มรดกภาพยนตร์ของชาติ 2566 (2) : หนังไทยกับ ‘การเมืองเดือนตุลา’

คนมองหนัง

หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อน เขียนถึง “มรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2566” ที่ผมร่วมโหวตเห็นชอบไปแล้ว 2 เรื่อง (จากทั้งหมด 6 เรื่อง)

สัปดาห์นี้ก็จะมาว่ากันต่ออีก 2 เรื่อง ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์เล่าเรื่องว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ จากช่วง 14 ตุลาคม 2516

จนถึงความล้มเหลวของปัญญาชนที่เข้าไปร่วมเคลื่อนไหวในป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

 

[สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่กลับออกจากป่า]

: ความพ่ายแพ้ของ “คนเดือนตุลา”

“[สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่กลับออกจากป่า]” [2528] อาจไม่ใช่ “ภาพยนตร์ที่มีความสมบูรณ์แบบ” เพราะนี่เป็นฟุตเทจวิดีโอดิบๆ ความยาวเกิน 700 นาที ที่ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” และมิตรสหาย ได้นัดพูดคุยกับอดีตผู้เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเพิ่งกลับออกจากป่าในช่วงปลายทศวรรษ 2520 แล้วบันทึกบทสนทนาเอาไว้ในสื่อภาพเคลื่อนไหว

คณะผู้จัดทำได้สัมภาษณ์ จิระนันท์ พิตรปรีชา, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, จรัล ดิษฐาอภิชัย, เหวง โตจิราการ, เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ, เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, วงดนตรีคาราวาน และผู้ออกจากป่าที่เป็นชาวบ้านจังหวัดพัทลุงอีก 3 ราย

เนื้อหาส่วนที่น่าสนใจ ฟังเพลิน และมีแง่มุมให้ขบคิดเยอะแยะ ก็คือ ช่วงสัมภาษณ์จิระนันท์ กับวงสนทนาระหว่างจรัล, เหวง และเกรียงกมล

ในทางประวัติศาสตร์ นี่ถือเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่บันทึกอารมณ์ความรู้สึก “พ่ายแพ้” ของเหล่า “คนเดือนตุลา” เอาไว้ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 (หลายคนในฟุตเทจนี้ไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์หลังเพราะเข้าป่าไปก่อนแล้ว) รวมทั้งการต้องเผชิญหน้ากับภาวะความล่มสลายทางจิตวิญญาณ เมื่อพบเจอความผิดหวังภายใต้การนำของ พคท.

หากเชื่อมโยงมาถึงบริบทการเมืองร่วมสมัย ดูคล้ายความล้มเหลวทางการเมืองของ พคท. ที่ไม่สามารถนำพา “อุดมการณ์ปฏิวัติ” ของตนเองเข้าไปยึดกุมหัวใจของประชาชนคนธรรมดาสามัญจำนวนมาก ย่อมกลายเป็นแรงผลักดันให้ “คนเดือนตุลา” บางส่วน พยายามเสาะแสวงหา “องค์กรทางการเมืองแบบใหม่” ที่จะช่วยแก้ไขและเติมเต็มข้อผิดพลาด-ความพ่ายแพ้ในอดีต

ไม่ว่านั่นจะเป็น “พรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย” “คนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง” หรือ “พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล” ก็ตาม

ใบปิดภาพยนตร์ “14 ตุลา สงครามประชาชน”

14 ตุลา สงครามประชาชน

: จุดเปลี่ยนของ “การเมืองเดือนตุลา”

มาถึงตอนนี้ “14 ตุลา สงครามประชาชน” (ชื่อทางการที่ค่ายหนังตั้งขึ้น) หรือ “คนล่าจันทร์” (ชื่อแรกที่คนเขียนบทวางเอาไว้แต่เดิม) (2544) ดูจะมีความสำคัญในหลายแง่มุม

แง่มุมแรกสุด ที่อาจจะผิวเผินที่สุด ก็คือ ในวาระครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม 2516 หนังเรื่องนี้กลายเป็นผลงานบันเทิงชิ้นเดียวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ทางการเมืองดังกล่าวในฐานะ “ประเด็นหลัก” (ไม่ใช่ฉากหลัง) ของเรื่องราว

แง่มุมถัดมา หากย้อนไปในบริบทของช่วงปีที่หนังถูกสร้างขึ้น คือ กลางทศวรรษ 2540 เราจะพบว่า “การเมืองเดือนตุลา” นั้นกำลังถูกรื้อฟื้นความสำคัญขึ้นมาอย่างชัดเจน

ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันประชาธิปไตย” เมื่อปี 2546 (ครบรอบ 30 ปี 14 ตุลา)

การที่ “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง เข้าไปมีบทบาทเป็น “มือทำงาน” ใน “รัฐบาลไทยรักไทย-ทักษิณ ชินวัตร” ที่กำลังสร้างมิติใหม่ให้แก่ระบอบประชาธิปไตยไทย

ขณะเดียวกัน การกล่าวถึงความพ่ายแพ้-โศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และวิพากษ์บทบาทของขั้วการเมืองฝ่ายขวา-อนุรักษนิยมอย่างเข้มข้นจริงจัง ไปจนถึง “แก่นแกนกลาง” ก็เริ่มปรากฏตัวตนชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ผ่านงานเขียนของปัญญาชนบางส่วน อาทิ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล”

แง่มุมที่สาม “14 ตุลา สงครามประชาชน/คนล่าจันทร์” มีสถานภาพเป็นดัง “ภาคต่อ/ส่วนขยาย” ของบทสัมภาษณ์ “เสกสรรค์-จิระนันท์” ใน “[สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่กลับออกจากป่า]” โดยมีการแปรประสบการณ์ทางการเมืองของปัจเจกบุคคลสองคน ให้กลายเป็นเรื่องเล่าที่มีความเป็นภาพยนตร์มากขึ้น

ผ่านเทคนิควิธีการนำเสนอที่ชวนขบคิด เช่น การลำดับภาพ-เล่าเรื่องราวเชิงเปรียบเทียบ ระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา และชีวิตความผิดหวังในป่าของตัวละครนำ แบบสลับสับเปลี่ยน-คู่ขนานกันไปเรื่อยๆ ก่อนที่เรื่องเล่าทั้งสองแบบจะไหลมาบรรจบกันในบทสรุปตอนท้าย

แง่มุมสุดท้าย ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ก็คือ ท่ามกลางความคุ้นชินของการประทับตรา “หนังชุดบุญชู” หรือ “กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้” ลงบนอัตลักษณ์-เกียรติประวัติของคนทำหนังชื่อ “บัณฑิต ฤทธิ์ถกล” (ผู้ล่วงลับ) ในอีกด้าน “14 ตุลา สงครามประชาชน” ก็ถือเป็น “งานยุคหลังของบัณฑิต” ที่มีคุณภาพสูงมาก

น่าเสียดาย ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงงานยุคหลังของบัณฑิตมากนัก นอกจากหนังเรื่องนี้แล้ว ผลงานที่น่าจดจำก็ยังมี “สตางค์” ที่เล่าเรื่องราวอันหลากหลายรุ่มรวยมีทั้งสุขนาฏกรรมและโศกนาฏกรรมของผู้คนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และ “สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์” ที่เล่าถึงความพร่าเลือนของพรมแดน-ศาสนา-ชาติภพ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ถึงรัชกาลที่ 5 ได้อย่างน่าประทับใจ •

 

| คนมองหนัง