จับสัญญาณธนาคารใหญ่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ความเป็นไปกับบทวิเคราะห์ บรรดาธนาคารใหญ่ของไทย มีมิติอ้างอิงอย่างน่าติดตาม

อ้างอิงกับธนาคารใหญ่ทั้งสาม-ธนาคารกสิกรไทย เอสซีบีเอ็กซ์ (บริษัทแม่ ธนาคารไทยพาณิชย์) และธนาคารกรุงเทพ ให้ภาพหนึ่งซึ่งสำคัญ ว่าด้วยความเป็นไปทางธุรกิจและระบบธนาคารอันแข็งแกร่ง เมื่อพิจารณาจากการรายงานผลประกอบการล่าสุดในไตรมาส 3 (สิ้นสุด 30 กันยายน 2566) เพิ่งนำเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งสามธนาคารมีผลกำไรในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง (โปรดพิจารณา “ข้อมูลจำเพาะ”) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจสำคัญๆ ไม่ว่าธุรกิจสื่อสารซี่งทรงอิทธิพลในสังคมไทยอย่างมากในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา อ้างอิงกรณีบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS แม้มีรายได้ใกล้เคียงกัน (186,143 ล้านบาทในปี 2565) แต่ผลกำไรน้อยกว่า (26,000 ล้านบาท ปี 2565)

หรือธุรกิจพลังงานซึ่งมาแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง อ้างอิงกรณี-บริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF มีรายได้น้อยกว่า ราวครึ่งของธนาคารใหญ่ (95,000 ล้านบาท ปี 2565) ขณะเดียวกันมีผลกำไรในระดับต่ำถึงกว่า 2 เท่า (11,400 ล้านบาท ปี 2565)

จากคำอธิบายผลประกอบการของธนาคารทั้งสาม ไปในทางเดียวกัน สะท้อนสาระบางมิติ เกี่ยวข้องกับโมเดลธุรกิจอันคลาสสิคระบบธนาคารไทย

 

“ไตรมาส 3 ของปี 2566 รายได้จากการดำเนินงานมีจำนวน 43,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.0% โดยแบ่งเป็นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 31,536 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% จากการเติบโตของสินเชื่อ และการขยายตัวของส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM)…” ธนาคารกสิกรไทย อรรถาธิบายไว้

เป็นไปทำนองเดียวกันกับอีก 2 ธนาคาร “ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 SCBX มีรายได้เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากปีก่อนหน้า จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิซึ่งเป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับเพิ่มขึ้น”

ส่วนธนาคารกรุงเทพให้คำอธิบายอย่างกว้างๆ “…รายได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล”

ธนาคารใหญ่ กับความเป็นไปในภาพกว้าง คงไว้ซึ่งอิทธิพลอย่างต่อเนื่องในฐานะธุรกิจรากฐานสังคมไทย

เป็นธุรกิจเก่าแก่คงอยู่ท่ามกลางช่วงเปลี่ยนผ่านที่ผ่านมา ผ่านช่วงเวลาท้าทายหลายต่อหลายครั้ง เป็นความสามารถในการปรับตัวทางธุรกิจ ด้วยประสบการณ์อันเชี่ยวกรำ ความเชื่อมโยงหลายๆ มิติของสังคมไทย พิจารณาอย่างกว้างๆ มองเห็นแนวทางเชิงรุกมากขึ้น มุ่งสู่ระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง ในจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับตัวจากภายใน

ธนาคารกสิกรไทยเพิ่งเปลี่ยนผู้บริหาร จากรากเหง้าและร่องรอยระบบธนาคารครอบครัวอยู่มายาวนานตั้งแต่ยุคก่อตั้งธนาคาร มาสู่มืออาชีพ

เอสซีบีเอ็กซ์ (SCBX) อยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญครั้งหนึ่งของธนาคารเก่าแก่ของไทย ช่วงเวลาปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร

ส่วนธนาคารกรุงเทพ อดีตผู้นำธนาคารอาเชียน พยายามฟื้นบทบาท ความเชื่อมโยงกับเครือข่ายธนาคารในภูมิภาคอาเซียน และจีนแผ่นดินใหญ่

เชื่อว่ามีความสำคัญต่อความเป็นไปของธนาคารด้วย เมื่อพิจารณาบทวิเคราะห์และมุมมองทางเศรษฐกิจของธนาคารทั้งสาม เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตาม โดยเฉพาะในคราวนี้เป็นคำอธิบายเชื่อมโยงกับผลประกอบการดังที่กล่าว อย่างที่เคยอ้างอิงและนำเสนอในช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

(เรื่อง “ธนาคารใหญ่ : มุมมองกับแนวทาง” มติชนสุดสัปดาห์ 4 พฤศจิกายน 2565)

เมื่อเทียบเคียงกัน ดูเหมือนปีที่ผ่านมา มองโลกในแง่ดี ดีกว่าช่วงนี้อยู่บ้าง เป็นไปในทำนองเดียวกัน “เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3/2565 จากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน…” ส่วนในปีนี้ มุมมองแต่ละธนาคารมีโฟกัสแตกต่างกันพอสมควร

ธนาคารกรุงเทพ มีคำอธิบายให้ทิศทางสัมพันธ์กับผลประกอบการอย่างสมเหตุสมผล “ในไตรมาส 3/2566 เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวจากการภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

ขณะธนาคารกสิกรไทย ให้มุมมองอย่างระแวดระวัง “ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัวในกรอบจํากัด เนื่องจากภาคการส่งออกและการผลิต ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสัญญาณเปราะบางของเศรษฐกิจจีน ขณะที่การใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนมีทิศทางชะลอลง หลังจากที่เร่งตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา”

ส่วนเอสซีบีเอ็กซ์ อ้างอิงหน่วยงานวิจัยของในเครือข่าย-ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center : EIC) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงเล็กน้อย “เป็นร้อยละ 3.1 (จากเดิมร้อยละ 3.9) จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ตกต่ำกว่าคาดมากและการส่งออกสินค้าที่หดตัวแรงต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม มีมุมมองเชิงบวกเช่นเดียวกันกับธนาคารกรุงเทพ “มีแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยฟื้นตัวดีตามประมาณการที่ 30 ล้านคนในปีนี้ ส่งผลให้ภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องช่วยลดความเปราะบางในตลาดแรงงาน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่ายังอยู่ในกรอบเป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และร้อยละ 2.0 สำหรับปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ”

ทั้งนี้ ได้ส่งสัญญาณแสดงความวิตกกังวลในหลายมิติด้วย ที่สำคัญเป็นเหตุปัจจัยในระดับโลกซึ่งส่งผลกระทบมาถึง

 

ธนาคารกสิกรไทย ให้ความสำคัญ 2 เรื่อง

“ต้องติดตามความตึงเครียดในอิสราเอลอย่างใกล้ชิด เพราะหากสถานการณ์ยืดเยื้อหรือขยายวงกว้างออกไป ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนในกรอบสูงเป็นเวลานาน ซึ่งก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และทำให้ตลาดการเงินรวมถึงค่าเงินบาทมีความผันผวนตามไปด้วย”

และ “ติดตามผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร รวมถึงผลกระทบจากระดับหนี้ครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงที่อาจกดดันทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศ”

ขณะธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงประเด็นหนึ่งซึ่งส่งสัญญาณเพื่อการปรับตัวของสังคมธุรกิจไทยโดยรวม

“ความท้าทายจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้บริโภคและการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้หลังโควิด-19 ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น”

การเฝ้ามองธนาคารใหญ่ไทย จึงเป็นเรื่องจริงจังอยู่เสมอ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com