พยาบาล ในฐานะคนทำงาน ตัวแทนหมู่บ้าน และชีวิตที่เปราะบางมหาศาล

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผมได้มีโอกาสสนทนากับตัวแทนของกลุ่มตัวแทนของคนทำงานภาคสาธารณสุข ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เราจะเห็นข่าวบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ที่ตัดสินใจออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าโดยสมัครใจหรือไม่สมัครใจ

แต่ในอีกอาชีพหนึ่งซึ่งเราไม่ค่อยพูดถึงนักคือ พยาบาล ซึ่งมีพยาบาลวิชาชีพอยู่ถึงกว่า 1.8 แสนคน

นับเป็นกลุ่มแรงงานสาธารณสุขกลุ่มใหญ่ที่สุด มีส่วนสำคัญต่อการบริหารจัดการโรค และการบริหารจัดการโรงพยาบาล

เราอาจเห็นภาพของพยาบาลในฐานะของผู้ให้บริการ ของบุคลากรทางการแพทย์

แต่ในบทสนทนาที่ผมมีกับกลุ่มพยาบาลรุ่นใหม่ ผมต้องบอกว่า เราขาดแง่มุมในความเป็นมนุษย์ของพยาบาลในการกำหนดนโยบายไม่น้อย

 

“ทําไมถึงมาเป็นพยาบาล”

นี่คือคำถามที่หลายคนตั้งคำถาม

พยาบาลนับเป็นอาชีพที่หนักในทางกายภาพ และในทางจิตใจ ชั่วโมงการทำงานที่สูง

ขณะเดียวกันก็มีพยาบาลวิชาชีพจบใหม่ปีละกว่าหมื่นคนทุกปี และแม้จะดูเยอะ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้งานพยาบาลกลายเป็นงานที่สบายเมื่อเทียบกับภาระงาน

“ภาพพยาบาลคล้ายกับภาพของครู” มิตรสหายพยาบาลท่านหนึ่งสนทนากับผม “เป็นตัวแทนหมู่บ้าน” การเป็นพยาบาลจริงๆ แล้วเป้าหมายไม่ใช่เรื่องเกียรติ ศักดิ์ศรี แต่เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้สวัสดิการแบบราชการ และช่วยเหลือคนในครอบครัวต่อไปในอนาคต

แต่ความจริงแล้วพยาบาลส่วนมากไม่ได้มีโอกาสบรรจุเพื่อรับสวัสดิการแบบราชการ แม้แต่การเป็นพนักงานของรัฐเองก็ยังลำบาก กรอบบรรจุไม่เคยมาถึง

พยาบาลจำนวนมากต้องทำงานในฐานะลูกจ้างชั่วคราว แรงงานเหมาค่าแรง ที่ได้รับค่าตอบแทนบางครั้งต่ำกว่ากฎหมายแรงงานเสียอีก

บางคนทำงานวันละมากกว่า 16 ชั่วโมง เพื่อรายรับเดือนละ 2-3 หมื่นบาท ด้วยภาระทางด้านครอบครัว

สิ่งที่เราเห็นแรงงานพยาบาลส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงการซื้อประกันเอกชนได้

แน่นอนว่าพยาบาลอีกหลายหมื่นคนอยู่ในระบบการรักษาพยาบาลเดียวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้คือ “ประกันสังคม” ระบบที่ดูแลผู้ใช้แรงงานกว่าครึ่งหนึ่งของวัยทำงาน ระบบการรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนควักเงินจ่ายเอง แต่บัญชียาและการรักษาพยาบาลยังย่ำแย่

ผู้ป่วยโรคไตต้องสำรองจ่ายเองครั้งละหลายพันบาท เช่นเดียวกับการทำกายภาพไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลระยะยาว

โดยสรุปแล้วเราจะเห็นว่า จริงๆ แล้วพวกเราล้วนอยู่ในระบบเดียวกันที่ “แย่” และ “ไม่เป็นธรรมอย่างมาก” แม้แต่ตัวให้ผู้บริการด้านสาธารณสุขเอง

“ที่จริงแล้วหากประกันสังคมมีอะไรที่ทำให้พยาบาลรุ่นใหม่ที่ทำงานโรงพยาบาลเอกชนได้อุ่นใจ เช่น การขยายสิทธิประโยชน์สู่พ่อแม่ หรือคนในครอบครัวแบบจับต้องได้ มันจะทำให้คนอุ่นใจและรู้สึกว่า อาชีพนี้มันไม่ Toxic-แย่เกินไปมากนัก หลายคนเป็นหนี้ทุกหนทาง เพื่อประคองคุณภาพชีวิตคนในครอบครัว”

 

หลายเรื่องที่ผมไม่รู้มาก่อน แต่ได้มิตรสหายพยาบาลแบ่งปันข้อมูล

พวกเธอบอกว่า พยาบาลรุ่นหลังๆ ตื่นตัวทางการเมืองมาก

อาจไม่ได้เป็นไปในลักษณะวิชาการ ที่ลึกซึ้ง แต่ด้วยอาชีพที่มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ทำงานกับคน อยู่กับอารมณ์ของผู้คน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คลื่นกระแสประชาธิปไตยใน 2-3 ปีที่ผ่านมา พยาบาลก็กลายเป็นกลุ่มคนที่ตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก และเห็นอกเห็นใจฝั่งประชาธิปไตย

ความเข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาค พัฒนาขึ้นอย่างมาก

เราจะเห็นการแสดงออกในการชุมนุม หรือแม้กระทั่งในบรรยากาศการหาเสียงก็จะเห็นการสนับสนุนของกลุ่มพยาบาลอย่างเปิดเผยต่อพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย

เมื่อเราทุกคนล้วนเป็นแรงงานและเจ็บปวดต่อความเหลื่อมล้ำแบบเดียวกัน ก็จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำสู่การรวมตัวของผู้คน เมื่อเส้นแบ่งทางอาชีพลดลงความเจ็บปวดต่างๆ เป็นตัวเชื่อม การตระหนักสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็ตามมา

สิ่งที่ผมคิดตามต่อไป พยาบาลเองก็ไม่ต่างจากมิตรสหายผู้ใช้แรงงาน

แรงงานสิ่งทอ ถักทอเสื้อนับพันตัว แต่ยังเหน็บหนาวและต้องจำนำพัดลม เพื่อเป็นค่าชุดนักเรียน

แรงงานยานยนต์ที่ต่อประกอบรถหลายร้อยคัน แต่ไม่มีค่ารถกลับบ้านช่วงปีใหม่

แรงงานศิลปินที่สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้คน แต่ต้องซ่อนใบหน้าที่โศกเศร้าใต้หน้ากากด้วยความจนและสิ้นหวัง

แรงงานพยาบาลที่ดูแลผู้คนจากความกลัว และความทุกข์จากโรคร้าย แต่พวกเขากลับไม่มีสวัสดิการที่ดีเพียงพอเพื่อประคองชีวิต ความฝันของตนเองและครอบครัว

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เกาะกินสังคมนี้ แต่ผมเชื่อว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในไม่ช้าที่จะทำให้ประเทศนี้กลับมาถูกที่ถูกทาง

และประชาชนคนทำงาน จะได้เป็นเจ้าของประเทศอย่างที่ควรเป็นเสียที