จิตต์สุภา ฉิน : เกมแอ๊กชั่นไม่ใช่แค่มันอย่างเดียว

คุณผู้อ่านจำนวนไม่น้อยต้องเคยผ่านหูผ่านตาแนวคิดที่บอกว่าการเล่นวิดีโอเกม โดยเฉพาะวิดีโอเกมแนวแอ๊กชั่น เตะ ต่อย ยิง ใช้ความรุนแรงทั้งหลาย จะมีส่วนทำให้ผู้เล่นกลายเป็นคนที่ก้าวร้าว และนำมาซึ่งการก่ออาชญากรรมในชีวิตจริงกันมาบ้างใช่ไหมคะ

เพราะฟังดูก็มีเหตุผลที่ภาพการใช้ความรุนแรงต่างๆ เหล่านั้นจะติดอยู่ในหัวผู้เล่นจนทำให้พวกเขารู้สึกว่ายังอยู่ในโลกของเกม และอยากทำอะไรที่ “ถึงใจ” เหมือนในเกมบ้าง

วันนี้ซู่ชิงก็เลยจะชวนคุยเรื่องผลการวิจัยใหม่ที่ตั้งใจศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ

มาดูกันว่าทางวิทยาศาสตร์เขาค้นพบอะไรบ้างเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกมแอ๊กชั่นนะคะ

 

ทีมนักวิจัยในมหาวิทยาลัย University of Geneva หรือ UNIGE ในสวิตเซอร์แลนด์ได้รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยที่ครอบคลุมระยะเวลาในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเพื่อดูว่าวิดีโอเกมจะส่งผลกระทบต่อความคิดความเข้าใจของผู้เล่นอย่างไรบ้าง

สมองของมนุษย์สามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้และเรียนรู้ปรับตัวได้ ดังนั้นผลการศึกษาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจึงมุ่งเน้นไปที่การสังเกตว่าการเล่นวิดีโอเกมจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมอง ที่นำไปสู่การพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของผู้เล่น อย่างเช่น การรับรู้ ความสนใจ หรือระยะเวลาที่ใช้ในการมีปฏิกิริยาตอบโต้

จากนั้นทีมนักวิจัยทีมนี้ก็เลือกเกมมาศึกษาแค่ประเภทเดียว คือเกมแนวแอ๊กชั่น (ซึ่งประกอบไปด้วยเกมยิง เกมสงคราม ฆ่าฟันทั้งหลาย) เพราะเกมประเภทนี้ถูกมองว่าเป็นเกมที่ส่งผลให้สมองเกิดอาการ “ด้านชา” มากกว่าเป็นเกมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสมองผู้เล่นมาโดยตลอด

พวกเขาวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาตั้งแต่ปี 2000 ถึงปี 2015 จากกลุ่มตัวอย่าง 8,970 คนทั่วโลก โดยมีอายุตั้งแต่ 6 ขวบ ไปจนถึง 40 ปี และมีทั้งเกมเมอร์แนวแอ๊กชั่น ไปจนถึงคนที่ไม่ได้เป็นนักเล่นเกมเลย โดยนักวิจัยร่วมมือกับนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในโคลัมเบีย ซานตาบาร์บารา และวิสคอนซิน ในการศึกษาข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ด้วย

อาสาสมัครทุกคนได้ผ่านการทำการทดสอบเพื่อวัดระดับความสามารถในการรับรู้ของแต่ละคนในแต่ละด้าน อย่างเช่น ความสามารถในการแยกแยะ เช่น สามารถดูภาพแล้วแยกสุนัขออกจากฝูงสัตว์ประเภทอื่นๆ ได้ ซึ่งทีมนักวิจัยพบว่ากลุ่มคนที่เล่นเกมมีความสามารถประเภทนี้สูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้เล่นเกม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาแบบนี้ก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์อยู่ดีว่าตกลงแล้วเกมประเภทแอ๊กชั่นส่งผลดีต่อสมองหรือไม่ เพราะก็ไม่สามารถบอกได้ว่าความสามารถทางการรับรู้ของนักเล่นเกมที่สูงกว่าคนที่ไม่ได้เล่นเกมนั้น เป็นเพราะคนกลุ่มนี้มีความสามารถทางด้านนี้สูงอยู่แล้วก็เลยสนใจเล่นเกมประเภทนี้

หรือเป็นเพราะเล่นเกมมาเยอะก็เลยได้พัฒนาทักษะไปในระหว่างการเล่นเกมกันแน่

 

เพื่อเป็นการหาคำตอบให้กับปริศนาไก่กับไข่ที่ว่า ทีมนักวิจัยก็เลยเริ่มวิเคราะห์ข้อมูลเป็นครั้งที่สอง คราวนี้ดูจากผู้ชายและผู้หญิงกว่า 2,883 คนที่เล่นเกมอย่างมากหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์

ชายและหญิงกลุ่มนี้ถูกทดสอบเพื่อประเมินความสามารถทางด้านการรับรู้ก่อน จากนั้นก็จะถูกสุ่มแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเล่นวิดีโอเกมแอ๊กชั่นประเภทสงครามและยิงรัวทั้งหลาย อีกกลุ่มแยกไปเล่นเกมประเภทบังคับควบคุม อย่างเช่น เกมแนวพัซเซิล เกมเดอะซิมส์ และเกมเททริส เป็นต้น ทั้งสองกลุ่มเล่นเกมอย่างน้อยแปดชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมากถึงห้าสิบชั่วโมงในช่วงระยะเวลาสิบสองสัปดาห์ แล้วก็กลับมาทำการทดสอบความสามารถในการรับรู้อีกครั้งเพื่อดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

ผลลัพธ์ที่ได้นั้นค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว ทีมนักวิจัยบอกว่ากลุ่มคนที่เล่นเกมแอ๊กชั่นสามารถพัฒนาความสามารถในการรับรู้ได้มากกว่ากลุ่มคนที่เล่นเกมประเภทหลัง

ทำให้นักวิจัยได้ข้อสรุปว่า จากการวิจัยยาวนานหลายปีทั่วโลกทำให้สามารถพิสูจน์ได้ว่าการเล่นเกมแอ๊กชั่นนั้นช่วยขยายขอบเขตความสามารถในการรับรู้ของผู้เล่นออกไปได้

หรือพูดง่ายๆ ก็คือเกมแอ๊กชั่นส่งผลดีต่อสมองนั่นเอง

 

ซู่ชิงหยิบเรื่องนี้มาเขียนถึงเพราะคิดว่าน่าสนใจดีที่เกมที่ดูภายนอกน่ากลัว เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าการฆ่าคนเป็นผักปลานั้นเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อได้รับรู้ผลด้านบวกของเกมประเภทนี้ คุณผู้อ่านก็จะได้ไม่ต้องเครียดมากหากเดินเข้าไปในห้องแล้วเห็นลูกกำลังรัวปืนอยู่หน้าจอทีวีหรือคอมพิวเตอร์ และไม่ต้องถึงขั้นปาแผ่นเกมออกนอกหน้าต่างหรือเอาไปเผา

แต่…

ทราบใช่ไหมคะว่าจะมีแต่…ตามมา

ผลการศึกษาจากแคนาดาที่มีการเผยแพร่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่าการเล่นวิดีโอเกมเนี่ยส่งผลให้สมองเปลี่ยนแปลงจริงๆ นั่นแหละ

แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ดี และอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อันตรายได้

ทีมนักวิจัยทีมนี้พบว่าคนที่เล่นเกมแอ๊กชั่นประจำจะมีสมองเนื้อสีเทาในฮิปโปแคมปัสน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เล่น

ซึ่งฮิปโปแคมปัสที่เป็นส่วนสำคัญของสมองส่วนนี้ยิ่งเล็กแค่ไหนก็ยิ่งมีความเสี่ยงในการที่จะเกิดความเจ็บป่วยหรือโรคต่างๆ ตั้งแต่โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท อาการเครียดหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ ไปจนถึงโรคอัลไซเมอร์เลยทีเดียว

นักวิจัยบอกว่าประโยชน์ของการเล่นเกมแอ๊กชั่นนั้นจะเห็นได้ชัดก็ต่อเมื่อระยะเวลาของการเล่นเกมถูกเกลี่ยให้กระจายออกไป ไม่ใช่กระจุกตัวกันอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างการนั่งเล่นยาวนานติดต่อกันเป็นห้าชั่วโมง สิบชั่วโมง อะไรแบบนั้น

 

ท้ายที่สุดทุกอย่างก็กลับมาสู่ข้อสรุปของการเดินทางสายกลางนี่แหละค่ะ สิ่งที่เราได้รับรู้จากการวิจัยทั้งหมดคือ

1. เกมประเภทแอ๊กชั่นมีประโยชน์แน่นอน แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความรุนแรงที่เราเห็นแล้วรู้สึกขยาด แต่มันกลับส่งผลดีต่อสมองทำให้สามารถพัฒนาทักษะการรับรู้ของผู้เล่นได้

2. แต่ประโยชน์นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเล่นเกมอย่างพอดีในแต่ละวัน เล่นวันละนิดวันละหน่อย แต่ก็ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์หรือเดือน

ดังนั้น หากผู้ปกครองท่านไหนที่กำลังกังวลว่าลูกมัวแต่เล่นเกมรุนแรงอยู่หน้าจอ ครั้งต่อไปลองเดินเข้าไปคุยถึงประโยชน์ของเกมที่พวกเขาจะได้รับ แล้วก็ทำข้อตกลงกันว่าในแต่ละครั้งควรจะนั่งเล่นเกมได้นานแค่ไหนจึงจะดีต่อสุขภายกายและสุขภาพจิตของลูกมากที่สุด

หรือไม่ก็ในเมื่อประโยชน์ที่ได้รับไม่ได้จำกัดอายุ เพราะฉะนั้นก็ลองนั่งเล่นไปด้วยกันเลยก็น่าจะดีนะคะ