พิทักษ์สันติราษฎร์ หาเงิน-หาอำนาจ ‘หน้าที่’ ที่ผิดไป

หลายสิบปีมาแล้วที่ภาพลักษณ์ตำรวจไม่สง่างาม ชื่อเสียงเกียรติภูมิองค์กรตกต่ำ ระบบบริหารงานภายในเหลวแหลก ฟอนเฟะ ล้าหลังไปกันไม่ได้เลยกับกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลง

“การปฏิรูปตำรวจ” ถูกกล่าวถึงตลอดมาจากรัฐบาลหลายคณะทั้งจากพลเรือนและจากรัฐประหาร มีการตั้งคณะทำงานหลายครั้ง หลายชุดศึกษาพูดคุยถกเถียง ภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของคณะ “3 ป.” หรือ “คสช.” ก็ทำท่าขึงขังจริงจัง แต่สุดท้ายระหว่าง “3 ป.” กับกลุ่มตำรวจใหญ่ที่หาประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่รู้ใครหลอกใคร

ตำรวจทำได้แค่เป็น “ผู้รับใช้นาย”!

การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสูงขึ้นและสลับเก้าอี้นอกจากจะไม่มี “บรรทัดฐาน” แล้ว ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวอื้อฉาวสุดเน่า มีการซื้อขายตำแหน่งทั้งทางตรงทางอ้อมด้วยกลวิธีซับซ้อนซ่อนเร้น

ครั้งหนึ่งถึงขั้นมีนายตำรวจใหญ่กล้าพูดต่อหน้าผู้ใต้บังคับบัญชากลางที่ประชุมว่า “ได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้ไม่ได้มามือเปล่า แต่มีการลงทุน”

ตำรวจระส่ำ ขวัญกำลังใจตกต่ำ แต่ละปีมีตำรวจทยอยโบกมือลาออกจากราชการ

“ผู้บังคับบัญชาตำรวจพันธุ์พิเศษ” ถูกสร้างขึ้นจากการเมืองเลว “นาย” ชนิดนั้นไปอยู่ที่แห่งหนใดที่นั่นก็เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

 

ความจริงที่โหดร้ายก็คือ รู้กันอยู่ทั่วไปว่าในทุกวันนี้ โรงพักหน่วยซึ่งสำคัญที่สุดนั้นในหลายพื้นที่ มักจะมีแต่ “นาย” ที่มาพร้อมกับ “ตัวเลข” ตั้งเป้าให้ “ชุดเฉพาะเก็บ” ปฏิบัติการ

ค่านิยมตำรวจเปลี่ยนไป ไม่มีหัวหน้าหน่วยที่มุ่งมั่นปรับปรุงพัฒนางานเพื่อความผาสุก ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ตำรวจด้วยกันก็หมดรักตำรวจ ลูกน้องสิ้นศรัทธาผู้บังคับบัญชา!

เหตุการณ์ที่ตำรวจระดับ “สารวัตร” ถูกสมุนกำนันจ่อยิงคาโต๊ะอาหารต่อหน้าต่อตาผู้บังคับบัญชาระดับ “ผู้กำกับการ” หลายนายนั้นยิ่งสะท้อนถึงภาวะ “สีกากีเลือดจาง”

ตำรวจพร้อมจะวิ่งหนีคนร้าย ตำรวจไม่กล้ายิงสวนต่อสู้กับคนร้าย ตำรวจไม่ปกป้องแม้แต่ตำรวจด้วยกัน ตำรวจไม่วิทยุระงับเหตุ ไม่สกัดจับคนร้าย ตำรวจกลัวอะไร!?

ตำรวจคงจะกลัวสารพัด กลัวเจ็บ กลัวตาย หรือกลัวว่าสู้ไปแล้ว ยิงสวนไปแล้วถ้าคนร้ายตาย หรือพรรคพวกของคนร้ายตาย “นาย” คนไหนจะช่วย

คนสู้คนเพื่อป้องกันตัว ยังถูกกล่าวหาว่า “อันตรายยังไม่ใกล้จะถึงตัว-ทำเกินกว่าเหตุ” อาจติดคุก

ตำรวจยิงคนร้าย ดีไม่ดีเสียเงิน แถมติดตะราง ลูกเมียเดือดร้อน

สมุนบริวารกับผู้มีอิทธิพลจึงเหิมเกริม

กระทั่งนักเลงกระจอกๆ อันธพาลในทุกวันนี้ยังกร่าง หมิ่นแคลนตำรวจ

คำถามสำคัญคือ จะทำอย่างไรดี

 

ก่อนจะมาเป็นตำรวจทุกคนย่อมต้องผ่านการอบรมฝึกฝน

เป็น “ความเชื่อ” ว่าการฝึกฝนอบรมสามารถเปลี่ยนคนได้

ถ้าจะว่ากันทางกายภาพ มนุษย์ทุกคนตามที่เห็นก็มีหัว มีใบหน้าหูตาปากคอจมูก ลำตัว แขน ขา มือ เท้า

แต่จะไม่มีชีวิตชีวาถ้าไม่มี “สมอง” อยู่ในหัว

“สมอง” น่าจะเป็นอวัยวะสำคัญที่สุดที่ควบคุมระบบชีวิตทั้งหมดรวมถึงสัญชาตญาณการอยู่รอด

แต่แม้สมองจะเปิดรับเรียนรู้ก็ยังมีคำกล่าวว่า ถ้าคนเรา “ใจ” ไม่เปิดก็ดัดไม่ได้

การอบรมบ่มเพาะปลูกฝังเป็นวิธีการหนึ่งที่พยายามแง้มประตูหัวใจแต่ละคนให้เปิดรับสิ่งที่เรียกว่า “อุดมคติตำรวจ”

ตำรวจเป็นวิชาชีพที่มี “อุดมคติ” ที่ยิ่งใหญ่

ตำรวจทุกคนต้องผ่านการอบรมบ่มเพาะให้ “มีความเชื่อ”ว่าการทำหน้าที่รักษากฎหมายและการปกป้องคุ้มภัยให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั้นเป็นเกียรติภูมิที่สูงส่งของ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

แต่ “ชีวิตจริง” บนเส้นทางตำรวจ คนกล้าลงทุนเท่านั้นที่สามารถเลือกเก้าอี้ดีๆ ไม่มีลำดับก่อนหลังรุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่มีเพื่อนพ้องมิตรแท้ จะมีก็แต่ข้อแลกเปลี่ยน บ่อยครั้งตำรวจห้ำหั่นกัน กลั่นแกล้ง หักล้าง ย้ายแบบเตะโด่ง ล้างผลาญกัน จากนครบาลไปเข้าพงเข้าป่าก็มี หรือจากอีสานสุดกู่มาอยู่ทำเลทองใจกลางกรุงก็เป็นไปได้

วงการสีกากีเป็นโลกของคนทะเยอทะยาน ยึดโยงด้วยเครือข่ายผลประโยชน์

ใช่หรือไม่ว่า การเป็นหัวหน้าสถานี เป็นผู้กำกับการ หรือเจริญเติบโตถึงชั้น “นายพล” นั้นไม่อาจรอให้ “ลำดับอาวุโส” มาเสย

 

หลายคนกำลังระริกกับ “พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่”

ทั้ง “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.คนใหม่ ก็เพิ่งจะชงบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายที่ถูกปากถูกคอ “ก.ตร.” เสร็จสิ้นไป

แต่อย่าลืมว่า พ.ร.บ.ตำรวจไม่ใช่ยารักษาสารพัดโรค

การแต่งตั้งโยกย้ายตามที่กฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ใช้ “ลำดับอาวุโส” มากขึ้นกว่าเดิมนั้นเป็นแค่ 1 ปัจจัย ที่อาจช่วยลดปัญหาวิ่งเต้นข้ามหัวและข้ามห้วย

ก่อนหน้านี้ ในบางขณะ “ลำดับอาวุโส” ถูกใช้เป็นบันได ใครได้รับประโยชน์ก็หยิบเอามาอ้าง พอหมดประโยชน์ก็ชักบันไดหนี

ตอนที่แต่งตั้ง “ผบ.ตร.” ในปีนี้ก็มีความพยายามจะใช้ “ลำดับอาวุโส” โดยเคร่งครัด

แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้แน่นอนตายตัวว่า การแต่งตั้ง “ผบ.ตร.” ต้อง “เรียงลำดับ” ไป 1, 2, 3, 4, 5

“บิ๊กต่อ” จึงได้ทะยานฝ่าด่านอาวุโส จากลำดับที่ 4 ขึ้นนั่งเก้าอี้ “ผบ.ตร.”

คุณค่าของ “ลำดับอาวุโส” มีอยู่จริง แต่ใน “บางเงื่อนไข” ก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับ “เนื้องาน”

ในอดีตเคยมีคนที่ใช้โอกาสจากการนั่งเก้าอี้ผู้นำหน่วย “กินทิ้งทวน” ก่อนเกษียณ

มีใครทำอะไรได้ ก็แค่ทำตาปริบๆ หรือทำตาขยิบ!

เปรียบไปแล้วองค์กรตำรวจมี “ขยะ” ทับถมหมักหมมนานเกินไป

1 ในนั้นคือการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับผู้นำหน่วย ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ก.ตร. ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร. ลงไปจนถึง ผบช. และ ผบก. ทุกคนควรมีส่วนร่วมและมีส่วนช่วยในการคัดเลือกและส่งเสริมตำรวจที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความอาวุโสให้ได้เลื่อนตำแหน่งหรือโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่เหมาะสม

แต่เกือบ 10 ปีมานี้ ผู้มีอำนาจแค่อาศัยตำรวจเป็น “เครื่องมือ”

ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ใช่แก่นสารของวิชาชีพ

ภารกิจพิทักษ์สันติราษฎร์นั้นยิ่งใหญ่มีคุณค่ากับประเทศชาติและประชาชน ตำรวจควรได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้ก้าวหน้า ทันสมัย บังคับใช้กฎหมายอย่างสุจริตยุติธรรม!?!!