มรดกภาพยนตร์ของชาติ 2566 (จบ) : ‘LGBTQ’ และ ‘ผู้หญิง’ ก่อนยุค ‘ความหลากหลายทางเพศ’

คนมองหนัง

สัปดาห์นี้ ขออนุญาตเขียนถึง “มรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2566” เป็นตอนสุดท้าย โดยมีเนื้อหาว่าด้วยหนังไทยอีกสองเรื่องที่ผมร่วมโหวตเห็นชอบ บวกหนังอีกเรื่องที่ผม “เกือบโหวตให้” เพราะประทับใจในองค์ประกอบบางอย่าง

ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องนี้ล้วนพูดถึงชะตากรรมของตัวละครเพศทางเลือกและผู้หญิงได้อย่างน่าสนใจ-ชวนขบคิด แม้จะถือกำเนิดขึ้นก่อนยุคสมัยปัจจุบัน ที่ค่านิยมเรื่อง “ความหลากหลายทางเพศ” ได้รับการเชิดชูอย่างแข็งขันกระตือรือร้น

ใบปิดภาพยนตร์เพลงสุดท้าย / ภาพจาก Thai Movie Posters

เพลงสุดท้าย (2528)

: โศกนาฏกรรมของ “คนชายขอบ” สองกลุ่ม

ผลงานภาพยนตร์ดราม่าระดับ “ขึ้นหิ้ง” ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ของ “พิศาล อัครเศรณี”

หนังเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้หญิงข้ามเพศ” ที่ทำงานเป็นนางโชว์ กับผู้ชายลูกหลานชาวบ้านที่มารับจ้างเป็นช่างยนต์ในอู่ซ่อมรถ คู่ขนานไปกับสายสัมพันธ์ระหว่าง “ทอมบอย” นักร้อง กับสาวนักศึกษาที่เติบโตมาในครอบครัวมีอันจะกิน

ด้านหนึ่ง เรื่องเล่าใน “เพลงสุดท้าย” ก็ค่อยๆ คลี่คลายไปสู่โศกนาฏกรรมของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเมื่อเกือบสี่ทศวรรษก่อน เพราะทั้ง “ผู้หญิงข้ามเพศ” และ “ทอมบอย” ต่างถูกคู่รักที่เป็น “ชายจริง-หญิงแท้” ทอดทิ้ง แล้วก็มีหนึ่งในนั้นเลือกจบชีวิตตนเองอย่างน่าเศร้า

แต่อีกด้าน พิศาลก็ถ่ายทอดประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวได้อย่างสลับซับซ้อนและเบามือ เมื่อเขาไม่ได้ฉายภาพให้ “ชายจริง” และ “หญิงแท้” ซึ่งเริ่มคบหากันในตอนท้าย ต้องกลายเป็นคนเลว คนชั่วช้า หรืออาชญากร (แม้ทั้งสองคนอาจรู้สึก “ผิดบาป” อยู่ในใจก็ตาม)

ทว่า หนุ่มสาวสองคนถูกนำเสนอให้เป็นสามัญชนผู้มี “รสนิยมทางเพศอันเลื่อนไหล” และไม่ได้ก่นประณามหยามเหยียด “อดีตรักที่ผิดขนบจารีต” ของตนเอง พวกเขาและเธอเพียงแค่หมดรักกับคนรักเก่า และอยากลองมีรักครั้งใหม่ที่ได้รับความเห็นชอบจากบุคคลรอบข้าง

สิ่งที่น่าสนใจมากในมุมมองของผม ก็คือ เราไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าจุดจบแสนสลดในตอนท้ายของหนังเรื่องนี้ เป็นความพ่ายแพ้ของ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ในโลกหรือวัฒนธรรมที่มี “ชายเป็นใหญ่”

เพราะตัวละครนำ “ผู้ชาย” ใน “เพลงสุดท้าย” นั้นก็เป็นเพียง “ชายหนุ่มชนชั้นล่าง” ที่พยายามแสวงหาหนทางไต่เต้าเลื่อนสถานะทางสังคมของตนเอง

เขาก็เป็น “คนชายขอบ” ไม่ต่างอะไรกับตัวละครผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งยังมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำต้อยกว่าด้วยซ้ำไป

ใบปิดภาพยนตร์หัวใจทรนง

หัวใจทรนง

: “ความปกติ” ใน “ความไม่ธรรมดา”

“หัวใจทรนง” (2546) เป็นผลงานแนวบันเทิงเริงรมย์มากๆ ของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” (ร่วมกำกับฯ โดย “ไมเคิล เชาวนาศัย”) คนไทยรายเดียวที่เคยคว้ารางวัล “ปาล์มทองคำ” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ โดยมีโจทย์ตั้งต้นแรกเริ่มว่านี่จะเป็น “หนังแผ่น” ซึ่งอำนวยการผลิตโดยเครือแกรมมี่

นี่คืองานบูชาครู “หนังไทยยุค 16 ม.ม.” ทั้งในแง่รูปลักษณ์ สไตล์ และเนื้อหา (แน่นอนว่ามีฉาก “ฉันเป็นตำรวจปลอมตัวมา” ที่หลายคนคุ้นเคยด้วย) ผสมผสานกับกลิ่นอายทางการเมืองยุคหลังสงครามโลกต่อด้วยสงครามเย็น

ถ้าพิจารณาบริบทในปี 2546 ก็ต้องถือว่า “หัวใจทรนง” คือหนังร่วมสมัยย้อนยุคที่มีความแปลกแหวกแนว และไม่ธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง

แต่ “ความปกติธรรมดา” ประการหนึ่งที่ปรากฏในหนังอย่างไม่ผิดแผกและไม่เคอะเขิน ทว่า เต็มไปด้วยสีสันแพรวพราวและอารมณ์ขัน ก็คือบทบาทของตัวละครนำที่เป็น “สายลับสาวข้ามเพศ” ผู้มีนามว่า “ไออ้อน พุซซี่”

นี่จึงเป็นหมุดหมายความก้าวหน้าเล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับวงการหนังไทย ก่อนหน้ายุคสมัยที่เรื่อง “ความหลากหลายทางเพศ” จะกลายเป็นค่านิยมสำคัญในสังคมปัจจุบัน

อีกแง่มุมหนึ่งที่ควรกล่าวถึง ก็คือ แม้จะเป็นหนังยาวที่ดูง่าย-ดูสนุกที่สุดของอภิชาติพงศ์ แต่ไปๆ มาๆ “หัวใจทรนง” กลับกลายเป็นผลงานที่ไม่เคยผ่านตาคนไทยในวงกว้าง ทั้งยังไม่ค่อยมีที่ทางในแวดวงหนังอาร์ตเฮาส์ระดับโลก ผิดกับงานเรื่องอื่นๆ ของคนทำหนังรายนี้

นี่ยิ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรขึ้นทะเบียนหนังเรื่องนี้เป็น “มรดกภาพยนตร์ของชาติ”

ใบปิดภาพยนตร์ปักธงไชย

ปักธงไชย : “ผู้หญิง” แนวหน้า

“ปักธงไชย” (2500) เป็นผลงานภาพยนตร์ที่มีชื่อ “หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา” เป็นผู้กำกับฯ ทว่า หม่อมอุบลเคยเขียนเล่าเอาไว้ว่า ผู้กำกับฯ ที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้ คือ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ” (เสด็จพระองค์ชายเล็ก)

หนังเล่าเรื่องราวของ “สงครามปราบฮ่อ” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้สนุกสนานเพลิดเพลิน อย่างไรก็ตาม ขอสารภาพตามตรงว่า ผมไม่สามารถยอมรับ “อุดมการณ์ชาตินิยม” ที่มีทัศนคติเหยียด “ชาติพันธุ์อื่นๆ” และขับเน้นความสำคัญของ “กองทัพ” (ไม่ใช่ “ประชาชน”) ดังที่ปรากฏในหนังได้

กระนั้นก็ดี ประเด็นหนึ่งใน “ปักธงไชย” ที่ผมดูแล้วรู้สึกทึ่งไม่น้อย คือ การจัดวางบทบาทของตัวละครนำหญิง (รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง)

โดยปกติ หนังสงคราม (ไม่ว่า “ชาตินิยม” หรือ “ไม่ชาตินิยม”) มักมอบหมายให้ตัวละครหญิงเป็น “ผู้สูญเสีย/ผู้รอคอยในแนวหลัง” เมื่อ “สามี/บิดา/บุตรชาย” ต้องไปออกรบที่แนวหน้า โดยที่ผู้ชายบางคนก็ล้มตาย ส่วนบางคนก็สูญหายและยังไม่เดินทางกลับบ้าน

ขณะที่ “ปักธงไชย” กลับกำหนดให้นางเอกของเรื่อง ปลอมตัวแฝงไปใน “กองเสบียง” แล้วได้พบรักและผจญภัยใน “แนวหน้า”

แม้สุดท้าย เธอจะต้องเป็นผู้สูญเสีย “ชายคนรัก” ไม่ต่างจาก “ผู้หญิงแนวหลัง” รายอื่นๆ แต่สตรีผู้นี้ก็ได้สวมบทเป็นผู้ “ปักธงไชย” ลงตรงสมรภูมิ อย่างแปลกตาและน่าแปลกใจ •

 

| คนมองหนัง