ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | มุมมุสลิม |
เผยแพร่ |
มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม
อิสลามการเมือง
และหลังอิสลามการเมือง (จบ)
ในปากีสถาน อัลกออิดะฮ์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นองค์กรที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดจากส่วนกลาง ได้ปรับโครงสร้างตัวเองใหม่ ตอนนี้อัลกออิดะฮ์มีกลุ่มก้อนในเครือที่อยู่ในท้องถิ่นหลายแห่งในภูมิภาคต่างๆ ของเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ-อิรัก เยเมน โซมาเลีย ทางตอนใต้ของแอลจีเรีย มาลี และไนจีเรีย
ในขณะที่มีการแบ่งปันความกระตือรือร้นทางอุดมการณ์ของศูนย์กลางแห่งอัลกออิดะฮ์ (Al Qaeda Central) นั้นจะพบว่าส่วนใหญ่สมาชิกขององค์กรจะมีความเป็นอิสระในแง่ของการดำเนินงาน พวกเขาทำการโจมตีด้วยความรุนแรงหลายครั้งในช่วงปี 2000 ในส่วนต่างๆ ของโลก
บินลาดินถูกสังหารในเดือนพฤษภาคม 2011 โดยหน่วยรบพิเศษของสหรัฐ จากนั้นความเป็นผู้นำของอัลกออิดะฮ์ก็ตกเป็นของเพื่อนร่วมงานระยะยาวของเขาคือ อัยมาน อัล-ซาวาฮิรี ซึ่งเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์หลักขององค์กรด้วย
แต่ในไม่ช้าอัลกออิดะฮ์ก็ถูกครอบงำด้วยหายนะข้ามชาติรายใหม่ นั่นคือ การมาถึงของขบวนการ ISIS ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวในปี 2015 ว่า
ISIS “เกิดขึ้นจากการรุกรานของเรา ในอิรักในปี 2003 ซึ่งเป็นตัวอย่างของผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจ”
ISIS เป็นผลมาจากการก่อกวนที่จงใจให้เกิดผลในระเบียบทางการเมืองของอิรักโดยการโจมตีทางทหารของสหรัฐในอิรัก ในปี 2003 และการยึดครองประเทศในเวลาต่อมา จากการยึดครองของสหรัฐสิทธิพิเศษของชุมชนชาวชีอะฮ์ในอิรัก รวมทั้งนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง ก่อให้เกิดองค์กรการญิฮาดหรือนักต่อสู้ในทางศาสนาขึ้นมา
โดยความหมายของญิฮาดที่แท้จริงซึ่งหมายถึงการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปกป้องศาสนาอิสลามได้ถูกนำมาใช้โดยถูกตีความเสียใหม่ โดยเฉพาะจากประเทศตะวันตกว่าหมายถึงกลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรงเป็นด้านหลัก
ดังนั้น จึงมีการตีความว่านักต่อสู้ที่ใช้การญิฮาดที่เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกคือ ‘อัลกออิดะฮ์ในอิรัก’ ภายใต้การนำของอาบู มุสอับ ซัรกอวี (Abu Musab Sarqawi) ในปี 2007 รัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรียได้กลายมาเป็นรัฐอิสลามแต่เพียงอย่างเดียว (ISIS – IS) และในปี 2016 รัฐอิสลามมีนักรบญิฮาดข้ามพรมแดนเข้ามาร่วมอยู่กับความขัดแย้งและต่อต้านอะสัดผู้นำของซีเรีย
ระหว่างปี 2014 ถึง 2016 ภายใต้การนำของอบูบักร์ อัล-บัฆดาดี (Abu Bakr al-Baghdadi) กลุ่มไอเอสได้จัดตั้ง ‘หัวหน้ากลุ่มของตน’ ขึ้นทั่วอิรักและซีเรีย ผ่านการรณรงค์ด้วยความรุนแรงอันน่าสยดสยอง ซึ่งช่วยให้เกิดการสร้างรัฐต้นแบบที่มีขนาดเท่ากับประเทศอังกฤษ โดยมีประชากร 6-9 ล้านคน และกองทัพประจำการ 200,000 นาย มีคลังน้ำมันมูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐจากการขายน้ำมันและค่าไถ่ ทำให้เป็นองค์กรหัวรุนแรงที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
ไอเอสดึงดูดเยาวชนมุสลิมหลายพันคนให้เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานโดยทำให้พวกเขาประทับใจ
ในคำพูดของนักคิดอย่าง Gerges อุดมการณ์ของไอเอส “มีจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าในชีวิต นั่นคือ การเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจทางประวัติศาสตร์ในการฟื้นฟูเอกภาพอิสลาม ช่วยนำมาซึ่งการไถ่บาปและความรอด”
สิ่งนี้ยังทำให้ไอเอสมีมือระเบิดฆ่าตัวตายหลายคน
ซึ่งหลายร้อยคนมีความพร้อมสำหรับ “ปฏิบัติการพลีชีพ”
ไอเอสคาดการณ์ว่าตัวเองเป็นคู่แข่งกับอัลกออิดะฮ์ในแง่ของอุดมการณ์และปฏิบัติการ
สิ่งสำคัญคือ ในขณะที่อัลกออิดะฮ์ยังคงมุ่งความสนใจไปที่ ‘ศัตรูที่อยู่ห่างไกล’
แต่อัล-บัฆดาดีผู้นำกลับมุ่งเน้นไปที่ ‘ศัตรูที่อยู่ใกล้’ โดยให้ความสำคัญกับการเมืองของอัตลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตลักษณ์ของสำนักคิด อัล-บัฆดาดี เดินตามรอยเท้าของซัรกอวี โดยสร้างความรุนแรงอย่างไม่ธรรมดาต่อผู้นับถือสำนักคิดชีอะฮ์ในอิรัก
นักต่อสู้ที่ถูกตีความว่าเป็นนักญิฮาดกำลังล่าถอย
อัยมาน อัล-ซาวาฮิรี ถูกสังหารจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของสหรัฐที่บ้านพักของเขาในกรุงคาบูล เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2022 ในช่วงที่เขาเป็นผู้นำกลุ่มอัลกออิดะฮ์มายาวนานกว่าทศวรรษ
จากนั้นองค์กรก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ดังที่ Daniel Byman นักวิชาการด้านเอเชียตะวันตกศึกษา ได้กล่าวไว้ว่า แม้ว่าจะมีการโจมตีเป็นระยะๆ โดยกลุ่มก้อนในเครือบางส่วน แต่กลุ่มที่เป็นแกนหลักก็ไม่ได้ทำการโจมตีใดๆ ที่น่าตื่นเต้นต่อเป้าหมายของตะวันตกอีกต่อไป
นักวิชาการด้านเอเชียตะวันตกอีกคนหนึ่งอย่าง Cole Bunzel กล่าวว่า ซาวาฮิรีได้ทิ้ง “องค์กรที่ระส่ำระสาย” ไว้เบื้องหลัง
ไอเอสอาการไม่ดีขึ้น ภายใต้การนำของสหรัฐ ไอเอสสูญเสียดินแดนในอิรักอย่างต่อเนื่องให้กับกองกำลังติดอาวุธของอิรักที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีในช่วงปี 2015-2017 โมสุลถูกยึดคืนในเดือนกรกฎาคม 2017 ในเดือนธันวาคม 2017 ฮัยดัร อัล-อบาดี (Haidar al-Abadi) นายกรัฐมนตรีอิรักประกาศยุติสงคราม
ในซีเรีย สหรัฐระดมกองกำลังป้องกันซีเรีย (SDF) ของชาวเคิร์ดเป็นส่วนใหญ่ และยึดคืนเมืองใหญ่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของไอเอส อย่างเช่นเมืองแมนบี (Manbi) ในปี 2016 รักเกาะฮ์ (Raqqa) ในปี 2017 และฐานที่มั่นสุดท้ายคือเมืองบากูซ (Baghouz) ในปี 2017
อัล-บัฆดาดีฆ่าตัวตายในเดือนตุลาคม 2019 เมื่อเขาเผชิญหน้ากับกองกำลังสหรัฐที่บาริชา (Barisha) ในจังหวัดอิดลิบ (Idlib) ของซีเรีย
แนวโน้มของการญิฮาดข้ามชาตินั้นดูเยือกเย็น แม้ว่าซาวาฮิรีจะพำนักอยู่ในกรุงคาบูล แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่ากลุ่มฏอลิบานอนุญาตให้กลุ่มอัลกออิดะฮ์ตั้งหลักแหล่งในประเทศได้ Bunzel อ้างถึงทีมของ UN ที่กล่าวในเดือนกรกฎาคม 2022 ว่า กลุ่มฏอลิบาน “ห้ามไม่ให้อัลกออิดะฮ์วางแผนการโจมตีดินแดนที่อยู่ภายนอกอัฟกานิสถาน” ในขณะที่ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่อเมริกันกล่าวว่าอัลกออิดะฮ์มีสมาชิกแกนหลักเพียงโหลเดียวในอัฟกานิสถาน
ในส่วนของไอเอสพบว่าได้ลดจำนวนลงเหลือเพียงผู้พลัดหลงไม่กี่คนในอิรักและซีเรีย ซึ่งใช้ความรุนแรงประปราย แต่ไม่มีภัยคุกคามใดนอกประเทศเพื่อนบ้านทั้งสอง
‘รัฐอิสลาม-คูรอซาน’ ในอัฟกานิสถาน มีความสามารถในการดึงดูดสมาชิกจำนวนมากจากอัฟกานิสถานและปากีสถาน พวกเขาทำการโจมตีส่วนต่างๆ ของอัฟกานิสถาน แต่เป็นศัตรูของกลุ่มฏอลิบาน และมีรายงานการสู้รบระหว่างพวกเขาอยู่บ่อยครั้ง
ต้นตอของความรุนแรงแบบการญิฮาดในประเทศตะวันตกคือการโจมตีแบบ “หมาป่าเดียวดาย” โดยกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดสุดโต่งในตัวเอง ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับองค์กรหัวรุนแรง การโจมตีล่าสุด รวมถึงการลอบแทงผู้คนในลอนดอนและเมืองรีดดิ้งในสหราชอาณาจักร ปารีส, Conflans-Sainte-Honorine และนีซ (Nice) ในฝรั่งเศส รวมทั้งเดรสเดนในเยอรมนี ก็มีการกราดยิงโดยกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงเหล่านี้ในหลายพื้นที่ของสหรัฐ
พื้นที่หลักของปฏิบัติการญิฮาดที่จัดตั้งขึ้นในปัจจุบันคือเขตย่อยของทะเลทรายสะฮาราในแอฟริกา ซึ่งรวมถึงโซมาเลีย; ดินแดนที่เชื่อมโยงมาลี ไนเจอร์ และบูร์กินาฟาโซ และพื้นที่รอบทะเลสาบชาดและทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย
ในขณะที่กลุ่มติดอาวุธในดินแดนเหล่านี้ทำงานในนามของอิสลาม ฐานสนับสนุนของพวกเขาเกิดจากความคับข้องใจในท้องถิ่นเกี่ยวกับการปกครองที่ย่ำแย่หรือไม่มีอยู่จริง และความล้มเหลวของรัฐบาลในการให้บริการและโอกาสทางเศรษฐกิจ
ทำให้พวกเขาไม่มีความสามารถหรือความสนใจที่จะเริ่มการโจมตีนอกเขตแดนของพวกเขาแต่อย่างใด
ลัทธิหลังอิสลามการเมือง
: มุมมองและการพยากรณ์อนาคต
ในขณะที่การแสดงออกของอิสลามการเมืองทั้งหมดถูกลบออกจากพื้นที่สาธารณะทั่วเอเชียตะวันตกอย่างเป็นระบบ เรากำลังมองถึงระเบียบแบบหลังอิสลามการเมืองในภูมิภาคนี้หรือไม่?
ในปี 1996 อาเซฟ บาญาต (Asef Bayat) นักวิชาการชาวอิหร่านในสหรัฐ ได้คิดค้นคำว่า “ลัทธิหลังกลุ่มที่ใช้ชื่ออิสลาม” ซึ่งเขาได้อธิบายว่าเป็น “เงื่อนไขทางการเมืองและสังคม ซึ่งหลังจากช่วงของการทดลอง การอุทธรณ์ พลังงาน และแหล่งที่มาในความชอบธรรมของลัทธิอิสลามนิยมได้หมดสิ้นลงไปแล้วแม้แต่ในหมู่ผู้สนับสนุนที่ครั้งหนึ่งเคยกระตือรือร้น”
มีข้อสงสัยเล็กน้อยว่าขณะนี้เราอยู่ในสถานะ “หลังอิสลามนิยม” ในการเมืองเอเชียตะวันตก: ในขณะที่อิสลามทางการเมืองกำลังถอยหนี ความพยายามหลายครั้งในการจัดตั้งระเบียบของรัฐเสรีนิยมถูกขัดขวาง
การลุกฮือของอาหรับสปริงในปี 2010 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยคำขวัญ “เสรีภาพ ความยุติธรรม ศักดิ์ศรี” ไม่มีเนื้อหาหรือแรงบันดาลใจเกี่ยวกับอิสลามการเมือง แม้ว่าพรรคนิยมอิสลามซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างดีที่สุดในเวลานั้น จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งก่อนกำหนดก็ตาม
การลุกฮือครั้งที่สองในปี 2561-2563 ในซูดาน แอลจีเรีย เลบานอน และอิรัก ทำให้ผู้นำอีก 4 คนเสียชีวิต แต่กลุ่มนิยมอิสลามซึ่งอยู่ภายใต้แรงกดดันอยู่แล้ว ไม่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเหล่านั้น
แม้จะมีการก่อตัวครั้งใหญ่เหล่านี้ แต่ภูมิภาคนี้ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กองกำลังต่อต้านการปฏิวัติได้พิสูจน์แล้วว่าแข็งแกร่งเกินไป ในการตอบสนองต่อการลุกฮือของอาหรับสปริง
ในขณะที่รัฐในอ่าวที่ร่ำรวยน้ำมันได้เสนอเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐให้กับพลเมืองของพวกเขาเพื่อคลายความกระตือรือร้นในการเปลี่ยนแปลง
ความคงอยู่ของการต่อต้าน
เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องในการปฏิรูป รัฐในอ่าวส่วนใหญ่ได้จัดทำเอกสาร “วิสัยทัศน์” ที่มีความทะเยอทะยานเพื่อเตรียมประเทศของตนให้พร้อมสำหรับอนาคตหลังยุคน้ำมัน
พวกเขายังพยายามสร้างพันธมิตรเยาวชนในการปรับโครงสร้างทางการเมืองให้เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวาและน่าตื่นเต้นสำหรับความคิดสร้างสรรค์และองค์กร ซึ่งก่อตั้งขึ้นบนเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่จะพาประเทศของพวกเขาไปสู่ความเป็นผู้นำระดับโลก
สิ่งนี้สมเหตุสมผลเนื่องจากผู้มีอายุต่ำกว่า 25 ปีประกอบด้วยประชากรจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ไม่มีพื้นที่ใดใน “วิสัยทัศน์” เหล่านี้สำหรับการปฏิรูปการเมืองหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครอง
การมุ่งเน้นไปที่ศูนย์กลางของเอกลักษณ์ประจำชาติ เสริมด้วยคำขวัญ เช่น “ซาอุดีอาระเบียยิ่งใหญ่” หรือ “ซาอุดีอาระเบียสำหรับซาอุดีอาระเบีย”
การเมืองในเอเชียตะวันตกในช่วงศตวรรษครึ่งที่ผ่านมา ได้เผยให้เห็นรูปแบบการต่อต้านอย่างต่อเนื่องในรัฐอาหรับต่อการปกครองแบบเผด็จการในประเทศและการแทรกแซงจากภายนอก
ดังนั้น ทั้งนักเคลื่อนไหวและกลุ่มที่ใช้ชื่ออิสลามจึงเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านที่มีต่อผู้ปกครอง
ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้กับการยึดครองของต่างชาติในอัฟกานิสถานและอิรัก
และความพยายามที่จะได้รับระเบียบประชาธิปไตยเพื่อแทนที่การปกครองแบบเผด็จการหลังจากการลุกฮือใน Arab Spring ของชาวอาหรับ
ดังนั้น อิสลามทางการเมืองในการแสดงออกที่หลากหลายได้ให้แรงจูงใจในการปกป้องศักดิ์ศรีของชาติหรือได้รับการปฏิรูประเบียบทางการเมือง เช่นเดียวกับการลุกฮือต่อต้านอาณานิคมและการปฏิวัติของพรรครีพับลิกันในยุคก่อนๆ
ในขณะที่การเมืองที่อ้างอิสลามหมดความสามารถที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการปกครองแบบเผด็จการที่ดูเหมือนจะยึดที่มั่นเอาไว้ได้นั้น
Tarek Osman นักวิชาการชาวอียิปต์เคยเตือนเอาไว้ในปี 2016 ว่า เบื้องหลังการเมืองในเอเชียตะวันตกหลายแห่งมีความโกรธแค้นอย่างมากในหมู่คนหนุ่มสาวเกี่ยวกับความล้มเหลวในการลุกฮือของพวกเขา
และจะมี “การเดินขบวนและการก่อจลาจลระลอกใหม่” ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถปราบปรามได้ด้วยการเรียกร้องความภักดีและการเชื่อฟัง
ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันตกชี้ให้เห็นว่าคำสั่งของรัฐเผด็จการจะก่อให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนแม้จะมีการตอบโต้ที่รุนแรงก็ตาม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022