การปรากฏคำว่า ‘เอกราษฎร์’ แทนที่ ‘เอกราช’ ภายหลังการปฏิวัติ 2475 | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

คู่มือพลเมือง (2479) ที่รัฐบาลคณะราษฎรแจกจ่ายให้แก่ราษฎรในครั้งนั้น อธิบายวิวัฒนาการการปกครองว่า “เมื่อก่อนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ประเทศสยามมีการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นประมุขของประเทศทรงไว้ซึ่งอำนาจเด็ดขาด ไม่ทรงอยู่ใต้บังคับแห่งบทกฎหมายใดๆ”

(สำนักงานโฆษณาการ, 2479, 29)
เปลี่ยนราษฎรให้มีสำนึกพลเมือง

 

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 กลุ่มอนุรักษนิยมพยายามต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่ถืออำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชนด้วยหลากหลายวิธีการ และสุดท้ายพวกเขาเลือกใช้การก่อกบฏบวรเดช (2476) พร้อมความพยายามแสวงหาการสนับสนุนจากราษฎรที่คุ้นเคยกับการถูกปกครองมาอย่างยาวนาน

แม้นรัฐบาลคณะราษฎรจะมีชัยเหนือกลุ่มอนุรักษนิยมได้ แต่เห็นว่าสมควรมีโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยให้กว้างขวาง เพื่อทำให้ราษฎรมีความตระหนักในความสำคัญของตนเอง เป็นส่วนหนึ่งของชาติ เป็นเจ้าของประเทศ แต่ด้วยเหตุที่ราษฎรยังขาดการศึกษา อ่านออกเขียนได้น้อย ดังนั้น รัฐบาลจึงใช้นโยบายเชิงรุกในการเดินทางเข้าหาประชาชนในชนบทในที่ทุรกันดารต่างๆ เพื่อสื่อสารทางการเมืองระหว่างกัน (สุวิมล พลจันทร์, 24)

จากบันทึกภาคสนามของข้าราชการที่เดินทางไปปาฐกถาตามชนบทพื้นที่ห่างไกลภายหลังการปฏิวัติบันทึกว่า ราษฎรในพื้นที่ห่างไกลไม่มีความรู้ว่าพวกเขามีความสำคัญในการปกครอง ราษฎรไม่อยากเกี่ยวข้องกับการปกครอง ด้วยพวกเขาถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบมายาวนาน ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ส่งผลให้พวกเขาปราศจากความสำนึกว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการปกครองเดิมที่เชื่อกันว่าประเทศนั้นเป็นของ “คนใดคนหนึ่ง” (เขมชาติ, 2478)

คู่มือพลเมือง (2479) เสนอคำว่า “เอกราษฎร์” แทนคำว่า “เอกราช”

เอกราษฎร์ คือ ชาติ สำคัญสูงสุด

คณะราษฎรพยายามผลักดันคำใหม่ ความหมายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชาติ” ในความหมายใหม่อันหมายถึงประชาชนผู้มีความเท่าเทียมกัน ผู้เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องคุ้มครองชุมชนทางการเมือง และเป็นใหญ่ตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร (27 มิถุนายน 2475) ให้เป็นมโนทัศน์ใหม่ด้วยคำใหม่ว่า “เอกราษฎร์” แทนคำเก่าที่ใช้สืบต่อกันมาว่า “เอกราช”

ในคู่มือพลเมือง (2479) ให้คำอธิบาย “ชาติ” ตามความหมายใหม่ว่า คือชุมชนที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่สืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน ชาติมีจิตใจร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว

ชาติไทยสืบต่อมาได้จาก “บรรพบุรุษของเราได้พลีชีวิตและเลือดเนื้อทำการปกป้องกันศัตรูที่มารุกรานเพื่อรักษาไว้ซึ่ง ‘ความเป็นเอกราษฎร์’ ของบ้านเมือง” หลายครั้งที่ชาติไทยต้องตกอยู่ใต้อำนาจของชาติอื่น แต่ด้วยความพยายามและความเสียสละของบรรพบุรษของเรา ชาติไทยจึงหลุดพ้นจากความเป็นทาสมาได้ (1-6)

อีกทั้งการปรากฏคำว่า “เอกราษฎร์” และการอธิบายความหมายคำว่า ชาติ ในฐานะชุมชนทางการเมืองที่ประกอบด้วยประชาชนผู้เสียสละปกป้องชาตินั้น จึงเป็นความพยายามของคณะราษฎรในการสร้างคำใหม่ และความหมายใหม่ที่สอดคล้องกับระบอบการปกครองใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้น

อันแนวคิดดังกล่าวปรากฏในเพลงชาติว่า “แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา รวมรักษาสามัคคีทวีไทย บางสมัยศัตรูจู่โจมตี ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่ เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา” (ขุนวิจิตรมาตรา, 2475)

จะเห็นได้ว่า เพลงชาติที่เกิดขึ้นในระบอบใหม่นำเสนอว่า ชาติไทยประกอบขึ้นจากชนชาติไทยผู้เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อปกป้องอิสรภาพและความปลอดภัยของชุมชนทางการเมืองนี้ และในเพลงชาติยังปรากฏคำว่า “เอกราษฎร์” บทร้องเพลงชาติว่า “เอกราษฎร์ คือ กระดูกที่เราบูชา” (ขุนวิจิตรมาตรา, 2475)

หากเปิดเข้าไปดูในคู่มือพลเมืองจะพบว่าปกในของหนังสือนี้ปรากฏคำว่า “ไทย-เอกราษฎร์” อันหมายถึง ชาติไทยคือเหล่าราษฎรผู้เป็นใหญ่ ผู้เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องชุมชนทางการเมืองนี้นั่นเอง

ทั้งนี้ พระยาอุปกิตศิลปสารเคยเล่าไว้ว่า ภายหลังการปฏิวัติ 2475 แล้ว คณะราษฎรใช้คำว่า “เอกราษฎร์” ในความหมายที่ราษฎรเป็นใหญ่แทนคำว่า “เอกราช” ด้วยเหตุที่ความหมายของคำเดิมคืออำนาจการปกครองอยู่ที่บุคคลคนเดียว หรือพระราชา ผู้มีอำนาจปกครองที่ไม่ขึ้นแก่ใคร (อุปกิตศิลปสาร, 2484, 103)

นอกจากนี้ ช่วงเวลานั้นยังมีการผลักดันให้ใช้คำว่า “ข้ารัฐการ” แทนคำว่า “ข้าราชการ” อีกด้วย

ปฏิทินสงกรานต์ 2478 สะท้อนคติระบอบกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

วิจารณ์ “ระบอบเก่า” ในสมัยประชาธิปไตย

คู่มือพลเมืองวิจารณ์ระบอบเก่าไว้ว่า ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สยามมีการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นประมุขของประเทศทรงไว้ซึ่งอำนาจเด็ดขาด ไม่ทรงอยู่ใต้บังคับแห่งบทกฎหมายใดๆ การปกครองชนิดนี้เรียกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ พระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ในการปกครองรูปนี้ ราษฎรไม่มีส่วนได้รู้เห็นในกิจการของบ้านเมืองด้วย และรัฐบาลจะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับความเห็นชอบจากราษฎร เช่น ออกกฎหมายต่างๆ เป็นต้น

ดังนั้น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ให้บุคคลคนเดียวหรือคณะบุคคลมีอำนาจอย่างเด็ดขาดทำให้ประเทศล้าหลัง แต่โลกสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกับสากลโลกนั้นยากที่ให้รัฐบาลชนิดนี้พาประเทศให้บรรลุได้

“ใครจะไปรู้ทุกข์สุขของราษฎรดีไปกว่าราษฎรเอง ดั่งนี้ในปัจจุบันประเทศต่างๆ จึ่งได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแบบเดิมเสียสิ้นและหันมาใช้วิธีการปกครองที่ให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในกิจการบ้านเมือง” (29-30)

รถตกหล่มในการเดินทาง 2482 สมุดภาพกรมทางหลวง

“พลเมือง” ตามความหมายใหม่

เมื่อบรรยากาศทางการเมืองภายหลังการปฏิวัติ 2475 ได้เปลี่ยนแปลงความหมายใหม่ของคำว่า พลเมือง ให้มีความหมายกว้างขวางและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ดังที่

คู่มือพลเมืองเสนอว่า พลเมือง คือ ผู้มีสิทธิและหน้าที่อย่างสมบูรณ์ พลเมืองมิใช่ทาส มิใช่บ่าว ข้า ที่ถูกกระทำ เฆี่ยน ขัง หรือทรมานเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นสิ่งของเอาไปขายแก่ผู้ใดได้ ทาสไม่มีโอกาสใช้ความคิดหรือกำลังเพื่อประโยชน์ของชาติ นอกจากทำประโยชน์ให้แก่ผู้เป็นนายเท่านั้น พลเมืองสมัยประชาธิปไตย มีเสรีภาพ เสมอภาค มีสิทธิทางการเมือง มีโอกาสรู้เห็นการปกครอง ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะระหว่างพลเมือง “รัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้มีไพร่ มีข้า และมีบ่าว แต่ต้องการให้ทุกๆ คนเป็นพลเมืองโดยแท้จริง” (17-18)

ดัง เตียง ศิริขันธ์ ครูหนุ่ม ต่อมาเป็น ส.ส.สกลนคร ปฏิเสธความหมายเก่าของคำว่า พลเมืองดี ที่หมายถึง ผู้ที่รู้จักที่ต่ำที่สูงอันเป็นความหมายที่สืบทอดมาแต่ระบอบเดิมอย่างน่าสนใจว่า

“ถ้าความหมายของคำว่าพลเมืองดีแคบเข้าๆ ความเป็นคนของพลเมืองก็จะน้อยลงทุกที จนในที่สุด ความเป็นคนแก่ตนเองไม่มีเหลือ กลายเป็นเครื่องจักรที่จะเดินได้ ก็ต่อเมื่อมีคนอื่นมาทำให้เดิน เพราะฉะนั้น เราชาวไทยที่ต้องการความเจริญ จึงควรสำนึกในเรื่องนี้ไว้ เราเป็นเสรีชน เราไม่ใช่เครื่องจักร และเราไม่ใช่สัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยง เรามีทั้งความเป็นคนและมีทั้งความเป็นพลเมือง” (เตียง ศิริขันธ์, 2479, 271-272)

การเดินทางสมบุกสมบันบนทางเกวียนเมื่อ 2482 เครดิต : สมุดภาพกรมทางหลวง

ภยันตรายที่คุกคามประชาธิปไตย

คู่มือพลเมืองเตือนพลเมืองทั้งหลายว่า เพียงแค่ปีแรก “มิวายที่จะมีผู้คิดทำลายรัฐธรรมนูญเพื่อผันแปรการปกครองให้เป็นอย่างอื่น” (36) ครั้ง 1 คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาทูลแนะนำให้พระปกเกล้าฯ ปิดสภาผู้แทนฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ 1 เมษายน 2476 จวบจนกระทั่ง “คณะผู้นิยมรัฐธรรมนูญ” นำโดยพระยาพหลฯ บังคับให้พระยามโนปกรณ์ฯ ลาออก เพื่อให้การดำเนินการปกครองตามรัฐธรรมนูญดำเนินต่อไปได้

ครั้งที่ 2 การเกิดกบฏบวรเดช ด้วยพระองค์เจ้าบวรเดชทหารหัวเมืองลงมาเพื่อยึดอำนาจการปกครองและบังคับให้รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญลาออก เกิดการสู้รบเสียเลือดเนื้อคนไทยไปมากมาย แต่รัฐบาลสามารถปราบปรามกบฏทำให้รัฐธรรมนูญมั่นคงถาวร

คู่มือพลเมืองยังเตือนอีกว่า ระบอบประชาธิปไตยยังคงถูกคุกคาม “เพราะการปกครองเช่นนี้เป็นของใหม่ ยังมีผู้ที่ไม่นิยมคอยทำการขัดขวางมิให้ดำเนินไปโดยสะดวกอยู่เสมอ ต่อเมื่อใดราษฎรของเราได้รับการอบรมจนเคยชินกับการปกครองรูปนี้เพียงพอแล้ว เมื่อนั้นศัตรูรัฐธรรมนูญจึ่งจะไม่สามารถทำการขัดขวางได้…” (37)