ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
เผยแพร่ |
ภายหลังจากรัฐบาลพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะเดินหน้า “มาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ด้วยจุดประสงค์หลัก คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ผ่านการใช้จ่ายของประชาชน
แม้รัฐบาลนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศลั่นว่าจะใช้มาตรการได้จริงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ต้องเลื่อนออกไปแต่ยืนยันได้ใช้จริงภายในไตรมาสแรก 2567 แน่นอน
โดยยกประเด็น ติดปัญหาการพัฒนาระบบซูเปอร์แอพพ์ที่ดำเนินการผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่ระบบแอพพ์ยังไม่แล้วเสร็จ
ส่งผลให้การลงทะเบียนผู้ประกอบการร้านค้า ต้องถูกเลื่อนออกไปจากเดือนพฤศจิกายน 2566 อย่างไม่มีกำหนด
กระนั้นแล้ว รูปแบบมาตรการเงินดิจิทัลก็คล้ายกับมาตรการที่เคยมีมาก่อนในอดีต โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของประชาชน
ถ้าระบบมีการใช้จริงคงไม่ใช่เรื่องยากต่อการใช้งาน แต่ปัญหาใหญ่กว่าคงเป็นเรื่องร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อยอาจจะไม่ร่วมมาตรการนี้ เพราะติดปัญหาการเก็บภาษีที่จะมีตามมาทีหลัง
หากย้อนกลับไปในอดีตที่มีการใช้มาตรการคนละครึ่ง รัฐบาลเคยเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนับแสนบาท จนผู้ประกอบการล่าถอยกันหมด ส่งผลกระทบต่อความกังวลในการเข้าร่วมมาตรการใหม่นี้
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เม็ดเงินไหลสู่ร้านค้าขนาดใหญ่และขนาดกลาง ร้านค้าขนาดเล็ก ต้องเตรียมความพร้อม อีกทั้งเพื่อชักจูงให้รายค้าขนาดเล็กเข้าร่วมมากขึ้นให้บรรลุผลการทำงานตามวัตุประสงค์ ซึ่งรัฐบาลยืนยันกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก “ไม่ต้องกังวลเรื่องเรียกเก็บภาษี”
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุถึงร้านค้าที่จะเข้าร่วมมาตราการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยแบ่งร้านค้าเป็น 2 ลักษณะ คือ ร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และร้านค้านอกระบบฐานภาษี ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาเป็นผู้คัดกรอง
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของร้านค้าที่อยู่ในระบบฐานภาษีสามารถนำเงินที่เกิดการใช้จ่ายนำมาแลกเป็นเงินสดได้
ขณะที่พ่อค้า-แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ที่เข้าร่วมมาตรการแต่อยู่นอกฐานระบบภาษีจะขึ้นเงินสดไม่ได้ แต่สามารถนำเงินไปซื้อวัตถุดิบในร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีได้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าร้านค้าที่อยู่นอกระบบภาษีไม่ต้องกังวล เพราะถ้ารายได้ของร้านค้ามียอดขายสุทธิ ไม่เกินปีละ 1.8 ล้านบาทตามเกณฑ์กฎหมาย ไม่ต้องเข้าสู่ระบบเสียภาษี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาร้านค้าเข้าร่วมมาตรการคนละครึ่ง ออกมาร้องเรียนรัฐที่เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง สาเหตุเพราะเมื่อมีการลงเงินในระบบเศรษฐกิจแล้วธุรกิจเกิดขยายตัว ทำให้รายรับร้านค้านั้นๆ เข้าถึงเกณฑ์การเก็บภาษี ช่องโหว่นี้มาจากร้านค้าไม่ได้เตรียมความพร้อมการทำบัญชี หรือไม่มีการเก็บรายละเอียดส่วนต้นทุนการทำธุรกิจอย่างครบถ้วน เพราะการเก็บรายได้ภาษีตามข้อเท็จจริงสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักกันได้ หรือเอาค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อปัจจัยการผลิตมาลดทอนได้ และระบบจะคิดแค่ฐานภาษีในส่วนที่เกินจาก 1.8 ล้านบาทเท่านั้น
“เมื่อไม่ได้เก็บรายละเอียดจึงเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะเมื่อรายรับร้านค้าถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ไม่มีรายละเอียดสำหรับหักค่าใช้จ่ายนั่นคือปัญหา ดังนั้น มาตรการครั้งนี้ หากร้านค้าเข้าร่วมก็เป็นเรื่องดี และอยากให้ผู้ประกอบการเก็บรายละเอียดการทำธุรกิจด้วย เพราะถ้าธุรกิจขยายตัวได้ตามเกณฑ์จะได้ไม่ทำให้เกิดปัญหาลักษณะเดิม ซึ่งเกณฑ์ต่างๆ รัฐจะบอกให้ชัดเจนก่อนเข้าร่วมมาตรการ จึงสนับสนุนให้ร้านค้าสร้างระบบบัญชีในการรองรับระบบตามกฎเกณฑ์ของฐานภาษีด้วย” จุลพันธ์ย้ำ
สอดคล้องกับภาคเอกชน วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาที่ร้านค้าจะไม่เข้าร่วมมาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัลมีออกมาบางส่วน เพราะกลัวปัญหาการเสียภาษีย้อนหลังจากที่เปิดร้านโดยไม่จดทะเบียนร้านค้า
ปัญหานี้แก้ได้ถ้ารัฐระบุเงื่อนไขชัดเจน และมีการให้ข้อมูลตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจจริงของรัฐจากการทำมาตรการนี้ ส่วนหนึ่งต้องการให้ผู้ประกอบการทุกระดับเข้ามาอยู่ในระบบฐานภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อการจัดเก็บภาษีในส่วนของรายได้เข้ารัฐจะมีมากขึ้นในอนาคต จากการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการดำเนินการอย่างถูกวิธี
“ประเด็นนี้รัฐต้องให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการและให้ความรู้เรื่องการทำภาษีอย่างเป็นระบบ เพราะร้านค้าที่เข้าร่วม เช่น ร้านค้ารายย่อยขนาดเล็กที่มีกำไรไม่มากจะไม่มีการเสียภาษีตามเกณฑ์กำหนดไว้ เมื่อเข้าร่วมมาตรการไม่ต้องกังวลว่าจะเสียภาษีย้อนหลัง หากรัฐเปิดโอกาสให้เข้าร่วมและมีการจดทะเบียนร้านค้าเป็นครั้งแรก วิธีการนี้ถือเป็นการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็กังวลถึงการใช้จ่ายจะเข้าสู่ร้านค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่เท่านั้น และเงินไปไม่ถึงร้านค้ารายเล็ก ประกอบกับเงื่อนไขรัศมีการใช้เงินที่ระแวกนั้นมีร้านค้าน้อยรายการใช้จ่ายจะกระจุกตัว” วิศิษฐ์กล่าว
ขณะที่ แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงการทำนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลมุมมองของผู้ประกอบการเป็นเรื่องดี เพราะผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) มีจำนวนมาก ถ้าเข้าร่วมมาตรการนี้จากการกระตุ้นเงิน 10,000 บาท ในคราวเดียว โดยแจกเงินให้ประชาชนใช้จ่าย หากร้านค้าเข้าร่วมมาตรการแล้วเกิดการซื้อขายต่อเนื่องก็เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจอยู่แล้ว และเอสเอ็มอีก็มีความพร้อมในการเข้าร่วมมาตรการนี้
ถ้ารัฐจะชักจูงให้ร้านค้าทุกระดับเข้าร่วมมากขึ้นก็มีวิธีนำเสนอ เช่น เรื่องการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ปัจจุบันเก็บที่ 7% ผ่านการเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
“ทั้งหมด เก็บผ่านร้านผู้ให้บริการต่างๆ ถ้ารัฐมีนโยบายคืนเปอร์เซ็นต์จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้ร้านค้านำเงินไปใช้จ่ายในธุรกิจส่วนหนึ่งได้ก็เป็นเรื่องดี เช่น เก็บเงินภาษีมูลค่าเพิ่มรวมได้ 50,000 บาท รัฐอาจคืนเงินให้ร้านค้าจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 25,000 บาท แจกเป็นคูปอง หรือเงินส่วนต่างให้ใช้จ่ายวัตถุดิบในร้านค้าต่างๆ ได้ ก็ถือเป็นการหมุนเวียนเงินอีกทอดหนึ่ง โดยเป็นอีกทางเลือกถ้ารัฐจะหยิบไปพิจารณาก็เป็นเรื่องดีต่อผู้ประกอบการ” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกล่าว
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ร้านค้ารายเล็กไม่มีเจตนาเลี่ยงภาษี แต่ยังขาดความเข้าใจระบบเสียภาษี
ดังนั้น คงต้องหวังถ้าผลพ่วงจากมาตรการนี้ทำเงินหมุนเวียนในระบบกระฉูดตามเป้าหมาย และต้อนผู้ประกอบการเข้าระบบได้มากขึ้น ถือเป็นผลดีกับรายได้รัฐในอนาคต!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022