุมอยู่ 2-3 ครั้ง และฉันรู้สึกประทับใจ ทั้งบทเพลงเพื่อมวลชนและผู้คนหนุ่มสาว

เรื่องมันก็เก่ากรุนมนานแล้ว แต่ที่นำมาเล่าซ้ำ คือเมื่อไปถึงที่นั่น พบทั้งหัวหน้านักประท้วงกับลูกแมวดำจรตัวหนึ่ง ฉันนำมันกลับมาด้วย

ไม่นาน ขณะสุดจะเอ็นดูน้องเขมาก็มาตาย เฮ้อ ฉันสุดสะเทือนอารมณ์ ทิ้งศพน้องจนแข็งทื่อ กว่าจะนำร่างน้องเขาไปฝังในสวนพญานาคใกล้วิมานเอกราช ก็แถวที่ประชาชนชอบเดินผ่านเวลาชุมนุมนั่นแหละ

ในระยะแรกๆ ฉันมักไปฉมาตามที่ทำเครื่องหมายใกล้ต้นไม้ต้นหนึ่ง แต่แล้วแมวตัวที่ 2 ก็มาทดแทนเธอได้ ฉันตั้งชื่อว่า “มิโลฉมาตีปี” (แมวมิโลตัวที่ 2) ต่อจากมิโลฉมาตีมวยที่ตายไป ชื่อนี้ฉันได้จากตัวละครหมาใน “การผจญภัยของตินติน” เจ้า “milou” หรือสโนวี่ในเวอร์ชั่นอังกฤษ แต่มิโลของฉันคือแมวดำมะเมื่อม ช่างย้อนแย้งกันพิลึก!

แต่ใช่ว่าฉันคนเดียวเมื่อไหร่ที่คลั่ง แต็งแต็ง! ตินติน! ตามแต่ที่คุณจะเรียกมัน ศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศสแห่งกัมพูชาหรือเจ้ากรมอลิยงฟร็องเซส์ที่นั่น ได้ทำตินตินฉบับแปลภาษาเขมรชื่อตอน “บัวสีน้ำเงิน” ภาพปกมังกรยักษ์สีแดงแผลงอิทธิฤทธิ์ มีตินตินกลับมิโลซ่อนตัวอยู่ในโอ่งสีขาว เตะตาข้าพเจ้าซึ่งแม้จะอัตคัดอย่างมากตอนนั้น แต่ก็ควักตังค์ซื้อสะสม

วันหนึ่งมิโลฉมาตีปีที่ซุกซนก็ล้มป่วย มันเป็นตอนที่พายุตีเข้ามาทางเวียดนาม ผ่านพนมเปญจนรู้สึกสัปดาห์ถึงความเย็นยะเยือก ขณะที่ร้อนรนกลัวมิโลนอนสิ้นใจอยู่ในเป้ที่ฉันใส่จักรยานตระเวนถีบไปทั่ว ให้ตายสิ ตอนนั้น พนมเปญแทบไม่มีนักสัตวแพทย์เลย จนไปถึงใกล้สถานีรถไฟและรออีกหลายชั่วโมง ในที่สุดมิโล 2 ก็รอดตาย

หลังจากนั้น เราก็ตกหลุมรักกัน ต่างจากตอนที่ฉันจะเกลียดกลัวแมวสีนี้ เพราะเอ็ดการ์ อัลลันโป จากเรื่องสั้นน่าสยอง “the Black Cat” นั่น

ให้ตายเถอะ เพิ่งนึกได้ว่าช่วงที่อยู่ที่นั่น ฉันเห็นแต่แมวเขมาแมวเขมรสีดำ!

ก็นี่ล่ะ ฉันจึงแทงไม่ทะลุทั้งพล พต, สีหนุ, ฮุน เซน, สีหมุนี และฮุน มาแนต เป็นแมวสีอะไร?

หมายเหตุอย่าเพิ่งขุ่นใจ ฉันเรียกเขาเหล่านั้นเยี่ยง also known as ในฐานะนักการเมือง/aka จึงขอยกเว้นคำนำหน้า

พล พต หรือสล็อต ซอ นั้น ไม่ต้องสงสัย เขาเป็นแมวดำตำรับแขมร์ กล่าวคือ น่าประหวั่นพรั่นพรึงเช่นเรื่องสั้นของอัลลันโป จะมีก็แต่ประธานเหมาและคณะที่ปักกิ่งซึ่งชมชอบในกิริยาเยือกเย็นและอ่อนน้อมของเขามาก

พล พต นั้นได้ชื่อว่า เป็นแมวผู้ซื่อสัตย์แห่งสำนักปักกิ่ง เขาพลีตนบูชาและทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์ประชาชนจีนเวลานั้นซึ่งมันก็ผ่านมาครึ่งศตวรรษแล้วนะ

การพลีกรรมของแมวดำพล พต ดูจะกลายเป็นมาตรฐานที่สูงมากสำหรับกัมพูชาในการสถาปนากับปักกิ่งในผู้นำคนต่อมา เมื่อพระองค์เป็นถึงหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ ทว่า สมเด็จนโรดม สีหนุ กลับกลายเป็น “ฉมาตัวที่ 2” ที่เป็นเหมือนตัวประกันอันพึ่งพาทางการเมืองไปโดยปริยาย

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งปักกิ่งนั้น ได้ให้เกียรติพระองค์เสมือนว่ายังเป็นพระราชาอยู่เสมอ ถึงกับสร้างปราสาทฤดูร้อนให้พระองค์ประทับ ซ้ำยังมีที่ทำการตลอดจนที่พักของมุขมนตรีในรัฐบาลพลัดถิ่นอย่างสมศักดิ์ศรีที่ประเทศอื่นให้ไม่ได้ ทั้งฝรั่งเศสและรัสเซีย

แต่ไม่ว่าจะให้เกียรติยศสักปานใด เมื่อเกิดเหตุต้องเลือกระหว่างแมวดำพล พต-ฉมาตีมวย (1) กับฉมาตีปี ผู้ก่อการแห่งปักกิ่งก็เลือก “ตีมวย” เป็นเบอร์หนึ่งเสมอ

ก็แบล็กแคต/แมวดำเป็นสัญลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์นี่นา!

ดังนี้ แม้พล พต จะเพลี่ยงพล้ำ จงใจสังหารสมาชิกในราชนิกุลพระโอรสและธิดาไปกว่าครึ่งโหล ส่วนพระองค์นั้น ก็ถูกกักขังให้อยู่แต่ในวังร้าง ฟังแต่เสียงตุ๊กแกร้องระงมทุกค่ำคืน ซึ่งเป็นเรื่องเหลือทนยิ่งนัก

คณะประธานแห่งปักกิ่งก็ไม่เคยจะชำระสะสางเรื่องนี้ ซ้ำร้ายยังทำราวกับว่า “แมวสีอะไรก็จับหนูได้!”

มันจึงตกชะตาซ้ำรอยเดียวกันกับโอรสพระองค์ผู้ครองราชย์เวลานี้ สมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ซึ่งเปรียบเสมือน “ฉมาที่ 3” ในการเปรียบเทียบ

กล่าวคือ เมื่อสิ้นยุคพล พต และสมเด็จบิดาของพระองค์ไปแล้ว แต่ปรากฏการณ์การเมืองกัมปูเจียยังคงเป็นไปในแบบเดิมๆ ด้วยเรื่องราวของฉมาตัวต่อไปในนามฉมาที่ 4 และ 5 นั่นคือสมเด็จฮุน เซน และสมเด็จฮุน มาแนต ผู้เฉียบคมไม่แพ้ใคร

แต่ซ้ำร้ายกว่านั้น คือยังเป็นฉมารักของปักกิ่งที่ทรงพลังทางอำนาจ และตอกย้ำอย่างชัดว่า แมวฉมากัมพูชาทุกยุคซึ่งมีบุคลิกภาพและสถานะขัดแย้งกัน แต่สำหรับปักกิ่ง พวกเขาต่างเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่หนุนนำตามนโยบายสูงสุดแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

“แมวสีอะไรก็จับหนูได้” วาทะประธานเติ้ง จึงย้อนกลับมาให้จดจำเสมอ

อย่างเหลือเชื่อ ปักกิ่งจึงกลายเป็นที่ตั้งของบรรดา “คอกฉมา” ขนาดทม/ใหญ่ของโลกใบนี้ ที่ถูกเชิดขึ้นมา “ผงาด” ในภูมิรัฐศาสตร์ของชาติพันธุ์ประเทศกลุ่มนี้หรืออดีตแหลมทองสุวรรณภูมิ

โดยนอกเหนือจากคอกฉมาแขมร์แล้ว ก็ยังมีฉมาแมวสายพันธุ์อื่นๆ ที่กำลังถูกเล่นแร่แปรอำนาจราวกับตามรอยกัมพูชาร่วมคอก “ฉมา” เดียวกัน ซึ่งเมื่อมองย้อนไป ตัวอย่างที่เห็นได้คือ กษัตริย์กัมพูชาแห่งราชวงศ์นโรดม จากอดีตถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ที่ทรงตกที่นั่งลำบาก กลืนไม่เข้าคายไม่ออกมาหลายแรมปีในหมู่สมาชิกนโรดม ตั้งแต่ครั้งที่พระบิดาลี้ภัยไปปักกิ่ง และกึ่งทศวรรษที่ผ่านมา อย่างจำยอมและเคยชิน

ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จประทับปักกิ่งหลายๆ ครั้งในแต่ละปีเพื่อเช็กสุขภาพ หรือทุกๆ ครั้งที่กัมพูชาเกิดภาวะเปราะบางทางการเมือง

ปักกิ่งจึงเหมือนตำหนักหลังที่ 2 ที่พร้อมจะปกป้องพระองค์ไว้ในยามทุกข์และสุข อย่างมิคลาดสายตา ไม่แม้แต่ผู้นำพรรคประชาชนกัมพูชา นายฉมาร่วมชายคา

และนับวันจะเห็นว่า ปฏิบัติภารกิจแห่งการดุลอำนาจสองเสาหลักกัมพูชา “พนมเปญ-ราชสำนัก” กำลังเดินไปอย่างราบรื่นตามครรลองของปักกิ่งที่ช่างพ้องเสียกระไรในคำว่า…

“แมวสีอะไร? ก็จับหนูได้เหมือนกัน!”