Story ของประเทศไทยวันนี้ : หรือเราชกต่ำกว่ารุ่นน้ำหนัก? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น
(Photo by TINGSHU WANG / POOL / AFP)

ในวงเสวนาวันก่อนว่าด้วย “ความท้าทายของนโยบายต่างประเทศสำหรับรัฐบาลเศรษฐา” เราตั้งคำถามกันว่าประเทศไทยจะกลับมาสู่ “เรดาร์โลก” ได้ด้วยวิธีใด

เพราะเราถูกมองว่าห่างเหินจากเวทีสากลมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งๆ ที่เราเคยเป็นผู้แสดงระดับต้นๆ ของอาเซียน

แต่พอเกิดรัฐประหาร และการบริหารนโยบายต่างประเทศที่ถูกมองว่าโอนเอียงไปทางอนุรักษนิยมคุ้นชินกับการรวบอำนาจมากกว่า การคบหาสมาคมกับประเทศอื่นก็เกิดอาการสะดุด

โดยเฉพาะเมื่อผู้นำของเราขึ้นต้นว่า “General” (แม้จะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่เขาก็รู้ว่าเป็นการหย่อนบัตรภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคนที่ คสช.ตั้งเอง) ก็ทำให้ความสง่างามของผู้นำไทยในเวทีระหว่างประเทศมีรอยตำหนิไม่น้อย

ข้อเสนอในวงสนทนาที่จะให้ประเทศไทยกลับฟื้นคืนสู่ความเป็นประเทศที่มีพลังต่อรองและมีเกียรติมีศักดิ์ศรีอีกครั้งนั้น คือการกลับไปชกในรุ่นน้ำหนักของเรา

อย่าชกต่ำกว่ารุ่นน้ำหนักของไทยเรา

หรือที่ฝรั่งเรียกว่า punching below one’s weight

เป็นที่มาของการถกแถลงว่าวันนี้ประเทศไทยควรจะมองตัวเองเป็น “ประเทศเล็ก” (small nation) หรือเป็น “ประเทศพลังระดับกลาง” (Middle Power)

 

มีคนตั้งข้อสังเกตว่านายกฯ เศรษฐาไปกล่าวในเวทีสากลเรียกตัวเองว่าเป็น small state หลายรอบแล้ว

เหมือนเราตั้งใจชกต่ำกว่ารุ่นที่ควรจะเป็น

แต่บางคนคิดว่าหากเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม (ที่เป็นทั้งพันธมิตรใกล้ชิดและคู่แข่งในเวทีเศรษฐกิจและการเมืองโลก) เราก็ควรจะต้องยกระดับของเราขึ้นมาเทียบเท่ากับเขา

อินโดนีเซียถือว่าเป็น Middle Power อันหมายถึงประเทศที่มีศักดิ์ศรีเป็น “อำนาจกลาง”

ไม่ใช่ประเทศเล็กแน่นอน

อีกทั้งยังเล่นบทเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” กับบรรดายักษ์ใหญ่เพื่อเสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้เกิดสันติภาพ

เช่น ในกรณีไปพบกับผู้นำรัสเซีย, ยูเครน และสหรัฐ เพื่อเล่นบทเป็นประเทศที่มีนโยบายต่างประเทศเป็นอิสระ

ส่วนเวียดนามนั้นก็ขยับบทบาทตนเองขึ้นมาในระดับที่สูงกว่าแค่เป็น “ประเทศเล็ก” ในหลายบริบทแล้ว

ไม่ต้องเอ่ยถึงสิงคโปร์และมาเลเซียที่ผู้นำของเขายืนยันบนเวทีสากลเสมอว่ามีความเป็นตัวของตัวเองในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ

และกล้าวิพากษ์ยักษ์ใหญ่ด้วยเหตุด้วยผล

ผู้นำสิงคโปร์เรียกประเทศตัวเองว่าเป็น “ประเทศเล็ก” ก็จริง แต่ก็แสดงบทบาทและนำเสนอจุดยืนที่มีพลังในฐานะเป็นประเทศมีพลังและแนวทางที่ยักษ์ใหญ่ต้องรับฟัง

 

ไทยจึงควรปรับบทบาทให้เป็นประเทศขนาดไม่ใหญ่ แต่มีบทบาทและจุดยืนที่ต่างชาติให้ความเคารพนับถือและเกรงอกเกรงใจเหมือนที่เขาให้กับเพื่อนบ้านเราหลายประเทศ

ซึ่งก็โยงกับคำว่า story ของประเทศไทยที่จะนำเสนอต่อประชาคมโลกเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาพลักษณ์ของไทยในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

หากจะวิเคราะห์เปรียบเทียบประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ก็พอจะสรุปได้เป็นประเด็นหลักคือ

ในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่เรียกว่า Foreign Direct Investments (FDI) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตและการพัฒนาของประเทศ

และเสริมภาพแห่งความเป็นประเทศที่ “ชกในรุ่นน้ำหนักของตน”

เรียกว่าชกอย่างสมศักดิ์ศรี ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซียเป็นสามประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และตลาดผู้บริโภคที่กำลังเติบโต

แต่ละประเทศมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

 

จุดแข็งของไทยข้อแรกคือที่ตั้งทางยุทธศาสตร์

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนที่สำคัญ โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาอย่างดีของประเทศ รวมถึงท่าเรือและทางหลวง ช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อภายในภูมิภาค

รัฐบาลไทยอาจจะ “ขายจุดแข็ง” อีกข้อหนึ่งคือสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ “ค่อนข้างมีเสถียรภาพ”

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านบางแห่ง แม้จะมีความวุ่นวายทางการเมืองเป็นครั้งคราว แต่ประเทศก็ยังคงรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ

“จุดขาย” อีกจุดหนึ่งคือแรงงานที่มีทักษะ แต่ในความเป็นจริงเราก็อาจจะเริ่มขายประเด็นนี้ยากขึ้นทุกที

ทางการไทยมักจะบอกต่างชาติว่าเรามีกำลังแรงงานที่มีทักษะและมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนต่างๆ เช่น การผลิตและเทคโนโลยี

อีกข้อหนึ่งที่ทางการไทยใช้ชักชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาคือ เราได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากพอสมควร

ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่ง พลังงาน และโทรคมนาคม

แต่หากเรายอมรับความจริงว่า “จุดอ่อน” เราก็มีให้เห็นมากมายหลายด้าน ก็จะต้องมองไปที่

ระบบราชการและการทุจริต

ประเทศไทยกำลังต่อสู้กับกฎเกณฑ์กติกาล้าสมัยของระบบราชการและการคอร์รัปชั่น

จึงต้องยอมรับว่าการปรับปรุงความโปร่งใสและการกำกับดูแลมีความจำอย่างยิ่งหากจะสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น

อีก “ข้อด้อย” ของไทยคือกฎหมายแรงงานมีความซับซ้อนและบ่อยครั้งคือข้อจำกัดที่ทำให้นักลงทุนหันไปหาเพื่อนบ้านเราอย่างไม่ลังเล

 

ถ้าจะประเมินจุดแข็ง-จุดอ่อนของเวียดนาม ก็พอจะเห็นภาพกว้างๆ ได้

ข้อแรกคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

เวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ชนชั้นกลางที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้เกิดโอกาสสำหรับบริษัทที่กำหนดเป้าหมายไปที่ตลาดผู้บริโภค

ข้อต่อมาคือ ต้นทุนแรงงานที่แข่งขันกับไทยได้

เพราะมีความได้เปรียบด้วยต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า โดยดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และการผลิต

จุดแข็งอีกข้อคือ นโยบายที่เป็นมิตรกับ FDI โดยดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

รวมถึงมาตรการจูงใจทางภาษีและกระบวนการบริหารจัดการที่คล่องตัวและตระหนักในความต้องการของผู้มาลงทุน

ที่ชัดเจนว่าเหนือกว่าไทยคือ แรงงานรุ่นใหม่

เวียดนามมีทรัพยากรบุคลากรอายุน้อยและมีการศึกษาเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

เป็นแรงดึงดูดบริษัทต่างๆ ที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะ

แต่ถ้าส่องกล้องสำรวจจุดอ่อนของเวียดนามก็จะพบว่ามีหลายข้อเช่นกัน

ประการที่หนึ่งคือ ความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐาน

แม้เวียดนามมีความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องในด้านต่างๆ เช่น การคมนาคม พลังงาน และโลจิสติกส์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับธุรกิจ

ในบางด้านเวียดนามก็ยังมีปัญหาละม้ายกับไทยเรื่องระบบราชการและคอร์รัปชั่น

จึงเห็นผู้นำเวียดนามรณรงค์ปราบความประพฤติทุจริตระดับสูงอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ภาพลักษณ์เรื่องสินบนอย่างจริงจัง

 

อินโดนีเซียคือมิตรที่เราต้องศึกษาอย่างใกล้ชิดเพิ่มขึ้น

จุดแข็งของอินโดนีเซียข้อแรกน่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ

ประเทศนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงแร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซ

เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เหมืองแร่และพลังงาน

ที่เห็นชัดว่าเป็นจุดขายสำคัญอีกประการหนึ่งของอินโดนีเซียคือ ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่

ด้วยประชากรมากกว่า 270 ล้านคน อินโดนีเซียจึงเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญสำหรับบริษัทในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงการค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค

“จุดแข็ง” ที่รัฐบาลอินโดนีเซียสร้างขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันคือ การเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุน

ด้วยการยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคอย่างจริงจัง

เขาไม่ได้เพียงแต่พูดว่าจะใช้ “กิโยติน” เพื่อฟาดฟันให้กฎหมายเก่าแก่คร่ำครึหมดไป

เขาลงมือทำจริง ๆ…และไม่ได้แค่ฟังจากรายงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด

เพราะนักลงทุนต่างชาติจำนวนหนึ่งก็ยังบอกว่าจุดอ่อนของอินโดนีเซียข้อสำคัญคือ ความซับซ้อนด้านกฎระเบียบที่ยังแก้ไขกันไม่ได้ทั้งหมด

จุดอ่อนอีกข้อของอินโดนีเซียคือ โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการขนส่งและไฟฟ้า

เพราะตราบที่สองสามเรื่องนี้ยังไม่ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ยังเป็นการเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานและเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศได้

แต่ต้องไม่ลืมว่าระบบการเมืองก็เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับการสร้าง story ที่น่าสนใจสำหรับเรา

นั่นคือเรื่องที่ต้องว่ากันให้ละเอียดในสัปดาห์หน้า