ผักแว่น

ผักฯแว่นฯฯ

ผักแว่น อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า ผักแว่น

“ผักแว่น” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Marsilea crenata Presl วงศ์ MARSILEACEAE ชื่อสกุล Mardilea ตั้งตามชื่อ Luigi Ferdinando Mardigli (ค.ศ.1654-1730) ผู้อุปถัมภ์พฤกษศาสตร์ชาวอิตาลี crenata แปลว่า “หยักมน” จากลักษณะของขอบใบ

ผักแว่นเป็นเฟิร์นน้ำขนาดเล็กอายุหลายปี ลำต้นทอดเลื้อยตามริมตลิ่ง หรือที่น้ำขังและไม่ลึกมากอย่างนาข้าว ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย 4 ใบ ติดบนก้านใบยาว 4.5-15 ซม. ใบอ่อนม้วนงอขดเป็นวง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่ปรากฏในเฟิร์น โคนใบมีอับสปอร์ชูตั้งขึ้นคล้ายเมล็ดถั่ว ปรากฏเมื่อน้ำแห้ง ภาษาอังกฤษเรียก “water clover” จากลักษณะของใบคล้ายคลึงกับใบ “clover” นำโชค มีต้นไม้ที่คล้ายกัน ทั้งขนาดรูปร่างและถิ่นอาศัย คือ “ส้มกบ” ต่างกันที่ส้มกบไม่มียอดอ่อนขดม้วนเป็นวงเพราะเป็นพืชดอก

ที่สำคัญมีใบย่อยเพียง 3 ใบ และมีรสเปรี้ยว

 

ผักแว่นมีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นและเขตร้อนของทวีปเอเชีย ได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น ในไทยสามารถพบได้ทุกภาค

ชื่อผักแว่นนั้นทางภาคเหนือคำว่า “แว่น” หมายถึง “กระจกเงา” สันนิษฐานว่ามาจากการที่ใบผักแว่นจะอยู่ปริ่มใกล้ผิวน้ำ พบมากในนาข้าว เวลาเก็บเกี่ยวมาบริโภคต้องใช้การโก้งโค้ง แล้วใช้นิ้วมือช้อนเอาเฉพาะใบมาแกง โดยสอดนิ้วไปใต้ใบแล้วออกแรงกระตุกให้แผ่นใบหลุดจากก้านใบ เหลือตอของก้านใบไว้ อากัปกิริยาในการเก็บนี้ ดูแล้วละม้ายคล้ายการก้มลงส่องดูเงาในน้ำ แบบเดียวกับการส่องกระจก จึงเรียกกันว่า “ผักแว่น”

ส่วนภาคใต้เรียก “ผักลิ้นปี่” จากใบย่อยรูปลิ่ม คล้ายลิ้นปี่ของเครื่องเป่าประโคมดนตรีปี่พาทย์

สรรพคุณทางยา น้ำคั้นจากใบใช้รักษาแผลเปื่อย ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ช่วยสมานแผล ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง ลดการอักเสบ และเร่งการสร้างเนื้อใหม่ได้

ประโยชน์ด้านอาหาร ผักแว่นเป็นผักที่มากับน้ำ จึงถือเป็นผักพื้นบ้านตามฤดูกาลอีกชนิดหนึ่งตามท้องไร่ท้องนา ซึ่งจะมีผักแว่นกินกันในช่วงฤดูน้ำหลาก ปลายฝน กันยายน-ตุลาคม โดยใช้ใบอ่อน ก้าน และยอดกินสดเป็นผักจิ้มน้ำพริกปลา กินกับขนมจีน

ในล้านนานิยมนำเฉพาะส่วนของใบไปแกงโดยต้มกับเกลือ ใส่เห็ดฟางกับพริกหนุ่มจี่ หรือใส่ปลาจี่เพื่อเพิ่มรสหวาน โดยไม่ต้องปรุงเพิ่มเติม ก็จะได้รสจืดเย็นกลมกล่อมจากผักแว่น

แกงฯผักฯแว่นฯใส่ปลฯาจี่ ลำขนฯๆาดฯเจั้า อ่านว่า แก๋งผักแว่นใส่ป๋าจี่ลำขนาดเจ้า แปลว่า แกงผักแว่น ใส่ปลาเผา อร่อยมากค่ะ

เคล็ดลับความอร่อยของชาวล้านนาเราคือก่อนจะนำไปปรุงอาหารจะหั่นใบผักแว่น แล้วใช้มือขยำจนอ่อนนิ่มเสียก่อน ช่วยให้รสชาติของผักแว่นออกมากับน้ำแกง รับประทานง่ายยิ่งขึ้น เหมาะกับเด็กและผู้สูงอายุ ช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหาร และกากใย โดยในผักแว่น 100 กรัม ให้พลังงาน 18 กิโลแคลอรี มีน้ำ 94 กรัม ไฟเบอร์ 3.3 กรัม โปรตีน 1.0 กรัม ไขมัน 1.2 กรัม และคาร์โบไฮเดรต 0.7 กรัม มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอยด์ เบต้าแคโรทีน (2,291.06 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมผักแว่นแห้ง) เป็นต้น

มีงานวิจัยพบฤทธิ์ช่วยลดน้ำตาลในเลือด โดยสามารถยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน โดยสารสกัดจากผักแว่นยับยั้งได้ร้อยละ 98.57 (สารมาตรฐานที่ยับยั้งได้ร้อยละ 97.14) •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง