ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
ในการประชุมสอบปากเปล่านักศึกษาปริญญาเอกครั้งหนึ่งราวสิบปีก่อน หลังฟังอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสชื่นชมผลสำเร็จทางเศรษฐกิจอันอัศจรรย์ของจีนพักใหญ่แล้ว ผมก็อดไม่ได้ที่จะทักท้วงว่าแต่ตามตัวเลขสถิติล่าสุด ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในจีนกำลังกวดใกล้อเมริกาเข้าไปทุกทีเช่นกัน
ดังที่นิตยสาร The Economist รายงานไว้ในปี 2017 ว่างานวิจัยชิ้นใหม่ของโธมัส พิเก็ตตี้ นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญทุนนิยมกับความเหลื่อมล้ำในศตวรรษที่ 21 กับคณะพบว่าตอนนี้สังคมจีนเหลื่อมล้ำกันกว่าฝรั่งเศสแล้ว แม้จะยังไม่หนักเท่าอเมริกา (https://www.economist.com/finance-and-economics/2017/02/16/a-new-paper-finds-china-more-unequal-than-france-but-less-so-than-america)
และตัวโธมัส พิเก็ตตี้ กับคณะเองมาช่วยสรุปข้อค้นพบจากงานวิจัยของตนให้เมื่อปี 2019 ว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้กำลังเพิ่มขึ้นในจีนอย่างรวดเร็วและทำให้มันดูเหมือนสหรัฐยิ่งขึ้น

ต่อประเด็นนี้ ทีมวิจัยเรื่องธุรกิจกับเศรษฐกิจจีนแห่ง Center for Strategic & International Studies ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสถาบันคลังสมองไม่แสวงหากำไรที่ทำการวิจัยเชิงนโยบายอันดับหนึ่งของสหรัฐ ตามการสำรวจเมื่อปี 2019 แจกแจงเปรียบเทียบการจัดช่วงชั้นทางสังคมของจีนกับอเมริกาไว้ในบล็อก “The US and China: Not Number One” เมื่อปลายปี 2020 ว่า : (https://www.csis.org/blogs/trustee-china-hand/us-and-china-not-number-one?fbclid=IwAR3jioNK2B6mx50XbfvTxISjL_gAeFEcA1VSDmNYpCsxtQByc-LP9YrMces)
“ถึงแม้สหรัฐกับจีนจะมีเศรษฐกิจและแสนยานุภาพพลังสูง แต่ทั้งสองประเทศกลับล้าหลังโลกในเรื่องดัชนีบ่งชี้และตัววัดทางสังคมที่สำคัญต่างๆ กล่าวคือ :-
หากยึดตามอัตราส่วนความยากจนต่อหัวของธนาคารโลกเมื่อปี 2016 ซึ่งกำหนดไว้ที่รายได้ 5.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันแล้ว สหรัฐและจีนก็จัดอยู่ในอันดับที่ 21 และ 53 ตามลำดับ
ถึงแม้รัฐบาลสี จิ้นผิง จะอวดอ้างชัยชนะในการขจัดความยากจนไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทว่าเส้นความยากจนที่จีนกำหนดขึ้นเองที่รายได้ 2.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันนั้นต่ำเกินไป และปิดบังความจริงที่ว่ายังมีความยากจนแผ่กว้างและความเหลื่อมล้ำเพิ่มทวีขึ้นต่อไปเอาไว้
สัมประสิทธิ์จินี่อันเป็นตัววัดความเหลื่อมล้ำที่ใช้กันกว้างขวางที่สุดตัวหนึ่ง (ค่าสัมประสิทธิ์จินี่ 0 = กระจายรายได้เท่าเทียมกันหมด -> 1 = เหลื่อมล้ำมาก) แสดงว่าในปี 2019 ทั้งสหรัฐ (ค่าสัมประสิทธิ์จินี่ = 0.481) กับจีน (= 0.465) ยังมีการกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำกันสูงทั้งในเชิงค่าสัมบูรณ์ของประเทศตนเองและในเชิงสัมพัทธ์โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
โดยเปรียบตัดต่างกัน ธนาคารโลกประเมินว่าในปี 2017 ประเทศสโลเวเนียมีค่าสัมประสิทธิ์จินี่ต่ำสุดของโลกที่ 0.242 ในทำนองเดียวกันตามฐานข้อมูลความเหลื่อมล้ำโลก (World Inequality Database – WID) นั้น ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติที่เสียภาษีบุคคลของคนรวยที่สุด 10% ในจีนและสหรัฐอยู่ที่ 41% และ 45% ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 65 และ 91 ของโลกตามลำดับ อันบ่งชี้ถึงการกระจายความมั่งคั่งที่เหลื่อมล้ำยิ่ง
เดิมทีความเหลื่อมล้ำในจีนสมัยปลายทศวรรษที่ 1970 ต่ำกว่านี้มาก แต่แล้วมันก็พุ่งพรวดขึ้นภายหลัง การเริ่มดำเนินนโยบาย ‘ปฏิรูปและเปิดประเทศ’
การแปรเศรษฐกิจให้เป็นแบบตลาดประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตสูงอยู่หลายทศวรรษ ทว่าเหล่าปัจจัยจำนวนหนึ่งอันได้แก่ คอร์รัปชั่นเอย นโยบายสินเชื่อที่เอนเอียงไปเข้าข้างการโอนย้ายความมั่งคั่งจากครัวเรือนไปให้บริษัทเอย การแปรรัฐวิสหากิจเป็นของเอกชนเอย อีกทั้งบริการสวัสดิการที่มีไม่พอเพียงเอย เป็นต้น
ได้ยกระดับความเหลื่อมล้ำให้สูงขึ้นกว่าที่มันอาจเป็นอักโข น่าจะเป็นเหตุนี้เองที่ส่งผลให้ส่วนแบ่งของโภคทรัพย์สาธารณะ (ที่คิดเป็นสัดส่วนของโภคทรัพย์แห่งชาติ) ตกต่ำลงจาก 70% เมื่อปี 1978 เหลือเพียง 35% ในปี 2015

ขณะเดียวกัน แนวโน้มในสหรัฐก็น่ากังวลเช่นกัน คนงานรับจ้างรายได้ต่ำ 50% ประสบสภาพที่ส่วนแบ่งของพวกเขาในโภคทรัพย์แห่งชาติพังทลายลงระหว่างปี 1978 ถึง 2015 จากเดิมที่ 20% เหลือเพียงแค่ 12% ของรายได้โดยรวม
ขณะที่ส่วนแบ่งของพวกรวยที่สุด 1% นั้นเพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 20% ในช่วงเวลาดังกล่าว ความเหลื่อมล้ำยังถูกซ้ำเติมให้ร้ายแรงขึ้นด้วยความล้มเหลวของนโยบายการศึกษาและนโยบายค่าจ้าง ส่งผลให้มีการเกื้อหนุนจุนเจือเหล่าผู้ด้อยอภิสิทธิ์ไม่เพียงพอ มิหนำซ้ำ สหรัฐก็เช่นเดียวกับจีนที่ขาดรัฐสวัสดิการซึ่งได้เงินทุนอุดหนุนอย่างดีเมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมก้าวหน้าอื่นๆ” (หัวข้อ Social Stratification โดย Michael Zhang ใน “The US and China : Not Number One”)
ข้อสำคัญอยู่ที่ในทรรศนะของ โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของจีนและโลก สังกัดมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกานั้น ปมเงื่อนของการแก้ไขการแก่งแย่งแข่งขันกันระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างยั่งยืนอยู่ที่ทั้งสองอภิมหาอำนาจต่างต้องกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ในประเทศของตนนั่นเอง!
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022