สงครามยิว-ฮามาส ชี้ขาดด้วย ‘ศึกในอุโมงค์’

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารลงความเห็นเกี่ยวกับสงครามระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มฮามาส ที่กำลังดำเนินไปเหนือดินแดนเล็กแคบด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอิสราเอลที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ “ฉนวนกาซา” มานานปีว่า คือ “สงครามในเขตเมือง” หรือ “เออร์บัน วอร์แฟร์” ที่อาจยืดเยื้อ ใหญ่โต และนองเลือดที่สุดเท่าที่โลกเคยพบเห็นมา

บรรดาทหารที่ผ่านการศึกษา เรียนรู้หรือฝึกอบรมมาเกี่ยวกับ “ยุทธการในตัวเมือง” มา ย่อมรู้ดีว่า การปะทะกันด้วยอาวุธสงครามในเขตเมืองยากลำบากและกินแรงกว่าการศึกในสมรภูมิอื่นแทบทุกชนิด

ไม่เพียงแค่สภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไปทั้งหมดเท่านั้นที่ทำให้รูปแบบแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง การศึกในตัวเมืองยังจำเป็นต้องมีแผนยุทธการที่แตกต่างออกไป สรรพาวุธที่แตกต่างออกไป

และบุคลากรที่มีความชำนิชำนาญแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงอีกด้วย

 

“เออร์บัน วอร์แฟร์” จำแนกหยาบๆ ออกได้เป็น 4 ระยะ

แรกสุดคือการโจมตีทางอากาศแบบ “จำกัดเป้า” เสริมอานุภาพด้วยโดรนติดอาวุธ

ระยะที่ 2 คือการรบเพื่อช่วงชิงตัวอาคาร ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะชั้นล่างสุดเท่านั้น แต่ครอบคลุมทั่วตั้งแต่บนพื้นดินไปจนถึงจุดสูงสุดของทั้งอาคาร

ระยะที่ 3 เป็นการยึดและควบคุมท้องถนนทั้งหมด กินความรวมถึงตรอก ซอก ซอย และแม้แต่เส้นทางเดินเล็กๆ ที่แต่เดิมในยามสันติคือเส้นเลือดทั้งหลายที่หล่อเลี้ยงเมืองทั้งเมือง

ระยะที่ 4 ระยะสุดท้าย ที่เป็นสมรภูมิที่ท้าทายที่สุด (โดยเฉพาะในกรณีของกาซา) ยากเย็นที่สุด นั่นคือการสู้รบในสภาพแวดล้อมจำกัดถึงขีดสุดอย่างการสู้รบในโครงข่ายอุโมงค์ที่ทั้งวกวน เลี้ยวลดคดเคี้ยว จนดูเหมือนไร้ที่สิ้นสุดของฮามาส

 

ตามข้อมูลของกองทัพอิสราเอล (ไอดีเอฟ) อุโมงค์แรกสุดของกาซาขุดขึ้นใช้งานเพื่อการลักลอบขนส่งสินค้า โดยคนของตระกูลมาเฟียที่เป็นชนเผ่าเบดูอิน เป็นอุโมงค์ลอดข้ามแนวกั้นเขตแดนระหว่างกาซากับอียิปต์ หลังจากการปักปันเขตแดนระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์แล้วเสร็จลงในปี 1981 อุโมงค์ถูกนำมาใช้เพื่อการโจมตีอิสราเอลจากกองกำลังในกาซาเป็นครั้งแรกในปี 1989

ฮามาสเริ่มต้นเข้ามารับผิดชอบก่อสร้างอุโมงค์อย่างจริงจังเพิ่มเติมในปี 2001 เรื่อยมา โดยเฉพาะหลังจากที่กองกำลังติดอาวุธของปาเลสไตน์กลุ่มนี้เข้ามามีอิทธิพลเหนือกาซาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเมื่ออิสราเอลถอนทหารออกจากกาซาในปี 2005

และเป็นฮามาสนี่เองที่เปลี่ยนอุโมงค์ลอดพรมแดนปกติ ให้เป็นเครือข่ายโยงใยของเส้นทางใต้ดินที่ซับซ้อน สับสนอยู่ลึกลงไปด้านล่างของเมืองส่วนหนึ่งของกาซา

แรกเริ่ม ฮามาสใช้มันเป็นเส้นทางลักลอบนำสิ่งของสัมภาระและอาวุธเข้ามาจากอียิปต์ แล้วลำเลียงต่อไปยังจุดที่ต้องการ

แต่ต่อมาอุโมงค์ใต้ดินแห่งกาซาถูกนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ตั้งแต่ใช้เป็นที่ตั้งที่ประชุมลับของกองกำลัง เป็นเส้นทางในการกระจายข่าวและคำสั่งโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายโทรศัพท์ปกติ ซึ่งถูกอิสราเอลดักฟังอยู่ตลอดเวลา

ใช้เป็นจุดซุ่มซ่อน ระดมกำลังในการสู้รบภาคพื้นดินกับทหารยิวทั้งในดินแดนกาซาเองและลอดข้ามไปโจมตีภายในอิสราเอลเป็นครั้งคราว

ใช้เป็นจุดชุมนุมกำลังเพื่อลักพาตัวทหารอิสราเอลแล้วใช้เป็นเส้นทางนำเหยื่อหลบหนี อย่างเช่นในกรณีของ จ่าโทกิลาด ชาลิท ก่อนนำตัวเหยื่อไปต่อรองกดดันให้ปล่อยตัวนักโทษฮามาสในกำมืออิสราเอลได้ถึงกว่า 1,000 คนในปี 2006

 

ตามข้อมูลของ แรนด์ คอร์ป. บริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านการทหารและความมั่นคงระบุว่า ฮามาสเริ่มใช้อุโมงค์เพื่อการทหารเต็มที่เป็นครั้งแรกในปี 2008 หน้าหนาวปีนั้นการโจมตีทางอากาศจากอิสราเอลทั้งหนักหน่วงทั้งรุนแรงกว่าทุกครั้งก่อนหน้า แกนนำระดับบัญชาการรายหนึ่งของฮามาสระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวบีบให้ฮามาสต้องวางแผนยุทธการใหม่ โยกยุทธการบนดินมาอยู่ใต้ดินทั้งหมด

แรนด์ระบุว่า การก่อสร้าง ต่อขยายอุโมงค์ใต้ดินของฮามาสพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในราวปี 2014 ใช้กำลังคนในการก่อสร้างแบบเต็มเวลาถึง 900 คน อุโมงค์แต่ละเส้นใช้เวลาสร้าง 3 เดือน เฉลี่ยแล้วต้องใช้เงิน 100,000 ดอลลาร์ต่อ 1 อุโมงค์

ฮามาสระดมทุนเพื่อการก่อสร้างด้วยการนำเสนอทำนองเดียวกับการนำเสนอโครงการเพื่อการลงทุนในแวดวงธุรกิจ ผ่านมัสยิดต่างๆ ทั่วทั้งกาซา

เชื่อกันว่า อิหร่านกับเกาหลีเหนือให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างเครือข่ายอุโมงค์เหล่านี้ด้วยทั้งในรูปของเม็ดเงินและวิศวกร

อุโมงค์ดังกล่าวอยู่ลึกลงไปใต้ดินราว 18 เมตรหรือมากกว่า กว้างราว 2 เมตรเศษ ผนังและเพดานกรุด้วยแผ่นคอนกรีตหนา ความสูงขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย

บางอุโมงค์ต้องเดินในลักษณะก้มตัวตลอดเวลา แต่โดยทั่วไปอยู่ในราว 2 เมตรเศษ

เครือข่ายอุโมงค์ที่หนาแน่นที่สุดอยู่ทางตอนเหนือสุดของกาซา ซึ่งติดต่อกับพรมแดนอิสราเอลทั้งตอนเหนือและตะวันออก

อีกจุดคือเครือข่ายตอนใต้สุดของฉนวนกาซา ใกล้กับพรมแดนด้านใต้ซึ่งติดต่อกับอียิปต์

ข้อมูลที่ได้จากฮามาสระบุว่า จำนวนที่แท้จริงของอุโมงค์ทั่วกาซาอยู่ระหว่าง 1,300-2,500 อุโมงค์ รวมความยาวเข้าด้วยกันมากกว่า 500 กิโลเมตร

ยาวกว่าความยาวจากเหนือจรดใต้ของฉนวนกาซา ถึงกว่า 10 เท่าตัว

 

ในปี 2014 เช่นเดียวกันที่อุโมงค์ของฮามาสสร้างปัญหาให้กับอิสราเอลสูง จนถึงขั้นต้องเปิดยุทธการ “โอเปอเรชั่น โปรเทคทีฟ เอดจ์” ใช้กำลังทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน เป้าหมายเพื่อทำลายอุโมงค์เหล่านี้โดยเฉพาะ

รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลในเวลานั้นโอ่ว่า จะใช้เวลาเพียง 2-3 วัน ทำลายอุโมงค์เหล่านี้ เอาเข้าจริงทหารยิวทำได้แค่ทำลายอุโมงค์ไป 32 อุโมงค์ รวมความยาวราว 100 กิโลเมตร 14 อุโมงค์ในจำนวนนี้ลอดข้ามแดนเข้ามายังอิสราเอล โดยต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์

ความยากในการเปิด “ยุทธการใต้ดิน” ในอุโมงค์เหล่านี้มีตั้งแต่แรกเริ่ม นั่นคือการหาตำแหน่งที่ตั้งอุโมงค์ที่ยากลำบากถึงขีดสุด วิทยาการสมัยใหม่ อาทิ “จีโอโฟน” และ “เรดาร์สำรวจใต้ดิน” กับการตรวจจับแรงสั่นสะเทือนใต้ดินในการก่อสร้างอุโมงค์ ช่วยได้ส่วนหนึ่ง

แต่อุโมงค์ไม่น้อยที่ถูกตรวจพบโดยตัวคนหรือหน่วยข่าวกรอง หรือหน่วยลาดตระเวนของกองทัพ

และมีเช่นกันที่ถูกระบุตำแหน่งได้โดยหน่วยอาณัติสัญญาณ ที่พบว่า ณ จุจุดหนึ่งสัญญาณจากมือถือของฮามาสดับหายไปโดยฉับพลัน

 

หาให้พบว่ายากแล้ว การทำลายอุโมงค์ยิ่งยากกว่า การทิ้งระเบิดความแม่นยำสูงไปตามแนวเส้นทางอุโมงค์ ใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อลูกระเบิดระเบิดขึ้นที่ความลึกที่ถูกต้องจริงๆ วิธีทำลายที่อิสราเอลใช้ถัดมา คือการใช้ “อีมัลซา” หรือระเบิดแบบเจล แต่โดยเฉลี่ยแล้วการทำลายอุโมงค์หนึ่งๆ ต้องใช้อีมัลซา ระหว่าง 9-11 ตันถึงจะสามารถทำลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นั่นหมายความว่า ต้องมีกำลังทหารมากพอที่จะลงไปตามเส้นทางอุโมงค์ และมีอีกมากที่ต้องรักษาการณ์บริเวณปากอุโมงค์ได้เป็นเวลายาวนานเพียงพอ

ที่ยากที่สุดคือการเอาชนะการปะทะกันในอุโมงค์ ข้อเท็จจริงก็คือ ภายในอุโมงค์บางส่วนหรือหลายส่วน มีการวางกับระเบิดไว้ ภายในอุโมงค์มืดสนิทชนิดแว่นสำหรับมองตอนกลางคืนของทหารใช้การไม่ได้

หลักการทำงานของแว่นกลางคืนดังกล่าวอาศัยการขยายความสว่างที่มีเพียงน้อยนิดให้มากขึ้นเพื่อให้เห็นสภาพเบื้องหน้าได้

แต่ถ้าสภาพแวดล้อมมืดสนิทจริงๆ แว่นนี้ก็ไร้ประโยชน์ การติดต่อสื่อสารโดยอุปกรณ์สื่อสารทั่วไปทำได้จำกัด ในขณะที่เสียงทุกเสียงที่เกิดขึ้นในอุโมงค์จะถูกขยายขึ้นโดยธรรมชาติ

อุณหภูมิในอุโมงค์โดยปกติสามารถต่ำกว่าอุณหภูมิบนพื้นดินได้ถึง 10 องศาเซลเซียส

9 ปีนับตั้งแต่เปิดยุทธการ โปรเทคทีฟ เอดจ์ อิสราเอลพยายามพัฒนากลยุทธ์สงครามอุโมงค์อย่างต่อเนื่อง มีการสร้างอุโมงค์เลียนแบบขึ้นในอิสราเอลเพื่อการฝึก เพิ่มยุทธภัณฑ์ทันสมัย อาทิ การใช้หุ่นยนต์เข้าช่วยในการนำทางในอุโมงค์

สุดท้าย ถึงกับมีการก่อตั้งหน่วยรบพิเศษสำหรับการปะทะในอุโมงค์ใต้ดินขึ้นมาโดยเฉพาะ

หากจะกวาดล้างฮามาสจริงๆ อิสราเอลต้อง “ทำลาย” เครือข่ายอุโมงค์เหล่านี้ให้หมดให้ได้ ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องชนะในศึกอุโมงค์ครั้งนี้ให้ได้

ผู้เชี่ยวชาญในการรบใต้ดินยังคงยืนยันว่า การจะทำเช่นนั้น กินเวลานานไม่น้อย ไม่แค่เดือนสองเดือน หากแต่ยืดยาวนานนับปี!