เมืองศรีเทพ ได้ชื่อจาก ‘หมอช้าง’? | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ศรีเทพเป็นเมืองบรรพชนต้นทางสายหนึ่งของอโยธยา-อยุธยา

แต่ “ศรีเทพ” (ในชื่อเมืองศรีเทพ) ไม่ใช่ชื่อแท้ดั้งเดิมของเมืองโบราณ หลัง พ.ศ.1000 (วัฒนธรรมทวารวดี) ลุ่มน้ำป่าสัก อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

ชื่อแท้ดั้งเดิมของเมืองศรีเทพว่าอะไร? ไม่พบหลักฐาน จึงต้องสืบค้นต่อไปว่าศรีเทพได้ชื่อจากไหน? เมื่อไร?

 

1. หมอช้าง

“ศรีเทพ” เป็นชื่อตำแหน่งเรียก “หมอศรีเทพ” อยู่ในกรมหมอช้าง สังกัดกรมพระคชบาล (ในอำนาจของพระเพทราชา) พบหลักฐานลายลักษณ์อักษรเก่าสุดในบทพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ตราขึ้นในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031)

“หมอช้าง” ไม่ใช่แพทย์รักษาโรคช้างป่วย แต่เป็นผู้ชำนาญพิธีกรรมโพนช้าง (คล้องช้างป่า) ซึ่งต้องมีอาคมขลังและชำนาญวิชาอาถรรพณ์ มีฐานะเป็นหัวหน้ากลุ่มเมื่อไปโพนช้างป่าในดงใหญ่

[มีบอกในเรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) หนังสือ นิทานโบราณคดี ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ]

2. เกี่ยวกับช้าง

“พันบุตรศรีเทพ” เป็นชื่อในเรื่องเล่าจากความทรงจำย้อนหลังถึงแผ่นดินพระไชยราชา (พ.ศ.2077-2089) สมัยอยุธยาตอนต้น ที่โยงไปไกลนานมากถึงสมัยก่อนอยุธยา

ชื่อ “พันบุตรศรีเทพ” แยกได้ 3 คำ ดังนี้

พัน เป็นชื่อตำแหน่ง เช่น พันท้ายนรสิงห์

บุตร เป็นชื่อตัว น่าจะมาจากคำเดิมว่า บุด เช่น หนังสือบุด

ศรีเทพ หมายถึงคำบอกที่มา (ของพันบุตร) ดังนี้

(1.) ผู้มีวิชาอาถรรพณ์ในพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับช้าง

(2.) ผู้มีที่มาเกี่ยวข้องพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักซึ่งมีช้างป่ามาก

เอกสารชาวยุโรปบันทึกว่าพันบุตรศรีเทพเป็นคนเดียวกับขุนชินราช ผู้มีวิชาความรู้และมีอำนาจควบคุมกำลังคนและยุทโธปกรณ์ (เช่น กองช้าง)

หลักฐานดังกล่าวเข้ากันได้ดีกับขุนวรวงศา เป็นเชื้อสายวงศ์ละโว้ ซึ่งควบคุมพื้นที่แหล่งแร่เหล็ก (ตีดาบ) และแหล่งช้างป่า ลุ่มน้ำป่าสัก

 

3. ชื่อเมืองสมัยอยุธยา

“เมืองศรีเทพ” เป็นชื่อเมืองในความทรงจำย้อนหลังถึงอดีตของอยุธยาตั้งแต่สมัยแรกๆ อยู่ในคำให้การขุนหลวงประดู่ในทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง)

 

4. ชื่อเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ ร.3

“เมืองศรีเทพ” เป็นชื่อเมืองบริเวณลุ่มน้ำป่าสักในจดหมายเหตุเรื่องราชการทัพเวียงจันท์ (ฉบับที่ 13) แผ่นดิน ร.3 ทำศึกเจ้าอนุวงศ์

 

5. คนท้องถิ่น ร.5 เรียกเมืองศรีเทพ

“เมืองศรีเทพ” เป็นชื่อเมืองในความทรงจำของคนท้องถิ่นอยู่ในหนังสือนิทานโบราณคดี (เรื่องความไข้เมืองเพชรบูรณ์) ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คราวเสด็จตรวจราชการในแผ่นดิน ร.5 พ.ศ.2447

เมืองศรีเทพ เมื่อหลัง พ.ศ.1000 ได้ชื่อ “ศรีเทพ” จากหมอช้าง หรือจากไหน? ยังสรุปไม่ได้ (ภาพจาก FB อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)

ทบทวนย้อนรอยเมืองศรีเทพ

เมืองศรีเทพได้ชื่อจากไหน? ต้องทบทวนย้อนกลับไปอย่างสันนิษฐานคือ “เดา” ล้วนๆ ซึ่งอาจผิดได้ จึงอย่าวางใจ ดังนี้

(1.) เมืองศรีเทพได้จากชื่อท้องถิ่นแผ่นดิน ร.5 ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสอบถามคนในท้องถิ่น

(2.) คนในท้องถิ่นแผ่นดิน ร.5 เรียกเมืองศรีเทพ ตามชื่อทางการแผ่นดิน ร.3

(3.) ชื่อทางการแผ่นดิน ร.3 เรียกเมืองศรีเทพ ตามชื่อทางการสมัยอยุธยาตอนปลาย

(4.) ชื่อทางการสมัยอยุธยาตอนปลาย เรียกเมืองศรีเทพตามคำบอกเล่า หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับพันบุตรศรีเทพสมัยอยุธยาตอนต้น

(5.) เรื่องเล่าพันบุตรศรีเทพสมัยอยุธยาตอนต้น ได้จากความทรงจำสมัยก่อนหน้านั้นว่าพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักเป็นแหล่งช้างป่า และผู้ได้รับยกย่องโพนช้างซึ่งรู้จักมักคุ้นคือหมอศรีเทพ

[ศิริพจน์ เหล่ามานะเจิรญ ตั้งข้อสังเกตสำคัญว่าตำแหน่งหมอศรีเทพเกี่ยวข้องหมอช้างในประเพณีโพนช้าง ซึ่งสอดคล้องเข้ากันได้ดีกับโครงกระดูกช้างที่นักโบราณคดีขุดพบในเมืองศรีเทพ แม้จะยังเชื่อมโยงไม่ได้สนิท แต่น่าคิดอย่างยิ่งว่าทำไมไปกันได้?]

ขณะนั้นเมืองโบราณลุ่มน้ำป่าสักลดความสำคัญ มีชาวบ้านเก็บ “ของป่า” และอาจเป็นที่หลบซ่อนของ “คนไร้รัฐ” หนีเกณฑ์แรงงานจากรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่เป็นที่ซ่องสุ่มกองกำลังของเชื้อสายรัฐละโว้ •