คนรุ่นใหญ่ x คนรุ่นใหม่ 50 ปี 14 ตุลา 16 การเมืองไทยวนอยู่ที่เดิม? คนรุ่นใหม่จุดไม่ติดแล้ว?

ย้อนกลับไป 50 ปีที่แล้ว ในปี 2516 “ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” ยังเป็นนิสิตชั้นปี 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูก “รับน้อง” เริ่มต้นปีการศึกษาด้วยชนวนเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองคือ “ทุ่งใหญ่นเรศวร”

ขณะนั้น นิสิตใหม่ถูกเกณฑ์ไปแจกใบปลิวประท้วงที่หน้ามหาวิทยาลัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าร่วมขบวนการนิสิตนักศึกษา และนำไปสู่การเคลื่อนไหวเมื่อครั้ง 14 ตุลาคม 2516

14 ตุลา 2516 เปิดกล่องแพนโดรา
เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ ปิดยุคทหาร

เหตุการณ์ทุ่งใหญ่ อาจจะไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้าย (ที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516) แต่เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลถนอมนั้นเปลี่ยนไปมาก ซึ่งความจริงอาจจะเป็นผลพวงจากปลายปี 2515 ที่เกิดเหตุการณ์ “กฎหมายโบดำ” ที่ให้อำนาจกับรัฐบาลในการเข้าไปแทรกแซงแต่งตั้งผู้พิพากษา ทำให้เริ่มมีการประท้วง แล้วความน่าสนใจคือ เป็นการประท้วงในขณะที่เป็นรัฐบาลทหารภายใต้กฎอัยการศึก เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า กฎอัยการศึกของทหารไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว

กระทั่งเดือนมิถุนายน 2516 รัฐบาลประกาศต่ออายุราชการ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร อีก 1 ปี และยังยกชั้นยศขึ้นเป็น “จอมพล” นำไปสู่การทำหนังสือประท้วงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งภายหลังนักศึกษาที่มีส่วนร่วมได้ถูกถอดชื่อจากสภาพนักศึกษา เหตุการณ์นี้เหมือนการจุดไฟในหมู่คนรุ่นใหม่ เกิดการชุมนุมและขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

พอถึงจุดหนึ่ง การชุมนุมนั้นไม่ใช่เรื่องทุ่งใหญ่แล้ว แต่กลายเป็นเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 14 ตุลาคม มีคนมาเข้าร่วมจำนวนมหาศาล ตัวเลขสื่อที่ประเมินกันอาจแตะ 500,000 คน ซึ่งเรื่องตัวเลขนั้นเราถกเถียงกันได้ แต่ดูจากภาพที่ปรากฏแล้วเกินหลักแสนแน่นอน โดยทั้งนักศึกษาและทั้งรัฐบาลก็ไม่มีใครคาดคิดว่าคนจะลงถนนขนาดนั้น

ผมคิดว่า ถ้าเราเอาเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของสยามครั้งที่ 1 ถือว่า 14 ตุลาคม 2516 เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งที่ 2 ถ้าเรียกในแบบคนเรียนรัฐศาสตร์ สองเหตุการณ์นี้คือการปฏิวัติทางการเมือง อาจไม่ถึงขั้นปฏิวัติทางสังคมในแบบจีน หรือรัสเซีย แต่เราเห็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ จากรัฐบาลทหารที่เริ่มต้นรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แล้วสืบสายธารอำนาจทอดยาวมา ผมคิดว่ามันจบที่ 14 ตุลาคม 2516 และเป็นการปิดยุคทหารจริงๆ

สำนวนฝรั่งเรียกว่า “เปิดกล่องแพนโดรา” เมื่อกล่องที่เก็บปัญหาต่างๆ ไว้ถูกเปิดออกมา หนึ่งในนั้นคือปัญหากองทัพ แต่เดิมทหารถูกคุมโดยเข้มงวดผ่านผู้นำที่มีอำนาจมาก เช่น จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอน จอมพลประภาส พอระบอบเดิมของการคุมกองทัพสิ้นสลายลง มันพากองทัพไปอีกแบบหนึ่ง กลายเป็นยุคของทหารระดับกลาง ภาพตัวแทนหนึ่งคือ ยังเติร์ก

 

มรดกใหญ่ 14 ตุลา
ผลพวงที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในฝั่งของนิสิตนักศึกษา 14 ตุลา คือการเปิดโจทย์ของเสรีภาพที่ใหญ่ที่สุด เป็นจุดเริ่มต้นการล้มระบบโซตัสครั้งใหญ่ที่สุด

ขณะที่ในทางสังคม มีสถิติที่น่าตกใจคือ เกิดการประท้วงของคนงานจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ที่ 14 ตุลา เปิดให้ เพราะก่อนหน้านั้นเราเห็นการพัฒนาระบบทุนนิยมในสังคมไทย ที่พาพี่น้องชาวนาในชนบทเข้ามาเป็นคนงานในเมือง แต่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ระบบทุนนิยมที่เข้มงวดคือปัญหาค่าแรง

ถ้ามองจากมุมฝ่ายอนุรักษนิยม เห็นแค่ตัวเลขสถิติประท้วงก็น่ากลัวแล้ว

กลับมามองข้อเรียกร้องรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ถามว่าต่างจากยุคนั้นไหม ผมว่ามีความคล้ายคลึงกันอยู่พอสมควร ในฐานะที่อยู่ในขบวนการนิสิตนักศึกษาและวันนี้เป็นผู้อาวุโส นั่งมองปรากฏการณ์สังคมไทยในปัจจุบัน

คิดว่า มันคือผลพวงของ 14 ตุลา ที่สร้างผลสืบเนื่องอย่างไม่จบ

 

ปี 2559 ขีดเส้นแบ่งเวลาใหม่
ของขบวนการนักศึกษา

พื้นที่คนรุ่นใหม่ถูกทำให้ฟุบไปช่วง 6 ตุลาคม 2519 พอเกิดเหตุการณ์ปราบใหญ่ จากนั้นความเคลื่อนไหวในรูปแบบเดิมก็มาปะทุในปี 2535

อย่างไรก็ตาม เราอาจคิดได้อีกอย่างหนึ่งว่า บทบาทคนรุ่นใหม่นั้นอาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิม แต่อาจอยู่ในรูปแบบของเอ็นจีโอ ที่เข้าไปทำกิจกรรมโดยไม่ได้ผ่านขบวนการนักศึกษาทั้งหมด การมองบทบาทคนรุ่นใหม่ต้องสัมพันธ์กับเงื่อนเวลาและบริบทของสถานการณ์

ผมคิดว่ากิจกรรมของคนรุ่นใหม่เริ่มปะทุขึ้นช่วงปี 2559 ขอยกตัวอย่างในงานครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ช่วงที่ “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” เข้ามาเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ การจัดงานรำลึกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยคนรุ่นผม แต่จัดโดยนิสิตปีหนึ่ง ซึ่งเป็นอะไรที่เราตื่นเต้นมาก และรู้สึกว่า นี่คือการฟื้นขึ้นมาของขบวนการนักศึกษาอีกครั้งหนึ่งใช่หรือไม่ นิสิตปีหนึ่งในรุ่นนั้นสามารถเกาะกันแล้วสร้างแนวร่วมข้ามมหาวิทยาลัย จนมาถึงช่วงที่โควิดระบาด ทำให้ทุกอย่างหยุดลง

อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนโควิด เราเห็นปรากฏการณ์แฟลชม็อบ ถ้าโควิดไม่มารัฐบาลประยุทธ์เหนื่อยแน่ “ม็อบสวนรถไฟเป็นสัญลักษณ์ของการจุดติด” เผอิญคนที่มาดับไฟม็อบคือโควิด

สิ่งที่เราต้องตามดูคือ กิจกรรมของคนรุ่นใหม่จะอยู่อย่างไร คนรุ่นใหม่จะเอาตัวเองไปอยู่กับพรรคการเมืองบางพรรคไหม? หรือจะผันเข้าสู่เอ็นจีโอบางส่วน เป็นอะไรที่น่าติดตามในบริบทของกระแสโลก

ผมขอมองโลกสวยนิดหนึ่งว่า การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ยังขับเคลื่อนต่อ แต่ในอนาคตกระแสโลกที่มีความซับซ้อนจะมีผลต่อคนรุ่นใหม่ กระแสการเมืองและพลวัตของสังคมภายในก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งกระทบกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เช่นกัน ไม่ต่างกับยุคของ 14 ตุลา โดยภาพรวมนั้นเป็นภาพเดียวกัน

 

ในขณะที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถูกมองโดยคนร่วมยุคสมัยนั้นว่า เป็น “ชัยชนะ” ของเหล่านักศึกษาประชาชนในการต่อสู้ทางการเมือง

“ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” หรือมายด์ นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ กลับมีมุมมองและให้คุณค่าต่อประวัติศาสตร์ชุดนี้ที่แตกต่างออกไป

มายด์

เหตุการณ์ 14 ตุลา
ไม่ถูกจดจำสำหรับคนรุ่นใหม่
เท่าเหตุการณ์อื่น เช่น 6 ตุลา 19 หรือการปฏิวัติ 2475?

จริงๆ ทุกเหตุการณ์มันไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน เหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 นั้นคือจุดเปลี่ยนของขั้วอำนาจ มีกฎเกณฑ์ใหม่ในการจัดระเบียบสังคมใหม่

ส่วนเหตุการณ์ 14 ตุลา นั้นเป็นช่วงประวัติศาสตร์หนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่า คนในสังคมตื่นตัวทางการเมืองมากขนาดไหน เป็นมูฟหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่อาจจะไม่ได้มีจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

อีกเหตุผลหนึ่งคือ มายด์รู้สึกว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา มีเซนส์ที่ทำให้คนรู้สึกว่า “เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกแต่งเติม” คนก็เลยแค่รับรู้และเรียนรู้ว่าเหตุการณ์ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น

แล้วก็ข้ามไปโฟกัสที่ 6 ตุลา ซึ่งเป็นการตั้งคำถามกับ “ต้นตอ” ของปัญหามากกว่า

 

40-50 ปีที่ผ่านมา
ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่หายไปไหน?

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง คือแผนอันแยบยลของชนชั้นนำที่ใช้เป็นเครื่องมือในการควบรวมอำนาจ และตัดทอนความเจริญ จริงๆ แล้วการเมืองของไทยควรจะต้องถูกพัฒนาองค์ความรู้ และวัฒนธรรมทางการเมืองให้เท่าทันประชาธิปไตยสากลได้แล้ว แต่เราไปไม่ได้ เพราะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่พร้อมสกัดกั้น และคงอำนาจรวมศูนย์ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครองและต่อการดึงผลประโยชน์ออกไปใช้

การรัฐประหารนั้นไม่ใช่แค่การ “รีเซ็ต” เพียงอย่างเดียว แต่คือการ “ฝังราก” ที่แก้ยากขึ้นกว่าเดิมไปด้วย

อย่างเช่น รัฐประหาร ปี 2557 ก็ได้ฝังรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ที่แก้ยากเอาไว้ ถ้าพวกเขายังมีอำนาจ ประชาชนอย่างเรานั้นแทบไม่มีโอกาสแก้เลย เราก็เลยเป็นคนที่เหมือนโชคร้ายหน่อย ที่ต้องต่อสู้กับหนทางซ้ำๆ วนไปเรื่อยๆ แท็กติกนั้นอาจจะเปลี่ยนไป แต่รูปแบบนั้นจะวนเหมือนเดิม เช่น มีการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ มีการวางรากฐานอำนาจใหม่ ใช้กฎหมายปิดปาก แล้ววนลูปกลับมาที่การลุกฮือ

เป็นลูปอะไรบางอย่าง เพราะยังมีการแย่งชิงอำนาจอยู่เสมอไม่จบตั้งแต่ปี 2475 เหตุผลที่ไม่จบเพราะ “ผู้มีอำนาจยังไม่อนุญาตให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง” พลวัตการต่อสู้ของประชาชนนั้นถูกแทรกแซงโดยอำนาจใดอำนาจหนึ่งเสมอ

 

ทุกการวนลูปการต่อสู้
จะวนกลับมาที่รัฐธรรมนูญเสมอ

ปี 2563 เราเริ่มต้นด้วยประเด็นที่แหลมคมมาก เพราะแรงอัดอั้นตันใจที่ถูกกดจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พอมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ รู้สึกว่าฟางเส้นสุดท้ายขาดเลย

เราเลยเปิดไปถึงคำถามที่ “ต้นตอ” เปิดประเด็นให้คนถกเถียงร่วมกัน ทลายเพดานปลอมๆ ทิ้ง ให้เข้าใจว่าโครงสร้างอำนาจมันคืออะไร และในมุมหนึ่งเราทำได้

พอคนรู้แล้วว่าปัญหาโครงสร้างทางอำนาจคืออะไร

ทีนี้ย้อนกลับมาที่รัฐธรรมนูญ เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริงยังไม่มี

 

เมื่อการเข้าถึงข้อมูลมีมากขึ้น
ประเทศไทยวันนี้ ไม่เหมือนเดิม

ในรอบ 10-20 ปีนี้ การเมืองไทยเปลี่ยนไปเยอะมาก ถ้าเทียบกับหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ในสภาเป็นพื้นที่ของการวิพากษ์ถึงอำนาจของสถาบันฯ คิดว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับช่วงนั้นเลยด้วยซ้ำ อาจไม่ได้เปลี่ยนไปข้างหน้า แต่เราวนกลับมาที่เดิมเพื่อกลับมาหาต้นตอของปัญหา ในช่วงเวลานี้ ที่ข้อมูลข่าวสารสืบค้นได้มากขึ้น พื้นที่การถกเถียงมีมากขึ้น เมื่อเราได้ถกเถียงกันถึงต้นตอของปัญหามากขึ้น

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีมากในการเซ็ตบรรทัดฐานทางอำนาจของสังคมใหม่ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยควรเปลี่ยนได้แล้ว

 

ถ้า 40-50 ปี ถัดไป
การต่อสู้ของประชาชนยังไม่ชนะ?

เราไม่ได้หวังว่าการต่อสู้นั้นจะเสร็จภายใน 5-10 ปีอยู่แล้ว การที่เราอยากเห็นสังคมดีกว่านี้ ไม่ได้มีจุดสิ้นสุดว่าเมื่อไหร่ถึงจะดีพอแล้ว มันคงต้องพัฒนาและดีต่อไปเรื่อยๆ แต่จะมีภารกิจบางอย่างที่เป็นทางการ เช่น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชนจริงๆ นี่อาจเป็นภารกิจแรกที่เป็นหมุดหมายตั้งไว้ หลังจากนั้นคือการทำงานทางความคิดที่เรายังต้องทำอยู่เสมอ ควบคู่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างการต่อสู้กับกลุ่มทุน ก็คงจะเป็นการต่อสู้กันอีกยาว

เช่นเดียวกับคนในอดีตที่คิดอยากจะทำให้สังคมดีกว่านี้ หลายคนก็คงไม่ได้คิดว่า “มันต้องจบในรุ่นเรา” ขนาดนั้น ทุกอย่างที่เขาหว่านไว้ เมื่อกาลเวลาผ่านไป จะถูกเรียนรู้และต่อยอดต่อไปเอง

หากเรามีความหวัง ความหวังเป็นสิ่งที่ฆ่าไม่ตาย ต่อให้เรายืนอยู่ในจุดที่ดำมืดแค่ไหน เราต้องกล้าที่จะหวัง ขอแค่ไม่หมดหวัง ความหวังก็ผุดขึ้นมาได้แล้ว