คุยกับทูต | ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ การทูตที่ไม่ธรรมดาของเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกัน (2)

“ก่อนมาประจำประเทศไทย พ่อเป็นนักการทูตที่ทำงานอยู่ในวาติกัน แล้วไปประจำช่วงสั้นๆ ช่วงหนึ่งในอียิปต์”

“หลังจากนั้นก็ที่ไนจีเรีย และทวีปแอฟริกาตอนใต้ ได้แก่ บอตสวานา, นามิเบีย, อิสวาตีนี และเลโซโท”

“หากรวมถึงประเทศแอฟริกาใต้ด้วยก็ประมาณ 10 ปีที่ดำรงตำแหน่งสมณทูต”

“พ่อทำงานอย่างใกล้ชิดกับโบสถ์ ได้รู้จักผู้คนมากมายทั้งชุมชนท้องถิ่นและนักการทูต ซึ่งบางคนก็ได้มาพบกันอีกที่นี่ ทุกอย่างล้วนเป็นความทรงจำที่ดี”

อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) เอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจําประเทศ

การปรับตัวกับสถานที่ใหม่จากทวีปหนึ่งมายังอีกทวีปหนึ่ง

อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) เอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจําประเทศไทย เล่าว่า

“จากแอฟริกามาไทย แน่นอนว่าแตกต่างกันมากทั้งระยะทางและวัฒนธรรม แต่ความแตกต่างทำให้เกิดความน่าสนใจ มีเสน่ห์ น่าหลงใหล ชวนให้ติดตามเป็นอย่างมาก”

“แอฟริกามีเสน่ห์ และผู้คนในแอฟริกาก็ไม่ธรรมดา มีความมหัศจรรย์ในการหลอมรวมวัฒนธรรมอันหลากหลายอย่างยอดเยี่ยม พ่อเพิ่งมาประจำการที่นี่ได้เพียงครึ่งปี ก็พบว่าคนไทยเป็นคนที่มีจิตใจดีมาก และมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลานานนับปี”

“ความสำคัญคือ การสามารถปรับตัวจากวัฒนธรรมของแอฟริกามาสู่วัฒนธรรมของเอเชีย ที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก วัฒนธรรมวิถีปฏิบัติและหลักการต่างๆ ก็มีความแตกต่างกัน แต่สำหรับในโลกของศิลปะการดนตรีและการเต้นรำทั้งแอฟริกาและไทยยอดเยี่ยมอย่างน่าประทับใจเช่นกัน”

“อย่างที่กล่าวมาแล้ว เอกอัครสมณทูตเป็นตัวแทนของสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรมต่อชุมชนคาทอลิกและรัฐบาล ดังนั้น เอกอัครสมณทูตจึงเป็นสะพานเชื่อมระหว่างบาทหลวงในท้องถิ่นกับคาทอลิกท้องถิ่นและพระสันตะปาปา และยังเป็นตัวแทนทางการทูตของสันตะสำนักต่อรัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นด้วย”

วันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 2023 อาร์ชบิชอป ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) เฝ้า ถวายสมณสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจําประเทศไทย

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ อาร์ชบิชอป ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เฝ้าฯ ถวายสมณสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย โดยก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจำสาธารณรัฐแอฟริกาใต้มาก่อน

“ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ที่พ่อได้เข้าเฝ้าฯ พระประมุขของประเทศ และได้ถวายสาส์นตราตั้งของเราในพิธีที่สวยงามประทับใจยิ่ง ซึ่งทำให้พ่อหวนรำลึกถึงพิธีการบางอย่างที่เห็นในวาติกัน”

ตราแผ่นดินของนครรัฐวาติกัน

ความแตกต่างระหว่างสันตะสำนัก (Holy See) และวาติกัน (Vatican City)

“สันตะสำนัก (Holy See) คือ อาณาจักรอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถาบันฝ่ายปกครองศาสนาในกำกับของมุขนายกแห่งกรุงโรม เป็นตำแหน่งประมุขของศาสนจักรโรมันคาทอลิกทั้งหมดด้วย สันตะสำนักเป็นที่ตั้งของรัฐบาลกลางของศาสนจักรโรมันคาทอลิก”

“ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึง ‘สันตะสำนัก’ (Holy See) จึงหมายถึงองค์กรบริหารส่วนกลางของศาสนจักรโรมันคาทอลิกทั้งหมด และเป็นอาณาจักรทางศาสนาที่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายนานาชาติว่าเป็นรัฐอิสระที่มีประมุขเป็นพระสันตะปาปาและสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตกับประเทศอื่นได้”

“ทั้งนี้ สันตะสำนัก (Holy See) ไม่ใช่นครรัฐวาติกัน (Vatican City) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1929 สันตะสำนัก (Holy See) ถือว่ามีมาตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรก”

“ส่วนตำแหน่งทูตจะไม่ใช่ตำแหน่งทูตแห่งนครรัฐวาติกัน (Vatican City) แต่จะเป็นทูตแห่งสันตะสำนัก (Holy See) และผู้แทนของพระสันตะปาปาในรัฐหรือประเทศอื่นก็ถือว่าเป็นผู้แทนของสันตะสำนัก (Holy See) มิใช่ผู้แทนของนครรัฐวาติกัน (Vatican City) โดยเรียกว่า เอกอัครสมณทูต”

บริเวณสวน ภายในสถานเอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย

“นครรัฐวาติกัน (Vatican City) ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นที่ประทับของพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก ศูนย์กลางคือมหาวิหารนักบุญเปโตร (St. Peter’s Basilica) ซึ่งออกแบบโดยมีเกลันเจโล (Michelangelo) มีการปกครองเป็นแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ อำนาจตกอยู่ที่พระสันตะปาปาเพียงผู้เดียว จะหมดวาระก็ต่อเมื่อสิ้นพระชนม์ พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) ซึ่งได้รับเลือกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.2013”

สรุป นครรัฐวาติกัน (Vatican City) และสันตะสำนัก (Holy See) มักจะใช้สลับกันอย่างผิดๆ ซึ่งทั้งสองมีความแตกต่างกัน วาติกันเป็นนครรัฐ หมายความว่าเป็นหน่วยงานทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันและเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในโลกเมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรและขนาด โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นประมุขแห่งรัฐ

อย่างไรก็ตาม สันตะสำนัก (Holy See) ไม่ใช่ภูมิภาคหรือประเทศทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นหน่วยงานอธิปไตยและเขตอำนาจศาลของสมเด็จพระสันตะปาปา เป็นองค์กรปกครองกลางของศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนครรัฐวาติกัน (Vatican City)

ดังนั้น นครัฐวาติกัน (Vatican City) จึงใช้เมื่อกล่าวถึงประเทศหนึ่ง ในขณะที่สันตะสำนัก (Holy See) จะใช้เมื่ออ้างถึงอาณาเขตที่ปกครองโดยบิชอปแห่งกรุงโรม ซึ่งรวมถึงวาติกันและศาสนจักรคาทอลิกทั้งหมด

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก (State Visit) ค.ศ. 1984 ขณะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประเทศไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสันตะสำนัก (Holy See)

กระทรวงการต่างประเทศบันทึกความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1662 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปา Alexander ที่ 7 จัดส่งคณะมิชชันนารีชุดแรกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับเป็นคณะผู้ก่อตั้งคริสต์ศาสนาในไทยเป็นคณะแรก

ต่อมา สมเด็จพระสันตะปาปา Innocent ที่ 11 ได้มีพระราชสาส์นมาถวายพระพรสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ 4 ตุลาคม ค.ศ.1679 ซึ่งทรงมีพระราชสาส์นตอบในปี ค.ศ.1680 แต่เรืออัญเชิญพระราชสาสน์ประสบอุบัติเหตุแตกกลางทะเล สมเด็จพระสันตะปาปา Innocent ที่ 11 จึงได้มีพระราชสาส์นมาอีกเป็นครั้งที่ 2 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1687 ต่อมา ในปี ค.ศ.1688 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งคณะนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เดินทางไปยังกรุงโรม เพื่ออัญเชิญพระราชสาส์นตอบ ไปถวาย ลงวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.1688 ในปลายศตวรรษที่ 17 เกิดความปั่นป่วนในพระราชอาณาจักรจากการสงครามกับพม่าซึ่งนำไปสู่การเสียกรุงในที่สุด คริสตจักรในกรุงศรีอยุธยาจึงถูกทำลายลง

ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ศาสนจักรได้เริ่มฟื้นฟูกลับคืนมาอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชสาส์นติดต่อกับสมเด็จพระสันตะปาปา Pius ที่ 9 ระหว่างปี ค.ศ.1851-1861 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสนครรัฐวาติกัน ในระหว่างเสด็จประพาสยุโรปในปี ค.ศ.1897 และทรงเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปา Leo ที่ 13 นับเป็นการแลกเปลี่ยนการเยือนเป็นครั้งแรกในระดับประมุขของประเทศระหว่างราชอาณาจักรไทย และสันตะสำนัก (Holy See)

ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยือนกรุงโรม และทรงเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปา Pius ที่ 11 เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1934

วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1960 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยือนนครรัฐวาติกันและเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสนครรัฐวาติกันในเดือนตุลาคม ค.ศ.1960 และทรงเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปา John ที่ 23

ราชอาณาจักรไทยและศาสนจักรวาติกันได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1969 ฝ่ายไทยได้มอบให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ดูแลความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ได้ทรงแต่งตั้งคาร์ดินัลชาวไทยคนแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1983 คือ คาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก (State Visit) ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ.1984 ในโอกาสเดียวกับที่เสด็จเยือนสาธารณรัฐเกาหลี ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน

ภาพส่วนหนึ่งของอดีตเอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย

ระหว่างการเยือน สมเด็จพระสันตะปาปาได้เยี่ยมค่ายผู้อพยพที่พนัสนิคม และทรงเรียกร้องวิงวอนให้ประเทศต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพเหล่านั้น อีกทั้ง ยังทรงบริจาคเงินสดช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอินโดจีนเป็นจำนวน 1 ล้านบาทด้วย

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก และพระประมุขแห่งนครรัฐวาติกันเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน ค.ศ.2019 ตามคำเชิญของรัฐบาลไทยและสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย

วันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

ถือเป็นการเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในสมณสมัยของพระองค์ และในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.2019 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งนครรัฐวาติกันเฝ้าฯ

นับเป็นการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปา ครั้งที่ 2 ต่อจากการเสด็จเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 จุดประสงค์ของการมาเยือนคือเพื่อจาริกสันติภาพ และฉลองครบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-วาติกัน

ที่สำคัญ ทรงร่วมยินดีในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ 10 อีกด้วย

อาร์ชบิชอป ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ เอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจําประเทศไทย กล่าวว่า

“จากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสันตะสำนักนั้น แน่นแฟ้นมากกว่า 360 ปีแล้ว แม้ว่าความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการของเราจะมีอายุเพียง 54 ปีก็ตาม” •

ภาพ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin