‘คนตุลา’, ก้าวไกล, เพื่อไทย และความเปลี่ยนแปลง

หมายเหตุ : ในวาระ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 “มติชนทีวี x ใบตองแห้ง (อธึกกิต แสวงสุข)” ร่วมกันจัดทำรายการสัมภาษณ์พิเศษ 6 “คนเดือนตุลา” ทั้งที่เป็นนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และนักการเมือง

 

ในสามตอนหลัง ใบตองแห้งได้สนทนากับ “คนเดือนตุลา” ทั้งที่เคยร่วมงานและยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยหนึ่งในประเด็นพูดคุยสำคัญ คือ สภาวะการเมืองหลังเลือกตั้ง 2566 ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เหวง โตจิราการ
อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย

“คือตอนนี้ คนที่เขาเห็นคนเสื้อแดงเป็นศัตรู เขาเริ่มเห็นความหวังของการเลือกตั้ง เขามีทางเลือก เขาเริ่มเห็นแล้วว่าการเลือกตั้งเป็นทางออก ไม่ใช่การรัฐประหารเป็นทางออก

“เขาเริ่มเห็นพิษภัยของการรัฐประหารจากการบริหารประเทศชาติบ้านเมือง 9 ปี ของ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เขาเลยย้อนกลับไปทำความเข้าใจกับคนเสื้อแดงได้ ว่าจริงๆ แล้วคนเสื้อแดงต่อต้านรัฐประหาร และต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการเท่านั้นเอง

“หลังๆ นี้ เหลืองจำนวนหนึ่งก็เลยกลายมาเป็นแดง หรืออาจจะกลายมาเป็นส้ม เพราะเขาเห็นว่าเส้นทางการเลือกตั้งเริ่มเป็นทางออก

“(ประเมินว่าพวกรุ่นตุลาถึงตอนนี้ ส่วนใหญ่เลือกพรรคอะไร? และจำนวนประมาณเท่าไหร่? – ใบตองแห้ง) ผมไม่ได้ไปสำรวจ (หัวเราะ) แต่ผมดูว่าคนที่เขาเข้าใจเรื่องการรัฐประหาร เขาจะเลือกการเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ

“จริงๆ แล้วพรรคเพื่อไทยมีโอกาส ได้เปรียบกว่าพรรคก้าวไกลเยอะเลย เพราะเขามีทุนเดิมอยู่เยอะ แต่ว่าพรรคเพื่อไทยตอบคำถามไม่ชัดเจน ว่าคุณจะเอาประยุทธ์ เอาสองลุงหรือไม่? อ้ำๆ อึ้งๆ อยู่นานเลย จนทำให้คนเขาเกิดความไม่เชื่อใจ ไม่เชื่อมั่น เขาเลยสวิงจากเลือกเพื่อไทยไปเลือกก้าวไกล

“เพราะว่าก้าวไกลประกาศชัดตั้งแต่ต้นเลยว่า ‘มีลุงไม่มีเรา’ นี่คือจุดมุ่งหมาย คนที่ปฏิเสธรัฐประหารก็เลยเทมาที่ก้าวไกล (แต่ถ้าเอาเฉพาะคนรุ่นตุลา ส่วนใหญ่เลือกก้าวไกล? – ใบตองแห้ง) ผมเชื่ออย่างนั้นนะ เพราะผมไม่ได้มีโอกาสไปคุยกับใคร มีบ้างเหมือนกัน แต่เท่าที่คุยๆ กันอยู่ เขามาเลือกก้าวไกล”

จาตุรนต์ ฉายแสง
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

“การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการเลือกตั้งปี 2566 มันมีอะไรที่ถ้าจะคุยกัน คุยได้ยาว ผมว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่

“มีทั้งน่าเป็นห่วง มีทั้งน่าเสียดาย ขณะเดียวกัน ก็มีทั้งที่มันน่าจะเป็นความหวังได้ ถ้าเราดูจากคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือก ‘ฝ่ายประชาธิปไตยในวันเลือกตั้ง’ ‘ฝ่ายประชาธิปไตยในวันเลือกตั้ง’ ชนะท่วมท้น รวมกันแล้ว 300 (เสียง) มันเรื่องใหญ่มาก

“แต่พอหลังจากนั้นมา ดุลกำลังในสังคมเป็นอย่างไร? อันนี้ต้องมาวิเคราะห์กัน แต่ประชาชนที่นิยมพรรคการเมือง และไปเลือกด้วยความเชื่อว่าเขากำลังเลือก ‘พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย’ ผมว่าส่วนใหญ่เขาไม่เปลี่ยนความคิด และตรงนี้มันจะมีความสำคัญ

“การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมันเกิดขึ้นไปแล้ว ดุลกำลังในแง่พรรคการเมืองเปลี่ยนไป ส่วนในแง่ประชาชนกับฝ่ายอนุรักษ์จะเป็นอย่างไร? แล้วมันจะพัฒนาไปอย่างไร? ต้องมาคิดกันต่อ

“ถามว่ามีความหวังไหม? ผมก็ยังดูว่า ถ้าเรามองไปที่ประชาชน ซึ่งเราอาจจะมีจุดอ่อนหน่อย (คือ) ไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยได้สำรวจว่าประชาชนคิดอย่างไร? มันจะต้องทำการบ้านมากกว่านี้ แต่ดูจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา การแสดงออกของฝ่ายต่างๆ จนถึงผลการเลือกตั้ง มันบอกอะไรมากเหมือนกัน

“เพราะฉะนั้น ข้างหน้ายังน่าจะมีความหวัง ในแง่บ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตย ถึงแม้ว่ามันจะเป็นอะไรที่ยากไปอีกแบบ หลังการเลือกตั้งไปแล้ว และเรามาอยู่ในจุดที่เป็น ‘ยุคใหม่’ อีกขั้นตอนหนึ่งของการเมืองไทย เมื่อก่อนผมเคยใช้คำว่ามหากาพย์การเมือง การชักเย่อกันระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย

“ตั้งแต่ปี 2548-2549 มาจนถึง 2566 มหากาพย์นี้มันได้เปลี่ยน มันไม่ใช่เป็นเอพิโสดใหม่เท่านั้น มันน่าจะเป็นซีซั่นใหม่ เป็นเรื่องใหม่เลย แต่ว่ามีฐานเดิมของมันมา อันนี้เป็นอะไรที่น่าคิดวิเคราะห์กันต่อ”

ภูมิธรรม เวชยชัย
รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์

“ผมรู้สึกคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่ง ผมไม่อยากพูด (ว่า) คนรุ่นใหม่ทั้งหมด มันเหมารวมเกินไป บางที การมองการจัดการปัญหา มันเหมือน ‘การเล่นเกมในเครื่องเล่นเกม’ เขามุ่งเอาชนะให้ได้ วิธีไหนก็ได้ สลับสับเปลี่ยนกัน แต่คนรุ่นผมไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเป็นสมัยผมตอนนั้น ผมไม่มีอะไรที่ลดเลี้ยวหรือปรับเปลี่ยนไปมากเท่านี้

“แต่ทุกวันนี้ ผมรู้สึกว่าบางทีเป้าหมายมันสำคัญ ถ้าเรื่องอะไรที่มันบิดเบี้ยวไปบ้าง ตัวผมเองผมเป็นคนรับ (ผิดชอบ) ผมถือว่าการต่อสู้มันต้องมีการเสียสละ ผมคิดว่าถ้าการเสียสละนั้นผลมันเกิดดี ผมก็ทำ

“อันนี้จึงเป็นที่มาที่ผมได้ทำหลายเรื่อง ไม่ใช่คำแก้ตัว แต่เป็นวิธีมองของผม เพราะฉะนั้น หลายเรื่อง ผมรู้สึกว่าผมถูกเล่นเกมเหมือนกัน อาจจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

“บทเรียนครั้งนี้ในการจัดตั้งรัฐบาล ยิ่งทำให้ผมมั่นใจว่ามันก็อยู่ในเกม และผมก็ไม่ได้ติดค้างใจ ผมถือว่ามันอยู่ในเกมการต่อสู้ตามกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย

“เพราะฉะนั้น มันก็เป็นการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย จะบอกว่าร้ายกว่า แกร่งกว่า เอาเปรียบน้องอะไรก็ตาม ผมถือว่าผมแฟร์ในเกม แล้วก็ไปถามได้ ผมไม่เคยดิ้นรน ผมว่าเราก็ได้บทเรียนพอกัน ท่านคิดหนทางมีออกนอกทางบ้าง ผมก็คิดหนทางมีออกนอกทางบ้าง

“แต่ทางใหญ่เรายังเดินไปในทิศทางที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย และหวังจะเห็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มันเกิดขึ้นดี วันนี้ ผมมาเป็นรัฐบาล ผมถึงได้พูดกับทุกคนว่า หนทางเดียวของเรา เราจ่ายต้นทุนไปมาก ท่านนายกฯ บอกผมว่า ‘พี่ ไม่ใช่จ่ายต้นทุนไปมาก เราเทหมดหน้าตักเลย’

“ผมก็ไม่ได้กังวลใจอะไร ผมเชื่อว่า ความรู้สึกชอบ เกลียด พอใจ ไม่พอใจ ยอมรับ ไม่ยอมรับ มันแปรผันและขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ถ้าเราพิสูจน์ตัวเราเองได้ว่า เราตั้งใจจริงและเราอยากทำสิ่งที่ดีๆ วันนี้มาเป็นรัฐบาล เราต้องทำงานหนัก แล้วให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราคิดเราทำ เราตั้งใจให้มันเกิด

“ผมเชื่อว่า ถ้าประชาชนได้เห็นในผลงานที่เราทำและความตั้งใจของเรา ประชาชนจะกลับมายืนข้างเรา วันนี้ต้องพิสูจน์ด้วยหลักความคิดความเชื่อ แล้วก็ช่วงเวลาที่จะเกิดขึ้นในเส้นทางประวัติศาสตร์”