วิช่วลคัลเจอร์ ประชา สุวีรานนท์ / พิมพ์ดีดกับการพิชิตดินแดน (2)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

พิมพ์ดีดกับการพิชิตดินแดน (2)

แม้พิมพ์ดีดจะเป็นเทคโนโลยีขนาดเล็ก แต่ก็เหมือนกับรถไฟและโทรเลข ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ คือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่เรียกว่าระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบใหม่ในรัชกาลที่ 5 และมีบทบาทเป็นอัตลักษณ์ของรัฐ-ชาติสมัยใหม่

นอกจากนั้น การเขียนด้วยเครื่องจักรยังได้เข้าไปเปลี่ยนวิธีการทำงาน เช่น เรียกร้องให้เลิกทักษะแบบเก่า และเปิดโอกาสให้ความชำนาญแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น พิมพ์ดีดจึงหมายถึง “ยุคใหม่” หรือ “ความทันสมัย”

บทบาทของพิมพ์ดีด ทั้งเพื่อการปกครอง การค้า และกิจกรรมส่วนตัว ได้ขยายตัวมากขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนในสังคม

ทุกวันนี้ อาจจะถูกมองว่าเป็นอุปกรณ์ล้าสมัย และมีคุณค่าเพียงในแง่ nostalgia หรือโหยหาอดีต และในแง่แบบอักษร อาจจะถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะที่เน้นความเก่า

แต่ความสำคัญของมันจะมีมากขึ้น ถ้ามองว่าสิ่งที่พิมพ์ดีดทิ้งไว้เป็นมรดกตกทอด หรือส่งอิทธิพลมาถึงปัจจุบันคือ แป้นอักษร หรือวิธีวางอักษรของดีไวซ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสาร เช่น คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ

ซึ่งเหมือนกับที่ออกแบบไว้เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว แป้นอักษรยังทำหน้าที่ติดต่อประสานงานระหว่างเครื่องจักรกับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นอักษรบนกระดาษหรือจอภาพ มีฐานะเป็นเทคโนโลยีหรือสิ่งเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร (interface) แบบหนึ่ง

และนับเป็นส่วนประกอบที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์มากที่สุด

ในแง่แบบอักษร ตัวพิมพ์ดีดรุ่นแรกคล้ายกับ บลัดเลเหลี่ยม หรือตัวพิมพ์ตะกั่วรุ่นแรกๆ ซึ่งมีส่วนบนของอักษรเป็นเส้นตรงและหักเป็นมุมแหลม ที่ไม่เหมือนกัน คือ มีความกว้างของอักษรเท่ากันหมดทุกตัว (fixed width) บางตัวถูกบีบเพื่อให้มีความกว้างใกล้เคียงกัน

จุดเด่นคือแป้นอักษร ซึ่งมีมากกว่า 80 ปุ่ม (แถวละ 12 ปุ่ม มี 7 แถว) ทั้งนี้เพราะยังไม่มีปุ่ม shift สำหรับเลื่อนแคร่ของก้านตัวพิมพ์ขึ้นลง ทำให้ก้านตัวพิมพ์แต่ละอันสามารถบรรจุตัวอักษรได้เพียงหนึ่งตัว

ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ ในหนังสือ “ตำนานอักษรไทย” ได้บอกว่าด้วยความจำกัดดังกล่าว เครื่องรุ่นนี้จึงไม่ได้บรรจุอักษร ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) และเครื่องหมายวรรคตอนบางตัว

การไม่มีอักษรเหล่านี้ กลายเป็นมาตรฐานอยู่นานหลายสิบปี กว่าจะถูกบรรจุกลับเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์

ในยุคแรกๆ พิมพ์ดีดถูกผลิตขึ้นมาหลายยี่ห้อ นอกจากสมิธ พรีเมียร์ ยังมีโอลิเวอร์ (Oliver) รุ่น Visible Writer ซึ่งผลิตขึ้นราว พ.ศ.2467 จุดเด่นคือก้านตัวอักษรเป็นแบบตอกจากด้านบน ไม่ใช่จากด้านหน้า ซึ่งทำให้มองเห็นอักษรที่พิมพ์ได้ง่ายและเครื่องมีขนาดกะทัดรัดมากขึ้น

รุ่นนี้มีปุ่มที่ยกแคร่หรือ shift ได้ถึงสามระดับ แป้นอักษรจึงมีสามแถว หรือมีการเรียงอักษรที่ต่างออกไป

ราวปี พ.ศ.2474 หลังจากที่ สมิธ พรีเมียร์ขายสิทธิบัตรการผลิตเครื่องพิมพ์ดีดให้บริษัทเรมิงตัน (Remington) สหรัฐอเมริกา แม็กฟาร์แลนด์ได้ร่วมมือกับเรมิงตันปรับปรุงเครื่องพิมพ์ดีดไทย โดยทำให้แต่ละก้านตัวพิมพ์ สามารถบรรจุตัวอักษรได้ถึงสองตัว และบังคับด้วยการกดปุ่ม shift ถ้ากดปุ่มนี้ก่อนจะกดปุ่มอักษร ก็จะได้ตัวพิมพ์แบบที่สอง

เมื่อลดจำนวนปุ่มลงได้ราวครึ่งหนึ่ง แป้นจึงกลายเป็นแบบ 4 แถวซึ่งเอื้อต่อการพิมพ์สัมผัส มีการวางตำแหน่งอักษรใหม่ โดยมีหลักการว่าจะวางตัวที่มีสถิติใช้บ่อยในตำแหน่งที่พิมพ์ได้ง่าย

ผู้ผลิตได้มอบให้ นายสวัสดิ์ มากประยูร เป็นช่างประดิษฐ์ก้านตัวพิมพ์ และ นายสุวรรณประเสริฐ เกษมณี เป็นผู้กำหนดตำแหน่งอักษรบนแป้น

แป้นพิมพ์ใหม่คือระบบ “ฟ ห ก ด ่ า ส ว” หรือที่มีชื่อว่า “เกษมณี” ตามชื่อผู้ออกแบบ และเป็นมาตรฐานมาจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ.2508 นายสฤษดิ์ ปัตตะโชติ ขณะเป็นนายช่างกรมชลประทาน ได้ออกแบบการจัดวางตำแหน่งอักษรใหม่ โดยตั้งชื่อว่า “แป้นปัตตะโชติ” การปรับปรุงครั้งนี้ ต้องการเฉลี่ยการใช้นิ้วมือหรือมี finger loads ในปริมาณที่เหมาะสมกว่าเดิม แม้จะไม่ได้บรรจุอักษร ฃ, ฅ และเครื่องหมายวรรคตอนของไทยเข้าไปด้วย ปัตตะโชติได้รับการยอมรับจากสภาวิจัยแห่งชาติยุคนั้น ว่าสามารถพิมพ์ได้เร็วกว่าเกษมณีถึง 25.8% อีกทั้งแนะนำให้ทุกคนในชาติหันมาใช้แป้นพิมพ์ชนิดใหม่นี้

แต่ไม่ใช่ง่าย คนคุ้นเคยกับเกษมณีแล้ว และแม้คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลยุคนั้นได้ลงมติให้หน่วยงานราชการเปลี่ยนไปใช้ปัตตะโชติ แป้นแบบนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมมากกว่า กระทั่งกลายเป็นมาตรฐานสำหรับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

การต่อสู้กันของแป้นอักษร เป็นตัวอย่างของทัศนะเกี่ยวกับเทคโนโลยีสองแบบ

เช่น ถ้ามองว่าเทคโนโลยีเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ (และมวลชนเป็นอุปสรรคที่ทำให้สังคมไม่ได้รับเทคโนโลยีที่ดี) ก็จะเห็นว่าปัตตะโชติเป็นตัวอย่างของความล้มเหลว

แต่ถ้ามองว่าการเขียน แม้จะด้วยเครื่องจักร เป็นความคุ้นเคยที่สำคัญและเปลี่ยนไม่ได้ง่ายๆ

หรือมองว่ามวลชนเป็นผู้กำหนดเทคโนโลยี ก็จะเห็นว่าเกษมณีเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ

หลายสิบปีจากนั้น เอกสารพิมพ์ดีดกลายเป็นสิ่งจำเป็น และความต้องการที่จะทำให้การสื่อสารแบบนี้รวดเร็วและชัดเจนก็มีมากขึ้น กลไกของเครื่องถูกปรับปรุงอีกหลายครั้ง เช่น เปลี่ยนเป็นพิมพ์ดีดไฟฟ้า ส่วนเทคนิคการพิมพ์ จากอักษรที่อยู่บนก้าน เปลี่ยนเป็นบนลูกกอล์ฟ บนแผ่นดิสก์ รวมทั้งที่เกิดจากการถ่ายด้วยแสง (phototypsetting)

ในแง่แบบอักษร ตัวพิมพ์ดีดเปลี่ยนเป็นแบบเส้นบนโค้งหรือใช้เส้นที่มีความหนักเบามากขึ้น

ในหนังสือ ลายสือไทย 700 ปี (พ.ศ.2530) ของ กำธร สถิรกุล แสดงหน้าตาของตัวพิมพ์ดีดหลายยุค เช่น เอกสารราชการของเจ้ากรมสารบรรณ หอรัษฎาพิพัฒน์ ร.ศ.111 (พ.ศ.2435)

และอีกสามแบบของโอลิมเปียและไอ.บี.เอ็ม.

รวมทั้งแบบโฟโต้ที่เรียกว่า คุรุสภา ซึ่งออกมาในยุคแรกของการพิมพ์ออฟเซ็ต (พ.ศ.2500-2512)