จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 27 ต.ค.-2 พ.ย. 2566

 

• หลอมแรงกัน

ผูกเสี่ยว

ตุลาคมยังร้อนปานฉะนี้

มีนาคมจะร้อนปานไฉน

จักแก้ไข – จัดการกันอย่างไร

ให้บ้านเมืองไทยของเราร่มเย็น

…หวังพึ่งรัฐบาลก็นานช้า

กว่าถั่วจะสุกงาก็มอดไหม้

อ้างชาติ – ประชาชนอยู่ร่ำไป

“ปากพร่ำ” ปราศรัย “จิตใจ” เชือดคอ

จึงขอ “ผูกเสี่ยว” คนบ้านเดียวกัน

จุดหมายสำคัญพลิกฟื้นผืนป่า

หลอมรวมพลังมุ่งมั่นศรัทธา

ฟื้นพงพฤกษา – ธารา – แผ่นดิน

หลอมแรงกันในวันที่เหลืออยู่

กระจายหมู่แมกไม้นานาพันธุ์

แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีสร้างสรรค์

ด้วยใจรักมั่น “บ้านเกิดเมืองนอน”

…เมื่ออยู่เป็น ก็ทรงคุณค่า

แม้นเมื่อจากลาคงค่าสถาน

“หมู่บ้านเฮา” ยืนหยัด ยั่งยืนนาน

เอื้อลูกแผ่หลาน “อยู่เย็น เป็นสุข”

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

ตุลาคมที่กำลังผ่านไป

แม้ฝนจะยังไม่หมด

แต่ “ร้อน” ก็มายืนรอ แทนที่จะเป็น “หนาว”

และคงไม่ใช่ “ร้อน” เท่านั้น

ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5

ก็มารออยู่เช่นกัน

และทำท่าจะวิกฤตหนักขึ้น

การหวังที่จะให้ฝ่ายรัฐมาช่วยฝ่ายเดียวคงยาก

การ “ผูกเสี่ยว” จับมือในหมู่ประชาชนกันเอง

เพื่อช่วยแก้ปัญหา

เช่น พลิกฟื้นฟูป่า ก็เป็นทางที่จะช่วยลดปัญหา

พึ่งอะไรไม่ได้

ก็พึ่งพวกเรากันเองนี่แหละดีที่สุด

• “ยิ้ม” ยังอยู่

คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (“คอลเกต”) ประกาศยืนหยัดต่อสู้กับ Smile Shame หรือการอายที่จะยิ้ม ผ่านแคมเปญ #FreeYourSmile โดยแคมเปญนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากวันยิ้มโลกที่ผ่านมาในวันที่ 6 ตุลาคม 2566

คอลเกตเชื่อว่าการยิ้มได้เต็มที่ในแบบของตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญ

เพราะการยิ้มนั้น มีประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ รวมถึงเป็นความสัมพันธ์ของคนในสังคม

แคมเปญนี้ เริ่มต้นจากการลงพื้นที่จริงเพื่อทำวิจัยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อที่จะได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างแท้จริง

งานศึกษาของคอลเกตในปี 2566 พบว่าคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 94% อยากจะยิ้มในแบบของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยประเทศไทยครองอันดับหนึ่งร่วมกับไต้หวันและฟิลิปปินส์

คือมีคนจำนวนมากถึง 98% ต้องการที่จะยิ้มได้อย่างเต็มที่มากกว่านี้โดยไม่ต้องกังวลความคิดเห็นของคนอื่น

ผลการศึกษายังพบอีกว่า 95% ของคนไทยรู้สึกว่าตนมีอิสระที่จะยิ้มได้ทุกเมื่อที่ต้องการ

แต่ 62% บอกว่าเคยมีประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับรอยยิ้มของตัวเอง

ข้อมูลดังกล่าวมาจากการศึกษาโดยบริษัทวิจัย Pureprofile เดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 ที่ได้สอบถามคนกว่า 4,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 16-55 ปี ใน 8 ประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินเดีย โดยจำนวน 500 คนของผู้ตอบแบบสำรวจเป็นชาวไทย

จากผลสำรวจ คนไทยรู้สึกดีต่อตัวเองและสบายใจมากขึ้นเมื่อสามารถยิ้มได้อย่างเต็มที่ โดยสัดส่วนของผู้ชาย (50%) ที่รู้สึกเช่นนี้มากกว่าผู้หญิง (37%)

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนแนวคิดที่ว่าการยิ้มส่งผลกระทบเชิงบวกให้สุขภาพจิตดีขึ้น เสมือนยาต้านภาวะซึมเศร้าและยาแก้ปวดโดยธรรมชาติ

การยิ้มยังส่งผลดีต่อหัวใจ ช่วยลดความดันเลือด และช่วยให้ฟื้นฟูจากอาการหลังเหตุการณ์เครียดได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

คุณประโยชน์ที่สำคัญของการยิ้มคือ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ผ่านการเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ

นอกจากนั้น รอยยิ้ม ยังเป็นตัวช่วยอันทรงพลังในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และสร้างความเชื่อใจ โดยการสร้างความประทับใจอย่างยั่งยืนกับผู้อื่น

อนึ่ง “Smile Shame” อาจไม่ใช่คำที่หลายคนคุ้นเคย

โดยมันสื่อถึงความรู้สึกอับอาย ประหม่า หรือไม่มั่นใจในรอยยิ้มของตนเอง

ผลการศึกษาเกี่ยวกับรอยยิ้มของคอลเกตในปี 2023 พบว่า คนไทยจำนวนถึง 62% เคยมีประสบการณ์ทางตรงหรือทางอ้อม เกี่ยวกับเรื่อง Smile Shame หรือการอายที่จะยิ้ม

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยกังวลเกี่ยวกับการยิ้ม คือ การรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง ตามด้วยความกังวลเกี่ยวกับความคิดของผู้อื่นต่อรอยยิ้มของตน ซึ่งรวมถึงสายตาจากครอบครัว เพื่อน และแม้กระทั่งคนแปลกหน้า

62% ของคนไทยที่ถูกทำให้รู้สึกแย่เกี่ยวกับรอยยิ้มของตัวเอง สาเหตุหลักเกิดจากคำพูดของครอบครัวและเพื่อน ตามด้วยความเห็นของคนใน Social Media ที่ทำให้พวกเข้ารู้สึกว่าต้องมีฟันที่สวยสมบูรณ์พร้อมเท่านั้น จึงจะยิ้มได้อย่างมั่นใจ

บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ จำกัด

 

เป็นเรื่องการตลาด

ของบริษัทยาสีฟันดัง

ซึ่งแน่นอนย่อมต้องการสื่อไปถึงสินค้าตนเอง

กระนั้นก็มี “ประเด็น” น่าสนใจ

โดยเฉพาะเรื่องการยิ้ม

อันเป็นเอกลักษณ์พื้นฐานของเรา คือ ยิ้มสยาม

ผลการสำรวจที่ชี้ว่า “ยิ้ม” ยังเคียงแก้มคนไทยในระดับสูง

ถือป็นเรื่องดี

เกิดยิ้มหายจากหน้าคนไทย

อันนั้นยุ่งแน่

ยิ้มไว้ แม้เผชิญนานาปัญหา!! •