ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

มีความเคลื่อนไหวคึกคักอันเป็นปกติ ไม่น่าจะใช่เรื่องตื่นเต้นเกินควร

ไม่ว่ากรณีสื่อต่างประเทศนำเสนอไว้ (หัวข้อข่าว “Billionaires Muscle In on Thai Convenience” Bloomberg, October 5, 2023) สื่อไทยมาแปลกัน พาดหัวให้ดุตื่นเต้นขึ้น ทำนอง “เจ้าสัวเบียร์ช้าง ท้าชน เจ้าสัวซีพี”

หรือกรณีข่าวความเคลื่อนไหวก่อนหน้านั้น (17 กันยายน 2566) กลุ่มเซ็นทรัล เปิดตัวเครือข่ายค้าปลีกแบบใหม่ บางสื่อนำเสนอว่า “เซ็นทรัล รุกธุรกิจค้าส่ง ท้าชน Makro”

อันที่จริงเรื่องราวรายใหญ่ปะทะกันเปรี้ยงปร้าง ครั้งที่ตื่นเต้น ย้อนกลับไปกว่าทศวรรษ เหตุเกิดในปี 2553 เมื่อ ปตท.จะร่วมวงประมูลกิจการห้างคาร์ฟูร์ (Carrefour) ในประเทศไทย เครือข่ายค้าปลีกโมเดลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Hypermarket ท่ามกลางบรรดารายใหญ่อีกหลายราย ทั้ง กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มทีซีซี และซีพี

แรงกดดันถาโถมมายัง ปตท.เป็นสำคัญ จนต้องประกาศถอนตัวในที่สุด

จบเกมคราวนั้น ไม่มีใครได้ กลายเป็นเครือข่ายค้าปลีกฝรั่งเศสด้วยกัน Carrefour มาอยุ่กับ Big C

แต่จากนั้นไม่นาน Big C ในเครือข่าย Casino Group แห่งฝรั่งเศส ประกาศขายกิจการ คราวนี้ไม่พลาด เครือข่ายกลุ่มทีซีซี โดย บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ได้เข้าซื้อกิจการอย่างรวดเร็วในปี 2559

ส่วน ปตท. ในปี 2561 ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ ก่อตั้งบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อเข้าตลาดหุ้น นอกจากธุรกิจน้ำมันแล้ว ธุรกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือค้าปลีก

“OR คือ ผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกภายในสถานีบริการน้ำมันเป็นรายแรกของประเทศไทย” ข้อมูลของ OR ว่าไว้อย่างนั้น

 

เรื่องราวค้าปลีกไทยสมัยใหม่ เป็นเรื่องของ “รายใหญ่” ภาพนั้น เริ่มมองเห็นตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทย (ปี 2540) โดยเฉพาะในโมเดลซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมพอสมควร ต่อระบบการค้าแบบดั้งเดิม โมเดลธุรกิจค้าสมัยใหม่ (Modern trade) พัฒนาไปมาก ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นเมื่อช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ว่านั้น ด้วยการมาของเครือข่ายธุรกิจระดับโลก ร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย ที่สำคัญกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างไม่สะดุด แม้ผ่านช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

อันที่จริง ธุรกิจค้าปลีกมาถึงจุดเปลี่ยนเพียงทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเครือข่ายธุรกิจไทยเข้าครอบงำ ในจังหวะเวลาเครือข่ายระดับโลกถอนตัว

เปิดฉากดีลครึกโครม โดย CPALL (บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในเครือซีพี เจ้าของระบบแฟรนไชส์ 7-Eleven เครือข่าย ร้านสะดวกซื้อ (convenience store) จากช่วงทศวรรษแห่งการก้าวกระโดด (3545-2555) ก้าวข้ามไปสู่โมเดลค้าส่ง (ในปี 2556) ด้วยการซื้อกิจการ Makro แห่งเนเธอร์แลนด์ ผู้นำเครือข่ายธุรกิจค้าส่งในประเทศไทย มูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท

อีก 3 ปี (2559) ต่อมา เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ธุรกิจการค้าในโมเดลเดิม ภายใต้เครือข่ายกลุ่มทีซีซีของ เจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังปรับตัวให้เข้าการค้ายุคสมัย ก้าวไปอีกขั้นซื้อเครือข่าย Big C ในประเทศไทย จาก Casino Group แห่งฝรั่งเศส กลายเป็นกรณีซื้อขายกิจการในธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าสูงสุดที่สุดระดับภูมิภาคในวลานั้น

ในจังหวะใกล้เคียงกันนั้น ได้ขยายเครือข่ายค้าปลีกในระดับภูมิภาคอย่างจริงจังด้วย เข้าซื้อ METRO Cash & Carry Vietnam (มีสาขาค้าส่งแบบบริการตนเองที่เรียกว่า Cash & Carry ทั้งสิ้น 19 สาขา) ด้วยมูลค่า 655 ล้านยูโร (คิดเป็นเงินในเวลานั้น มากกว่า 25,500 ล้านบาท) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น MM Mega Market Vietnam Company (มีสาขา 21 แห่ง)

สำหรับกลุ่มทีซีซี ช่วงเวลานั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ กลายเป็นเจ้าของเครือข่ายค้าปลีกสมัยใหม่รายใหม่อย่างเต็มตัว และเป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่กรงขามพอสมควร

ในช่วงเดียวกันนั้น กลุ่มเซ็นทรัล เคลื่อนไหวในทิศทางแตกต่างออกไปบ้าง มุ่งขยายเครือข่ายในต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักดั้งเดิม โมเดลห้างสรรพสินค้า บุกเบิกซื้อเครือข่ายห้างในยุโรป ขณะเดียวกันเข้าซื้อกิจการ Big C จาก Casino groupในประเทศเวียดนาม (ปี 2559) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ Big C ขนาดเล็กเป็น Tops Market และเปลี่ยนชื่อในโมเดล Hypermarket เป็น GO! ปัจจุบันมีเครือข่ายสาขารวมกันกว่า 50 แห่ง

ส่วนซีพี ขยับตัวอีกครั้ง ครั้งใหญ่ในปี 2563 ลงทุนซื้อเครือข่าย Tesco ในประเทศไทยและมาเลเซีย ด้วยวงเงินสูงเป็นประวัติการณ์มากกว่า 3 แสนล้านบาท เป็นการหลอมรวมเครือข่ายค้าปลีกซึ่งทรงอิทธิพล ทรงพลัง เข้าไว้ด้วยกัน

 

จึงมาถึงเป็นบทสรุปที่น่าสนใจ ที่ว่า

หนึ่ง-เครือข่ายค้าปลีกไทย กลายเป็นธุรกิจใหญ่ มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น เป็นธุรกิจเดียวก็ว่าได้ อยู่ในกำมือของธุรกิจไทยอย่างเบ็ดเสร็จ อยู่ภายใต้โครงสร้างธุรกิจใหญ่ไทยไม่กี่ราย

และ สอง-มีอิทธิพลระดับภูมิภาค ด้วยธุรกิจค้าปลีกไทย จะกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนแล้ว

โดยเปรียบเทียบ เครือข่ายค้าปลีกรายสำคัญ อย่าง CPALL มีรายได้มากกว่า 800,000 ล้านบาท (งบการเงินปี 2565) และ เซ็นทรัลรีเทล หรือ CRC มีรายได้มากกว่า 2 แสนล้าน (งวดเดียวกัน) ถือว่ามีมากกว่าธุรกิจไทยอันทรงอิทธิพลมาช้านาน อย่างธนาคาร เมื่อเทียบเคียงกับธนาคารใหญ่ 3 แห่ง-ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่วน ธนาคารกสิกรไทย ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกันกับ CRC และยังถือว่ามากกว่าธุรกิจสื่อสารซึ่งเติบโตมาแค่ 3 ทศวรรษ ทั้ง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ ทรู คอร์ปอเรชั่น

จะว่าไปความเคลื่อนไหวอันเป็นปกติข้างต้น จะไม่น่าสนใจเลย ก็ไม่เชิง ทั้งนี้ ทั้งสองกรณี เป็นความเคลื่อนไหว เป็นไปตามมุมมอง สะท้อนบทวิเคราะห์สภาพธุรกิจค้าปลีกไทยในปัจจุบัน

ว่าด้วยธุรกิจร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย Bloomberg ประเมินว่า จากนี้ไม่นาน จะเกิดการแข่งขันครั้งใหญ่ เมื่อบรรดาธุรกิจใหญ่เข้าร่วมวงมากขึ้น เป็นไปตามบทวิเคราะห์ในแนวเดียวกัน ว่าด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป “จากการซื้อสินค้าครั้งละมากๆ เป็นซื้อทีละน้อย แต่ซื้อบ่อยขึ้น”

 

อีกมุมหนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นแรงขับดัน มีบทเรียนจากคูแข่ง เทียบเคียงซึ่งเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน จากกรณีความสำเร็จทางธุรกิจของ 7-Eleven ในประเทศกัมพูชา และลาว

กรณี สปป.ลาว เกิดขึ้นหมาดๆ 7-Eleven เพิ่งเปิดสาขาแรกที่นั่น กลายเป็นเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นในสังคมมืองหลวงของลาว ในช่วงเวลาเศรษฐกิจตกต่ำ

ปฏิกิริยานั้นดูจะแตกต่างจากรณีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อของกลุ่มทีซีซี (Mini Big C) มีหลายแห่งอยู่ในนั่นมาก่อน และอาจจะเป็น “ชิ้นส่วน” หนึ่ง สนับสนุนแผนการใหญ่กลุ่มทีซีซีเพิ่งประกาศ ผ่านบริษัทไทยเบฟเวอเรจ (งานแถลงข่าวประจำปี 2566 เมื่อตุลาคม 2566) ที่ว่าด้วย “การปลูกเมล็ดพันธุ์” ให้ความสำคัญในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะกัมพูชาและลาว

อีกกรณี กลุ่มเซ็นทรัล โดย บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์เปอเรชั่น หรือ CRC ประกาศเปิดตัว GO Wholesale วางแนวทางธุรกิจค้าส่งสินค้า สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร และร้านค้าปลีกรายย่อย ถือเป็นโมเดลเดียวกับ Makro ของกลุ่มซีพี ซึ่งอยู่ในตลาดไทยมานานกว่า 3 ทศวรรษ แทบจะไม่คู่แข่งทางธุรกิจโดยตรง ที่น่าตื่นเต้น CRC มีสุชาดา อิทธิจารุกุล อดีตผู้บริหาร ผู้อยู่กับ Makro มาตั้งแต่ต้นก็ว่าได้ เข้ามาเป็นผู้บริหาร เพื่อบุกเบิกธุรกิจใหม่

จากถ้อยแถลงกลุ่มเซ็นทรัล สะท้อนบทวิเคราะห์ทางธุรกิจไว้อย่างน่าติดตาม มองว่าตลาดอาหารไทย มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ภายในห่วงโซ่ มีร้านอาหารถึง 6 แสนราย กับร้านโชห่วยอีก 6 แสนราย โดยเชื่อว่ามีปัจจัยการเติบโตต่อเนื่อง มาจากธุรกิจท่องเที่ยว หากมองในมุมของ CRC เอง ทำให้เครือข่ายธุรกิจครอบคลุมและครบวงจรกว่าเดิม •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com