เจาะสเป๊กคู่ปรับโตโยต้า YARIS CROSS มาสด้า CX3-ฮอนด้า WRV-นิสสัน KICKS

สันติ จิรพรพนิต

เกริ่นไปในฉบับที่แล้วกับการมาถึงของโตโยต้า “ยาริส ครอส” (YARIS CROSS) บี-เอสยูวี พลังไฮบริด

ในเนื้อหาบางส่วนเอ่ยถึงคู่แข่งในตลาด โดยเน้นไปที่ราคาเป็นหลัก

เพราะระดับราคาเริ่มต้นที่ 7 แสนปลายๆ ถึงรุ่นท็อปราวๆ 9 แสนบาท

ในตลาดมีตัวเลือกค่อนข้างเยอะทีเดียว

เลยต้องคัดแบบเน้นๆ มา 3 รุ่นหลัก ซึ่งแม้ขุมพลังจะแตกต่างกันบ้าง แต่ด้วยชื่อชั้นและความนิยมถือว่าพอฟัดพอเหวี่ยงกัน

ทั้ง 3 รุ่นประกอบด้วย

มาสด้า CX-3, ฮอนด้า WR-V และนิสสัน KICKS

ประเดิมด้วยมาสด้า CX-3 แม้จะได้เปรียบในเรื่องขุมพลังเพราะใช้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ขณะที่รุ่นอื่นๆ บล็อกเล็กกว่า

ทว่า ด้วยอายุอานามถือว่าเสียเปรียบเล็กน้อย เพราะมาก่อนใครเพื่อนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม “มาสด้า CX-3” เพิ่งปรับโฉมครั้งใหญ่ เพิ่มชุดแต่งสีดำรอบคัน และมีรุ่นพิเศษ 2.0 Sport Luxe เพิ่มเข้ามา

ขุมพลังเอกลักษณ์สุดสุดกับเครื่องยนต์สกายแอ๊กทีฟเบนซิน ขนาด 2.0 ลิตร (SKYACTIV-G 2.0) กำลังสูงสุด 156 แรงม้า แรงบิด 204 นิวตัน-เมตร ทำงานคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด

พร้อมระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่อัจฉริยะ หรือ G-Vectoring Control (GVC) เทคโนโลยีเฉพาะของมาสด้า

อุปกรณ์มาตรฐานด้านความปลอดภัย i-Activsense อาทิ ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (ABSM)

ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน (LDWS)

ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง (SCBS-R)

ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA)

ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ (SBS)

ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติแบบ Advance (Advanced SCBS) ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ แบบ Stop & Go ฯลฯ

 

ส่วนรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกับรุ่นเดิม ที่เพิ่มเติมคือชุดแต่งสีดำทำให้ดูเข้มมากขึ้น

กระจังหน้าสีดำ ไฟหน้ามาพร้อมระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (HBC) กระจกมองข้างสีดำ ซุ้มล้อสีดำเงา และหลังคาสีดำเงา ล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่ ขนาด 18 นิ้ว

พร้อมสีภายนอกใหม่ สีเทา แอโร เกรย์

ห้องโดยสารก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ ออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานและจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ในตำแหน่งที่เหมาะสม

มีระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Sports Paddle Shift หลังคาซันรูฟแบบไฟฟ้า

Center Display แบบทัชสกรีน ขนาด 7 นิ้ว เชื่อมต่อ Mazda Connect รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto ระบบเสียง Bose รอบทิศทาง ลำโพง 7 ตำแหน่ง

คอนโซลหน้าหุ้มด้วยหนังสีฟ้าเทา ตกแต่งด้วยด้ายสีคอปเปอร์

เบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมระบบบันทึกตำแหน่ง 2 ตำแหน่ง

มาสด้า CX-3 มี 3 รุ่นย่อยหลักๆ Base 770,000 บาท, Base Plus 830,000 บาท และ Comfort 900,000 บาท

ส่วนรุ่นย่อยใหม่ 2.0 Sport Luxe 970,000 บาท

ถัดมากับคู่แข่งตลอดกาลในตลาดรถยนต์นั่งของโตโยต้า คือ “ฮอนด้า” ที่ส่งน้องเล็กตระกูลเอสยูวี WR-V เข้าประกวดในรอบนี้

ภายนอกดีไซน์สปอร์ตกระจังหน้าโครเมียม ไฟหน้าพร้อมไฟเลี้ยวด้านหน้าแบบ LED sequential ระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ

ไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวันแบบ LED และไฟท้ายแบบ LED

กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวปรับและพับไฟฟ้า สาอากาศแบบครีบฉลาม ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว

ขณะที่รุ่นท็อป RS ดีไซน์เอ็กซ์คลูซีฟรอบคัน กระจังหน้าโครเมียมแบบสปอร์ต ไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED

ล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่ขนาด 17 นิ้ว

แม้จะตัวเล็กแต่ห้องโดยสารออกแบบดูกว้าง แม้จะใช้สีดำและตกแต่งสี Piano black กับแถบสีเงิน

พวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่น มีระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย (Paddle Shift)

มาตรวัดพร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ TFT ขนาด 4.2 นิ้ว

ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัส 7 นิ้ว แบบ Advanced Touch รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto

ลำโพง 6 ตำแหน่ง ช่องเชื่อมต่อ USB 2 ตำแหน่ง ช่องจ่ายไฟสำรอง 2 ตำแหน่ง

 

เครื่องยนต์ DOHC i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร กำลังสูงสุด 121 แรงม้า ที่ 6,600 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุดที่ 145 นิวตัน-เมตรที่ 4,300 รอบต่อนาที ระบบเกียร์ CVT

เทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะ ฮอนด้า เซนส์ซิ่ง (Honda SENSING) ทำงานผ่านกล้องมุมมองกว้างด้านหน้า ช่วยตรวจจับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จักรยาน และคนเดินถนน

อาทิ ระบบเตือนการชนพร้อมระบบช่วยเบรก

ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน

ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนที่

กล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมอง 3 ระดับ ฯลฯ

ฮอนด้า ดับเบิลยูอาร์-วีใหม่ มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย

รุ่น SV ราคา 799,000 บาท

รุ่น RS ราคา 869,000 บาท

ปิดท้ายที่นิสสัน “คิกส์ อี-เพาเวอร์” ที่ล่าสุดปรับโฉมพร้อมหั่นราคาลงชนิดที่น่าตกใจ

เพราะราคาลดลงเกือบๆ 2 แสนบาท

จุดเด่นไม่พ้นขุมพลังกึ่งไฟฟ้า เพราะเครื่องยนต์มีหน้าที่เพียงผลิตไฟฟ้าไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ที่ใช้ขับเคลื่อนตัวรถ

พูดง่ายๆ อารมณ์ขับขี่ไม่ต่างจากรถไฟฟ้า ที่มีเครื่องผลิตไฟฟ้าอยู่ในตัว ไม่ต้องเข้าสถานีชาร์จเพื่อเติมพลัง

ระบบขับเคลื่อนอี-เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น 2 รวมเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) กับมอเตอร์ไฟฟ้า (Electric Motor) ไว้เป็นยูนิตเดียวกัน ทำให้มีน้ำหนักเบาลง 30%

เพิ่มขนาดแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนเป็น 2.06 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) เพิ่มประสิทธิภาพขึ้น 30% เทียบกับรุ่นก่อนหน้า

ระบบอี-เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น 2 ให้กำลังสูงสุด 136 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 280 นิวตัน-เมตร

ขณะที่เครื่องยนต์ใช้แบบ DOHC 3 สูบ 12 วาล์ว ความจุ 1.2 ลิตร แม้จะดูเหมือนไม่ใหญ่นักแต่เพราะทำหน้าที่เพียงผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น จึงไม่มีผลต่อการใช้งานโดยตรง

ด้วยเครื่องยนต์บล็อกเล็กพลอยทำให้ประหยัดน้ำมันไปด้วย

 

เทคโนโลยีความปลอดภัยแบบขั้นสูงรอบคัน Nissanž 360 SAFETY SHIELD

เติมเข้ามาคือเทคโนโลยีแจ้งเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง หรือ Lane Departure Warning (LDW)

ส่วนอื่นๆ ยังอยู่ครบ อาทิ เปิด-ปิดไฟสูงอัตโนมัติ ปรับระดับการส่องสว่างของไฟหน้า พร้อมตรวจจับและตอบสนองความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของรถที่วิ่งสวนทางแบบอัตโนมัติ

ควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ, ช่วยเบรกฉุกเฉินอัจฉริยะ, เตือนก่อนการชนด้านหน้าอัจฉริยะ และกล้องมองรอบคัน ฯลฯ

ส่วนรูปลักษณ์ภายนอก-ภายใน ไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมมากนัก ยกที่เด่นๆ มาเอ่ยถึงแล้วกัน

กระจังหน้าวีเชฟขนาดใหญ่สีดำตัดโครเมียม โคมไฟหน้าเรียวเล็กเพิ่มความสปอร์ต

ระบบเกียร์ทรงเป็นเหลี่ยมๆ ขยับขึ้นลงยกมาจาก “นิสสัน อริยะ” รถอีวีรุ่นดังของค่าย

มีแสงสร้างบรรยากาศในรถแซมตามจุดต่างๆ และบริเวณที่วางเท้า สามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามใจชอบ

นิสสันคิกส์ อี-เพาเวอร์ มี 3รุ่นย่อยหลักๆ รุ่น E 759,000 บาท, V 829,000 บาท และ VL 899,000 บาท

นอกจากนี้ มีรุ่นแต่งพิเศษ AUTECH 949,000 บาท •

 

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ | สันติ จิรพรพนิต

[email protected]