เจาะใจแรงงานไทยในอิสราเอล ‘เหยื่อ’ ที่ ‘มองไม่เห็น’

ผมควานหา “เรื่องเล่าจากอิสราเอล” อยู่นานไม่น้อย เพื่อตรวจสอบดูว่า แรงงานไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คนในอิสราเอล ต้องเผชิญกับชะตากรรมอย่างไรกันบ้าง ในวัน “เสาร์สยอง” เมื่อกองกำลังติดอาวุธของ “ฮามาส” บุกข้ามแดนเข้ามาในพื้นที่อิสราเอล

เหลือเชื่อมากที่ได้พบว่า ชะตากรรมของแรงงานไทยถูกพูดถึงกันน้อยมาก ทั้งๆ ที่หากไม่นับชาวอิสราเอลเองแล้ว ไทยเป็นชาติที่สูญเสียคนของตนเองไปในเหตุการณ์ครั้งนี้มากที่สุด 30 ชีวิตไม่มีวันได้กลับบ้านเกิดอีกตลอดกาล อีกกว่า 20 รายถูกลักพาตัว ไม่รู้ชะตากรรม แล้วยังมีอีกไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ไม่กี่วันที่ผ่านมา กัลยาณมิตร ถึงได้ส่งข้อเขียนขนาดยาว ในหัวข้อ The Unseen Victims of Hamas : Thai Workers in Israel ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ใน “ฮาร์เรตซ์” หนังสือพิมพ์ภาษาฮีบรูและภาษาอังกฤษ (พิมพ์แทรกคู่กับนิวยอร์ก ไทมส์) ที่ไม่เพียงมียอดขายมากที่สุดเป็นอันดับ 3 แต่ยังได้รับการยอมรับนับถือและได้ชื่อว่าทรงอิทธิพลอย่างยิ่งมาให้ผ่านสายตา

ข้อเขียนชิ้นดังกล่าวเขียนโดย ฮาการ์ เชซาฟ กับ ชีรา มากิน เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ไม่นานหลังเกิดเหตุ ฉายให้เห็นเสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยที่กลายเป็น “เหยื่อ ที่มองไม่เห็น” ไปในเหตุการณ์ครั้งนี้

 

ผมเข้าใจเอาเองว่า ข้อเขียนชิ้นนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์บรรดาแรงงานไทยซึ่งรวมตัวกันอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว บริเวณโรงเรือนเกษตรกรรมแห่งหนึ่งในเมืองคาดิมาห่างจากกรุงเทลอาวีฟไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 35 กิโลเมตร ที่ซึ่งแรงงานไทยเพศชาย 70 ราย ถูกโยกย้ายมาจากชุมชนเกษตรหลายแห่งในพื้นที่ชายแดนติดกับฉนวนกาซามาพักอยู่ที่นี่

มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่พูดฮีบรูหรือภาษาอังกฤษได้ 10 คนในจำนวนนั้นมาจากมิฟทาฮิม โมชาฟ บริเวณชายแดนด้านใต้ติดกับกาซา เพิ่งเดินทางมาถึงเมื่อ 15 ตุลาคม เพื่อนแรงงานด้วยกันถูกจับตัวไป 2 ราย ส่วนที่เหลือมีทั้งที่ถูกยิงเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ หรือไม่ก็มีรอยแผลไหม้ไฟ เพราะที่พักของพวกเขาถูกเผาทิ้งหลังการกราดยิง บางรายยังคงอยู่ในสภาพช็อกอย่างเห็นได้ชัด

ที่น่าเศร้าก็คือ ฮาร์เรตซ์บอกว่า ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากมาถึงที่พักพิงแห่งนี้ เจ้าของฟาร์มก็เร่งให้แรงงานไทยเหล่านี้ออกไปทำงาน “ถ้าไม่ทำ ก็อยู่ที่นี่ไม่ได้” การได้แรงงานมาทำงาน คือเหตุผลที่เจ้าของฟาร์มรายนี้อนุญาตให้ใช้สถานที่เป็นที่พักพิง หลับนอนชั่วคราว

 

กอล์ฟ แรงงานไทยวัย 37 ปี เล่าผ่านล่ามว่า ถึงตอนนี้หลับตาทีไรก็ยังเห็นภาพการไล่ล่า สังหารสยดสยองอยู่ตลอด ชนิดได้ยินเสียงดังๆ ยังผวาตกใจ ทุกคนกำลังกินข้าวกันอยู่ในที่พักเมื่อผู้บุกรุกในชุดทหาร 7-8 คนมาถึง แล้วเริ่มกราดยิงไปทั่ว ผู้หญิงรายหนึ่งถูกกระสุนบาดเจ็บ แรงงานไทยอีกคู่ที่พยายามหลบหนีถูกจับตัวพาขึ้นรถไปคาตา

ทั้งหมดแตกกระเจิงหลบหนีออกมาจากที่พักเข้าไปหลบในไร่ส้ม โทรศัพท์หาผู้จัดการไร่ชาวอิสราเอลให้แจ้งทหารหรือตำรวจ “แต่ไม่มีใครมา” กอล์ฟบอก

ซ่อนตัวอยู่ในไร่ถึงบ่าย ถึงได้ออกมาเพื่อเข้าที่พัก เพราะเข้าใจว่าทุกอย่างยุติลงแล้ว แต่แล้วใครบางคนก็ตะโกนขึ้นว่า “มันกลับมาแล้ว” การกราดยิงเกิดขึ้นอีกครั้ง กอล์ฟเห็นเพื่อนรายหนึ่งถูกยิงเข้าที่หลังและก้น อีกคนขาได้รับบาดเจ็บ

เขาเล่าว่า ส่วนหนึ่งยังคงอยู่ในที่พัก เมื่อตอนที่ผู้บุกรุกโยนระเบิดมือเข้ามา แล้วราดเบนซินจากนั้นก็จุดไฟเผาที่พักแรงงาน หลายคนทุบหน้าต่างเพื่อวิ่งหลบหนีออกมา เพื่อนแรงงานรายหนึ่งกลัวกระสุนมากกว่าไฟ หลายชั่วโมงต่อมา กอล์ฟพบเขาในสภาพไฟไหม้ไปทั่วตัว

คนที่หนีได้ ซ่อนตัวอยู่ในไร่จนข้ามคืน กว่าทหารอิสราเอลจะมาถึงก็ 11 โมงของอีกวัน

 

โดยภาพรวมแล้ว ฮาร์เรตซ์อ้างข้อมูลจากองค์การประชากรและคนเข้าเมือง (พีไอเอ) ของอิสราเอล ระบุว่า แรงงานไทยราว 5,000 คนทำงานอยู่ในแหล่งเกษตรกรรมใกล้กับฉนวนกาซา ซึ่งมีมากกว่า 750 จุดที่อยู่ในระยะห่างจากรั้วชายแดนกาซาเพียง 4 กิโลเมตร

หลังเกิดเหตุ สถานการณ์การอพยพไม่ได้ง่ายดายอย่างที่หลายคนคิดกัน ฮาร์เรตซ์ระบุเอาไว้ว่า แรงงานต่างชาติมีหน่วยงานดูแลหลายหน่วยงาน หลักๆ ก็คือ พีไอเอแล้วก็กระทรวงเกษตรกรรม ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ หน่วยงานภาครัฐเหล่านี้ รวมถึงกองบัญชาการโฮม ฟรอนต์ ของกองทัพ ควรเป็นผู้รับผิดชอบในการอพยพและจัดหาที่พักชั่วคราวให้กับแรงงานต่างชาติ ซึ่งหลักๆ ก็คือแรงงานไทยเหล่านี้

แต่เอาเข้าจริง ภาระนี้กลับตกเป็นของนายจ้าง ซึ่งตกทุกข์ได้ยากอยู่แล้วเช่นกัน กับกลุ่มพลเรือนอาสา อาทิ กลุ่มทหารผ่านศึก “บราเธอร์ส แอนด์ ซิสเตอร์ส อิน อาร์ม” (Brothers and Sisters in Arms) แล้วก็กลุ่มคนไทยที่แต่งงานกับชาวอิสราเอล ที่เข้ามาให้การช่วยเหลือในหลายๆ ด้านเท่านั้น

 

ภาพเหล่านี้สะท้อนออกมาในเรื่องเล่าของฮาร์เรตซ์ ตลอดทั้งเรื่องปนเปไปกับคำบอกเล่าของแรงงานไทยบางส่วน

ผมรู้สึกไม่ค่อยดีนัก ที่ในตอนหนึ่งรายงานของฮาร์เรตซ์ชิ้นนี้ย้ำเอาไว้ว่า

“อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของพวกเขา ประกอบไปด้วยปัญหาอุปสรรคทางภาษา กับข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลหนึ่งซึ่งทอดทิ้งแม้แต่พลเรือนของตนเอง… ต้องทอดทิ้งบรรดาแรงงานต่างชาติทั้งหลายผู้ปลูกผัก ผลไม้ให้พวกเขาเป็นที่แน่นอนอยู่แล้ว”