มนต์รักนักพากย์ กับพลังไร้ขีดจำกัด ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

มนต์รักนักพากย์

กับพลังไร้ขีดจำกัด

ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

มนต์รักนักพากย์เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเข้าฉายทาง Netflix ไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 หรือสามวันหลังวันครบรอบ 53 ปีการเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา พระเอกตลอดกาลของวงการภาพยนตร์ไทย

มนต์รักนักพากย์เป็นภาพยนตร์ย้อนยุค บอกเล่าเรื่องราวของคณะหนังขายยาแห่งบริษัทโอสถเทพยดาที่เดินทางรอนแรมไปตามที่ต่างๆ เพื่อฉายหนังกลางแปลงแบบใช้คนพากย์แล้วขายยาไปด้วย

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาว 2 ชั่วโมง 18 นาที เป็นฝีมือการกำกับฯ เขียนบท และอำนวยการสร้างโดยนนทรีย์ นิมิบุตร ออกแบบงานสร้างโดยเอก เอี่ยมชื่น

นำแสดงโดยเวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ รับบทมานิตย์, หนูนา หนึ่งธิดา โสภณ รับบทเรืองแข, สามารถ พยัคฆ์อรุณ รับบทลุงหมาน,เก้า จิรายุ ละอองมณี รับบทเก่า

นอกจากนี้ ยังมีณัฐ ศักดาทร ในบทนักพากย์คู่แข่งในอีกบริษัทหนึ่งซึ่งฉายหนังกลางแปลงแบบล้อมผ้า

เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ย้อนอดีตไปในปี พ.ศ.2513 ปีเดียวกับที่มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องอินทรีทองที่หาดดงตาล แถบพัทยา บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางผจญภัยไปฉายหนังตามที่ต่างๆ ในแบบ road movie ของคณะหนังขายยาทั้งสามคือมานิตย์ เก่า ลุงหมาน ที่ต่อมามีเรืองแขเข้ามาสมทบอีกคนหนึ่งในฐานะนักพากย์หญิง

มานิตย์เป็นหัวหน้าคณะยังทำหน้าที่สำคัญคือเป็นคนพากย์เสียงให้กับมิตร ชัยบัญชา

ขณะที่เรืองแขเป็นผู้พากย์เสียงให้กับเพชรา เชาวราษฎร์ คู่ขวัญของมิตรทางจอเงิน ซึ่งบทบาทในหน้าที่การงานได้ทำให้ทุกคนมีความผูกพันกับมิตร ชัยบัญชา

และการได้เห็นนิสัยใจคอกันระหว่างที่อยู่ด้วยกันก็ทำให้เกิดความสนิทสนมมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์ของมานิตย์กับเรืองแข ตลอดจนคนอื่นๆ ในคณะให้เกิดมิตรภาพอันงดงามในที่สุด

หลังจากที่ภาพยนตร์ฟีลกู๊ดเรื่องนี้ฉายได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็ดูเหมือนว่ามีเสียงตอบรับดังขึ้นเรื่อยๆ

กระตุ้นให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยถวิลหาถึงวันชื่นคืนสุขในอดีต ครั้งที่หนังกลางแปลง หนังล้อมผ้า หนังขายยา นักพากย์หนัง และโรงภาพยนตร์แบบ stand alone ยังคงรุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่

ยังไม่รวมถึงความคิดถึงของแฟนภาพยนตร์ยุคเก่าที่มีต่อมิตรกับเพชรา

และก่อให้เกิดปรากฏการณ์มนต์รักนักพากย์ฟีเวอร์ในหมู่คนรักหนัง

เมื่อกระแสของมนต์รักนักพากย์เริ่มเป็นที่พูดถึงขึ้นมา พร้อมๆ กับการกวาดรายได้ทะลุเกินสองร้อยล้านบาทของหนังไทยอีกเรื่องหนึ่งคือสัปเหร่อ ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้นับเป็นความสำเร็จที่ปลุกความคึกคักให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงไทยในยุคหลังโควิดได้อย่างเด่นชัด แม้จะเผยแพร่อยู่ในแพลตฟอร์มที่ต่างกันคนละพื้นที่ก็ตาม

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์มนต์รักนักพากย์การปลุกชีพเมืองร้างที่ล่มสลายไปแล้วร่วมสามสิบปีให้กลับมาชีวิตอีกครั้ง เนื่องจากกองถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้โรงหนังร้างชื่อว่า “ธารเกษมรามา” เป็นฉากจบของภาพยนตร์ ซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่ก็มักเข้าใจไปว่านี่เป็นการเซ็ตฉากขึ้นใหม่

แต่อันที่จริงแล้วโรงหนังแห่งนี้เป็นโรงหนังจริงๆ ที่เคยคึกคักรุ่งเรืองในอดีต จากการเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ “เมืองใหม่ธารเกษม” ที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี

เมืองใหม่ธารเกษมเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่โตมากสำหรับต่างจังหวัดในยุคนั้น และเป็นโครงการของเอกชนล้วนๆ ไม่มีงบประมาณจากภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

แนวคิดพื้นฐานก็คือความพยายามสร้างศูนย์กลางชุมชนแห่งใหม่ในพื้นที่นอกตัวเมืองเดิม ด้วยการสร้างโรงภาพยนตร์และตลาดเป็นตัวดึงดูดผู้คน รายล้อมไปด้วยธนาคาร อาคารพาณิชย์ ร้านค้า สนามกีฬา ฯลฯ

คือรวมศูนย์การค้าและที่พักอาศัยเข้าด้วยกัน และมีการตัดถนนเส้นใหม่ให้ไปถึงชุมชน

นอกจากนี้ การที่โรงหนังฉายหนังควบ คือฉาย 2 เรื่อง วนซ้ำไปมา ให้คนเข้าออกตอนไหนก็ได้ เป็นวิธีการอีกแบบหนึ่งซึ่งหวังจะตรึงให้คนสัญจรเข้าออกชุมชนอยู่ทั้งวัน

แต่ความพยายามในการสร้างศูนย์กลางแห่งใหม่ก็เริ่มปรากฏเค้าลางของการล่มสลาย เมื่อภูมิทัศน์ของธุรกิจโรงภาพยนตร์แบบ stand alone เริ่มตกต่ำลง จากการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่

เริ่มแรกคือธุรกิจร้านขาย VDO ต่อมาเมื่อเกิดร้านเช่า VDO ขึ้น ยอดขายของโรงหนังก็ลดลง จนกระทั่งไม่สามารถทำกำไรได้

ในที่สุดโรงหนังก็ย้ายไปสู่ห้างสรรพสินค้า นำไปสู่กาลอวสานของโรงหนังแบบ stand alone ในที่สุด

การที่โรงภาพยนตร์ปิดกิจการ ซ้ำร้ายยังถูกไฟไหม้ซ้ำเข้าไปอีกในภายหลัง มีผลโดยตรงต่อเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ ทำให้เกิดภาวะเงียบเหงาซบเซา

กิจการต่างๆ มียอดขายตกลง ร้านค้าทยอยปิดตัว แม้กระทั่งธนาคารก็หายไปด้วย ต่อมาก็คือตลาด

จนท้ายที่สุดคนที่อยู่อาศัยก็เริ่มทนไม่ไหว พอสมาชิกชุมชนกลุ่มแรกๆ เริ่มทยอยขายบ้านและย้ายออก คนหลังๆ ก็ประกาศขายแล้วย้ายออกบ้าง ตามติดกันมาเหมือนเกิดอุปาทานหมู่

แล้วในที่สุดชุมชนที่อึกทึกคึกคักก็กลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด

เวลาผ่านไปราวสามสิบปี โรงหนังที่ถูกทิ้งร้างให้กลืนหายไปในพงป่า และชุมชนที่แทบไร้ผู้อาศัยอยู่

จู่ๆ ก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเมื่อกองถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ยกพลมาถ่ายทำอยู่หลายครั้ง

ในช่วงระหว่างที่ทำงานอยู่ ร้านค้า 1-2 ร้านที่ตั้งอยู่ในโลเกชั่นก็มียอดขายที่ดีขึ้นมากทั้งๆ ที่กองถ่ายก็มีแผนกอาหารกับเครื่องดื่มบริการทีมงานและนักแสดงอยู่แล้ว

นอกจากนี้ พื้นที่อันปกคลุมไปด้วยป่ารกชัฏก็ถูกทีมงานถางจนโล่งเตียน ได้รับการเก็บกวาดจนสะอาดสะอ้าน ทำให้คนในพื้นที่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมโรงหนังและเมืองเก่าได้

เมื่อภาพยนตร์ออกฉายและได้รับเสียงตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ผมจึงนำภาพถ่ายสถานที่ รวมทั้งภาพถ่ายคู่กับเวียร์ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่อง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่ได้เข้าไปเยี่ยมเยียนกองถ่ายออกมาบอกเล่า 2 โพสต์ คือเรื่องโลเกชั่นโรงภาพยนตร์ธารเกษมรามา ในเพจ ฅน หระ รี – Saraburi People https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid03892vrXZBcvej4f8iyJ8KVTarsdbn1z51yzXe1XP8vqqJ6PYJ4n17KkQVNBGhrTGfl&id=100083235097235&mibextid=Nif5oz และเรื่องเที่ยวชมกองถ่าย พบปะเวียร์ ศุกลวัฒน์ ในเพจ กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ (Krit – Krittapas) https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02WtczBpZGP4MgBDXm67Dy65DkLFWssUNWg9HKzLK69A2SJ6iy8ETrNZrVoc65YwT8l&id=100063643115066&mibextid=Nif5oz

ปรากฏว่ามีผู้สนใจอย่างล้นหลามเกินคาด ทั้งยังได้รับรู้ถึงความปรารถนาของผู้คนมหาศาลที่ต้องการไปตามรอยและเยี่ยมชมสถานที่จริงๆ สักครั้ง

ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็คงทำให้ชุมชนที่แทบจะร้างไปแล้ว และแลดูน่ากลัวอยู่เหมือนกันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาได้

ผลพวงที่ตามมาจากทั้งในวันที่ถ่ายทำภาพยนตร์และในวันที่ภาพยนตร์ฉายออกมาในหน้าจอแล้วคือประจักษ์พยานที่บ่งชี้ได้อย่างดีถึงพลังของอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีต่อความรู้สึกของผู้คนและบรรยากาศทางเศรษฐกิจ

ที่สำคัญก็คืออุตสาหกรรมบันเทิงอันเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์นี้เป็นสิ่งที่มีอย่างไม่จำกัด ในขณะที่ทรัพยากรต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีอยู่อย่างจำกัด ดังคำกล่าวชื่อก้องที่ว่า “Resources are limited; creativity is unlimited.” วาทะอันโด่งดังที่แพร่หลายทั้งในโลกตะวันตก (John E. Mackey) ทวีปเอเชีย (สโมสรฟุตบอลโปฮัง สตีลเลอร์ส) และไทย (เนวิน ชิดชอบ แห่งสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด)

ประจวบเหมาะกับรัฐบาลเศรษฐาในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับนโยบายซอฟต์เพาเวอร์มาเป็นอันดับต้นๆ ด้วยการตั้งคณะกรรมการซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติขึ้นมา ก็ยิ่งตอกย้ำว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์น่าจะเป็นทิศทางที่ถูกต้องและน่าสนใจที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมบันเทิง ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ ละคร และเพลง ที่ประเทศไทยมีศักยภาพอยู่แต่เดิมแล้วไม่ใช่น้อย

ขาดแต่เพียงการปลดล็อกกฎระเบียบบางประการ และสร้างสภาวะแวดล้อม (ecosystem) ที่เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่ระดับโลกเท่านั้นเอง