ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กลับมาหลอน?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ยังไม่ทันไร ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กลับมาเป็นข่าวรอบใหม่ กรมควบคุมมลพิษตรวจวัดค่าฝุ่นในหลายพื้นที่กรุงเทพฯ พบเกินค่ามาตรฐาน เหมือนเป็นสัญญาณเตือนว่า เมื่อเข้าหน้าหนาวแล้วสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับผู้คนอีกครั้ง

มาตรฐานฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ของบ้านเรา เพิ่งปรับใหม่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา กำหนดให้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิมตั้งไว้ที่ 50 มคก./ ลบ.ม. ส่วนค่าเฉลี่ยรายปี ไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. ของเก่าไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. ทำให้ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ( Air Quality Index) เข้มขึ้น

ชาวบ้านอย่างเราๆ สามารถตรวจสอบ AQI ผ่านแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ Air4Thai

 

AQI ใหม่แบ่งเป็น 5 ระดับ ใช้สีเป็นสัญญลักษณ์แจ้งเตือน มีคะแนนตั้งแต่ 0 ถึงมากกว่า 200

AQI 100 เทียบเท่าค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป แต่ถ้าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐาน

สีฟ้า AQI 0-25 ถือว่า คุณภาพอากาศดีมาก ปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีค่า 0-15 มคก./ลบ.ม. ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

สีเขียว AQI 26-50 คุณภาพอากาศดี ปริมาณฝุ่นมีค่า 15-25 มคก./ลบ.ม. ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ

สีเหลือง AQI 51-100 คุณภาพอากาศปานกลาง ปริมาณฝุ่นมีค่า 25.1-37.5 มคก./ลบ.ม. มีคำแนะนำให้ลดเวลาทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ส่วนกลุ่มเสี่ยง ควรใส่หน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน

สีส้ม AQI 101-200 คุณภาพอากาศเริ่มมีผลต่อสุขภาพ ค่าฝุ่น 37.6-75 มคก./ลบ.ม แนะนำให้ใส่หน้ากากทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ถ้าออกกำลังกายกลางแจ้ง ต้องสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา

สีแดง AQI 201 ขึ้นไป ถือว่าคุณภาพแย่ต้องงดกิจกรรมกลางแจ้งหรือถ้าจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย

 

เมื่อวันพุธที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ ตรวจสอบพบพื้นที่ใน กทม.พบค่า AQI อยู่ในช่วง 24.3-49.8 มคก./ลบ.ม. อยู่ในระดับสีเขียวถึงสีส้ม

โชคดีในวันถัดๆ มา กทม.มีฝนตก ค่าฝุ่นลดลง คุณภาพอากาศกลับมาเป็นสีเขียว สีฟ้า

แต่หมดหน้าฝนเมื่อไหร่ ไม่มีลมพัดแรงๆ ไม่มีฝนชะล้างฝุ่นพิษ เขม่าควันจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากการเผาไร่ถางป่า จะทำให้คุณภาพอากาศใน กทม.และอีกหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคเหนือ อีสานแย่ลง

เมื่อเข้าหน้าหนาว ลมนิ่งสงบ อากาศไม่ถ่ายเท ฝุ่นลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศเกิดการสะสมหนาแน่น มองอะไรไม่เห็นในระยะไกล จากนั้นชาวบ้านจะเจอปัญหาสุขภาพที่มาจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5

ดูเหมือนว่า รัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน จะมองเห็นประเด็นฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะเป็นปัญหาในระยะอันไม่ใกล้ไม่ไกล จึงรีบส่งคุณหมอชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมาแถลงว่ารัฐบาลกำลังเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมกับประกาศยกระดับมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในปี 2567

มาตรการที่ว่า มีอาทิ ลดพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่เผาซ้ำซาก 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการบัญชาการสถานการณ์ไฟป่า ตั้งจุดตรวจสกัด รวมไปถึงเร่งนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผามาใช้ และเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน

เป้าหมายของรัฐบาล จะลดพื้นที่เผาไหม้ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนฯ ให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ลดพื้นที่เผาไหม้ทางการเกษตร 50% ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ลดลง 40%

และจำนวนวันที่มีฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐานลดลง 30%

 

ผมไม่ค่อยมั่นใจว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพราะหากย้อนดูอดีตยังไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนแก้ปัญหา ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทุกปีเมื่อถึงหน้าหนาวปัญหานี้จะย้อนกลับมาหลอกหลอนคนไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากนั้นรัฐบาลเกิดอาการตื่นผวาออกประกาศมาตรการโน่นนี่นั่น

อย่างรัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประกาศยกระดับแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2562 มีมาตรการโน่นนี่นั่นมากมายก่ายกองไม่ว่าจะตั้งด่านโชว์ดักจับรถพ่นควันดำ คุมเข้มโรงงานอุตสาหกรรม สั่งห้ามชาวนาชาวไร่เผาเศษหญ้าฟาง ไม่แตกต่างไปจากมาตรการของรัฐบาลคุณเศรษฐาซะเท่าไหร่ แต่ถึงที่สุดการแก้ไขปัญหาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

มาตรวัดความล้มเหลว ดูได้จากรายงานว่าด้วยคุณภาพอากาศโลกปี 2565 (World Air Quality Report 2022) จัดทำโดย IQair ที่ระบุว่า ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีปริมาณฝุ่นพิษเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 3.6 เท่า สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย

รายงานของปี 2565 จะต้องทำสำรวจล่วงหน้าหลายเดือน ในช่วงระหว่างนั้น การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดยังรุนแรง มีมาตรการควบคุมเข้มข้น การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันยังไม่มากนัก แต่ปริมาณฝุ่นพิษสูงเกินมาตรฐานและคุกคามสุขอนามัยของชาวบ้านอย่างรุนแรง

 

ส่วนรายงานอีกชิ้นปรากฏในเว็บไซต์ iqair.com เมื่อวันที่ 30 เมษายน ปี 2566 ตีแผ่ผลการตรวจสอบคุณภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ มีค่าเกินมาตรฐานที่ 50 มคก./ลบ.ม. เป็นวันที่ 95 และยกให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 1

การจัดอันดับครั้งนี้สร้างความขื่นขมกระอักกระอ่วนให้กับชาวเชียงใหม่เป็นอย่างมาก

ชาวเชียงใหม่จึงมีปฏิกิริยาต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ของรัฐบาล “ประยุทธ์” ค่อนข้างรุนแรง ด้วยการยื่นฟ้องนายกฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ศาลปกครองพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องทำหน้าที่ล่าช้าในการป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหาควันหรือฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่เชียงใหม่และให้ผู้ถูกฟ้องกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วเพื่อให้คุณภาพอากาศของประเทศอยู่ในระดับดีมากหรือระดับดีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

คำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ และรายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2565 ล้วนบ่งบอกความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะฉะนั้น จึงหวังว่ารัฐบาลคุณเศรษฐาจะต้องคุมเข้มlbj’ป้องกันไม่ให้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กลับมาหลอนชาวบ้านซ้ำอีก •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]