‘อินฟลูฯ’ ขอ ‘กินฟรี’ ปัญหานี้เจอกันทั่วโลก

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

‘อินฟลูฯ’ ขอ ‘กินฟรี’

ปัญหานี้เจอกันทั่วโลก

 

ทุกวันนี้สถานที่ที่น่าสนใจน่าแวะไปเที่ยวแทบทั้งหมดล้วนคลาคล่ำไปด้วยคนที่ถูกเรียกหรือเรียกตัวเองว่า “อินฟลูเอนเซอร์” ทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ รีสอร์ต สถานที่ท่องเที่ยว ต่างก็ถูกจับจองพื้นที่ด้วยคนที่ตั้งใจเดินทางไปทำคอนเทนต์ ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ เพื่อลงโซเชียลมีเดียของตัวเอง

แน่นอนว่าเมื่อตั้งใจจะไปทำคอนเทนต์ที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของสถานที่ “อินฟลูฯ” เหล่านั้นก็คาดหวังจะได้รับของฟรีเป็นผลตอบแทน อย่างการกินฟรี พักฟรี หรือเที่ยวฟรี เป็นต้น

เมื่อไม่กี่วันมานี้ฉันเห็นโพสต์ผู้ใช้เฟซบุ๊กนิรนามคนหนึ่งที่เขียนตัดพ้อในกรุ๊ปว่า “ร้าน xxx คือแย่มาก วันนี้เราไปร้านกับเพื่อนที่เป็นอินฟลูด้วยกันสองคน พวกเราถ่ายรูปโปรโมตร้านให้ ลง TikTok ให้ด้วย แต่ร้านคือไม่เลี้ยงดริงค์อินฟลูเลย นิสัยแบบนี้คงจะมีคนรู้จักร้านอะเนอะ ถึงว่าร้านเงียบเชียว โชคดีนะคะ”

โพสต์จริงเขียนว่า นะค่ะ แต่ฉันแก้ให้เลยก็แล้วกัน ไม่ต้องถึงมือทีมบรรณาธิการมติชนรายสัปดาห์

คอมเมนต์ใต้โพสต์ค่อนข้างดุเดือด หลายคนได้โอกาสในการระบายความรู้สึกว่าเหนื่อยหน่ายมากกับการไปร้านต่างๆ และต้องเจอบรรดาอินฟลูฯ ที่แห่แหนกันมาถ่ายภาพ ถ่ายคอนเทนต์ จนรบกวนความสงบของลูกค้าคนอื่นๆ

หลายคอมเมนต์เลือกใช้วาทะที่เผ็ดร้อนยิ่งกว่านั้นคือตั้งคำถามว่าตกลงจะเป็นอินฟลูฯ หรือจะเป็นขอทานกันแน่

เพจเฟซบุ๊กที่หยิบเรื่องนี้มาแชร์คือเพจบาร์ที่ขอระบายความอัดอั้นตันใจไปด้วยว่าที่ร้านเองก็เจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ จู่ๆ ก็จะมีคนยื่นมือถือใส่หน้าแล้วบอกว่า “หนูรีวิวร้านลง TikTok ให้แล้วนะ ขอดริงก์หน่อยสิ”

ทางร้านบอกว่าอินฟลูฯ พวกนี้ใช้คำว่า ‘รีวิว’ มาอ้างขอของฟรีโดยไม่เปิดโอกาสให้ทางร้านได้เลือกเลยว่าต้องการรีวิวจากคนเหล่านี้หรือไม่

เพจยังบอกอีกว่าเจอคนประเภทนี้เยอะมาก บางทีก็มาใช้ร้านเป็นสถานที่ถ่ายรีวิวเสื้อผ้า มากันหลายคนแต่สั่งเครื่องดื่มแค่แก้วเดียวแล้วผลัดกันไปเปลี่ยนชุดในห้องน้ำเพื่อออกมาถ่ายรีวิวแบบไม่ต้องจ่ายค่าใช้สถานที่

อินฟลูฯ ขอของฟรีไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะแค่ในประเทศไทยเราเท่านั้น นี่เป็นปัญหาระดับสากลที่ธุรกิจไม่ว่าเล็กมากหรือใหญ่มากล้วนเผชิญกันมาแล้วและกำลังเผชิญอยู่กันทั่วโลก จนธุรกิจหลายแห่งตัดสินใจแบนอินฟลูเอนเซอร์ไม่ให้เข้ามาใช้บริการเสียเลย

ร้านเสื้อผ้าและคาเฟ่แห่งหนึ่งในบรูกลิน นิวยอร์ก เป็นร้านสุดชิกที่แต่งร้านได้น่ารักเหมือนหลุดออกมาจาก Pinterest จนกลายเป็นแหล่งรวมตัวสุดฮิตของเหล่าอินฟลูฯ ที่หอบขาตั้งกล้องเข้ามาทำคอนเทนต์กันเกลื่อนร้าน

สิ่งที่คาเฟ่แห่งนี้เจอไม่แตกต่างจากที่คาเฟ่ในไทยที่แต่งร้านสวยแทบทุกร้านต้องเจอก็คืออินฟลูฯ เข้ามายึดพื้นที่ร้านเพื่อใช้ถ่ายแบบแทนสตูดิโอ สั่งเครื่องดื่มแก้วเดียวแต่ใช้สถานที่ร้านถ่ายภาพแฟชั่นชูตส่วนตัวกันยาวนานถึงสองชั่วโมง

บางคนไม่ได้สั่งอะไรด้วยซ้ำแต่แอบถ่ายภาพอาหารเครื่องดื่มที่โต๊ะข้างๆ สั่งเพื่อเอาไปลงโซเชียลมีเดียของตัวเอง

สถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่ทางร้านต้องออกประกาศว่านับจากนี้เป็นต้นไปร้านขอแบนอินฟลูเอนเซอร์ทุกคนไม่ให้เข้ามาใช้บริการอีกต่อไป แถมยังบอกว่ารู้สึกเสียใจมากที่ไม่ออกนโยบายนี้มาตั้งแต่แรกเพราะนึกไม่ถึงจริงๆ ว่ามันจะย่ำแย่ได้ขนาดนี้

 

ปี 2018 โรงแรมในไอร์แลนด์ประกาศแบนบล็อกเกอร์ทุกคนหลังจากที่มีอินฟลูฯ พยายามส่งเมลมาขอพักฟรีเพื่อแลกกับการทำคอนเทนต์ (ที่ทางโรงแรมไม่ได้ขอ)

และในปี 2020 คาเฟ่ในไต้หวันก็ประกาศแบนอินฟลูฯ ‘อย่างเด็ดขาด’ แถมออกกฎสุดโหดเพิ่มว่าลูกค้าแต่ละคนต้องสั่งเครื่องดื่มอย่างน้อยหนึ่งแก้ว ร้านจะไม่รับลูกค้ากลุ่มที่ใหญ่กว่าสี่คน และขอให้ทุกคนเคารพพื้นที่และลูกค้าคนอื่นๆ

ถ้าไม่เจอเหตุการณ์จนถึงขั้นเหลืออดจริงๆ ก็คงไม่มีร้านไหนที่กล้าตัดขาดลูกค้าได้เบอร์นี้

ฉันเชื่อว่าการออกนโยบายแบนอินฟลูฯ ไม่ใช่การตัดสินใจง่ายๆ ที่ทุกร้านจะใจแข็งทำได้ ยิ่งย้อนไปก่อนหน้านี้หลายปีคงไม่มีใครกล้าทำ เพราะใครล่ะจะกล้าท้าทายพลังของโซเชียลมีเดีย แต่ในปี 2023 เราได้เห็นแล้วว่าใครๆ ก็สามารถเรียกตัวเองเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้และหลายคนทำคอนเทนต์เพื่อชื่อเสียงของตัวเองบนต้นทุนของคนอื่น

การแบนอินฟลูฯ ที่เคยเป็นเรื่องตัดสินใจยากก็เลยก็เลยง่ายขึ้นเรื่อยๆ

 

เว็บไซต์ Mashable หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาเรื่องหนึ่งคือการที่ธุรกิจมีชื่อเสียงกลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดียไม่ได้แปลว่าเป็นเรื่องดีสำหรับธุรกิจนั้นๆ เสมอไป บางธุรกิจไม่ได้มีทรัพยากรที่พร้อมรับการเติบโตอย่างกะทันหัน อย่างเช่น ร้านอาหารที่อินฟลูแห่กันไปรีวิวจนโด่งดังขึ้นมาอาจจะไม่ได้มีโครงสร้างที่พร้อมจะรับดีมานด์ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วได้จนท้ายที่สุดโชคลาภก็กลายเป็นทุกขลาภและส่งผลเสียต่อร้านในระยะยาว

การจะโปรโมตธุรกิจด้วยกลยุทธ์การตลาดอินฟลูเอนเซอร์จึงจำเป็นเป็นอย่างมากที่จะต้องเกิดขึ้นกับธุรกิจที่พร้อมจะโปรโมต พร้อมรับลูกค้าที่จะหลั่งไหลมาโดยคุณภาพของสินค้าและบริการไม่ตก ธุรกิจเองก็ควรจะต้องมีสิทธิในการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขาเชื่อใจเพื่อมาเป็นกระบอกเสียงให้กับตัวเองด้วย

อีกประเด็นที่ควรค่าแก่การนำไปพิจารณาก็คือธุรกิจต้องการฐานลูกค้าที่ยั่งยืน แต่ฐานลูกค้าที่มาจากอินฟลูฯ บางกลุ่มอาจเป็นลูกค้าฉาบฉวยที่มาตามกระแสและจากไปอย่างรวดเร็วโดยที่ยังไม่ทันได้สร้างความสัมพันธ์กันด้วยซ้ำ หากไม่ระวังให้ดีก็อาจจะไปกระทบกระเทือนและไล่ลูกค้าตัวจริงไปโดยไม่ตั้งใจ

ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ได้แปลว่าฉันสนับสนุนให้ทุกธุรกิจร้านค้าแบนอินฟลูเอนเซอร์กันให้หมดนะคะ บางร้านอาจจะได้รับประโยชน์และเติบโตได้ภายในเวลารวดเร็วจากพลังของโซเชียลมีเดียก็ได้

สิ่งที่ฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากก็คือการทำความเข้าใจธุรกิจของตัวเองให้ดีที่สุดว่าธุรกิจของเราเหมาะกับการตลาดแบบอินฟลูฯ หรือไม่ การให้ของฟรีอินฟลูฯ ทุกคนที่เดินเข้ามาให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือเปล่า บางร้านที่มีชื่อเสียงและโซเชียลมีเดียของตัวเองที่แข็งแรงอยู่แล้วยังจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้อินฟลูฯ มาช่วย หรือจะใช้อินฟลูฯ อย่างไรให้ไม่รบกวนลูกค้าออฟไลน์ที่มาเพราะชอบจริงๆ ไม่ได้มาเพราะได้ของฟรีหรือเพราะเป็นกระแสอยู่ในขณะนั้น

นี่เป็นเรื่องที่ธุรกิจควรมีนโยบายแล้วตั้งแต่วันนี้เพราะไม่ว่าจะอย่างไรจำนวนอินฟลูฯ มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีลดน้อยลงอย่างแน่นอน